เศรษฐกิจ / ฝันหวานเป้าส่งออกโต 8% พาณิชย์ให้มั่นใจอิทธิฤทธิ์ สั่งระดมสมองทูตทั่วโลก

เศรษฐกิจ

 

ฝันหวานเป้าส่งออกโต 8%

พาณิชย์ให้มั่นใจอิทธิฤทธิ์

สั่งระดมสมองทูตทั่วโลก

 

ปัจจุบันการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย นอกจากภาคการท่องเที่ยวถือเป็นรายได้หลักของประเทศ ทั้งเกี่ยวเนื่องกันหลายธุรกิจบริการ ก่อให้เกิดการจ้างงานและเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศมากมายแล้ว

ภาคส่งออกก็มีบทบาทไม่น้อยหน้าไปกว่ากัน เนื่องจากสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยได้มากมายมหาศาลและเกี่ยวข้องกับธุรกิจอื่นๆ เช่นกัน

แต่ดูเหมือนเสาค้ำยันเศรษฐกิจทั้งสองกำลังจะอ่อนแรง ตามเจอปัญหารุมเร้าทั้งปัจจัยลบภายนอก และปัจจัยภายในที่ไม่อาจควบคุมได้

สำหรับภาคการส่งออกไทยในอดีต พูดได้เต็มปากว่าเป็นพระเอกผู้นำการสร้างรายได้ให้กับประเทศไทย เติบโต 2 หลักมาตลอด จนไม่กี่ปีเมื่อฐานมูลค่ามากขึ้นกว่าแสนล้านเหรียญสหรัฐ อัตราเคยโตสูงๆ ก็หดตัวในช่วงไม่กี่ปีมานี้ บางเดือนโชว์ตัวเลขแดงจนน่าใจหาย!!

อย่างปีนี้ภาคส่งออกสร้างความตกใจมาตั้งแต่ต้นปี โดยช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ ติดลบ 5.65% และหลายฝ่ายยังมองแนวโน้มการส่งออกที่เหลือของปีนี้ไม่สดใสมากนัก

ทำให้หลายฝ่ายถอยตัวเลขคาดการณ์ส่งออกไว้เดิม

 

ภาคเอกชนอย่าง “วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา” รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ระบุว่า “การส่งออกไทยไตรมาสแรกของปีนี้ ติดลบแน่นอน 3-5% เนื่องจากส่งออกเดือนมกราคมติดลบ 4-5% เดือนกุมภาพันธ์ติดลบน้อยแต่ดูไส้ในหากหักกลุ่มอาวุธที่เป็นการส่งคืนหลังนำเข้ามาซ้อมรบในไทย พบว่ายังติดลบสูง

ดังนั้น ช่วงเดือนที่เหลือ คงต้องทำงานกันหนักมากขึ้น และคาดว่าตัวเลขการส่งออกลดเหลือ 3% จากเดิมคาดไว้ 5% ซึ่งหากจะให้ได้ 3% ในแต่ละเดือนต้องส่งออกให้ได้กว่า 22,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ถือเป็นตัวเลขเฉลี่ยค่อนข้างสูง หากเทียบปี 2561 ถือส่งออกไทยทำตัวเลขได้ดีมากโตได้ 6.7% แต่เฉลี่ยยังส่งออกได้เดือนละ 21,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แค่ไม่กี่เดือนทำได้ 23,000 ล้านเหรียญสหรัฐก็ตาม

ซึ่งปัญหาหนักที่มีผลกระทบต่อการส่งออกในปีนี้คือ การค้าโลกชะลอตัวลง ผลกระทบจากสงครามการค้าสหรัฐกับจีน สร้างความกระสับกระส่ายไปทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศที่เป็นห่วงโซ่การส่งออกเกี่ยวข้องกับ 2 ประเทศนี้ เจอผลกระทบกันทั่วถึง ทำให้เข้าโหมดระมัดระวังในการผลิต ปรับ/เปลี่ยนการผลิต จึงกระเทือนไปถึงธุรกิจป้อนวัตถุดิบเพื่อผลิตลดน้อยตามไปด้วย รวมถึงความไม่ชัดเจนอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (เบร็กซิท) ว่าจะออกเมื่อไหร่และอย่างไร”

รองประธาน สรท.ระบุอีกว่า สิ่งที่กังวลและอยากให้เกิดขึ้นโดยเร็ว คือ การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่มีเสถียรภาพ เพื่อให้สามารถดำเนินการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ให้ได้มากที่สุด จะสร้างโอกาสทางการค้าให้แก่ผู้ส่งออกไทย

เพราะปัจจุบันเอฟทีเอต่างๆ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการส่งออกและสร้างการได้เปรียบในการแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศ ทดแทนแนวโน้มถูกตัดสิทธิจีเอสพีจากหลายประเทศที่จะมากขึ้นในอนาคต และปัจจัยเงินบาทไทยแข็งค่า

 

ขณะที่ภาครัฐ “บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์” อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ออกมายืนยันว่า แม้ตัวเลขการส่งออกไตรมาสแรกปีนี้คาดไม่สูงมากนัก แต่เชื่อว่าจะกลับมาฟื้นตัวช่วงไตรมาส 2 เป็นต้นไป ทำให้กระทรวงพาณิชย์จึงยังไม่ปรับลดตัวเลขเป้าหมายส่งออก และยังคงตัวเลขขยายตัวที่ 8% แต่อย่างไรก็ตาม จะมีการประเมินตัวเลขการส่งออกทุก 3 เดือน ซึ่งจากการหารือกับภาคเอกชนต่างก็ระบุว่าช่วงต้นปีส่งออกยังไม่ค่อยดีเท่าที่ควร เพราะเจอปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ จึงเริ่มปรับลดคาดการณ์การส่งออก

“ปีนี้จะเป็นปีที่เหนื่อยสำหรับภาคการส่งออกไทย เพราะปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ มีผลค่อนข้างมาก โดยเฉพาะสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน แม้เริ่มมีความคืบหน้าในการเจรจาผ่อนปรนมากขึ้น แต่ภาวะเศรษฐกิจก็ไม่สามารถฟื้นตัวตามได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงเรื่องการเมืองในยุโรปและปัญหาเบร็กซิทที่ยังไม่มีความชัดเจน ซึ่งมอบหมายให้ทูตพาณิชย์ประจำอียูและอังกฤษ หาช่องทางส่งสินค้าทดแทนและหาโอกาสส่งออกใหม่ๆ ไปอังกฤษและอียู รวมถึงดึงเข้ามาลงทุนในไทยด้วย แต่เรื่องนี้ทุกประเทศมีโอกาสได้รับผลกระทบเหมือนกันหมด รุกรามไปถึงเศรษฐกิจทั่วโลก”

อธิบดีกรมส่งเสริมฯ ระบุอีกว่า ปัจจัยการเมืองในประเทศ ไม่ว่าฝ่ายใดได้จัดตั้งรัฐบาลก็ไม่มีผลกระทบต่อการส่งออก เพราะแผนงานทั้งหมดได้ดำเนินการไปแล้วและงบประมาณปี 2562 ได้รับการจัดสรรแล้ว

เพราะฉะนั้น งานในเชิงนโยบายไม่ว่ารัฐบาลใดจะมา นโยบายก็คงใช้การได้ ยกเว้นจะมีการสั่งให้ดำเนินการใดเป็นพิเศษเพิ่มเติม

ซึ่ง 6 เดือนแรกปีนี้ยังไงต้องดำเนินการตามแผนการที่วางไว้ เพราะกว่าจะได้รัฐบาลจัดตั้งแล้วเสร็จก็น่าจะเลย 6 เดือนแรกของปีไปแล้ว ดังนั้น ปัจจัยภายในประเทศไม่ได้มีปัญหาหรือสร้างความกังวลมากนัก ต่างกับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกจะมากกว่า

แต่เอกชนก็สะท้อนว่า หากสถานการณ์ทางการเมืองมีความนิ่งช่วงใด จะดีต่อการที่นักลงทุนทั้งจากในประเทศและต่างประเทศตัดสินใจลงทุนได้เร็วขึ้น

 

และเพื่อให้แผนการส่งออกทุกอย่างรุดหน้า ในเดือนพฤษภาคมนี้ จะเรียกประชุมทูตพาณิชย์ เพื่อให้ทูตพาณิชย์แต่ละประเทศสำรวจปัจจัยที่ได้รับผลกระทบในประเทศที่อยู่ในความดูแลของตัวเองและทบทวนแผนส่งออกสินค้าอย่างไร เพื่อขับเคลื่อนตัวเลขส่งออกให้ได้ 8% รวมถึงผลักดันสินค้าที่มีความต้องการนำเข้าในประเทศของตน โดยเฉพาะการผลักดันสินค้ากลุ่มธุรกิจ Well-being อาทิ ธุรกิจเกษตรและอาหาร ที่มีสายการผลิตเชื่อมโยงไปถึงผู้ผลิตต้นน้ำอย่างเกษตรกร และส่งผ่านไปยังผู้บริโภคทั่วโลก เช่น เกษตรชีวภาพ ไอโอเทคโนโลยี รวมถึงธุรกิจบริการ

“กระทรวงพาณิชย์ยังยืนยันเป้า 8% ส่วนผลสรุปจะออกมาได้มากหรือได้น้อยอย่างไร คงไม่ใช่เรื่องที่สำคัญ เนื่องจากถึงแม้ภาคการส่งออกจะทำไม่ได้ตามเป้าแต่เรายังมีรายได้จากส่วนอื่นเข้ามาทดแทน รวมถึงมองว่าการช่วยพัฒนาความสามารถและศักยภาพในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยและเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการไทยในระดับจังหวัดให้สามารถแข่งขันในระดับประเทศได้เป็นประเด็นที่สำคัญมากกว่า”

หากประมวลเหตุผลของภาครัฐและเอกชน ในภาวะที่เศรษฐกิจทั่วโลกมีการชะลอการเติบโต บรรยากาศการค้าโลกยังไม่ดีขึ้น มีหลากหลายปัจจัยภายนอกที่ยังไม่คลี่คลาย ฟันธงได้เลยว่าภาคการส่งออก 2562 คงเป็นอีกปีที่เหน็ดเหนื่อย

   และคงต้องดิ้นกันสุดใจขาดดิ้น ถึงจะได้ตามเป้าหมายโต 8%