ก่อนโค้งสุดท้ายเลือกตั้ง พลังประชารัฐ #เซฟบิ๊กตู่ ยึดหลักปลอดภัยไว้ก่อน ล้มแผนขึ้นเวทีปราศรัย

เส้นทางสืบทอดอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เริ่มประสบปัญหา “ยักตื้นติดกึก ยักลึกติดกัก” ในช่วงก่อนโค้งสุดท้ายเลือกตั้ง

จากตอนแรกที่ประเมินกันว่า ด้วยวิสัยทัศน์ บวกกับผลงานตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา และอะไรต่อมิอะไรอีกหลายอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ คือ “จุดแข็ง” ของพรรคพลังประชารัฐ หรือ พปชร.

แต่แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา หลังการตอบรับเป็น “แคนดิเดตนายกฯ” พล.อ.ประยุทธ์ก็กลายเป็น “ตำบลกระสุนตก” ในทันที

เป็นการเปิด “จุดอ่อน” ให้คู่แข่งรุมถล่ม พรรคฝ่ายประชาธิปไตยต่างเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออกจากนายกฯ และหัวหน้า คสช. เพื่อลงมาสู้กันแบบแฟร์ๆ ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ

ทั้งยังเป็นการตัดปัญหา กรณีมีเสียงท้าทายให้มาร่วม “ดีเบต” ประชันวิสัยทัศน์ รวมถึงขึ้นเวทีปราศรัยหาเสียงช่วยผู้สมัครว่า ทำได้หรือไม่ได้

“ยังไม่เห็นความจำเป็นต้องร่วมเวทีดีเบต ไม่ได้กลัว แต่ต้องดูว่าการดีเบตทุกวันนี้ ส่วนใหญ่เป็นการโจมตีกันไปมา ไม่ค่อยมีสาระสำคัญ ไม่ค่อยพูดถึงนโยบายของแต่ละพรรคจริงๆ มุ่งโจมตีและวิพากษ์วิจารณ์การทำงานมากกว่า” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

ส่วนเรื่องขึ้นเวทีปราศรัยหาเสียง พปชร.เตรียมใช้เป็น “ทีเด็ด” โกยคะแนนช่วงโค้งสุดท้าย 2 สัปดาห์ก่อนเลือกตั้ง

จัดคิวให้ พล.อ.ประยุทธ์ประเดิมเวทีปราศรัยแรก จ.นครราชสีมา วันที่ 10 มีนาคม ก่อนเดินสายไปภาคต่างๆ ปิดท้ายที่ กทม. วันที่ 22 มีนาคม

รายงานข่าวเผยว่า เดิมในการปราศรัยหาเสียงครั้งแรกนี้ ทีมงาน พล.อ.ประยุทธ์และฝ่ายกฎหมาย พปชร. เตรียมการระมัดระวังเต็มที่เพื่อหลีกเลี่ยงถูกร้องเรียน

เบื้องต้นให้ พล.อ.ประยุทธ์สวมเสื้อเชิ้ตธรรมดา ไม่มีโลโก้พรรคหรือตราราชการ รวมถึงเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ส่วนตัวในการเดินทาง แทนการใช้รถหลวง

การจัดคิวให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขึ้นเวทีปราศรัย

ถูกกำหนดขึ้นหลัง กกต.เปิดไฟเขียวให้นายกฯ ขึ้นเวทีปราศรัยหาเสียงช่วยผู้สมัครได้ แต่ให้ระมัดระวังเรื่องการใช้ตำแหน่งหน้าที่เป็นคุณเป็นโทษกับผู้สมัครและพรรคการเมือง

เช่นเดียวกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ยืนยันว่า ถึง พล.อ.ประยุทธ์ยังอยู่ในตำแหน่งนายกฯ ซึ่งถือเป็น “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” แต่ในฐานะข้าราชการการเมือง ข้อกฎหมายยกเว้นให้สามารถเป็นแคนดิเดตนายกฯ พรรคการเมืองได้

ส่วนเรื่องขึ้นเวทีปราศรัยหาเสียง นายวิษณุเห็นตรงกับ กกต.ว่า พล.อ.ประยุทธ์ทำได้ แต่ต้องระมัดระวังไม่ให้ขัดมาตรา 78 พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องไม่ใชhตำแหน่งและอำนาจหน้าที่โดยมิชอบ

หรือต่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ขึ้นเวทีปราศรัย ก็ยังเดินทางไปพบปะประชาชนในฐานะแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคได้ โดยไปในนามพรรค ไม่เกี่ยวกับตำแหน่งนายกฯ

กระนั้นก็ตามทีมงานคนใกล้ชิด พล.อ.ประยุทธ์ยังอยู่ในอาการกล้าๆ กลัวๆ เพราะถึง กกต.และนายวิษณุจะยืนยันในทางข้อกฎหมายทำได้ก็จริง

แต่ในทางปฏิบัติ พล.อ.ประยุทธ์เป็นทั้งนายกฯ เป็นทั้งหัวหน้า คสช. โดยเฉพาะสถานะอย่างหลัง ยังไม่มีการตีความชัดเจนว่าเข้าข่ายเป็น “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” หรือไม่

แม้แต่นายวิษณุก็เพียงแสดงความเห็นส่วนตัว อ้างอิงจากกรณี ป.ป.ช.เคยระบุ คสช.ไม่จำเป็นต้องแสดงบัญชีทรัพย์สิน เนื่องจากไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ

ถึงที่สุดแล้ว นายวิษณุก็ไม่กล้าฟันธงว่าใช่หรือไม่ใช่ ทั้งยังแนะนำหากใครติดใจสงสัยในประเด็น สามารถยื่นต่อ กกต.ให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตีความ

ก่อนหน้านี้ นอกจากนายวิญญัติ ชาติมนตรี เลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิและเสรีภาพ และนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ

เคยยื่นหนังสือต่อ กกต.ให้พิจารณาส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรค พปชร. เนื่องจากการเสนอชื่อหัวหน้า คสช. เป็นแคนดิเดตนายกฯ

เข้าข่ายกระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระกษัตริย์ทรงเป็นประมุข ขัดต่อเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ

ล่าสุดเป็นกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่ยื่นต่อ กกต. ขอให้เพิกถอนชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พ้นจากการเป็นแคนดิเดตนายกฯ พรรค พปชร. เนื่องจากมีสถานะน่าเคลือบแคลง ไม่ชัดเจนว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือไม่

ยังมีนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เข้ายื่นหนังสือถึงประธานและกรรมการผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้เสนอศาลปกครองวินิจฉัยในประเด็นนี้เช่นกัน

นายศรีสุวรรณ ในฐานะรองประธานศูนย์ปฏิบัติการเลือกตั้ง (CEPP) เปิดเผยด้วยว่า เตรียมตั้งทีมติดตามตรวจสอบการเดินสายปราศรัยของ พล.อ.ประยุทธ์ ว่า

มีการกระทำและคำปราศรัยส่อไปในทางผิดกฎหมาย เช่น นำรถยนต์ ทรัพย์สินราชการ ฝ่ายรักษาความปลอดภัยประจำตัวนายกฯ ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่รัฐไปร่วมตระเวนปราศรัยหาเสียงหรือไม่

เมื่อลงพื้นที่แล้วมีข้าราชการมาต้อนรับ นำทรัพย์สินทางราชการมาอำนวยความสะดวก ทุกคำปราศรัยมีคำพูดใดขัดต่อ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. และระเบียบ กกต.หรือไม่

หากพบการกระทำดังกล่าวเมื่อใดจะส่งคำร้องให้ กกต.วินิจฉัยเอาผิด หากเกี่ยวโยงถึงการรู้เห็นของหัวหน้าพรรคและคณะกรรมการบริหารพรรค ก็จะดำเนินการในทันทีเช่นกัน

เมื่อได้รับสัญญาณถูกจ้อง “รุมกินโต๊ะ” จากหลายฝ่าย ทำให้ทางทีมงาน พล.อ.ประยุทธ์ และแกนนำ พปชร.ต้องประชุมประเมินสถานการณ์ผลได้ผลเสียอีกครั้ง

ก่อนได้ข้อสรุป”ล้มแผน”ให้ พล.อ.ประยุทธ์ขึ้นเวทีปราศรัยหาเสียงโค้งสุดท้าย เพราะพิจารณาแล้วอาจได้ไม่คุ้มเสีย

นอกจากเงื่อนไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้งที่ต้องระมัดระวังอย่างมาก และโอกาสพลาดพลั้งมีสูง อีกประเด็นคือการตกเป็นเป้ารุมโจมตีจากฝ่ายตรงข้ามอย่างหนัก

พรรคจึงตัดสินใจปรับเปลี่ยนรูปแบบให้ พล.อ.ประยุทธ์ลงพื้นที่ กทม.

พบปะประชาชนในลักษณะไม่เป็นทางการแทน

ในมุมมองกลับด้าน การที่ พปชร.ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์หาเสียง นอกจากเป็นการ “เซฟประยุทธ์” แล้ว

ยังเท่ากับเป็นการยืนยันว่า ต่อให้เป็นอุปสรรคในการหาเสียงช่วยผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคอย่างไร พล.อ.ประยุทธ์ก็จะไม่ลาออกจากนายกฯ และหัวหน้า คสช.

ทั้งนี้ เพื่อรักษาความได้เปรียบเหนือพรรคคู่แข่งไว้ในระดับสูงสุด ไม่ว่าในแง่อำนาจมาตรา 44 การออกกฎหมาย การอนุมัติงบประมาณ การริเริ่มนโยบายโครงการต่างๆ ตลอดจนกระบวนการสรรหา 250 ส.ว. กลไกสำคัญในการสืบทอดอำนาจระยะยาว 5-8 ปี

สุดท้ายยังคงเป็นนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. ในฐานะผู้ช่วยหาเสียงพรรคเพื่อชาติ ที่วิเคราะห์สถานการณ์ไว้อย่างแหลมคมตามสไตล์ ว่า

ในเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ในบัญชีแคนดิเดตนายกฯ ของพรรค พปชร. ก็อย่ากินแรงสมาชิกพรรค ควรมาช่วยปราศรัยหาเสียงช่วยผู้สมัคร แต่ปัญหาหลักคือ พล.อ.ประยุทธ์มีคุณสมบัติเป็นแคนดิเดตนายกฯ หรือไม่

เรื่องของคุณสมบัตินี้ไม่ได้ผูกพันเฉพาะพรรค พปชร.เท่านั้น ยังผูกพันไปถึงการเลือกตั้งจะเป็น “โมฆะ” หรือไม่ กกต.จึงควรเร่งดำเนินการ เหมือนที่ตรวจสอบพรรคอื่นๆ

เพราะตราบใด พล.อ.ประยุทธ์ยังไม่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่ ก็จะเป็นปัญหาผูกพันถึงวันเลือกตั้ง ในกรณีมีการวินิจฉัยภายหลังว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ในที่สุดอาจนำพาให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะได้

“วันนี้ยังเชื่อว่าประเด็นคุณสมบัติของ พล.อ.ประยุทธ์เหมือนต้องการทิ้งติ่งเอาไว้ เมื่อพรรคพลังประชารัฐแพ้เลือกตั้ง อาจนำไปสู่แนวทางนั้น” นายจตุพรระบุ

ต่อการวิเคราะห์ของนายจตุพร ในอีกมุมหนึ่งก็เป็นไปได้เช่นกันว่า ต่อให้พรรค พปชร.ชนะเลือกตั้งได้เป็นแกนนำรัฐบาล แต่ในเมื่อสถานะอันคลุมเครือของ พล.อ.ประยุทธ์ยังไม่ได้รับการคลี่คลายให้กระจ่างชัด

ปัญหาความวุ่นวายก็ไม่มีทางจบลงอยู่ดี