วรรณศิลป์สัญจร มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ : “ผีเสื้อไม่ต้องบินให้สูงหรอก บินให้สวยเป็นพอ”

จากวรรณกรรมสัญจรถึงวรรณศิลป์สัญจร

“พวกเราคือหนอนน้อย อดทนคอยทุกสิ่งสรรพ์

ประสบการณ์ที่รอวัน สยายปีกให้โลกลือ”

จากเนื้อความข้างต้น เป็นบทเพลงท่อนหนึ่งในเพลง “หนอนไพร” ประพันธ์โดย อาจารย์วัชรวร วงศ์กัณหา อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาไทย คณะศึกษาศาสตร์และนวัตกรรมการศึกษา มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ผู้ร่วมก่อตั้งค่ายวรรณศิลป์สัญจร

ซึ่งต่อมาได้กลายมาเป็นบทเพลงประจำค่ายวรรณศิลป์สัญจร ของชมรมวรรณศิลป์ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์

หากจะกล่าวถึงการจัดค่ายวรรณกรรมในมหาวิทยาลัยหรือในระดับอุดมศึกษา เชื่อว่าหลายคนอาจคิดถึงค่ายวรรณกรรมสัญจร ของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ภายใต้การบุกเบิกของ รศ.ดร.ธัญญา สังขพันธานนท์ หรือไพฑูรย์ ธัญญา นักเขียนซีไรต์และศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ที่ดำเนินการจัดค่ายวรรณกรรมสัญจรมาอย่างยาวนาน

โดยครั้งแรกจัดขึ้นที่น้ำตกตาดโตน จังหวัดชัยภูมิ ในปี 2535 โดยมีวิทยากร 3 ท่านคือ ชมัยภร แสงกระจ่าง ไพวรินทร์ ขาวงาม และกนกพงศ์ สงสมพันธุ์

ทั้งนี้ การจัดกิจกรรมการออกค่ายวรรณกรรมสัญจรนั้น ถือเป็นการศึกษานอกห้องเรียน เพื่อให้นิสิต นักศึกษา ได้เรียนรู้และรับฟังเรื่องราวการอ่าน การเขียนประสบการณ์ตรงจากทีมวิทยากรนักเขียน โดยมีการจัดกิจกรรมการอ่านการเขียน ซึ่งถือเป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียนอย่างเป็นรูปธรรม

ภายในค่ายจะมีกิจกรรมการเดินป่าเสาะหาแรงบันดาลใจ ซึ่งชมรมวรรณศิลป์ นำโดยประธานชมรมและคณะทำงาน จะเป็นคนแบ่งกลุ่ม โดยแบ่งเป็นฐานการเรียนรู้ อาทิ ฐานกวีนิพนธ์ ฐานเรื่องสั้น ฐานสารคดี ฐานสื่อสารมวลชน เป็นต้น

ก่อนจะแยกวิทยากรออกเป็นกลุ่ม เพื่อรับผิดชอบในแต่ละฐานการเรียนรู้

ซึ่งการจัดกิจกรรมค่ายวรรณกรรมสัญจรของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ถือเป็นความสำเร็จในแง่ของการทำให้นิสิต-นักศึกษาได้เรียนรู้จากวิทยากรนักเขียนผู้มีประสบการณ์ทางด้านการอ่านการเขียนโดยตรง ถือเป็นการสร้างแรงบันดาลใจ

จนบางคนที่เคยเข้าร่วมค่าย ได้กลายเป็นกวี นักเขียน นักการละคร นักแต่งเพลง นักข่าว ฯลฯ ในที่สุด

และบางคนต่างบอกเล่าเรื่องราวที่ตนเคยเข้าร่วมกิจกรรมการเข้าค่ายว่าเป็นประสบการณ์ที่ตนไม่สามารถใช้เงินหาซื้อได้ อยากรู้ต้องสัมผัสเอง

จวบจนวันที่ค่ายวรรณกรรมสัญจรยุติบทบาทลงในปีที่ 25 ซึ่งจัดขึ้น ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าพนมดงรัก จังหวัดศรีสะเกษ ในปี 2560

อันเป็นการยุติค่ายวรรณกรรมสัญจร ซึ่งถือเป็นค่ายวรรณกรรมในมหาวิทยาลัยที่จัดกันมาอย่างยืนยาวที่สุด

หากแต่ดอกผลแห่งการเรียนรู้ และแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่ ก็ทำให้วันหนึ่งลูกศิษย์คนหนึ่งของ รศ.ดร.ธัญญา สังขพันธานนท์ หรือไพฑูรย์ ธัญญา คิดที่จะสืบสานค่ายวรรณกรรมต่อ เพื่อเป็นค่ายวรรณกรรมที่สร้างแรงบันดาลใจและการเรียนรู้ให้กับนักศึกษาของตนเอง

ศิษย์คนนั้นก็คือ ผศ.อนุชา พิมพ์ศักดิ์ อาจารย์หัวหน้าสาขาวิชาภาษาไทย คณะศึกษาศาสตร์และนวัตกรรมการศึกษา มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์

ได้ริเริ่มโดยการชักชวนนักศึกษากลุ่มหนึ่ง เดินทางไปยัง อุทยานแห่งชาติภูผายล (ห้วยหวด) จังหวัดสกลนคร

ทั้งนี้ ได้เชิญวิทยากรไปด้วย คือ ชัชวาลย์ โคตรสงคราม กวี/นักเขียน เจ้าของนวนิยาย “ทะเลน้ำนม” เพื่อไปร่วมสร้างแรงบันดาลใจให้แก่นักศึกษาของตนเอง ภายใต้ชื่อ “ค่ายวรรณศิลป์สัญจร”

และหลังจากนั้น “ค่ายวรรณศิลป์สัญจร” ของมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ก็อุบัติขึ้น และจัดเป็นประจำทุกปี

ซึ่งครั้งล่าสุด เป็นค่ายวรรณศิลป์สัญจร ครั้งที่ 6 “เติมไฟ ปลุกฝัน สร้างสรรค์วรรณศิลป์” ณ อุทยานแห่งชาติภูลังกา จังหวัดนครพนม โดยจัดขึ้นในวันที่ 1-3 กุมภาพันธ์ 2562

โดยมีวิทยากรประจำฐานการเรียนรู้ 7 ฐาน ดังนี้คือ

ฐานกวีนิพนธ์ โขงรัก คำไพโรจน์

ฐานเรื่องสั้น-นวนิยาย บรรจง บุรินประโคน

ฐานสารคดี วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

ฐานการละคร ธนวรรณ ชายกุล

ฐานการแต่งเพลง ชวนากร จันนาเวช และธีรศานต์ มีลือ

ฐานภาพถ่าย วีรพล คำสุวรรณ

และฐานภาพวาด อธิป วัดเวียงคำ

ซึ่งการจัดโครงการค่ายส่งเสริมการเรียนรู้ในด้านการอ่านและการเขียนของสาขาวิชาภาษาไทย คณะศึกษาศาสตร์และนวัตกรรมการศึกษา ของมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ถือเป็นโครงการสำคัญ

อนึ่ง ทำให้นักศึกษาได้ฝึกประสบการณ์ด้านการอ่านการเขียน นอกจากการศึกษาในห้องเรียนกับครู อาจารย์ผู้สอนแล้ว

สิ่งหนึ่งที่ทำให้นักศึกษาผู้เข้าร่วมค่ายได้รับก็คือ เกิดการสร้างกระบวนความคิด จินตนาการ เกิดการใช้ความคิด ผ่านการบูรณาการกับเพื่อน เพื่อสร้างสรรค์ผลงานกลุ่ม ก่อนจะช่วยกันนำเสนอต่อวิทยากรและเพื่อนๆ กลุ่มอื่นๆ ที่ได้รับฟัง รับชม ก่อนจะได้รับคำแนะนำจากวิทยากร เพื่อนำคำแนะนำดังกล่าว ไปพัฒนาผลงานของตัวเองต่อไป

และนอกจากนักศึกษาที่ยังศึกษาอยู่ของมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ จะเป็นลูกค่ายแล้ว ก็มีรุ่นพี่นักศึกษาซึ่งจบไปแล้ว ก็ได้เดินทางมาให้กำลังใจน้องๆ พร้อมทั้งบอกเล่าประสบการณ์ ที่ครั้งหนึ่งตนเคยนั่งล้อมวงเช่นกับน้องๆ นักศึกษา

ทำให้บรรยากาศการเข้าค่ายเต็มไปด้วยมิตรภาพและความอบอุ่นจากรุ่นพี่ถึงรุ่นน้อง

จากหนอนไพรตัวแรกถึงหนอนไพรตัวที่ 6

อาจกล่าวได้ว่า นี่คือการเดินทางที่เงินไม่อาจซื้อได้ หรือใครก็ไม่สามารถทำแทนได้ หากอยากได้ก็ต้องสร้าง ต้องทำด้วยตัวเอง

เฉกเช่นค่ายวรรณศิลป์สัญจรของมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ หลังจากกองไฟที่ทุกคนได้ร่วมล้อมวงกันรับฟังเรื่องราว แลกเปลี่ยน บอกเล่าเรื่องราวต่างๆ นานาของนักศึกษามอดลง

หากเชื่อเหลือเกินว่า กองไฟในใจของนักศึกษา รุ่นพี่ ครูอาจารย์ ไม่เว้นแม้แต่คณะวิทยากร เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ผู้เข้าร่วมค่าย ในครั้งนี้ จะยังคงลุกโชนไปด้วยแรงบันดาลใจต่อกันและกัน

อันไม่ต่างกับดวงดาวที่อยู่บนฟากฟ้า ที่ยังคงส่องแสงกะพริบอย่างไม่มีทีท่าว่าจะดับลง ตราบที่ยังมีกลางคืนอยู่

จากหนอนไพรตัวแรกที่เฝ้ากัดกินใบไม้แห่งความรัก ความรู้ และความฝัน

จวบจนวันหนึ่งหนอนไพรตัวนั้นเติบใหญ่ สามารถสร้างบ้านสร้างรังได้ด้วยตัวเอง จนถึงเวลาสยายปีกกลายเป็นผีเสื้อในเวลาต่อมา

ดังที่ปรากฏอยู่บนหลังเสื้อค่ายวรรณศิลป์สัญจรครั้งที่ 6 ในครั้งนี้ “ในวันที่หนอนไพรกลายเป็นผีเสื้อ”

นี่คือการงานแห่งความรัก ความอดทน ดังคำกล่าวที่มีมานานว่า “ระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน”

ความเป็นค่ายวรรณศิลป์สัญจรก็คงจะเป็นเช่นนั้น และหากยังยืนหยัด ด้วยหัวใจอันมั่นคงแล้ว ค่ายวรรณศิลป์สัญจร ของมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ อาจเป็นค่ายวรรณกรรมที่กลายเป็นตำนานในภายภาคหน้าก็เป็นได้

มาถึงตอนนี้ ก็เพียงอยากจะบอกว่า ขอชื่นชมและขอเป็นกำลังใจ ขอให้ค่ายวรรณศิลป์สัญจร ของมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ดำเนินการอยู่เช่นนี้ตลอดไป ให้เป็นดั่งดวงดาวในยามค่ำคืนที่ทุกคนล้อมวงมองด้วยกัน ดาวนั้นไม่เคยหายไปไหน ตราบที่ยังมีท้องฟ้า

แม้จะเป็นเช่นแสงหิ่งห้อยตัวน้อยๆ หากหิ่งห้อยน้อยๆ รวมกัน แสงนั้นอาจเป็นเช่นแสงจันทราก็เป็นได้

เพราะ…

“ผีเสื้อไม่ต้องบินให้สูงหรอก

บินให้สวยเป็นพอ”