กลับไป จากมา : การสดุดีแด่ฮีโร่ในดวงใจ ของศิลปินไทยเชื้อสายอินเดีย (จบ)

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์
นิทรรศการ Revisited < >Departed กลับไปจากมา

นอกจากผลงานโดดเด่นที่จำลองร้านขายผ้าเก่าแก่ของพ่อมาตั้งในห้องแสดงงานหลักแล้ว

ผลงานในนิทรรศการ “Revisited < >Departed กลับไป จากมา” ของนาวิน ลาวัลย์ชัยกุล ที่บางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่ ที่เป็นการสดุดีแต่ฮีโร่ในดวงใจของศิลปินผู้นี้ยังมีอีกหลายชิ้น

ไม่ว่าจะเป็นผลงาน Page42 : Very Beautiful (2019) ที่นำโน้ตเปียโนเพลง Funeral March ที่มณเฑียรชื่นชอบ มาวาดขึ้นใหม่บนกระดาษ

Page42: Very Beautiful (2019)
Page42: Very Beautiful (2019)

ด้วยการนำเครื่องหมายคำถาม (?) และตกใจ (!) อันเป็นองค์ประกอบในผลงานของมณเฑียร มาใช้แทนตัวโน้ตวางบนบรรทัดห้าเส้น

และใช้สีที่เป็นส่วนผสมระหว่าง ฝุ่นที่เก็บมาจากร้านโอเค ที่เคยเป็นบ้านของนาวินในวัยเด็ก กับเถ้าถ่านที่นาวินได้มาจากการนำแกนไม้ม้วนผ้าเหลือทิ้งของร้านมาก่อเป็นสถูปทาด้วยสมุนไพรแล้วเผาไฟ

เพื่อเป็นการระลึกถึงผลงาน Body Temple (1996) ของมณเฑียร

และผลงานอีกชิ้นที่มีชื่อเดียวกับนิทรรศการอย่าง Revisited < >Departed กลับไป จากมา (2019) ที่เป็นภาพวิดีโอบันทึกจากบ้านสองหลัง ฉายคู่ขนานกันสองจอบนผนัง คลอด้วยเสียงเปียโนเพลง Funeral March สอดประสานกับเสียงลมหายใจแผ่วเบา

นิทรรศการ Revisited < >Departed กลับไปจากมา

“งานชิ้นนี้มีที่มาจากการที่เราเคยคุยกับวรเทพ (ภัณฑารักษ์ของนิทรรศการ) ว่า พ่อของเรากับอาจารย์มณเฑียรมีความเกี่ยวข้องกันอะไรบางอย่าง เรายังเคยจะตั้งชื่องานขำๆ ว่า สองสุภาพบุรุษสุดขอบฟ้า คือทั้งสองคนนี้อาจจะไม่รู้จักกัน แต่ความเป็นแบบอย่างให้เรา คนหนึ่งเป็นพ่อ คนหนึ่งเป็นอาจารย์ ซึ่งสองคนนี้เขาก็รักในงานเขา และทำในสิ่งที่เขาเป็น แล้วเขาสอนอะไรหลายๆ อย่างให้เราเหมือนๆ กัน ก็เลยคิดมาเรื่อยๆ ว่าเราน่าจะเอาสภาวะตรงนี้มาเล่าเป็นงานศิลปะ”

“อีกอย่าง ช่วงหลังๆ พ่อของเราก็ป่วยหนักขึ้นเรื่อยๆ แกเป็นอัลไซเมอร์ ก็จะมีปัญหาเรื่องความทรงจำ ก็เลยไปถ่ายวิดีโอบันทึกภาพแกเอาไว้ ประจวบกับหลังจากปีที่แล้วพ่อเราต้องย้ายออกจากบ้านที่เคยอยู่กันมาตั้งแต่เด็ก และต้องขายบ้านไป เราก็ไปถ่ายวิดีโอในบ้านหลังนั้นเอาไว้สองสามวันก่อนย้าย มันเป็นเรื่องของความผูกพัน”

Revisited < >Departed กลับไปจากมา(2019)

“ส่วนวิดีโออีกจอที่ฉายคู่กันนั้นถ่ายมาจากบ้านอาจารย์มณเฑียร ตอนที่ยังไม่ถูกรื้อและปรับปรุงเป็น Montien Atelier ช่วงเดียวกับที่เราไปถ่ายทำงานเปียโนนั่นแหละ”

ส่วนเสียงลมหายใจในวิดีโอก็เป็นเสียงลมหายใจของพ่อของเรา กับเสียงลมหายใจของคุณยาย (แม่ยายของอาจารย์มณเฑียร)

“เราคิดถึงเรื่องของคนรุ่นก่อนหน้าที่เป็นแบบอย่างให้เรา เราก็เลยทำงานชิ้นนี้ด้วยการนำเรื่องของอาจารย์มณเฑียรกับพ่อของเรามาเชื่อมโยงกัน” นาวินกล่าวถึงผลงานของเขา

Homage to a Man Who Tries to Push His Identity Out (After Montien Boonma), ถ่ายภาพโดยจิราภรณ์อินทมาศ

หรือในผลงานอีกชิ้น อย่าง Homage to a Man Who Tries to Push His Identity Out (After Montien Boonma) (2019) ที่นาวินสร้างขึ้นเพื่อสดุดีแด่สองวีรบุรุษผู้เป็นต้นแบบของเขาอย่างมณเฑียรและพ่อของเขา

โดยนาวินหยิบยกเอาแรงบันดาลใจจากผลงานของมณเฑียร อย่าง Homage to Uncle Rouen… A Man Who Trys to Pull Out His Identity (1993) ประติมากรรมจัดวางดินเผาที่ทำจากรอยประทับมือของช่างปั้นหม้อท้องถิ่น

นาวินให้พ่อของเขาจับกำดินเหนียวบนไม้เมตรทองแดงที่ถอดพิมพ์จากไม้เมตรเก่าของร้านโอเค หนึ่งในอุปกรณ์สำหรับการค้าขายผ้า ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของครอบครัวของเขามาหลายชั่วอายุคน แล้วนำดินที่มีรอยมือจับไปเผา ได้ออกมาเป็นประติมากรรมดินเผาจับกำไม้เมตรทองแดง แสดงในกรอบร่วมกับภาพถ่ายที่บันทึกกิจกรรมศิลปะที่เขาทำร่วมกับพ่อของเขา

“องค์ประกอบในงานชิ้นนี้อยู่ในช่วงเวลาที่เราไปช่วยอาจารย์มณเฑียรทำงานที่บ้านเหมืองกุง หมู่บ้านหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผาที่เชียงใหม่ มีงานชิ้นหนึ่งแกให้ช่างปั้นหม้อจับกำดินเหนียว แล้วเอาดินที่มีรอยมือจับไปเผาทำออกมาเป็นงานประติมากรรมจัดวาง”

“ส่วนไม้เมตรเนี่ย คือตอนเป็นวัยรุ่นเราไม่อยากรับช่วงต่อร้านของพ่อ เราไม่อยากถือไม้เมตร เราอยากถือพู่กันมากกว่า แต่ตอนที่พ่อเราเลิกทำร้านโอเค แล้วย้ายของเก็บของทุกอย่างออกมา เราก็เก็บไม้เมตรเก่าๆ มาด้วย แล้วเราก็เอาไม้เมตรพวกนี้มาหล่อเป็นทองแดง”

“แล้วอยู่ดีๆ เราก็นึกถึงอาจารย์มณเฑียรว่าถ้ามีมือมาจับมากำไม้เมตรจะเป็นยังไง ก็เลยเป็นที่มาของงานชิ้นนี้ เราก็ให้พ่อเรากำดินจับไม้เมตร จริงๆ แรงแกก็ไม่ค่อยจะมีหรอก ก็จะเห็นว่ารอยมือจะอ่อนๆ”

นอกจากผลงานที่กล่าวถึงเหล่านี้แล้ว ยังมีผลงานอีกมากมายหลายชิ้นที่น่าสนใจ แต่ยังไม่ได้พูดถึง (เพราะเนื้อที่คงไม่พอ) ก็คงต้องให้ลองไปดูไปชมกันเอาเอง แต่เตือนว่าอย่าพลาดชม และอ่านงานศิลปะในรูปของจดหมายที่นาวินบรรจงเขียนและนำมาแสดงในนิทรรศการนี้หลายฉบับ เพราะจดหมายเหล่านี้คือหัวใจสำคัญที่จะทำให้เราเข้าใจถึงที่มาที่ไปของนิทรรศการนี้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ

จดหมายที่นาวินเขียนถึงมณเฑียรอาจารย์ผู้ล่วงลับของเขา

“ในจดหมายที่เขียนจะเล่าเรื่องราวทั้งหมดว่าทำไมเราต้องทำงานพวกนี้ออกมา เราว่านิสัยของเราคล้ายๆ กับอาจารย์มณเฑียร คือเราชอบอธิบาย ชอบเล่าเรื่องราวเหมือนกัน สำหรับเรา ทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านมาไม่ใช่แค่ความบังเอิญ แต่เป็นเรื่องโชคชะตา แล้วมันก็ไม่ใช่แค่เรื่องของการทำงานศิลปะอย่างเดียว แต่มันเป็นกระบวนการของการใช้ชีวิตด้วย” นาวินกล่าวทิ้งท้าย

อ้อ นอกจากผลงานในห้องแสดงงานทั้งสองแล้ว ในสวนหย่อมหลังหอศิลป์ยังมีผลงานศิลปะในรูปของสวนสนุก “โอเคแลนด์” อันสดใส ฝีมือการออกแบบของลูกสาวและหลานสาวของนาวิน ให้ได้แวะพักผ่อนหย่อนใจ

แถมยังมีไอศกรีมโอเค ที่เด็กหญิงทั้งสองมอบให้เป็นของขวัญแด่คุณปู่ของเธอ หรือพ่อของนาวินในวัย 80 ปี ให้คุณได้ลองลิ้มชิมรสดับร้อนหลังจากชมงานเสร็จอีกด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น ในนิทรรศการยังมีการจัดกิจกรรมให้ความรู้ ทั้งในพื้นที่แสดงงานอย่างบางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่ และที่อื่นๆ (ไม่รวมที่จัดไปแล้ว) อย่างการบรรยาย Chiang Mai Revisit ที่นาวินจะเล่ากระบวนการทำงานของเขาที่มีส่วนเชื่อมโยงบริบทสังคมและประสบการณ์ของการใช้ชีวิตในเชียงใหม่ และเชิญเพื่อนศิลปินชาวเชียงใหม่มาร่วมกันเสวนาในแบบโต๊ะกลม ร่วมกับฮิโรคาซึ โทคุยาม่า ภัณฑารักษ์จากพิพิธภัณฑ์ศิลปะโมริ โตเกียว ในวันศุกร์ที่ 5 เมษายน 2562 เวลา 16:00-18:30 น. (อาจมีการเปลี่ยนแปลง) ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม เชียงใหม่

OKland

และ “โอเคไนท์” กิจกรรมต่อเนื่องจาก “เทศกาลโอเค” ที่เคยจัดขึ้นที่โตเกียวเมื่อปี 2017 โดยกิจกรรมจะเริ่มด้วยบทสนทนาระหว่างนาวินกับฮิโรคาซึ โทคุยาม่า ที่เคยทำงานศิลปะชุมชนกับนาวินที่ญี่ปุ่น ตามด้วยการฉายภาพยนตร์สองเรื่องที่ศิลปินสร้างขึ้นด้วยรูปแบบการทำงานและการสร้างงานศิลปะกับชุมชน ปิดท้ายนิทรรศการด้วยปาร์ตี้ดนตรีสดและการเต้นรำในวันอาทิตย์ที่ 7 เมษายน 2562, เวลา 17:00-23:00 น. ที่บางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่

นิทรรศการแสดงเดี่ยว “กลับไป จากมา” โดย นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล จัดแสดงที่บางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่ (สาทรซอย 1 สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินลุมพินี จอดรถที่ 123 ปาร์กกิ้ง) ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ – วันอาทิตย์ที่ 7 เมษายน 2562 แกลเลอรี่เปิดทำการวันพุธถึงวันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 13:00-19:00 น. สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ [email protected] หรือ +668-3087-2725

ข้อมูลบางส่วนจาก “จากมา” เพื่อ “กลับไป” บทความประกอบนิทรรศการ โดยวรเทพ อรรคบุตร, เอื้อเฟื้อภาพโดยศิลปิน, นาวินโปรดักชั่น – สตูดิโอเค และบางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่ / จิราภรณ์ อินทมาศ