หมอบริกส์ เดินทางมาจากบ้านเกิดของท่าน เพื่อมาบุกเบิก-พัฒนาเมืองเชียงราย เมื่อ 119 ปีก่อน

จากปฏิบัติการที่ไม่น่าเป็นไปได้กับภารกิจการพา 13 หมูป่า อะคาเดมีที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงรายกลับบ้าน

กลับกลายเป็น “มิชชั่น พอสซิเบิล 2018” ที่เกิดจากความร่วมแรงร่วมใจของคนไทยและชาวโลก ที่ช่วยกันแปรเปลี่ยนความมืดมิดภายในถ้ำหลวงให้กลายเป็นแสงสว่างและพลังที่แข็งแกร่ง

นับเป็นอีกหลักฐานหนึ่งที่พิสูจน์ได้ว่ามนุษย์โลกถูกเชื่อมโยงกันด้วยจิตใจที่รักและเมตตาต่อกัน

ซึ่งหากจะท้าวความกันไปแล้ว

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ความรักความเมตตาของมนุษย์โลกได้ช่วยสร้างอารยธรรมและความเจริญรุ่งเรืองโดยไม่แบ่งชนชั้นวรรณะ

ในอดีตตั้งแต่ปีพ.ศ. 1805 พ่อขุนเม็งรายได้สร้างเมืองเชียงราย และแผ่ขยายอานุภาพไปยังเมืองไชยปราการ (ฝาง) สร้างเมืองกุมกาม (สารภี) ตีเมืองหริภุญชัย (ลำพูน) จนไปถึงเมืองเชียงใหม่

ทรงสถาปนาราชวงศ์เม็งราย สร้างบ้านแปลงเมืองให้เป็นปึกแผ่น จนกลายเป็นเขตแคว้นลานนาหรือล้านน

ต่อมาในปีพ.ศ. 2101 ทางเมืองพม่า โดยพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ และแม่ทัพบุเรงนอง ได้ยกทัพมาโจมตี ทำให้เมืองเชียงใหม่และหัวเมืองภาคเหนืออยู่ภายใต้การยึดครองของพม่าเป็นเวลาถึง 216 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2101 จนถึง พ.ศ. 2317

ต่อมาพระยากาวิละได้ขอสนับสนุนกองทัพสยามประเทศ และขับไล่พม่าออกจากผืนแผ่นดินล้านนาได้

จึงมีพระราชบัณฑูรตั้งให้พระยากาวิละ เป็นพระยาเชียงใหม่ ให้เป็นเจ้าผู้ครองนครเมืองเชียงราย เมืองเชียงแสน และเมืองฝาง โดยเป็นประเทศราชของสยามประเทศ

จนถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงปฏิรูปการปกครองประเทศ ประมาณ พ.ศ. 2440

โปรดให้ยุบเลิกระบบเจ้าผู้ครองนคร ทรงผนวกภาคเหนือทั้งหมดเข้าอยู่ภายใต้พระราชอาณาจักรไทย

โดยแบ่งพื้นที่เป็นมณฑลภาคเหนือเป็นมณฑลพายัพ ตั้งเมืองต่างๆ เป็นบ้าน ตำบล อำเภอและจังหวัด ทำให้เมืองเชียงรายได้รับการฟื้นฟูให้ดีขึ้นตามลำดับ

อย่างไรก็ดีการพัฒนาเมืองเชียงรายเมื่อร้อยกว่าปีก่อน การเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นเมืองในระบบใหม่ มิติสำคัญ คือ มิติด้านการศึกษา การสาธารณสุข การเมืองการปกครอง และโครงสร้างสถานที่

ซึ่งการพัฒนาโดยคนต่างชาติที่มีองค์ความรู้ มีความทันสมัยเป็นเรื่องสำคัญมาก และเป็นกุศโลบายของผู้ปกครองรัฐในยุคนั้น เพื่อให้เกิดความเท่าทันอารยประเทศ

จึงได้มีการเชื้อเชิญชาวต่างชาติซึ่งสมัยนั้นกลุ่มมิชชันนารีถือเป็นกลุ่มหลักที่นำความก้าวหน้าต่างๆ มาสู่สยามประเทศ

หนึ่งในนั้นคือคุณหมอบริกส์

ท่านเป็นบุคคลหนึ่งที่ได้บุกเบิก ร่วมพัฒนาเมืองเชียงรายเมื่อ 119 ปีก่อน โดยที่ท่านต้องเดินทางมาจากบ้านเกิดของท่าน

ซึ่งอยู่อีกซีกโลกหนึ่งแล้วย้ายข้ามมาอีกซีกโลกหนึ่ง

นายแพทย์วิลเลียม เอ. บริกส์ จบการศึกษาจากคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยนิวยอร์ค เป็นแพทย์มิชชันนารีชาวแคนาดาที่มาปฏิบัติงานในประเทศสยามเป็นเวลาประมาณ 28 ปี

ในช่วงเวลา 10 ปีแรกท่านได้ทำงานกับสถานีมิชชั่นเมืองละคอน (ปัจจุบันคือจังหวัดลำปาง) ต่อมาได้รับมอบหมายให้ไปจัดตั้งสถานีมิชชั่นเมืองแพร่(จังหวัดแพร่)

หลังจากเสร็จภารกิจก็ได้ย้ายกลับเมืองละคอน ในปี พ.ศ. 2443

ท่านได้รับมอบหมายให้ไปปฏิบัติงานกับสถานีมิชชั่นเมืองเชียงราย(จังหวัดเชียงราย) ท่านได้อยู่ปฏิบัติงานที่เมืองเชียงรายเป็นเวลาทั้งสิ้น 18

จนถึงกำหนดลาพักเพื่อไปเยี่ยมครอบครัวของท่านที่เมืองแวนคูเวอร์ แคนาดาในกลางปี พ.ศ. 2461

ในช่วงปีพ.ศ. 2443-พ.ศ.2461 ที่นายแพทย์วิลเลียม เอ. บริกส์ ได้อยู่จังหวัดเชียงราย ท่านได้เป็นผู้มีส่วนสำคัญยิ่งในการพัฒนาเมืองเชียงราย ท่านเป็นนายแพทย์ที่มากไปด้วยความสามารถ ท่านนำการรักษาพยาบาลทางการแพทย์แผนใหม่มารักษาชาวเชียงราย

นอกจากนี้ท่านยังเชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรม วิศวกรรม สอนคนเชียงรายทำอิฐ สร้างอาคารที่มั่นคงแข็งแรง

โดยเฉพาะอาคารสถานที่ที่น่าภาคภูมิใจ เช่น โรงพยาบาลโอเวอร์บรุ๊ค ที่ได้รับการสนับสนุนจากคริสตจักรโอเวอร์บรุ๊ค เมืองฟิลาเดลเฟีย รัฐเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา

โรงเรียนเชียงรายวิทยาคม

อาคารโบสถ์คริสตจักรที่ 1 เวียงเชียงราย

จวนผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย

ศาลากลางจังหวัดเชียงราย

ที่ทำการไปรษณีย์

เรือนจำหลังเก่าที่เคยตั้งอยู่บริเวณสวนตุง รวมไปถึงผังเมืองในเขตเทศบาลนครเชียงราย ที่วางผังตามต้นแบบผังเมืองกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประเทศสหรัฐอเมริกา

ทำให้ตัดถนนเป็นบล็อก 4 เหลี่ยม ทำให้เมืองเป็นระเบียบสวยงามและทันสมัย จนเป็นผลดีต่อเมืองเชียงรายตราบเท่าทุกวันนี้

เมื่อครั้งเกิดกบฏโจรเงี้ยว เข้ามาปล้นเมืองเชียงราย หมอบริกส์ได้ชักธงอังกฤษผืนใหญ่ขึ้นไว้ที่บ้านเป็นสัญญาณให้โจรเงี้ยวทราบว่า ที่นี่เป็นเมืองอังกฤษที่ปกครองพวกเงี้ยวอยู่ทำให้พวกโจรเหล่านั้นไม่กล้ายิงเข้ามา

และหมอบริกส์เชี่ยวชาญอาวุธปืน มีปืนดีๆหลายกระบอก

หลังจากที่ท่านได้ช่วงราชการในการปราบกบฏเงี้ยวแล้ว ทางกรุงเทพฯ จึงได้ส่งกองทหารขึ้นมาตั้งที่จังหวัดเชียงรายเป็นครั้งแรก โดยตั้งฐานประจำอยู่บนเนินเขาทุกลูกตั้งแต่ข้างบ้านหมอบริกส์ไปจนถึงดอยทอ

จากนั้นทางกรมทหารจึงได้เชิญให้หมอบริกส์เข้าเป็นนายแพทย์ประจำกรมทหารที่เชียงราย ได้รับยศเป็นนายร้อยเอก

และเนื่องจากภาษาที่ใช้ที่เมืองเชียงรายสมัยนั้น ก็คงเป็นภาษาเมือง (กำเมือง) ซึ่งตัวคุณหมอบริกส์เองก็ต้องหัด อู้กำเมือง จึงได้จัดทำพจนานุกรมกำเมืองและภาษาอังกฤษขึ้นเป็นคนแรก

ซึ่งปัจจุบันพจนานุกรมเล่มดังกล่าวได้รับการเก็บรักษาไว้ที่ หอจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยพายัพ จังหวัดเชียงใหม่

ต่อมาท่านได้ดำรงตำแหน่งเป็นกงสุลอังกฤษประจำเมืองเชียงราย ในปี ค.ศ.1894 (พ.ศ.2437) นายแพทย์ วิลเลี่ยม เอ.บริกส์ ได้เปิดที่ทำการบำบัดโรคขึ้นที่จังหวัดแพร่เป็นคนแรก กิจการได้เจริญขึ้นเป็นลำดับ จนกระทั่งได้กลายเป็นโรงพยาบาลแพร่คริสเตียนในปัจจุบัน ระหว่างปี ค.ศ.1913 – 1914 (พ.ศ.2456 – 2457) เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ขึ้น หมอบริกส์ได้ส่งครอบครัวกลับไปสหรัฐอเมริกา ส่วนตัวของท่านยังคงพำนักอยู่ที่เชียงราย ต่อมาทราบว่าลูกชายคนโตชื่อ แอลเบิต บริกส์ ซึ่งเป็นนายทหารได้เสียชีวิตในสนามรบ ข่าวอันน่าสลดทำให้หมอบริกส์มีอาการโศกเศร้า ซึ่งขณะนั้นท่านมีโรคประจำตัวอยู่ก่อน เมื่อท่านเกษียณราชการลงจึงได้เดินทางกลับไปพักผ่อน ณ ประเทศสหรัฐอเมริกาอันเป็นถิ่นฐานกำเนิดของท่าน

นับได้ว่าการปรากฏตัวของนายแพทย์ วิลเลียม เอ. บริกส์ ในเมืองเชียงรายยุคนั้น ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่พัฒนาเชียงรายให้มีรากฐานที่มั่นคงแข็งแรงมาจนถึงปัจจุบัน