แพทย์ พิจิตร : ศรีธนญชัย Sophist ภายใต้กรอบ Nomos-Physis

การที่ศรีธนญชัยมีพฤติกรรมขัดต่อขนบประเพณีของสังคม (nomos) ในส่วนที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของเขากับคนในครอบครัว เขาฆ่าน้องในไส้และทำร้ายจิตใจผู้เป็นพ่อแม่เพียงเพราะสาเหตุจากแม่ค้าขายขนมที่ให้ขนมแก่น้องของเขามากกว่าเขาหนึ่งชิ้น และพ่อแม่ก็ไม่ได้ให้ความเป็นธรรมตามความรู้สึกของเขาแต่อย่างใด

ความอิจฉาเคียดแค้นจากการสูญเสียผลประโยชน์หรือการต้องแบกภาระในการเลี้ยงดูน้องหรือทำความสะอาดบ้านนั้นถือเป็นเรื่องธรรมชาติ (physis) ที่พึงเกิดขึ้นกับความรู้สึกของมนุษย์ เพียงแต่ขนบ (nomos) จะกดบังคับความรู้สึกตามธรรมชาตินี้ไว้

แต่ศรีธนญชัยต้องการต่อสู้กับขนบ (nomos) ผ่านการแสดงอาการกึ่งซื่อโง่ กึ่งเจ้าเล่ห์ในการเล่นคำเล่นภาษาที่สามารถพลิกได้ เช่น เขาอ้างว่าพ่อแม่สั่งให้เขาทำความสะอาดน้อง “ทั้งข้างนอกข้างใน” เขาก็เลยสวมรอยเอามีดผ่าน้อง

หรือคำสั่งที่ให้เขาทำความสะอาดบ้านจนเกลี้ยงหมด โดยการเอาข้าวของไปโยนทิ้งน้ำ

 

จากการตีความว่าศรีธนญชัยพยายามหาทางต่อสู้หรือต่อต้านขนบ (nomos) เพื่อสนองความต้องการตามธรรมชาติ (physis) นี้ทำให้นึกถึงข้อเขียนของโซฟิสต์เอเธนส์ที่ชื่อ Antiphon ที่เขาได้กล่าวเกี่ยวกับกรณีขนบหรือกฎหมายบ้านเมือง (nomos) และธรรมชาติ (physis) ไว้ด้วย

Antiphon ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้บุกเบิกด้านศิลปะการพูดในเอเธนส์ โดยเฉพาะการโต้แย้งทางการเมือง

เขาสอนเขียนตำราเกี่ยวกับศิลปะการพูด (rhetoric) โดยข้อเขียนเกี่ยวกับศิลปะการพูดของเขามีทั้งที่มุ่งไปที่การใช้วาทศิลป์ในการโต้แย้งคดีความในศาล ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายกล่าวโทษฟ้องร้องหรือการแก้ต่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคดีฆาตกรรมภายใต้กฎหมายเอเธนส์ และรวมทั้งการอภิปรายในสภาประชาชนเอเธนส์ด้วย

ยิ่งกว่านั้น เขายังมีอิทธิพลในอียิปต์ด้วย เพราะปรากฏหลักฐานว่า ที่นั่นได้มีการคัดลอกงานของเขาไว้ด้วย

จากการที่เขาให้ความสำคัญกับวาทศิลป์เพื่อใช้ไปในการโต้แย้งแก้ต่าง-ปกป้องทั้งในคดีความและประเด็นทางการเมือง จึงน่าสนใจอย่างยิ่งที่จะทำความเข้าใจความคิดเรื่อง “ความยุติธรรม” ของเขา

และจากการที่เขาให้ความสำคัญกับวาทศิลป์เพื่อจุดมุ่งหมายดังกล่าว

มันจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เขาจะเขียนอธิบายเรื่อง “ความยุติธรรม” ไว้

โดยเป็นข้อเขียนส่วนหนึ่งของงานที่ชื่อ On Truth ของเขา

อย่างไรก็ตาม ข้อเขียนเรื่อง “ความยุติธรรม” ที่ตกทอดมาถึงปัจจุบันไม่ครบถ้วน มีลักษณะเป็นเพียงแค่ชิ้นส่วนหนึ่ง (fragment) เท่านั้น

ซึ่งพอเก็บความตอนต้นของข้อเขียนได้ดังนี้คือ

 

“ความยุติธรรมคือการที่พลเมืองไม่ละเมิดกฎระเบียบจารีตประเพณีของบ้านเมืองที่เขาเป็นพลเมืองอยู่ ดังนั้น พลเมืองจะใช้ความยุติธรรมให้เป็นประโยชน์แก่ตัวเขาได้มากที่สุด หากเขาคนนั้นเห็นว่ากฎหมายเป็นสิ่งสำคัญ ยามที่มีคนที่รู้เห็นการกระทำของเขา แต่เมื่อไม่มีใครเป็นพยานรู้เห็นได้ เขาจะให้ความสำคัญกับข้อเรียกร้องตามธรรมชาติ เพราะข้อบังคับตามกฎหมายนั้นเป็นสิ่งที่ไม่จริง (artificial) แต่ความต้องการตามธรรมชาตินั้นเป็นสิ่งจำเป็น ข้อบังคับตามกฎหมายไม่ได้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่เกิดจากข้อตกลง ดังนั้น ความต้องการตามธรรมชาติจึงเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับข้อบังคับตามกฎหมาย ดังนั้น ถ้าใครละเมิดข้อบังคับตามกฎหมาย และไม่มีใครที่อยู่ภายใต้ข้อตกลงนั้นรับรู้ เขาก็จะหลบรอดไปได้ โดยไม่มีความผิดและไม่ต้องละอายอะไร แต่ถ้ามีคนที่อยู่ภายใต้ข้อตกลงนั้นเห็น เขาก็จะไม่รอด ในอีกด้านหนึ่ง ถ้าใครทำในสิ่งที่มันเป็นไปไม่ได้จริงๆ และละเมิดหนึ่งในความต้องการตามธรรมชาติที่อยู่ภายในตัวเรา และถ้าไม่มีมนุษย์คนไหนในโลกนี้รู้ อันตรายและความเสียหายจะไม่น้อยไปกว่า และถ้าทุกคนรู้ อันตรายและความเสียหายก็จะไม่มากไปกว่า ความเสียหายไม่ได้ขึ้นอยู่ว่า คนอื่นรู้หรือไม่รู้ เพราะความบาดเจ็บเสียหายที่เขาต้องทนทุกข์ไม่ได้เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ แต่เกิดขึ้นจริง และนี่คือเส้นทางการให้เหตุผลขณะนี้ต้องการนำไปสู่ นั่นคือ ต้องการแสดงให้เห็นว่า หลายสิ่งหลายอย่างที่ยุติธรรมตามกฎหมายนั้นขัดแย้งกับธรรมชาติ กฎหมายจารีตประเพณีกำหนดสิ่งที่ตามองเห็นหรือไม่เห็น สิ่งที่หูได้ยินหรือไม่ได้ยิน และสิ่งที่ปากพูดหรือไม่พูด และสิ่งที่มือกระทำหรือไม่ได้กระทำ ที่ที่เท้าเดินไปหรือไม่ได้เดิน สิ่งที่หัวใจปรารถนาหรือไม่ปรารถนา แต่ถ้าพิจารณาถึงธรรมชาติ ไม่มีสิ่งใดที่กล่าวมานี้จะขัดแย้งหรือกลมกลืนกับธรรมชาติมากไปกว่าสิ่งอื่น ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่กฎหมายจารีตประเพณีห้ามผู้คนหรือกำหนดให้ผู้คนทำ”

อีกทั้งเขายังได้กล่าวไว้ด้วยว่า ขนบ (nomos) กำหนดให้ “…คนสามารถป้องกันตัวเมื่อถูกทำร้าย แต่ห้ามไปทำร้ายใครก่อน หรือกำหนดให้ลูกต้องดีต่อพ่อแม่ของเขา แม้ว่าพ่อแม่ของเขาจะไม่ดีต่อเขาก็ตาม

Anitphon ชี้ว่า “กรณีต่างๆ เหล่านี้เป็นตัวอย่างของการกระทำที่ขัดต่อธรรมชาติ และนำไปสู่ความเจ็บปวดทุกข์ทรมานมากกว่า”

 

Antiphon เห็นว่า ถ้ากฎหมาย (nomos) สามารถปกป้องผู้คนที่ยอมสละสิทธิ (สิทธิตามธรรมชาติที่จะทำอะไรก็ได้เพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์ของตัวเองเท่านั้น) ของเขาไปได้จริงๆ หรือสามารถลงโทษหรือตอบโต้ผู้ที่ไม่ยอมสละสิทธิแต่ยังทำตามสิทธิตามธรรมชาติของเขาได้จริง การเคารพเชื่อฟังกฎหมายก็ย่อมจะเป็นประโยชน์ แต่ในความเป็นจริง มันปรากฏชัดเจนว่าความยุติธรรมตามกฎหมายนั้นไม่สามารถปกป้องคุ้มครองผู้ที่ยอมรับเคารพและปฏิบัติตามข้อบังคับตามกฎหมายได้

เพราะในเบื้องต้น กฎหมายเปิดให้ผู้ถูกกระทำต้องเจ็บปวดทุกข์ทรมานและปล่อยให้มีการทำร้ายและละเมิดกันเสียก่อน กฎหมายถึงจะให้มีการติดตามและตัดสินลงโทษผู้ละเมิด หรือบางทีกฎหมายก็ไม่สามารถทำอะไรได้ แม้การกระทำได้เกิดขึ้นแล้ว นั่นคือ ความยุติธรรมตามกฎหมายจะเริ่มปฏิบัติการได้ก็ต้องรอให้เกิดการละเมิดหรือเกิดความเสียหายเสียก่อน

และเมื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามกฎหมาย มันก็มักจะไม่อยู่ข้างผู้ถูกกระทำมากไปกว่าผู้กระทำ เพราะกฎหมายกำหนดให้ผู้ถูกกระทำต้องโน้มน้าวแสดงเหตุผลและหลักฐานต่อคณะลูกขุนว่าเขาเป็นผู้ถูกกระทำและเป็นผู้เสียหายจริงๆ และกฎหมายก็เปิดโอกาสให้ผู้ละเมิดปฏิเสธข้อกล่าวหาด้วย…”

นอกจากอำนาจตามกฎหมาย (nomos) ซึ่งเป็นอำนาจที่ไม่สมบูรณ์เด็ดขาดไม่สามารถปกป้องผู้บริสุทธิ์และไม่สามารถเอาผู้กระทำผิดมาลงโทษได้อย่างมีประสิทธิภาพสมบูรณ์แล้ว

Antiphon ยังกล่าวขยายความถึงเหตุผลที่เขาเห็นว่า ความยุติธรรมตามกฎหมายนั้นไม่สามารถปกป้องคุ้มครองผู้ที่ยอมรับเคารพและปฏิบัติตามข้อบังคับตามกฎหมายได้

โดยเขาได้ชี้ให้เห็นถึงเงื่อนไขความเป็นจริงในกระบวนการยุติธรรม ที่กระบวนการยุติธรรมจะเริ่มได้ก็ต่อเมื่อต้องมีผู้ฟ้องร้อง นั่นคือ จะต้องมีผู้ที่ถูกกระทำ หรือจะต้องมีผู้ที่ต้องเสียหายเจ็บปวดทุกข์ทรมานเสียก่อน

อีกนัยหนึ่งการที่ต้องมีผู้เสียหายที่มาฟ้องร้องต่อศาลเสียก่อนนั้น ก็หมายความว่า กระบวนการยุติธรรมเปิดโอกาสหรือปล่อยให้ผู้กระทำผิดหรือผู้ละเมิดต่อผู้อื่นได้ลงมือทำร้ายผู้อื่นก่อน

ดูเหมือนเราจะสามารถเข้าใจศรีธนญชัยได้ดีขึ้นจากการอ่านศรีธนญชัยผ่านข้อเขียนของ Antiphon โซฟิสต์แห่งเอเธนส์เมื่อสองพันกว่าปีที่แล้ว