คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : อารมณ์ความรู้สึกทางศาสนา กับหลากเรื่องราวใน “รามายณะ” ที่เราไม่ค่อยรู้

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยกล่าวว่า อารมณ์ความรู้สึกทางศาสนาเป็นสิ่งที่ขาดหายไปของพุทธศาสนาสมัยใหม่ในบ้านเรา

ผมคิดว่านอกจากการขาดหายไปของผี เทวดา อิทธิฤทธิ์ต่างๆ ที่ถูกแทนด้วยเหตุผลนิยมแบบตะวันตกแล้วเราได้สูญเสียพลังของ “เรื่องเล่า” ทางศาสนาไปมากด้วย

แต่เดิมชาดกโดยเฉพาะมหาชาติและพุทธประวัติอย่างปฐมสมโพธิกถา เป็นส่วนสำคัญของการสร้างอารมณ์ความรู้สึกทางศาสนา ตัวละครในเรื่องเล่าไม่ได้เป็นเพียงตัวละครสมมุติไร้ชีวิต ทว่าโลดแล่นอยู่ในห้วงคำนึงของผู้ฟังอย่างจริงจัง

จริงจังถึงขนาดเขาอาจรู้สึกว่าตัวเองได้กลายเป็นตัวละครในเรื่องนั้นไปแล้ว

คนเฒ่าคนแก่จึงร้องไห้เมื่อพระท่านเทศน์ถึงกัณฑ์มัทรีหรือกัณฑ์กุมาร หรือเมื่อฟังปฐมสมโพธิเทศน์ตอนพิมพาพิลาป เสียงของพระเวสสันดรหรือพระพุทธเจ้าในเรื่องไม่ได้กำลังพูดกับใครคนอื่น แต่พูดกับเราเองทีเดียว

เช่นเดียวกับตำนานธรรมอื่นๆ หรือแม้แต่ประวัติชีวิตของครูบาอาจารย์ ธรรมเนียมการใช้เรื่องเล่าเพื่อปลุกเร้าอารมณ์ความรู้สึกทางศาสนาจึงเป็นประเพณีที่ทรงพลังในหลายๆ วัฒนธรรม

 

ในเมืองไทยปัจจุบัน พลังของเรื่องเล่าเพื่อปลุกเร้าอารมณ์ทางศาสนาได้ถูกโยกย้ายถ่ายโอนไปยังสถาบันอื่นๆ จนไม่ค่อยมีอยู่ในศาสนาแล้ว

แต่ในอีกหลายสังคมเช่นอินเดีย ประเพณีของเรื่องเล่ายังคงสร้างพลังแห่งอารมณ์ความรู้สึกทางศาสนาได้อย่างมากมาย

มากเสียจนมีพราหมณ์ที่ทำอาชีพด้านการเล่าตำนานธรรมต่างๆ โดยเฉพาะ

“รามายณะ” คือวรรณกรรมที่อาจกล่าวได้ว่ามีพลังในการสร้างอารมณ์ทางศาสนามากที่สุดเรื่องหนึ่งในอินเดีย

ผมคิดว่าเหตุที่ปรากฏการณ์ดังกล่าวไม่เกิดขึ้นในสังคมไทย นอกจากเราเป็นชาวพุทธซึ่งไม่ได้เคารพศรัทธาวรรณกรรมทางศาสนาของพราหมณ์แล้ว (แต่เราใช้สัญลักษณ์ ชื่อเสียงเรียงนาม และอะไรๆ จากเรื่องนี้มากกว่าอินเดียเสียอีก)

เราทำให้เรื่องเล่ารามายณะเป็นส่วนหนึ่งของความบันเทิงมากกว่าอะไรอื่น

แม้รามายณะในศิลปะการแสดงโขนจะมีความศักดิ์สิทธิ์อยู่บ้าง ก็ด้วยวัฒนธรรมโขนละครมากกว่าตัวเรื่องเล่าในแบบไทยๆ เอง

รามายณะหรือรามเกียรติ์แบบไทย เมื่อถูกนิยามว่าเป็นเพียง “นิทานไสย” ฟังเล่นเอาสนุกได้ ในนั้นจึงไม่เหลือรสบางรส เช่น ภักติรสอย่างแขก ที่สำคัญตัวละครในรามเกียรติ์นั้น ผมรู้สึกว่าแบนๆ คือไม่ค่อยแสดงออกทางอารมณ์ความรู้สึกแบบมนุษย์สักเท่าใด

และพอไม่มีความเป็นมนุษย์ ความขัดแย้งในใจตัวละครซึ่งเป็นส่วนที่อาจบอกได้ว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในรามายณะก็ไม่ปรากฏ

ผิดกับพระเวสสันดรหรือตัวละครในชาดก

 

พระรามนั้นเป็นที่รักของชาวฮินดู เพราะพระรามมีความขัดแย้งในใจ พระรามต้องเลือกระหว่างความรู้สึกส่วนตัวกับศีลธรรมหรือความรับผิดชอบต่อส่วนรวมเสมอ

และแน่นอนว่าพระรามเลือกอย่างหลัง ซึ่งนำไปสู่ความเจ็บปวดรวดร้าวของชีวิต

ต้องไปสู่ป่า ให้สีดาลุยไฟ การขับสีดาไปจากเมือง ฯลฯ ล้วนแต่สะท้อนความขัดแย้งในใจเหล่านี้ทั้งสิ้น

การสถาปนาหลักแห่งศีลธรรมจึงเป็นเรื่องเจ็บปวด เพราะเราต้องก้าวข้ามอารมณ์ความรู้สึกส่วนตัว และผลประโยชน์ของตน

แต่นั่นคือการเคลื่อนย้ายมโนทัศน์ของศาสนาไปสู่พื้นผิวชั้นบนสุด คือหลักศีลธรรมในอุดมคติ ได้แก่ ศีลธรรมที่เกี่ยวพันกับความสัมพันธ์ของบุคคลต่างๆ หรือศีลธรรมทางสังคม

ไม่ใช่ศีลธรรมของปัจเจกแต่เพียงอย่างเดียว โดยหวังจะสร้างสังคมมนุษย์ที่เป็นระบบระเบียบ

 

ผมคิดว่าศีลธรรมทางสังคมเป็นศีลธรรมที่เป็นพื้นผิวชั้นบนสุดของศีลธรรมทางศาสนา ซ้อนทับอยู่บนศีลธรรมแบบปัจเจก ศีลธรรมที่มีลักษณะเป็นความเชื่อ หรือในชั้นล่างสุดคือระบบศีลธรรมดึกดำบรรพ์ที่สะท้อนจิตใต้สำนึกอะไรบางอย่าง

กระนั้น การเปลี่ยนผ่านระบบคุณค่าทางศีลธรรมทางศาสนาโดยใช้เรื่องเล่าก็ไม่เหมือนการทำงานของนักปรัชญา เพราะมันไม่ได้ทิ้งบทบาทของอารมณ์ความรู้สึกไปเสียทีเดียว แต่พยายามจัดตำแหน่งแห่งที่ของมันใหม่

กล่าวคือ กำหนดให้อารมณ์ความรู้สึกไม่เกิดขึ้นอย่างล่องลอยไร้ทิศทาง แต่เกิดขึ้นภายใต้สถานการณ์ที่ตัวระบบศีลธรรมนั้นอนุญาต

ที่จริงในปรัชญาจีน โดยเฉพาะปรัชญาขงจื่อมีความเห็นว่าอารมณ์ความรู้สึกเป็นเรื่องที่สามารถฝึกฝนได้ วิญญูชนจึงสามารถรักได้เกลียดได้ โดยเป็นการรักและเกลียดภายใต้ระบบศีลธรรม

พุทธศาสนาเองก็เห็นว่าอารมณ์เป็นสิ่งที่ฝึกฝนได้ บางอย่างทำให้ค่อยๆ ลดลงจนหมดไป อย่างความโกรธ บางอย่างก็เพิ่มพูนขึ้นได้ อย่างความเมตตากรุณา

เพียงแต่พุทธศาสนาเถรวาทมองอารมณ์บางอย่างในด้านลบมากกว่า

ฮินดูเองเห็นว่าการแสดงอารมณ์นั้นคือประสบการณ์ทางศาสนาที่สำคัญมาก เช่น ความภักดีเพราะความภักดี ไม่ใช่คุณสมบัติทางนามธรรมที่จับต้องไม่ได้ แต่เกิดขึ้นผ่านการฝึกฝนเรียนรู้ เมื่อเกิดแล้วก็สามารถสำแดงอาการของความภักดีออกมาในชุมชนทางศาสนาได้อย่างเต็มที่

เช่น ร้องไห้ เปล่งเสียง หรือร่ายรำไปกับบทเพลงทางศาสนา

 

ในรามายณะ ตัวละครทั้งหมด ไม่ว่า พระราม สีดา พระลักษมณ์ พระภรต หรือหนุมานเอง ต่างก็ได้แสดงออกทางอารมณ์ความรู้สึกอย่างเต็มเปี่ยมเช่นกัน โดยเป็นอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นผ่านระบบศีลธรรมที่ตนยึดถือ

ท้าวทศรถตรอมใจตายก็เพราะต้องยึดถือราชธรรม แต่ก็ต้องขับลูกชายที่มีสิทธิในราชสมบัติไปป่า ก็เพื่อจะรักษาคำพูด พระลักษมณ์ยอมทิ้งเมียติดตามพี่ชายไปป่าก็เพราะศีลธรรมของพี่น้อง หนุมานรักนายจนแม้แหวกอกพิสูจน์ให้ดูได้ว่ามีพระรามในหัวใจเสมอก็ด้วยความภักดี ส่วนพระรามโศกเศร้า ก็เพราะต้องผลักไสสีดาไปป่า เพื่อการปกครองบ้านเมือง ฯลฯ

อารมณ์ความรู้สึกของตัวละครเหล่านั้นส่งผ่านมายังผู้ฟังผู้อ่าน ประสานเข้าด้วยกันผ่านประสบการณ์ธรรมดาของมนุษย์ที่เข้าใจได้ แล้วผู้อ่านก็เสมือนจำแลงตนเองเข้าไปสู่เรื่องราวเหล่านั้น

เสียงของพระราม ซึ่งก็คือเสียงของพระเจ้าจึงพูดกับเราในสถานการณ์ที่ต่างๆ กันของชีวิต เช่น เมื่อเรากลายเป็นนางสพรีที่ยากจน เป็นหนุมานผู้ภักดี เป็นพระลักษมณ์ เป็นสีดา หรือแม้แต่เป็นพระรามเอง

เรื่องราวทำนองนี้มีอีกมากมายในรามายณะหลากหลายฉบับของอินเดียครับ

ซึ่งผมจะขออนุญาตนำตัวอย่างมาเล่าสู่กันฟังบ้างในโอกาสต่อไป