ต่างประเทศ : เหตุแห่งการสังหารหมู่ ที่ประเทศ “มาลี”

ประเทศมาลี หรือสาธารณรัฐมาลี เป็นประเทศในแอฟริกาตะวันตก ที่ดูแล้วอาจจะอยู่ห่างไกลจากเราอย่างมาก หากแต่เมื่อเร็วๆ นี้ประเทศมาลีได้ตกเป็นข่าวใหญ่ หลังเกิดเหตุฆ่าหมู่กว่าร้อยคนขึ้น

เหตุรุนแรงดังกล่าว เกิดขึ้นในช่วงรุ่งสางของวันที่ 23 มีนาคม เมื่อกลุ่มชนเผ่านักล่า “โดกอน” บุกโจมตีหมู่บ้านโอกอสซาโก ตอนกลางของประเทศมาลี ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของกลุ่มชนเผ่าฟูลานี และยังจุดไฟเผาบ้านเรือนจนวอดไปหมด ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 130 ราย

ในจำนวนผู้เสียชีวิต มีทั้งผู้ชาย ผู้หญิง และเด็ก ที่ต้องจบชีวิตลงด้วยฝีมือมนุษย์ด้วยกัน มีทั้งถูกยิงและถูกแทงจนตาย

เป็นการสังหารหมู่นับร้อยคนในคราเดียว ที่สร้างความตกตะลึงและสลดไปทั่วโลก แม้ว่าจะเกิดขึ้นในประเทศที่ไม่ค่อยมีใครรู้จัก

 

หลังเกิดเหตุ นายโซเมโล โบเบเย ไมกิ นายกรัฐมนตรีมาลี ได้สั่งปลดผู้บัญชาการทหารคนเก่าและแต่งตั้งคนใหม่ขึ้นมา นอกจากนี้ก็ยังสั่งยุบสมาคมแดนแน อัมบาสซาโก ของกลุ่มนักล่าโดกอนที่ก่อเหตุสังหารหมู่ครั้งนี้ด้วย ซึ่งการสั่งยุบกลุ่มติดอาวุธนี้ นายไมกาบอกว่า เป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่า การปกป้องประชาชนจะเป็นสิ่งที่ต้องทำของประเทศนี้

หลังเกิดเหตุ เทียนา โคลิเบาลี รัฐมนตรียุติธรรม ในฐานะตัวแทนของรัฐบาลได้พาเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ที่เกิดเหตุสังหารหมู่ เพื่อบอกกับชาวบ้านโอกอสซาโกว่า

“เรื่องที่เกิดขึ้นถือเป็นเรื่องที่รับไม่ได้ และผู้ที่กระทำผิดจะต้องถูกลงโทษ”

 

ในส่วนสาเหตุของการก่อเหตุรุนแรงครั้งนี้ รายงานระบุว่า เริ่มต้นขึ้นมาจากการกล่าวหาคนเลี้ยงสัตว์ชาวฟูลานีว่า รุกล้ำเข้าไปในดินแดนของพวกโดกอน และยังมีเหตุพิพาทในเรื่องพื้นที่ทั้งบนบกและทางน้ำ ในพื้นที่ที่ยังมีปัญหาเรื่องการก่อเหตุของพวกนักรบญิฮาด

ทั้งนี้ พวกนักรบญิฮาดได้กลายเป็นภัยคุกคามต่อประเทศมาลี หลังจากลุกขึ้นมาก่อเหตุรุนแรงอย่างต่อเนื่องในตอนกลางของมาลี ตั้งแต่เมื่อ 4 ปีก่อน นักรบญิฮาดกลุ่มนี้นำโดยนายอามาโด โคฟา ครูสอนศาสนาอิสลาม ที่ได้เกณฑ์ผู้คนไปจำนวนมากเพื่อร่วมเป็นนักรบ โดยเฉพาะในชุมชนของชนเผ่าฟูลานี

หลังจากนั้นก็เกิดเหตุปะทะกันระหว่างชาวฟูลานีกับโดกอนมาตลอด

จากตัวเลขของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ระบุว่า ปีที่ผ่านมาเหตุปะทะกันระหว่างชนเผ่าฟูลานีกับโดกอนได้ทำให้มีพลเรือนเสียชีวิตถึงราว 500 ราย และเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา นักล่าชาวโดกอน ก่อเหตุสังหารผู้คนในหมู่บ้านของชาวฟูลานีไป 37 ราย

ซึ่งชาวฟูลานีได้ออกมาเรียกร้องให้ทางการลุกขึ้นมาปกป้องชาวฟูลานี เพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสียไปมากกว่านี้ แต่รัฐบาลมาลีกลับทำเป็นมองไม่เห็น แถมยังปลุกปั่นให้พวกโดกอนโจมตีชาวฟูลานีต่อไปด้วย

โดยในช่วงที่เกิดเหตุสังหารหมู่บ้าน มีตัวแทนจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี) เดินทางเยือนแคว้นซาเฮลเพื่อประเมินสถานการณ์ภัยคุกคามจากนักรบญิฮาดอยู่ ซึ่งถือเป็นการก่อเหตุที่เย้ยหน้ายูเอ็นอย่างมาก

 

หลังเกิดเหตุ โฆษกของนายอันโตนิโอ กูแตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) กล่าวว่า นายกูแตร์เรสรู้สึกช็อกและโกรธแค้นต่อเหตุรุนแรงนองเลือดดังกล่าว พร้อมกับเรียกร้องให้ทางการมาลีจัดการสืบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ

กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) ระบุว่า เด็กๆ ในประเทศมาลีต้องเผชิญหน้ากับความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างหนักหน่วงในประเทศ นับตั้งแต่สถานการณ์ในประเทศเริ่มขาดความมั่นคงมากขึ้นตั้งแต่ปี 2017 ที่นำไปสู่การเข่นฆ่า การทำให้เกิดความเสียหาย และการเกณฑ์เด็กๆ เข้าไปร่วมรบ ขณะที่สหภาพยุโรป (อียู) ได้เรียกร้องให้มีการปลดอาวุธและปลดกองกำลังติดอาวุธทั้งหมด

ประเทศมาลี ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยประชาธิปไตยและมีเสถียรภาพของแอฟริกา แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมากลับกลายเป็นประเทศที่ต้องเจอกับการรัฐประหาร สงครามการเมือง และการก่อการร้ายของกลุ่มติดอาวุธหัวรุนแรง

โดยพวกกลุ่มติดอาวุธที่มีส่วนเกี่ยวโยงกับกลุ่มอัลเคด้าได้ควบคุมทะเลทรายตอนเหนือของมาลีเอาไว้เมื่อต้นปี 2012 แต่ถูกกองทัพที่นำโดยฝรั่งเศสขับไล่ออกไปได้เมื่อเดือนมกราคม 2013 ต่อมาในเดือนมิถุนายน 2015 รัฐบาลมาลีได้ลงนามในข้อตกลงสันติภาพกับกลุ่มติดอาวุธบางกลุ่ม แต่พวกนักรบญิฮาดยังคงมีปฏิบัติการก่อเหตุร้ายอยู่อย่างกว้างขวางต่อไป

แม้จะมีกองกำลังรักษาสันติภาพของยูเอ็นประจำอยู่ในประเทศก็ตาม ความรุนแรงในประเทศมาลีก็ยังคงดำเนินต่อไป ทั้งจากการก่อเหตุของพวกกองกำลังติดอาวุธหัวรุนแรง และจากการเข่นฆ่ากันเองของคนในประเทศ