“บิ๊กตู่” จะไปถึงฝัน นั่งเก้าอี้นายกฯ สมัย 2 หรือไม่? หรือ ว่าที่ “ผู้จัดการรัฐบาล” จะชื่อ “บิ๊กป้อม” ?

สถานการณ์หลังการเลือกตั้งสำคัญไม่น้อย โดยเฉพาะท่าทีและบทบาทของกองทัพ ที่ตกเป็นเป้ามาตลอด 5 ปี หลังจากรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ซึ่ง “บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” หัวหน้า คสช. เลือกจะก้าวขึ้นมาเป็นนายกฯ ด้วยตัวเอง

เมื่อทหารออกจากค่าย ย่อมทำให้ต้องเผชิญกับสังคมนอกค่าย การตกเป็นเป้าทางการเมืองจึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

5 ปีที่ผ่านมา กองทัพบก ในฐานะกองทัพคุมกำลังที่ใหญ่ที่สุด มี ผบ.ทบ.มาแล้ว 5 คน

ได้แก่ พล.อ.ประยุทธ์ ตามมาด้วย “บิ๊กโด่ง-พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร” สายทหารเสือฯ “บิ๊กหมู-พล.อ.ธีรชัย นาควานิช” สายบูรพาพยัคฆ์ “บิ๊กเจี๊ยบ-พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท” สายรบพิเศษ และ “บิ๊กแดง-พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์” สายวงศ์เทวัญ

นี่จึงเป็นห้วงเวลาที่ทหารเกือบทุกสายได้หมุนเวียนกันขึ้นมาคุม ทบ.ในช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญของบ้านเมือง

ช่วงที่ คสช. กำลังจะลงจากหลังเสือ กองทัพบกยุคที่นำโดย “บิ๊กแดง” ก็เป็นที่จับตามองจากฝ่ายการเมือง

โดยเฉพาะกลุ่มคนเสื้อแดง เพราะ ผบ.ทบ.รายนี้มีชื่อติดแบล๊กลิสต์ของคนเสื้อแดงมาตั้งแต่สมัยเป็นผู้การ ร.11 รอ. หลังปฏิบัติการยึดคืนสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมไทยคม จ.ปทุมธานี เมื่อปี 2552

อีกทั้งแอ๊กชั่นทางการเมืองในช่วง 6 เดือนแรกของการดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. ก็ทำให้ฝ่ายการเมืองร้อนๆ หนาวๆ

ในห้วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา ความเคลื่อนไหว พล.อ.อภิรัชต์ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ตั้งแต่ออกมาเตือนแต่ละฝ่ายที่เคลื่อนไหวว่า “อย่าล้ำเส้น” ต่อเนื่องด้วย “ปรากฏการณ์เพลงหนักแผ่นดิน” และการนำ ผบ.หน่วยคุมกำลัง ทำพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนเบื้องหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 5 ที่ บก.ทบ.ราชดำเนิน เพื่อปลุกศักดิ์ศรีทหารกลับคืนมา

หลังจากหลายพรรคการเมืองหาเสียงโจมตีกองทัพและมีนโยบาย “ผ่าตัดกองทัพ-ปฏิรูปทหาร” เพื่อเรียกคะแนนเสียง รวมทั้งเหตุการณ์การต่อว่านายทหารที่ไปติดตามนักการเมืองหาเสียงด้วย

แต่ที่จับตากันมากคือคำปฏิญาณตนที่ “บิ๊กแดง” นำกล่าวในข้อที่ 2 และเป็นคำปฏิญาณที่ พล.อ.อภิรัชต์ตั้งใจเขียนขึ้นเอง ว่า

“ข้าพเจ้าในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐ จะสนับสนุนรัฐบาลที่ยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีความจงรักภักดี และมีธรรมาภิบาล”

ทำให้ข้อความดังกล่าวถูกนำไปตีความทางการเมืองทันที รวมทั้งนำมาคาดการณ์สถานการณ์บ้านเมืองในอนาคตด้วย

โดยมีการเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ “บิ๊กเซอร์ไพรส์” วันที่ 8 กุมภาพันธ์ และทำให้มีการมองไปถึงชะตากรรมของพรรคการเมืองขั้วต้าน คสช. ว่า หากสุดท้ายแล้วพรรคเพื่อไทยและเครือข่ายชนะการเลือกตั้ง จนสามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้

“สภาวะแกว่ง-วุ่นวาย” ทางการเมืองอาจหวนกลับมาอีกครั้ง

ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมามีกระแสข่าวลือเรื่อง “ปฏิวัติซ้ำ-รัฐประหารซ้อน” และมีการจัดทำราชกิจจานุเบกษาปลอม ปลด 3 ผบ.เหล่าทัพ โดยอาศัยอำนาจหัวหน้า คสช.ออกมา แต่ก็ไม่ได้สร้างรอยร้าวใดๆ ให้แก่ “รัฐบาล-กองทัพ”

มีการมองว่าการทำเอกสารปลอมเช่นนี้ อาจหวังผลการเมืองได้หลายแง่มุม ทั้งการ “เสี้ยม” ให้เกิดรอยร้าวระหว่างรัฐบาลกับกองทัพ หรืออาจเพื่อ “ปรามกองทัพ” ไม่ให้คิด “งัดข้อรัฐบาล” ก็เป็นไปได้เช่นกัน

แม้ในอนาคต ไม่มีใครรับประกันได้ว่าจะเกิด “รัฐประหาร-ปฏิวัติ” อีกหรือไม่ แต่เชื่อกันว่าหากสถานการณ์สุกงอมพอก็อาจเกิดขึ้นได้อีก เพราะตัวละครทางการเมืองที่จะ “กระตุ้น” ให้เกิดเหตุการณ์ยังคงมีอยู่

อย่างไรก็ตาม มีการมองว่าการทำรัฐประหารจะ “แยบยล” มากขึ้น เพราะจากรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ถึง 22 พฤษภาคม 2557 แม้ปัจจัยจุดติดจะเหมือนกัน แต่การปูทางไม่เหมือนกัน

โดยเฉพาะในปี 2557 ที่ปูทางมา 6 เดือน ทั้งการวางแผน-เตรียมกำลังต่างๆ รวมทั้งการเปิดประเดิมด้วยกฎอัยการศึก ที่เรียกกันว่า “รัฐประหารครึ่งใบ” ไปแล้ว

ทั้งนี้ “รัฐประหารแยบยล” อาจเรียกได้ว่าเป็น “รัฐประหารเงียบ” เช่นกัน หากเกิดเหตุวุ่นวายหรือไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ในอนาคต เชื่อได้ว่ามีการเตรียม “แผนสำรอง” ไว้แล้ว โดยมี “บทสรุปของการเลือกตั้ง” เป็นปัจจัยสำคัญที่จะบ่งชี้ว่าควรนำแผนใดแผนหนึ่งขึ้นมาใช้

ดังนั้น บทบาทกองทัพหลังวันที่ 24 มีนาคม จึงน่าถูกจับตาไปพร้อมๆ กับพรรคการเมืองที่ต้องเปิด “ดีล-ต่อรอง” การจัดตั้งรัฐบาลอย่างเต็มกำลัง

ภายหลังการเลือกตั้ง แสงไฟจะถูกฉายไปยังผู้นำพรรคการเมือง 3 ก๊ก คือ เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์-พลังประชารัฐ รวมทั้งพรรคตัวแปรสำคัญอื่นๆ ว่า สุดท้ายแล้วใครจะจับขั้วและฟอร์มทีมตั้งรัฐบาลได้ก่อน

จึงเป็นที่มาของการออกมา “สร้างเงื่อนไข” ทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทยในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา

อีกทั้งแสงไฟจะสาดส่องไปยัง “บิ๊กป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ผู้เป็นพี่ใหญ่ คสช. และถูกมองว่าอาจกลายเป็น “ผู้จัดการรัฐบาล” ในอนาคตอันใกล้ ด้วยสถานะ “มือประสานสิบทิศ” ผ่านคอนเน็กชั่นมากมายที่ “บิ๊กป้อม” มีอยู่

ซึ่งปรากฏชัดเจนในเส้นทางการคุมกองทัพของ พล.อ.ประวิตร ตั้งแต่การเป็น ผบ.ทบ.สมัยรัฐบาลทักษิณ จนเป็นที่มาของดราม่า “เกาะโต๊ะ” เรื่อยมาถึงสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ ที่ “บิ๊กป้อม” ได้รับเชิญมาเป็น รมว.กลาโหม โดยมี “สุเทพ เทือกสุบรรณ” เป็นรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง

 

ก่อนจะรีเทิร์นมาเป็นรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง และ รมว.กลาโหมในยุค คสช. เท่ากับว่าในหนึ่งทศวรรษ หลัง “บิ๊กป้อม” คนเดียวมีอำนาจว่าการกระทรวงกลาโหมยาวนานถึงราวๆ 7 ปี

ล่าสุด พล.อ.ประวิตรได้รับมอบหมายให้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการสรรหา ส.ว. ที่จะต้องรวบรวมรายชื่อให้ คสช.คัดเลือกเหลือ 250 คน ดังนั้น รายชื่อ ส.ว.ทั้งหมดจะต้องผ่านตา พล.อ.ประวิตรมาก่อนแล้ว

ต้องรอดูหน้าตา ส.ว.ชุดนี้ว่าจะเป็นอย่างไร เพราะก่อนหน้านี้มีการปล่อยโผรายชื่อบางส่วนออกมา พบว่ามีความใกล้ชิด “3 ป. บูรพาพยัคฆ์” ทั้งสิ้น

แม้ “บิ๊กป๊อก-พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา” รมว.กลาโหม จะออกมาปฏิเสธว่าโผดังกล่าวเป็นข่าวที่ไม่มีฐานความจริง รวมทั้ง “บิ๊กป้อม” ก็ออกมาโต้ตอบว่า “คิดไปเองทั้งนั้น ถามเองคิดเอง ผมยังไม่รู้จักใครเลย”

แต่พี่ใหญ่แห่ง คสช.กลับยอมรับว่าสามารถ “คุม ส.ว.” ได้

“เมื่อเราตั้งมาแล้ว เราก็ต้องคุมให้ได้สิ” พล.อ.ประวิตรกล่าว

มีการตั้งคำถามกันว่า คสช.จะควบคุม 250 ส.ว. ได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่ โดยเฉพาะหากเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองขึ้นมา โดยถ้า ส.ส.กองหนุน พล.อ.ประยุทธ์ไม่สามารถดัน “บิ๊กตู่” ขึ้นเป็นนายกฯ ได้ ก็อาจต้องอาศัยเสียง ส.ว.ในการปูทางไปสู่การได้มาซึ่ง “นายกรัฐมนตรีคนนอก” แทน

หรือต่อให้ “บิ๊กตู่” กลับมาเป็นนายกฯ อีกรอบ ท่ามกลางนักการเมืองในสภาหลายร้อยคน ก็คงต้องเผชิญหน้ากับ ส.ส. และ ส.ว. ที่ล้วนเป็น “นักต่อรอง-สร้างเงื่อนไข” ไม่แพ้กัน

อีกสิ่งที่ถูกจับตาคือบทบาทของ “บิ๊กป้อม” ว่าจะกลับมามีตำแหน่งในรัฐบาลใหม่หลังเลือกตั้ง เพื่อเป็น “ฐานบารมี” ของน้องๆ หรือไม่?

หรือจะอยู่ “เบื้องหลัง” คอยคุมกองหนุนให้ “บิ๊กตู่” แทน?

เพราะที่ผ่านมา พล.อ.ประวิตรมักถูกมองว่าเป็น “จุดอ่อน” ของรัฐบาล คสช.มาตลอด แต่หากไม่มี “บิ๊กป้อม” ที่คอยเป็นกันชนและมือประสานสิบทิศให้ “บิ๊กตู่” สถานการณ์ของ ครม.-คสช.อาจแย่ไปกว่านี้

ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวว่า “บิ๊กป้อม” เปิดมูลนิธิป่ารอยต่อฯ ใน ร.1 รอ. ให้นักการเมืองเข้าพบ รวมทั้งมี “อดีตบิ๊กทหาร” แห่งกองทัพภาคที่ 2 ไปร่วมขบวนการดูดอดีต ส.ส.เข้าสู่พรรคพลังประชารัฐ ตั้งแต่กลางปี 2561

แต่ พล.อ.ประวิตรยืนกรานปฏิเสธว่า “บ้านผมไม่มี” และชี้แจงกรณีบิ๊กทหารไปดูดอดีต ส.ส. ว่า “ไม่มีไปเสนออะไร ถ้าเสนอเป็นเรื่องของเขา เขารู้จักกัน เขาคุยกัน ไม่เกี่ยวกับผม”

บทบาทในอนาคตของ “บิ๊กป้อม” จึงน่าสนใจไม่แพ้ของ “บิ๊กตู่” น้องรัก

เพราะการเดินเกมทางการเมืองย่อมต้องมีทั้ง “เบื้องหน้า-เบื้องหลัง” และ “แผนสำรอง” ในระยะยาว เพื่อค้ำประกันให้ พล.อ.ประยุทธ์กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งอย่างมีเสถียรภาพ ไม่ใช่เพียง 1-2 ปี ไม่เช่นนั้นจะถือว่าเสียของเปล่าๆ

เกมนี้ต้องมองให้ลึก ดูกันยาวๆ