จับตาสรรหา 250 ส.ว. “ต้นทุน” สืบทอดอำนาจ เสียงเตือนจากพรรค ปชป. ระวังเดินตามรอย “บิ๊กสุ”

นอกจากสถานะ “คบซ้อน” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หัวหน้า คสช. และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ในบัญชีพรรคพลังประชารัฐ

กรณีที่มา ส.ว. 250 คน ก็กำลังเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในทางไม่ค่อยดีนักทั้งกับรัฐบาล คสช. พรรคพลังประชารัฐ ไปจนถึงตัว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

เป็นเพราะหลายคนเชื่อว่า 250 ส.ว.ดังกล่าว คือกลไกสำคัญหนึ่งในหลายๆ กลไก ถูกออกแบบมาเพื่อปูทางสืบทอดอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ คสช.

โดยหัวใจของ 250 ส.ว.ที่มาจากการสรรหาของ คสช. หรือกล่าวอย่างถึงที่สุดก็คือมาจากการ “ลากตั้ง” อยู่ตรงที่การมีบทบาทร่วมกับ ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนต่อไป

ล่าสุด คสช.ได้แต่งตั้ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะรองหัวหน้า คสช. เป็นประธานกรรมการสรรหา ส.ว.

คาดว่ามีสมาชิก คสช.ร่วมเป็นกรรมการ ได้แก่ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว นายมีชัย ฤชุพันธุ์ รวมทั้งนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย

คณะกรรมการสรรหา ส.ว.ชุดของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จะทำหน้าที่สรรหาจากคนที่เคยเป็นสมาชิกแม่น้ำ 5 สาย สนช. สปช. สปท. ผู้ทรงคุณวุฒิภาคส่วนต่างๆ สภาหอการค้าฯ สภาอุตสาหกรรมฯ เป็นต้น คัดให้ได้ 400 คน

แล้วส่งให้ คสช.เลือกจิ้มเหลือ 194 คน เพื่อนำไปรวมกับส่วนที่ กกต.จัดให้เลือกกันเอง 200 คน ส่งให้ คสช.คัดเลือกเหลือ 50 คน และกับอีก 6 คนที่มาโดยตำแหน่งในกองทัพ ได้แก่ ปลัดกระทรวงกลาโหม, ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้บัญชาการ 4 เหล่าทัพ

ให้ได้ครบ 250 คน เพื่อปฏิบัติภารกิจสำคัญหลังเลือกตั้ง

นายจาตุรนต์ ฉายแสง ประธานยุทธศาสตร์พรรคไทยรักษาชาติ แสดงความเห็นว่า การตั้ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธานคณะกรรมการสรรหา ส.ว. เพราะเป็นคนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ไว้วางใจที่สุด

จึงเลือกให้มาคัดบุคคลเข้ามาเป็น ส.ว.เพื่อรองรับการสืบทอดอำนาจ ถือเป็นการเอาเปรียบพรรคการเมืองอื่นในการเลือกตั้ง

เพราะเท่ากับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งรับเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ มี ส.ว. 250 เสียงไว้ยกมือสนับสนุนเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว โดยไม่ต้องหาเสียง หรือขึ้นเวทีดีเบตกับแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคอื่นๆ

ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประวิตรเคยให้สัมภาษณ์หลายครั้ง ยืนยันพร้อมสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย

อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตอบคำถามสื่อมวลชนในประเด็นนี้ ปฏิเสธว่า 250 ส.ว.ที่ คสช.กำลังจะตั้งขึ้น ไม่ใช่ “ต้นทุน” สนับสนุนตนเอง

“เป็นเรื่องของการมีสองสภา แม้ ส.ว.จะตั้งมาจากผม แต่ถามว่าพวกคุณจะดูถูกทั้ง 250 คนนี้หรือ เขาไม่มีสมองหรือ เขาไม่รักประเทศหรือ ทุกคนต่างก็รักประเทศ อย่าหวงความรักประเทศชาติ รักประชาธิปไตยอยู่แต่เพียงพรรคการเมือง นักการเมือง”

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวด้วยว่า การวิพากษ์วิจารณ์ที่มาของ 250 ส.ว.นั้น จะต้องไปดูกฎหมายรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงที่ผ่านการทำประชามติจากประชาชน 16 ล้านเสียง เขียนไว้อย่างไร ก็เป็นไปตามนั้น

“นี่คือประชาธิปไตยไม่ใช่หรือ”

เช่นเดียวกับนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ อ้างว่า 250 ส.ว.ไม่ใช่ต้นทุนของพรรคในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเป็นกลไกตามรัฐธรรมนูญที่ผ่านการลงมติของประชาชน ซึ่งมีขึ้นก่อนการตั้งพรรคพลังประชารัฐ

โดยกลไก 250 ส.ว.ในการเลือกนายกรัฐมนตรีช่วงเปลี่ยนผ่านประเทศ 5 ปี เป็น “คำถามพ่วง” ที่แยกออกมาจากร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งประชาชนให้ความเห็นชอบจำนวน 13.9 ล้านเสียง

“จุดยืนพรรคพลังประชารัฐเคารพกติการัฐธรรมนูญ รัฐบาลจะต้องมีเสียงข้างมากในสภา หากเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลจะต้องมีเสียงเกินกึ่งหนึ่ง เพราะเราต้องการให้รัฐบาลเข้มแข็ง

ส่วนกลไกเลือกนายกรัฐมนตรี อยู่นอกกระบวนการของพรรคพลังประชารัฐ เพราะเป็นกลไกรัฐสภาทั้งหมด การเอา ส.ว. 250 มาเลือกนายกรัฐมนตรี พรรคไม่มีส่วนร่วมในกลไกนั้น” เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐระบุ

การที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ชี้แจงกระบวนการได้มาซึ่ง ส.ว. 250 คน ว่าเป็นไปตามรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงที่ผ่านประชามติ พร้อมโยนคำถามกลับมายังสื่อมวลชน

“นี่คือประชาธิปไตยไม่ใช่หรือ”

ซึ่งการจะตอบคำถามในกรณีนี้ว่าคือประชาธิปไตยแท้จริง หรือเป็นแค่ประชาธิปไตย “สมมุติ” นั้น

จำเป็นต้องย้อนกลับไปดูบรรยากาศช่วงก่อนและระหว่างการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ว่าฝ่ายผู้มีอำนาจได้เปิดกว้างให้ฝ่าย “คิดต่าง” เคลื่อนไหวแสดงออกอย่างเสรี ปราศจากการข่มขู่คุกคามใดๆ หรือไม่

หากดูจากข้อมูลศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยถึงคดีประชามติ 2559 มี 217 คนยังถูกดำเนินคดีหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ แยกเป็น

คดีจัดตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติ 147 ราย, แจกใบปลิวและแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ 36 ราย, เผยแพร่จดหมายวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ 20 ราย, จัดกิจกรรมเสวนาเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ 11 ราย และฉีกบัตรออกเสียงประชามติ 3 ราย

ก็น่าจะเป็นคำตอบได้

และถ้าย้อนไปไกลกว่านั้น ก็ยังจะพบว่าทุกสิ่งทุกอย่างล้วนมี “สารตั้งต้น” มาจาก คสช.ทั้งสิ้น เพราะ คสช.เป็นคนตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ.

ผู้ผลักดัน “คำถามพ่วง” ประชามติเกี่ยวกับกลไก 250 ส.ว.ในการเลือกนายกรัฐมนตรีช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี ก็คือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. 1 ในแม่น้ำหลายสายที่ได้รับแต่งตั้งจาก คสช.เช่นกัน

จึงไม่ใช่เรื่องแปลก หากมีการวิเคราะห์ว่าแท้จริงแล้วภายใต้ “จุดมุ่งหมายเดียวกัน” บทบาทหน้าที่ของ 250 ส.ว. เสมือนเป็นพรรคการเมืองหนึ่ง

ไม่แตกต่างจากพรรคพลังประชารัฐ

กรณี 250 ส.ว.ลากตั้งมีผลต่อพรรคการเมืองอื่นที่ไม่ได้อยู่ในเครือข่ายเดียวกับพรรค คสช.อย่างไร

พรรคอนาคตใหม่ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ออกแถลงการณ์หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตอบรับเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ

เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ เลิกคบซ้อน ลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ด้วยเหตุผล 2 ข้อ จากการเป็นรัฐบาลอำนาจเต็มที่มีมาตรา 44 อยู่ในมือ

และการที่ คสช.ยังมีอำนาจแต่งตั้ง 250 ส.ว.ที่จะมีผลในการลงมติเห็นชอบบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้ง จึงถือเป็น “ผลประโยชน์ทับซ้อน” ทำให้การเลือกตั้งไม่เสรีและไม่เป็นธรรม

ส่วนพรรคเพื่อไทยโดยคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์เลือกตั้งของพรรค ขึ้นกล่าวปราศรัยในทุกเวที ขอให้ประชาชนเลือกพรรคเพื่อไทยด้วยคะแนนเสียงถล่มทลาย

ภายใต้สูตรที่ว่า ถ้าพรรคฝ่ายประชาธิปไตยได้รับเลือกตั้ง ส.ส.รวมกันจำนวนมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งลดทอนต้นทุนความได้เปรียบของพรรค คสช.ที่มี 250 ส.ว.เป็นฐานรองรับได้มากเท่านั้น

นายสาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวเตือนว่า ภายใต้แผนสืบทอดอำนาจของ คสช. ทำให้วันนี้ภาระหนักตกอยู่กับ 250 ส.ว. เพราะเมื่อไหร่ที่ ส.ว.ซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกของประชาชน กระทำการฝืนมติประชาชนในการเลือกตั้ง

ก็เชื่อว่าจะส่งผลสะท้อนกลับ ทำให้ผู้มีอำนาจพบจุดจบทางการเมืองที่ไม่สวย อาจไม่ต่างจาก พล.อ.สุจินดา คราประยูร และสิ่งที่ คสช.พยายามทำไว้จะไม่มีค่าอะไรเหลืออยู่เลย

จากนี้ไปกระบวนการสรรหา 250 ส.ว.โดย คสช. จะเป็นประเด็นใหญ่ที่สังคมจับจ้อง ว่าบั้นปลายท้ายสุด ผู้สรรหาและผู้ได้รับการสรรหา จะมีพฤติกรรมอย่างที่พรรคฝ่ายประชาธิปไตยกล่าวโจมตีหรือไม่

คือเลือกคนของตัวเองเข้ามาเป็น ส.ว. เพื่อเป็นเครื่องมือในการเลือกตัวเองกลับสู่อำนาจอีกครั้ง

ตามไทม์ไลน์ที่วางไว้ คาดว่าสังคมจะได้เห็นโฉมหน้า 250 ส.ว.ในเร็วๆ นี้ ก่อนนำมาเป็นบทสรุป ที่เชื่อว่าจะมีผลต่อการเลือกตั้ง ส.ส.วันที่ 24 มีนาคม แน่นอน