จรัญ มะลูลีม : อิหร่านภายใต้อำนาจนำ จาก “เรซา ชาฮ์” ถึง “มุฮัมมัด เรซา ชาฮ์”

จรัญ มะลูลีม

เรซา ชาฮ์ ปาห์ลาวี (ต่อ)

ทางด้านเศรษฐกิจ มันหมายความว่ามิได้มีระบบเศรษฐกิจเพียงระบบเดียวอยู่ทั่วประเทศ มีระบบศักดินาอยู่คู่เคียงกันไปกับระบบทุนนิยม

นายทุนต่างประเทศมีบทบาทสำคัญทั้งทางตรงและทางอ้อม ในกรณีของอิหร่านในขั้นตอนนี้

มันเป็นความขัดแย้งที่มีผู้กอบโกยประโยชน์ทั้งหมดอยู่ที่ปลายข้างหนึ่งและที่อีกปลายข้างหนึ่งอาจถือได้ว่าเป็นชนชั้นกลางระดับชาติ คือส่วนหนึ่งของประชาชน

ดังนั้น มันจึงเป็นความขัดแย้งระหว่างประชาชนร่วมกับกลุ่มจักรวรรดินิยมกับกลุ่มปฏิกิริยาภายในประเทศ คือกลุ่มผู้ดีศักดินา กับชนชั้นกลางที่เป็นตัวแทนของชาวต่างชาติ

เผด็จการทหารและเครื่องมือของเขาคือตำรวจก็ได้ขยายงานของพวกเขาขึ้นเรื่อยๆ คือการปราบปรามประชาชนและควบคุมผู้ที่เป็นปรปักษ์ต่อประชาชนไว้ในกำมือของรัฐ

เผด็จการนี้ทำงานให้แก่เรซา ชาฮ์ และพรรคพวกของพระองค์เป็นเบื้องต้น

ระบบตำรวจได้หว่านเมล็ดพืชแห่งความไม่ไว้วางใจกันในหมู่ประชาชนมากเสียจนไม่มีใครกล้าพูดต่อต้านการปกครองของเรซา ชาฮ์ แม้กระทั่งในเขตบ้านของตนเอง

มีการจับกุมคุมขังตามอำเภอใจ

จู่ๆ คนก็หายตัวไปโดยไม่มีคำอธิบาย

และการก้าวร้าวต่อเกียรติศักดิ์และชื่อเสียงของบุคคลทำให้ประชาชนต้องหวาดกลัวไปหมด

แต่ครั้นแล้วการปกครองแบบเผด็จการของเรซา ชาฮ์ ก็มีอันต้องล้มครืนลงจนได้

ถึงมิใช่ด้วยการลุกฮือของกำลังฝ่ายปฏิวัติในประเทศ

แต่ก็ต้องล้มอยู่ดีด้วยการรุกรานทางทหารของอังกฤษและโซเวียตรัสเซีย

 

อาจกล่าวได้ว่าความสำเร็จของเรซา ชาฮ์ นั้นมีอยู่จำกัดเพราะถูกขัดขวางโดยสงครามโลกครั้งที่ 2

งานของพระองค์เริ่มขึ้นตั้งแต่อิหร่านยังอยู่ในสภาพอนาธิปไตย แต่ขณะที่ทรงพยายามจะสร้างความเป็นอิสระแก่ตนเองให้แก่อิหร่านก็พบได้ว่าอำนาจของอังกฤษ รัสเซีย และบริษัทน้ำมันนั้นยากที่จะโค่นลงได้

และเมื่อสงครามทำให้ระบอบการเมืองของโลกเปลี่ยนแปลงไป ผลกระทบอย่างแรกก็คือทำให้อิหร่านต้องยอมแพ้ต่อชะตากรรมใหม่ที่มิได้สร้างขึ้นมาและมิอาจจะควบคุมได้

เช่นเดียวกับนักชาตินิยมอื่นๆ พระองค์ทรงเห็นแก่ความเป็นอิสระของประเทศมากกว่าอิสรภาพของประชาชน และต้องการให้ผู้รักชาติมีความทะนงในปิตุภูมิของพวกเขามากกว่าเสรีภาพส่วนตน

อย่างไรก็ตาม ได้ทรงให้อิสรภาพแก่สตรีเป็นอย่างมากและเป็นครั้งแรกที่สตรีได้รับอิสรภาพเช่นนี้

เรซา ชาฮ์ ทรงตัดขาดจากชีวิตในอดีตอันเป็นแบบอิสลาม เพียงเพื่อจะให้การปกครองนั้นเสริมความแข็งแกร่งแก่ราชวงศ์ของตนเองเท่านั้น

เพื่อที่จะค้ำจุนระบบกษัตริย์ของพระองค์และพรรคพวกของพระองค์จึงได้สร้างสถาบันกษัตริย์อันผู้ใดจะละเมิดไม่ได้ขึ้นมาและอยู่ในอำนาจเป็นเวลายาวนานถึง 20 ปี

ความไม่พอใจของพวกนักการศาสนาและผู้นำฝ่ายศาสนาส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการที่คนเหล่านี้คิดว่าแผนการทำอิหร่านให้เป็นประเทศสมัยใหม่ของเรซา ชาฮ์ นั้นมีจุดมุ่งหมายในทางการเมือง และทำขึ้นเพื่อจะทำลายโครงร่างของอิสลามในสังคมและทำลายอิทธิพลของศาสนาอิสลามที่มีต่อประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศ

คนเหล่านี้มีความเห็นว่าเรซา ชาฮ์ มิได้มุ่งที่จะส่งเสริมค่านิยมทางด้านจริยธรรมที่ดีงามของตะวันตก อย่างเช่น ความเสมอภาคและความยุติธรรม

และการที่จะทำให้เยาวชนของอิหร่านต้องเสียไปซึ่งค่านิยมทางด้านจิตใจและหลักศีลธรรมของสำนักคิดชีอะฮ์นั้น เรซา ชาฮ์ กำลังจะสร้างสังคมอันเป็นโรคร้ายขึ้นมาซึ่งจะรักษาไม่หายอีกเป็นเวลาช้านาน

แต่เนื่องจากพวกนักการศาสนาไม่มีสิทธิที่จะแสดงความไม่พอใจออกมาได้ พวกนักศึกษาหนุ่มๆ ในโรงเรียนสอนศาสนาจึงไม่มีทางเลือก นอกจากจะจัดตั้งสมาคมลับๆ ขึ้นมาเพื่อปลุกปั่นให้ประชาชนกระด้างกระเดื่องต่อกษัตริย์

พวกนักการศาสนาที่หัวไม่รุนแรงนักก็เปลี่ยนการประชุมด้านศาสนาในมัสญิดให้กลายเป็นการเมืองไป โดยผู้ฟังได้รับคำเตือนทางอ้อมให้ทำตามตัวอย่างการปฏิวัติของอิมาม อะลี (Ali) อิมามฮูเซน (Husayn) และผู้สืบต่อของท่าน

 

เรื่องที่เรซา ชาฮ์ ประสบความล้มเหลวมากที่สุดก็คือนโยบายต่างประเทศ ทั้งนี้ นโยบายต่างประเทศของพระองค์ก็เช่นเดียวกับนโยบายเศรษฐกิจของพระองค์ที่จะทำให้ประเทศทันสมัยเพื่อสร้างและเพิ่มความเป็นไทให้แก่ชาวอิหร่าน

แต่ผลที่ได้คือการเข้ามารุกรานของกองทัพรัสเซียและอังกฤษที่พยายามเกลี้ยกล่อมพระองค์ให้ขับพวกนาซีออกจากอิหร่านและลงมือต่อต้านเยอรมนีที่อังกฤษแสดงความห่วงใยว่ากำลังมีอิทธิพลและจำนวนเพิ่มมากขึ้นในอิหร่าน

ในที่สุดรัฐบาลของเรซา ชาฮ์ จึงต้องยอมตกลงที่จะขับไล่เยอรมนีออกไป ข้อตกลงนี้เพิ่งเริ่มทำได้จริงๆ เพียงส่วนเดียวเท่านั้น กองทัพของรัสเซียก็เดินทางต่อไปยังกรุงเตหะราน

เรซา ชาฮ์ เชื่อว่าบางทีอย่างน้อยรัสเซียหรือไม่ก็อังกฤษด้วยต้องการจะโค่นบัลลังก์ของพระองค์ พระองค์จึงสละราชสมบัติในวันที่ 16 กันยายน ปี 1941 เพื่อรักษาราชวงศ์ไว้ให้แก่โอรสต่อไป

โอรสของพระองค์ก็คือชาปูร์ มุฮัมมัด (Shapour Muhammad) หรือมุฮัมมัด เรซา (Mohammad Reza) ก็ขึ้นครองราชย์แทน

ทรงพระนามเต็มยศว่ามุฮัมมัด เรซา ชาฮ์ ปาห์ลาวี ชาฮันชาฮ์ (กษัตริย์แห่งกษัตริย์) อารยามาฮัร (แสงสว่างหรือดวงอาทิตย์แห่งชาวอารยัน)

 

มุฮัมมัด เรซา ชาฮ์ (1941-1979)

มุฮัมมัด เรซา ชาฮ์ เกิดเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม ปี 1918 ได้รับการศึกษาขั้นประถมศึกษาในโรงเรียนทหารที่เพิ่งตั้งขึ้นใหม่ในกรุงเตหะราน และเรียนภาษาฝรั่งเศสจากครูผู้หญิงที่มาสอนในวัง

ในปี 1931 ได้เดินทางไปศึกษาต่อที่สวิตเซอร์แลนด์

หลังจากนั้น 5 ปี พอเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาก็กลับอิหร่านโดยผ่านทางรัสเซีย ในปีเดียวกันนั้นได้เข้าเรียนในวิทยาลัยทหารที่กรุงเตหะราน หลังจากนั้นสองปีก็เรียนจบ ในปี 1939 ทรงอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงเฟาซียะฮ์ (Fowzia) ธิดาของกษัตริย์ฟูอ๊าด (Foud) แห่งอียิปต์

หลังจากกลับจากสวิตเซอร์แลนด์ พระองค์ได้รับการฝึกฝนในเรื่องการปกครองแบบรวมอำนาจและการเมืองสำคัญๆ จากเรซา ชาฮ์ และได้ประสบการณ์โดยพระองค์เองมาจากสวิตเซอร์แลนด์ในเรื่องการปกครองแบบตะวันตก

จึงเริ่มรัชสมัยของพระองค์ด้วยการแสดงความเชื่อถือในระบบการปกครองแบบกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ

และได้เดินทางไปทั่วประเทศเพื่อพบปะกับผู้คนต่างๆ ทั้งๆ ที่พวกนายทหารที่ได้รับการอบรมจากโรงเรียนนายทหารแบบรวมอำนาจของกษัตริย์องค์ก่อนจะไม่พอใจเป็นอย่างมากก็ตาม

 

เมื่อฝ่ายสัมพันธมิตรเข้ามาครอบครองอิหร่านก็ได้มีความเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายเกิดขึ้นกองทัพรัสเซียเข้ามาครอบครองภาคเหนืออันเป็นส่วนที่มีพลเมืองหนาแน่นเป็นที่ 3 ของประเทศลงมาจนถึงกรุงเตหะราน

ส่วนอังกฤษที่ในเวลานี้มีความสนใจกิจการน้ำมันของอิหร่านก็เข้ายึดครองภาคใต้ซึ่งมีบ่อน้ำมันและท่าเรือที่อ่าวเปอร์เซีย ต่อมาอีกปีกว่า กองทัพสหรัฐก็เข้ามาสร้างท่าเรือต่างๆ ขึ้น เข้ายึดครองทางรถไฟ ตั้งโรงงานประกอบรถบรรทุกและสร้างถนนซึ่งใช้เป็นทางขนส่งวัสดุสงครามจำนวนมากให้แก่รัสเซียที่เมืองกาซวิน (Qazvin) เพื่อเป็นการตอบแทนการถอนตัวของเรซา ชาฮ์

ฝ่ายสัมพันธมิตรจึงอนุญาตให้มีความร่วมมือระหว่างอิหร่านกับฝ่ายสัมพันธมิตร และต่อมาอิหร่านก็ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมในสหประชาชาติได้และได้มีการรับประกันเอกราชและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันตามคำประกาศแห่งกรุงเตหะรานในปี 1943

แต่ภายในประเทศ ทั้งอังกฤษและโซเวียตรัสเซียต่างก็มิได้รับผิดชอบอย่างแท้จริงในการบริหารการปกครอง ทั้งสองประเทศพอใจอยู่แต่สิ่งที่รัฐบาลอิหร่านทำได้เท่านั้นมิได้รับผิดชอบมากไปกว่านั้น

ส่วนสหรัฐก็พยายามแสดงท่าทีเหมือนกับว่ามิได้ทิ้งกองทัพอยู่ในอิหร่าน ทั้งๆ ที่เนื้อที่ที่อยู่ในความปกครองที่แท้จริงของรัฐบาลอิหร่านมีอยู่เล็กกว่าตัวเมืองของกรุงเตหะรานเสียอีก แม้ในตัวเมืองหลวงเองก็ยังมีอยู่หลายท้องที่ที่ถูกควบคุมโดยทูตของประเทศฝ่ายสัมพันธมิตร

ในระหว่างช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จะสิ้นสุดลง คือในต้นปี 1944 ได้มีการแข่งขันกันหาผลประโยชน์โดยรัสเซียและอังกฤษที่ได้รับสัมปทานน้ำมันนอกจากบริษัทแองโกล-เปอร์เซียออยส์ รองผู้ตรวจการฝ่ายต่างประเทศของโซเวียตรัสเซียถึงกับเดินทางมายังกรุงเตหะรานเพื่อเจรจาเรื่องการขุดน้ำมันในภาคเหนือของอิหร่าน

โดยอ้างว่าดินแดนภาคเหนือของอิหร่านเป็นส่วนสำคัญในการประกันความปลอดภัยของโซเวียตรัสเซียและไม่ควรมีอิทธิพลของอังกฤษเข้ามาเกี่ยวข้อง