สุรชาติ บำรุงสุข | การเมืองนำการทหาร ประชาธิปไตยนำเผด็จการ

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“ทรรศนะเอาแต่การทหารได้ขยายตัวออกไปมากเหลือเกินในกองทัพ โดยแสดงออก เช่น ถือว่าการทหารกับการเมืองสองสิ่งนี้ขัดกัน ไม่ยอมรับว่าการทหารเป็นเพียงเครื่องมืออย่างหนึ่งในการบรรลุหน้าที่ทางการเมือง บางคนถึงกับกล่าวว่า “ถ้าการทหารดี การเมืองย่อมจะดีด้วย ถ้าการทหารไม่ดี การเมืองก็จะดีไปไม่ได้” นั้น ก็ยิ่งถือว่าการทหารนำการเมืองเลยทีเดียว”

ประธานเหมาเจ๋อตุง (ค.ศ.1929)

หนึ่งในคำอธิบายของการเอาชนะสงครามคอมมิวนิสต์ในไทยก็คือ การปรับยุทธศาสตร์ของรัฐ การปรับนี้คือการยอมรับว่าแนวคิดแบบอนุรักษนิยมในการต่อสู้กับสงครามของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ด้วยมาตรการขวาจัดในแบบของการกวาดล้างทางทหารในชนบทและกวาดจับในเมืองนั้น เป็นความผิดพลาดในทางนโยบาย

และทิศทางดังกล่าวอาจจบลงด้วยความพ่ายแพ้ทั้งในระดับกองทัพและในระดับรัฐ หรืออาจกล่าวได้ว่าความผิดพลาดทางยุทธศาสตร์ชุดนี้จบลงด้วยการล่มสลายของรัฐเดิม อันมีนัยถึงการสิ้นสุดของระบอบการปกครองเก่า

คำเตือนของความผิดพลาดทางยุทธศาสตร์ที่จะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อสถานะของรัฐนั้น อาจจะไม่ใช่ประเด็นที่ผู้นำไทย (ไม่ว่าจะเป็นทหารหรือพลเรือน) มีความคุ้นเคย เนื่องจากรัฐไทยไม่มีประสบการณ์ตรงของการพ่ายแพ้สงคราม จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่ผู้นำไทยจะมีความเข้าใจอย่างจำกัดในทางยุทธศาสตร์ หรือในบางครั้งอาจจะไม่เข้าใจเลย

เช่น ผู้นำทหารหัวเก่าอาจมีความเข้าใจเพียงในระดับยุทธวิธีที่ไม่ตระหนักถึงผลกระทบทางยุทธศาสตร์ เป็นต้น เพราะมีความรับรู้เสมือนเพียง “ผู้นำหน่วยขนาดเล็ก” ที่มองไม่เห็นปัญหาในระดับยุทธศาสตร์

ยุทธศาสตร์เก่าในสงครามใหม่

การกำหนดแนวทางการต่อสู้ของรัฐบาลทหารไทยกับการกำเนิดของสงครามคอมมิวนิสต์ที่เกิดขึ้นในประเทศเป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนของข้อสังเกตในข้างต้น เพราะนับจากยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มาพร้อมกับการกำเนิดของ “สงครามเย็น” ในเวทีโลก และต่อมาสงครามชุดใหม่ของโลกในยุคดังกล่าวก็พัดจากยุโรปเข้าสู่เอเชีย ด้วยปรากฏการณ์สำคัญคือ

การล่มสลายของรัฐจีนเก่าและการกำเนิดของรัฐจีนใหม่ที่เป็นสังคมนิยมในเดือนตุลาคม 2492

และตามมาด้วยสงครามชุดใหญ่ของเอเชียคือสงครามเกาหลีในเดือนมิถุนายน 2493

เมื่อกระแสสงครามเย็นได้พัดเข้าสู่เอเชียแล้ว และกระแสนี้พัดใหญ่ในเอเชียอีกครั้งจากการพ่ายแพ้สงครามของฝรั่งเศสในสนามรบที่เดียนเบียนฟูในปี 2497 อันมีนัยถึงการสิ้นสุดยุคอาณานิคม และเป็นสัญญาณถึงผู้นำไทยที่ภูมิรัฐศาสตร์ของประเทศกำลังเปลี่ยนแปลงไป ความหวังว่าเจ้าอาณานิคมตะวันตกจะมีบทบาทเป็น “แนวกำแพงกั้น” การขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ในอินโดจีนนั้นไม่เป็นจริง

แต่กระนั้น ผู้นำไทยเข้าใจดีว่าโลกตะวันตกไม่อาจทอดทิ้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของฝ่ายคอมมิวนิสต์ได้ ดังจะเห็นได้ส่วนหนึ่งจากบทบาทของอังกฤษในการต่อสู้กับสงครามคอมมิวนิสต์ในมลายา หรือที่เรียกว่า “ภาวะฉุกเฉินในมลายา”

และเมื่อฝรั่งเศสเริ่มถอนตัวออกจากเวียดนามแล้ว ก็เป็นที่รับรู้กันในบริบทที่ไม่เปิดเผยว่า หลังจากการบรรลุความตกลงที่เจนีวาในเดือนกรกฎาคม 2497แล้ว สหรัฐได้ให้การสนับสนุนต่อการดำรงอยู่ของรัฐบาลเวียดนามใต้มาโดยตลอด

หลังจากวิกฤตการณ์อ่าวตังเกี๋ยในเดือนสิงหาคม 2507 แล้ว บทบาททางทหารของสหรัฐในการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ในเวียดนามปรากฏชัดเจนขึ้น และปี 2508 เห็นได้ถึงการขยายกำลังรบของสหรัฐทั้งในเวียดนามใต้และในไทยคู่ขนานกัน และเมื่อสงครามเวียดนามขยายตัว ผู้ทหารไทยเข้าร่วมพันธะสงครามกับสหรัฐเต็มรูป… ไทยเป็นฐานทัพขนาดใหญ่ของสหรัฐ ที่มีเป้าหมายการโจมตีที่เวียดนาม

การเข้าสงครามเวียดนามของสหรัฐเป็นปัจจัยของการสร้างความมั่นคงทั้งทางทางทหารและทางจิตวิทยาให้แก่ผู้นำไทยในยามที่ต้องเผชิญกับสงครามคอมมิวนิสต์

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเริ่มปี 2508 นั้น รัฐมนตรีต่างประเทศจีนได้ประกาศถึงการเกิดสงครามประชาชนในประเทศไทย อันเท่ากับเป็นสัญญาณว่าไทยจะต้องเตรียมตัวเผชิญหน้ากับสงครามคอมมิวนิสต์ในประเทศ

และในเดือนสิงหาคมของปีดังกล่าว กระสุนนัดแรกของ “วันเสียงปืนแตก” ก็ดังขึ้นที่อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม… สงครามประชาชนเริ่มขึ้นในไทยแล้ว

สำหรับผู้นำทหารแล้ว เมื่อสงครามเกิดขึ้นจึงไม่มีอะไรจะเหมาะสมไปกว่าการใช้เครื่องมือที่ถูกจัดไว้เพื่อรับมือกับสภาวะดังกล่าว

นั่นคือ “อำนาจกำลังรบ” และยิ่งเมื่อฝ่ายตรงข้ามถูกมองว่าเป็นข้าศึกในทางการทหาร การใช้กำลังทหารของฝ่ายเราเข้าทำลายกำลังรบของฝ่ายตรงข้าม จึงกลายเป็นคำตอบหลักในตัวเอง…

หรืออีกนัยหนึ่งคือ ชุดความคิดแบบเก่าของผู้นำทหารที่เติบโตมาก่อนยุคสงครามคอมมิวนิสต์ทำให้ยุทธศาสตร์ใช้กำลังเป็นทิศทางหลักของแนวคิดในการเอาชนะสงครามคอมมิวนิสต์ ผู้นำทหารไทยเชื่อเสมอว่า ด้วยอำนาจกำลังรบที่เหนือกว่า กองทัพไทยจะใช้เวลาไม่นานในการเอาชนะสงคราม และเช่นเดียวกันด้วยอำนาจที่เหนือกว่าของสหรัฐ คอมมิวนิสต์จะพ่ายแพ้ และไทยจะปลอดภัย

ยุทธศาสตร์แห่งความพ่ายแพ้

แต่ภาพแห่งความเป็นจริงแตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง พลังอำนาจทางทหารที่เหนือกว่าของสหรัฐในเวียดนามไม่ใช่เป็นปัจจัยแห่งชัยชนะ ไม่แตกต่างจากความเหนือกว่าทางทหารของฝรั่งเศสที่เดียนเบียนฟูก็ไม่ใช่คำตอบของชัยชนะ… อำนาจการยิงที่เหนือกว่าผสานเข้ากับอำนาจของเทคโนโลยีทหารสมรรถนะสูงไม่ใช่กุญแจที่จะไขไปสู่ความสำเร็จทางทหารในบริบทการต่อสู้ที่เป็น “สงครามประชาชน” เครื่องมือของชัยชนะกลับเป็นเรื่องพื้นฐานที่ผู้นำไทยไม่เคยใส่ใจคือ ต้องเอาชนะที่ประชาชน

หลักการสงครามใหม่มีแต่เพียงประการเดียว สงครามประชาชนชนะที่ประชาชน ชนะด้วยการครองใจประชาชน ไม่ใช่ด้วยอำนาจกำลังรบและเทคโนโลยีทหารที่เหนือกว่า

ความไม่เข้าใจหลักการพื้นฐานของสงครามเช่นนี้มีราคาแพงที่ต้องจ่าย ดังภาพการล่มสลายของรัฐเก่าที่พ่ายแพ้สงครามคอมมิวนิสต์ในอินโดจีน

ความพ่ายแพ้ชุดนี้ไม่ใช่เพียงการล้มลงของรัฐบาลไซ่ง่อนและรัฐบาลพนมเปญในเดือนเมษายน 2518

หากแต่ยังทำลายสมมติฐานชุดใหญ่ของผู้นำรัฐบาลทหารไทยที่เชื่อเสมอว่า พลังอำนาจทางทหารของสหรัฐจะเป็นปัจจัยแห่งชัยชนะในสงครามเวียดนาม แล้วจินตนาการที่ถูกสร้างไว้อย่างยาวนานในหมู่ผู้นำไทยของยุคสงครามเย็นก็ถูกทำลายลงด้วยความเป็นจริงในช่วงเวลาดังกล่าว และในปลายปีเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองในลาว อันส่งผลให้ภูมิรัฐศาสตร์ของรัฐไทยเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง… ไทยต้องเผชิญกับทั้งสงครามคอมมิวนิสต์ในบ้านและภัยคุกคามของลัทธิคอมมิวนิสต์จากเพื่อนบ้าน

ถ้าเช่นนั้นรัฐไทยจะกำหนดยุทธศาสตร์ใหม่อย่างไร

เพราะหากเดินย้อนรอยด้วยยุทธศาสตร์เก่า ก็จะหนีไม่พ้นการก้าวไปสู่ความพ่ายแพ้ดังที่เห็นตัวอย่างจากเพื่อนบ้าน

และยังถูกสำทับด้วยคำเตือนชุดใหญ่ที่มาจากความพ่ายแพ้ของสหรัฐ แม้สหรัฐมีอำนาจกำลังรบที่เหนือกว่าฝ่ายตรงข้ามอย่างเห็นได้ชัด แต่ในที่สุดก็ไม่อาจเอาชนะสงครามในเวียดนามได้อย่างที่ผู้นำไทยหวัง…

อาวุธไม่ใช่ปัจจัยแห่งชัยชนะ

บทเรียนในอีกด้านมาจากปัญหาของการใช้ยุทธศาสตร์เก่าของการล้อมปราบในเมืองในเดือนตุลาคม 2519 การปราบปรามอาจจะดูเป็นเหมือนชัยชนะที่กรุงเทพฯ

แต่ก็เป็นชัยชนะทางยุทธวิธี และในภาพรวมแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นกลับเป็นความพ่ายแพ้ทางยุทธศาสตร์ครั้งใหญ่ของรัฐไทย

รัฐบาลขวาจัดกลายเป็น “แนวร่วมมุมกลับ” ให้แก่การขยายตัวของสงครามภายในอย่างดียิ่ง

และยิ่งดำเนินยุทธศาสตร์ในแนวทางเช่นนี้แล้ว ย่อมคาดได้ไม่ยากว่ารัฐไทยในที่สุดจะล่มสลายด้วยการล้มตามรัฐบาลในอินโดจีน ดังเปรียบได้เสมือนการล้มของตัว “โดมิโน” ตามทฤษฎีอเมริกัน

ความท้าทายต่อการปรับยุทธศาสตร์ที่มีเดิมพันด้วยอนาคตของรัฐไทยจึงเป็นประเด็นสำคัญในขณะนั้น

เพราะหากตอบด้วยมุมมองของนักสังเกตการณ์ระหว่างประเทศแล้ว แทบจะไม่มีใครเชื่อว่า ไทยจะไม่ล้ม…

หลายฝ่ายเชื่อว่าด้วยพื้นฐานของผู้นำไทยที่เป็นแบบพวก “หัวเก่า” และยึดติดอยู่กับแนวคิดแบบอนุรักษนิยมมาก เท่าๆ กับที่ขาดความเข้าใจในสภาวะสงคราม อาจจะทำให้โอกาสของการปรับตัวในระดับรัฐเกิดได้ยาก หรือหากเกิดขึ้นได้ก็อาจไม่ทันกาล

จึงไม่แปลกนักที่ในช่วงเวลาดังกล่าว ไทยถูกเฝ้ามองด้วยความกังวลว่า โดมิโนตัวที่สี่ที่กรุงเทพฯ จะล้มลงเมื่อใด

ชนะด้วยยุทธศาสตร์ใหม่

แน่นอนว่าการปรับยุทธศาสตร์ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะไม่เพียงจะต้องต่อสู้กับพวก “หัวเก่า” ที่เป็นสายอนุรักษนิยม และพวกนี้ไม่ได้มีเพียงในกองทัพเท่านั้น หากแต่อีกส่วนที่สำคัญคือบรรดาปีกอนุรักษนิยมที่อยู่ในสังคม

และมีความเชื่ออย่างง่ายๆ ว่า การปราบปรามด้วยมาตรการทางทหารที่เข้มแข็งจะเป็นจักรกลหลักในการเอาชนะสงครามคอมมิวนิสต์ เท่าๆ กับที่เชื่อว่ายิ่งปราบหนักเท่าใด ก็ยิ่งชนะเร็วเท่านั้น

ชุดความคิดเช่นนี้จึงถูกแปลงเป็นปฏิบัติการในสนามในแบบของการ “นับศพ” ที่ประมาณการชัยชนะด้วยการนับความสูญเสียของข้าศึก…

ข้าศึกตายมากเท่าใด เรายิ่งชนะเร็วเท่านั้น

หรือในอีกด้านก็เป็นปฏิบัติการในแบบ “ค้นหาและทำลาย” ที่ดำเนินการด้วยความเชื่อมั่นว่า เราจะสามารถปิดล้อมพื้นที่เป้าหมายเพื่อค้นหาเป้าหมายที่ต้องการ และเข้าทำลายได้ การสูญเสียกำลังพลจะทำให้ศักยภาพการรบของข้าศึกหมดไป แล้วเราจะชนะ

แนวคิดเช่นนี้เห็นได้ชัดเจนว่าเน้นอยู่กับปัจจัยทางทหาร และเชื่อว่าอำนาจทางทหารคือเครื่องมือในการเอาชนะสงคราม และมองไม่เห็นมิติทางการเมือง เท่ากับที่ไม่เชื่อว่าการเมืองคือปัจจัยชี้ขาดการสงคราม

แนวคิดเช่นนี้คือ “การทหารนำการเมือง” และนัยในทางการเมืองก็คือ รัฐบาลเผด็จการทหารคือเครื่องมือที่เข้มแข็งในการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์

หรือในทำนองเดียวกันประชาธิปไตยก็คือความอ่อนแอ จนอาจถูกสร้างให้เป็นวาทกรรมแบบสุดโต่งว่า ประชาธิปไตยเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ และรัฐไทยจะเอาชนะคอมมิวนิสต์ได้ด้วยเผด็จการทหาร

แต่ในขณะนั้นกลับพบว่าประเทศที่ปกครองในระบอบเผด็จการทหารเช่นในเวียดนามใต้และในกัมพูชาเป็นฝ่ายแพ้สงคราม

และปัจจัยอำนาจนิยมกลายเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของการล่มสลายของรัฐเดิม

โดยเฉพาะในระบอบเผด็จการนั้น การปฏิเสธสิทธิทางการเมืองและเสรีภาพของประชาชนจนนำไปสู่การทำลายความเป็นนิติรัฐ เท่าๆ กับการละเมิดสิทธิมนุษยชน ได้กลายเป็นเงื่อนไขที่ทำให้รัฐบาลเช่นนั้น ไม่เพียงแต่ไม่มีความชอบธรรมในสายตาประชาชนภายในและประชาคมภายนอกเท่านั้น หากยังไม่สามารถดำเนินการช่วงชิงมวลชนได้ หรืออาจกล่าวได้ว่ารัฐบาลทหารคือปัจจัยในการผลักมวลชนให้แก่ฝ่ายตรงข้าม สภาวะเช่นนี้สุดท้ายแล้วก็คือเงื่อนไขของความพ่ายแพ้ในตัวเอง

ในที่สุดแล้วการโค่นล้มรัฐบาลขวาจัดในปี 2520 จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการปรับยุทธศาสตร์… หลักการเบื้องต้นมีประการเดียวคือ ถ้าไม่เอารัฐบาลที่ล้าหลังออกไป การทำยุทธศาสตร์ใหม่ที่ก้าวหน้าจะเกิดขึ้นไม่ได้

เพราะการจัดตั้งรัฐบาลใหม่จะเป็นต้นทางของการออกยุทธศาสตร์ใหม่ และยุทธศาสตร์ใหม่จะเป็นต้นธารของการปรับตัว แต่ถ้ายังยึดติดอยู่กับรัฐบาลเก่าและยุทธศาสตร์เก่าที่ล้าหลังแล้ว ก็คือการนั่งรอให้ความพ่ายแพ้มาเยือนนั่นเอง

 

ดังนั้น การออกยุทธศาสตร์ใหม่ไม่ว่าจะเป็นคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 และ 65/2525 จึงมิได้มุ่งหวังเพียงการเปลี่ยนแนวคิดทางยุทธการของฝ่ายทหารเท่านั้น หากแต่ยังเป็นการนำเสนอให้ประชาธิปไตยเป็นทิศทางการเมืองของประเทศ ภายใต้หลักการว่า “คอมมิวนิสต์ชนะเผด็จการ แต่ประชาธิปไตยชนะคอมมิวนิสต์” ฉะนั้น การทำความเข้าใจในเรื่องของ “การเมืองนำการทหาร” จะต้องทำความเข้าใจคู่ขนานทางการเมืองอีกส่วนด้วยว่า “ประชาธิปไตยนำเผด็จการ” จะคิดแบบแยกส่วนคือแยกการเมืองออกจากการทหารไม่ได้

ปัจจัยในการชนะสงครามคอมมิวนิสต์ในไทยส่วนสำคัญจึงเกิดจากการปรับตัวทางยุทธศาสตร์ที่เกิดขึ้นในสองส่วนคือ หลักการประชาธิปไตยนำเผด็จการในทางการเมือง และหลักการการเมืองนำการทหารในทางการสงคราม…

ถ้าวันนั้นประเทศอยู่ภายใต้ทหารหัวเก่าและปีกขวาสุดโต่งที่คิดได้เพียงการใช้ยุทธศาสตร์เก่าของการทหารนำการเมืองและใช้การปราบเป็นทิศทางหลักแล้ว อนาคตของไทยอาจแตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง!