รายงานพิเศษ/สมาคมผู้ค้าปลีกไทย รุกขุมทรัพย์ดิวตี้ฟรี

รายงานพิเศษ

สมาคมผู้ค้าปลีกไทย รุกขุมทรัพย์ดิวตี้ฟรี

เมืองไทยย่างเข้าฤดูร้อน อุณหภูมิศึกชิงสัมปทานดิวตี้ฟรีก็เข้าใกล้จุดเดือดไม่แพ้อุณหภูมิการเมือง เมื่อ คณะกรรมการบริษัทท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือบอร์ด ทอท. เปิดไพ่แนวทางประมูลร้านค้าปลอดอากรและพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินเชียงใหม่ ภูเก็ต และหาดใหญ่ หลังวันมาฆบูชา

บอร์ด ทอท. มีมติเมื่อวันที่ 20 กุมาพันธ์ 2562 ให้เปิดประมูลแยก 3 สัญญาใหญ่ ได้แก่ กิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร (Duty Free) กิจกรรมเชิงพาณิชย์ (Retail, F&B, Service และ Bank) และกิจการให้บริการเคาน์เตอร์ส่งมอบสินค้าปลอดอากร (Duty Free Pick-up Counter) ออกจากกัน
คาดกันว่าการประมูลครั้งนี้ ยักษ์ใหญ่ในวงการดิวตี้ฟรีที่จะดาหน้ามาขับเคี่ยวกัน นับตั้งแต่ บริษัทดิวตี้ฟรีของไทย คิง เพาเวอร์ แล้วยังมี บริษัทดิวตี้ฟรีต่างชาติ ได้แก่ ล็อตเต้ ดิวตี้ฟรี จากเกาหลีใต้ และดีเอฟเอส จากสิงคโปร์

แต่สิ่งที่เพิ่มความเข้มข้นของต่อสู้รอบนี้ คือ กลุ่มเซ็นทรัล คนหน้าใหม่ ได้กระโดดเข้าร่วมวงด้วย และนั่นคงเป็นเหตุผลสำคัญ ที่ทำให้เซ็นทรัลต้องจับมือกับดีเอฟเอสจากสิงคโปร์

ความร้อนแรงของการประมูลครั้งนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่กลุ่มทุนที่จะเข้ามาชิงชัยผลประโยชน์แสนล้าน กลับเป็นความเคลื่อนไหวที่มาจากสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ที่มีปฏิกิริยาสนองตอบทันที

ตามฐานข้อมูลของสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ระบุว่าสมาคมถือกำเนิดจากความร่วมแรงร่วมใจของผู้ประกอบธุรกิจด้านค้าปลีก เพื่อเป็นการสร้างความสามัคคีระหว่างกัน เป็นที่ปรึกษาหารือ แลกเปลี่ยนข่าวสาร และร่วมกันแก้ไขปัญหา ตลอดจนแสดงความคิดเห็นที่จะนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมค้าปลีกของประเทศ
ในระยะแรกการรวมตัวกันมีลักษณะไม่เป็นทางการ ใช้ชื่อว่า “ชมรมผู้ค้าปลีกห้างสรรพสินค้า” มี บรรหาร ศิริศิลป์ จากร้านสหกรณ์กรุงเทพ เป็นประธานชมรมฯคนแรก สมาชิกเป็นผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้าต่างๆ เช่น สัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์ จากห้างเซ็นทรัล Mr. Frank Lim จากฟู้ดแลนด์ วินัย เสริมศิริมงคล จากห้างพาต้า สมชาย สาโรวาท จากห้างอิมพีเรียล สุรัตน์ อัมพุช จากห้างเดอะมอลล์ ปรีชา เวชสุภาพร จากห้างโรบินสัน มนต์ชัย จุนประทีปทอง จากห้างตั้งฮั่วเส็ง เป็นต้น ก่อนกลายสภาพเป็น “สมาคมผู้ค้าปลีกห้างสรรพสินค้า”

สุทธิเกียรติ จิราธิวัฒน์ เป็นนายกสมาคมผู้ค้าปลีกห้างสรรพสินค้าคนแรกในปี 2527 ต่อมาคือสมชาย สาโรวาท จากห้างอิมพีเรียล (เปลี่ยนชื่อสมาคมฯเป็นชื่อที่ใช้อยู่ในปัจจุบันคือ “สมาคมผู้ค้าปลีกไทย”) วิโรจน์ จุนประทีปทอง จากห้างตั้งฮั่วเส็ง (เปลี่ยนชื่อเรียกจากนายกสมาคมเป็นประธานสมาคม) ซึ่งจะเห็นว่าเจ้าของห้างแบ่งๆกันเป็นผู้นำตามวาระ เหมือนกับสมาคมการค้าอื่นๆ เขาทำกัน
หลังจากปี 2539 เป็นต้นมา ตำแหน่งประธานสมาคมมาจากค่ายเซ็นทรัล 6 ท่านรวด เริ่มจาก สุทธิชาติ จิราธิวัฒน์ พิทยา เจียรวิสิฐกุล ลิขิต ฟ้าปโยชนม์ ธนภณ ตังคณานันท์บุษบา จิราธิวัฒน์ และล่าสุดในยุคปัจจุบัน คือ วรวุฒิ อุ่นใจ

เรียกว่าเซ็นทรัลเป็นผู้นำสมาคมผู้ค้าปลีกไทยอย่างเหนียวแน่นและยาวนาน

วรวุฒิ อุ่นใจ ประธานสมาคมคนปัจจุบันนั้นเคยเป็นเจ้าของ Officemate หลังโดนกลุ่มเซ็นทรัลเข้าเทกโอเวอร์ซื้อกิจการ ก็ผันตัวเองมาอยู่ในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงกิจการออนไลน์ของเครือเซ็นทรัล จนกลายเป็นตัวแทนรั้งตำแหน่งประธานสมาคมค้าปลีกไทยคนที่ 9

เขาเข้ามารับตำแหน่งนายกสมาคม ในช่วงที่ค้าปลีกไทยเติบโตต่ำที่สุดในภูมิภาคอาเซียน พร้อมกับผลักดันให้มีการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat Refund) ให้นักท่องเที่ยว ณ จุดขายในวันที่ซื้อ จนกระทั่งประสบความสำเร็จสามารถเปิดจุด Vat Refund ได้ที่ห้างฯเซ็นทรัลเวิลด์

 

การเคลื่อนไหวล่าสุดเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา วรวุฒิ อุ่นใจ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดแถลงข่าวอย่างเป็นทางการถึงกรณีที่บอรด์ ทอท.มีมติเห็นชอบแนวทางแยกการประมูลออกเป็น 3 สัญญา
วรวุฒิแถลงยืนยันตามข้อเสนอเดิมว่า สมาคมฯ ไม่เห็นด้วยอย่างที่จะกำหนดเกณฑ์เงื่อนไขสัมปทานดิวตี้ฟรีสำหรับสนามบินสุวรรณภูมิเป็นแบบรายเดียว (Master Concession) สมาคมผู้ค้าปลีกไทยเห็นว่าการใช้ระบบสัมปทานตามกลุ่มสินค้า (Multiple Concessions by Category) จะส่งผลให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเติบโตมากขึ้น

สอดคล้องกับทิศทางของห้างใหญ่ ที่ต้องการขยายอาณาจักรการค้าปลีกไปสู่ตลาดค้าปลีกในสนามบิน ที่มีกลุ่มเป้าหมายที่เป็นนักเดินทางและนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ซึ่งมีกำลังซื้อสูงและขยายตัวอย่างรวดเร็ว

ความเคลื่อนไหวของสมาคมผู้ค้าปลีกไทยในครั้งนี้กำลังถูกจับตามองว่าเป็นความพยายามเพื่อประโยชน์กับอุตสาหกรรมค้าปลีกโดยรวมหรือเพื่อกลุ่มธุรกิจกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือไม่