‘ธนาธร อนาคตใหม่’ ส่งสัญญาณอะไรทางการเมือง ? ในพื้นที่ชายแดนใต้

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตากรุณาเสมอ ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสนทูตมุฮัมมัดและผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีแด่ผู้อ่านทุกท่าน

ช่วง 1- 2 มีนาคม 2562 ภาพข่าว “นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะเวทีปราศรัยที่ปัตตานีและหาดใหญ่ที่ได้รับการต้อนรับอย่างล้นหลามเกินขาดโดยเฉพาะวัยรุ่น วัยนักศึกษา

อะไรเป็นปัจจัยในปรากฏการณ์ครั้งนี้?

หากดูนโยบายที่ธนาธรกล่าว จะพบว่านโยบายแบบ 360 องศา ที่ใช้วาทกรรมถอนทหารในพื้นที่ชายแดนใต้ ปฏิรูปกองทัพ ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ยกเลิกกฎหมายพิเศษ ในขณะเดียวนำงบฯ ทางทหารไปใช้พัฒนา รวมทั้งการกระจายอำนาจ ที่ให้คนในพื้นที่ร่วมออกแบบการเมืองการปกครองเขาโดยชูธงประชาธิปไตยเปรียบเสมือนนำการเมืองนำการทหารจริงๆ

ในนโยบายที่ธนาธรและอนาคตใหม่ประกาศสอดคล้องกับทุกข้อเสนอแนะในเวทีวิชาการที่จัดโดยเครือข่ายภาคประชาชนร่วมกับนักวิชาการ

เช่น ผลสำรวจ Peace Survay ซึ่งจัดทำโดยเครือข่ายภาคประชาชนชายแดนใต้ สถาบันอุดมศึกษาทั้งในและนอกพื้นที่มากกว่า 19 องค์กร โดยมีข้อเสนอแนะ 7 ข้อนโยบายสาธารณะที่อยากให้นักการเมืองนำไปปฏิบัติหลังการเลือกตั้ง ประกอบด้วย

1. ยกระดับให้การพูดคุยสันติภาพเป็นแกนกลางในการแก้ไขความขัดแย้งทางการเมือง

2. เร่งปกป้องพลเรือนจากความรุนแรงและการละเมิดสิทธิ์

3. ทบทวนประสิทธิผลการแก้ปัญหายาเสพติดและเร่งตั้งกลไกพิสูจน์ข้อเท็จจริงเหตุรุนแรง

4. ตรวจสอบประสิทธิภาพการใช้งบประมาณด้านการพัฒนาในพื้นที่

5. ออกแบบระบบการศึกษาที่มีคุณภาพและสะท้อนวิถีอัตลักษณ์วัฒนธรรม

6. กระจายอำนาจมากขึ้นด้วยโครงสร้างการปกครองที่มีลักษณะเฉพาะของพื้นที่

และ 7. เปิดพื้นที่ให้คนได้ถกเถียงเรื่องอ่อนไหวทางการเมืองโดยไม่ถูกคุกคามจากทุกฝ่าย

สําหรับผลสำรวจ Peace Survay เป็นผลมาจากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีต่อกระบวนการสันติภาพ (PeaceSurvey) จำนวน 4 ครั้ง โดยเริ่มต้นครั้งแรกในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 จนถึงครั้งล่าสุดในเดือนกันยายน 2561

รายงานระบุไว้ว่า การสำรวจทั้งหมดมาจากตัวอย่างหรือผู้ให้ความเห็นรวมทั้งสิ้นจำนวน 6,321 คน มาจากทั้งหมด 622 หมู่บ้าน ในวิธีการที่ผู้ดำเนินการระบุว่า มาจากการสุ่มตัวอย่างแบบมีระบบ (Systematic Random Sampling) ที่ลงไปจนถึงระดับครัวเรือน ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนทุกคนและทุกกลุ่มมีโอกาสถูกเลือกในการแสดงความเห็นอย่างเท่าเทียมกัน

สำหรับการสำรวจนั้นครอบคลุมเรื่องของทัศนคติต่อสภาพความเป็นอยู่ในพื้นที่ สาเหตุของปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ความพยายามในการแก้ไขปัญหาด้วยกระบวนการสันติภาพ และข้อเสนอแนะต่อแนวทางแก้ปัญหาในอนาคต

ผลของการสำรวจความเห็น ได้ข้อมูลโดยสรุปว่า ที่ผ่านมามีประชาชนเพียง 1 ใน 4 (ร้อยละ 25.6) ที่รู้สึกว่าสถานการณ์ดีขึ้น แต่ประชาชนที่เหลืออีกราว 1 ใน 5 (ร้อยละ 21.7) มองว่าสถานการณ์แย่ลง

และมีอีกเกือบครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 42.6) ที่มองว่าเหมือนเดิม

ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ในความรู้สึกของผู้ถูกสอบถามนั้น มาตรการแก้ปัญหาความขัดแย้งในชายแดนใต้ที่ดำเนินการมายังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ในพื้นที่ให้ดีขึ้นได้

ทั้งหมดนี้เน้นย้ำให้เห็นว่ามีความจำเป็นที่พรรคการเมืองควรจะปรับนโยบายที่มีต่อสามจังหวัดภาคใต้ ในส่วนหนึ่งของการประมวลความเห็น

รายงานของผู้ดำเนินการสำรวจระบุว่าประชาชนส่วนใหญ่ที่ให้ความเห็นคือ 65.4% ไม่ว่าจะมาจากศาสนาใดล้วนสนับสนุนการพูดคุยสันติภาพ

ในขณะเดียวกันก็สอดคล้องกับข้อเสนอแนะกับนโยบายสี่ข้อของสภาประชาสังคมชายแดนใต้ (ผู้เขียนร่วมสรุปจากเวทีต่างๆ ในรอบสามปี) คือ

1. หนุนเสริมกระบวนการสันติภาพพร้อมกับการพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืนและมีส่วนร่วมของชุมชน

2. ส่งเสริมนโยบายพหุวัฒนธรรม

3. ผลักดันการกระจายอำนาจที่เหมาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้

และ 4. การพัฒนาและการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติในพื้น อย่างสมดุลและยั่งยืน โดยทั้งสี่ข้อนี้มีข้อย่อยเรื่อง การปฏิรูปกฎหมายพิเศษและกระบวนการยุติธรรมที่ประกาศใช้มากว่า 15 ปี ที่ถูกมองว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อประชาชนอันเป็นปัจจัยเร่งเรื่องความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชน โดยมูลนิธิผสานวัฒนธรรม

(โปรดดูรายละเอียดเพิ่มใน https://voicefromthais.wordpress.com/)

ปรากฏการณ์ธนาธรครั้งนี้ส่วนหนึ่งคือการเปิดพื้นที่ทางการเมืองในเรื่องที่เสี่ยงต่อความมั่นคง หรือเรื่องใต้ดิน ให้มีการพูดมากขึ้น โดยยืมมือคนนอกพื้นที่ที่มีชื่อเสียงคนทั้งประเทศฟังมาพูดแทน เพราะโดยความเป็นคำต่างๆ ที่ธนาธรพูดและสัญญานำมาหาเสียง คนพื้นที่อึดอัดมานาน ไม่กล้าพูด ไม่กล้าแสดงออก

แต่พอธนาธรพูด มีหลายคนกล้าพูด แม้กระทั่งเรื่องการถอนทหาร และนำงบฯ มาพัฒนาพื้นที่ เช่น คลิปภาษามลายูตอนที่หกที่ถูกแชร์สนั่นในโลกออนไลน์ในพื้นที่หรือแม้กระทั่งมาเลเซีย อินโดนีเซีย อาหรับที่มีนักศึกษาไทยชายแดนใต้อยู่ (โปรดดู https://www.facebook.com/100005131680345/videos/1126569990857380/?t=27)

อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีฝ่ายตรงข้ามที่ไม่เห็นด้วยกับธนาธร พยายามออกคลิป ออกเพจในโลกโซเซียลป้ายสีด้วยคำที่สร้างความเกลียดชัง เหมือนกับการเมืองส่วนกลางที่ทำต่อธนาธร

เช่น ใช้ตรรกะวิบัติที่ชายแดน : ถอนทหาร ลดงบประมาณกลาโหม เพิ่มงบฯ พัฒนา คืนอำนาจให้ประชาชนโดยการกระจายอำนาจ คือยกประเทศให้โจร หากเลือกธนาธร มุสลิมจะไม่ได้ละหมาด คนพุทธไม่ได้เข้าวัดไหว้พระ เพราะธนาธรไม่เอาศาสนา เป็นต้น

อย่างไรก็แล้วแต่ ถึงแม้คนพื้นที่จะตอบรับนโยบายหาเสียงเขา สำหรับมุสลิมแล้วก็ยังมีความกังวลต่อเรื่องนโยบายความเท่าเทียมในเพศทางเลือกไม่น้อยเหมือนกัน

ส่วนคนพุทธก็มีความกังวลเรื่องถอนทหารในพื้นที่ เช่น บทสนทนาระหว่างผู้เขียนกับท่านรักชาติ สุวรรณ รองประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ ให้ข้อกังวลและเสนอแนะว่า

“ความจริงแล้วผมเองก็ชื่นชอบ ชื่นชมความคิดของพรรคนี้มากเช่นกัน มีความก้าวหน้า กล้าแสดงความคิดเห็น ผมเองไม่มีความเป็นอคติใดๆ ต่อพรรคอนาคตใหม่ ประเด็นที่สำคัญสำหรับคนไทยที่นับถือศาสนาพุทธในพื้นที่ความขัดแย้งด้วยอาวุธ สูญเสียชีวิตมากมาย คนที่นี่ (คนพุทธ) มีความรู้สึกไม่ปลอดภัยหากพรรคการเมืองที่มีนโยบายถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่มีโอกาสบริหารบ้านเมือง ว่าไปแล้วคนในพื้นที่ไม่ได้ต้องการให้ทหารอยู่หรอกครับ หากมันปลอดภัย สงบสุขแล้วจริงๆ การที่ลงมาหาเสียงแล้วบอกว่าถอนกำลังทหารออก หากไม่อธิบายวิธีหรือกระบวนการทำงานในประเด็นนี้ มันเสมือนกำลังจะบอกว่า ไม่สนใจเสียงที่เป็นคนไทยพุทธเลยหรือไม่ #ถอนได้_ถ้าพื้นที่ปลอดภัยแล้วจริงๆ”

หลังจากนั้น Gunny Piyarat Kotan_จากพรรคอนาคตใหม่ และ พันธุ์พิพิธ พิพิธพันธุ์ ได้ตอบข้อกังวลของท่านรักชาติว่า

“รัฐต้องใช้ กม.พิเศษเท่าที่จำเป็น ยุติรัฐราชการรวมศูนย์ ให้ท้องถิ่นจัดการตัวเอง การถอนทหารไม่ได้ทำได้โดยทันทีหลังเลือกตั้ง สนธิกำลังตำรวจ ปกครอง ทหาร เป้าหมายระยะยาว ค่อยๆ ถอน พื้นที่ที่ใช้กฎหมายปกติได้พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ปกติ ไม่ควรเป็นกฎหมายพิเศษมายาวนานขนาดนี้ สนธิกำลังอำนาจนำอยู่ที่ฝ่ายปกครอง ไม่เอาทหารเป็นหน่วยนำในการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ ปัญหาการใช้ความรุนแรงไม่ใช่ปัญหาอาชญากรรมแบบปกติ ควบคู่กับการทำงานทางความคิด พื้นที่นี้ให้คนเอาประชาธิปไตย และทำไงให้คนอยากอยู่กับประชาธิปไตยโดยไม่คิดจะแบ่งแยก แนวทางการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ ไม่ใช่ในแนวทางที่นำการทหารมาแก้ปัญหา หนำซ้ำยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลง ซึ่งพรรคอนาคตใหม่จะใช้วิธีการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้คือ

1. แก้ปัญหาเศรษฐกิจและความเหลื่อมล้ำ

2. คืนอำนาจสู่ท้องถิ่น ให้ท้องถิ่นเป็นผู้บริหารจัดการตัวเอง

และ 3. ใช้วิธีทางการทูตแก้ปัญหา และอย่ามองว่าสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นปัญหาและเมืองแห่งความรุนแรง

(โปรดดู https://www.facebook.com/rukcharts)

นี่คือเก็บตก #กระแสธนาธร หลังจากท่านหาเสียงที่ชายแดนใต้ หวังว่าการเปิดพื้นที่ทางการเมืองภายใต้ระบอบประชาธิปไตยจะช่วยหาทางออกการแก้ปัญหาชายแดนใต้อย่างสันติวิธี