สถ. ลงพื้นที่ จ.ลพบุรี ชู “ถังขยะเปียก ระบบปิด” เพื่อประเทศไทยไร้กลิ่นเหม็นของขยะ พร้อมชวนแม่บ้านทหารบก ร่วมขับเคลื่อนเพื่อสิ่งแวดล้อมไปด้วยกัน

สถ. ลงพื้นที่ จ.ลพบุรี ชู “ถังขยะเปียก ระบบปิด” เพื่อประเทศไทยไร้กลิ่นเหม็นของขยะ พร้อมชวนแม่บ้านทหารบก ร่วมขับเคลื่อนเพื่อสิ่งแวดล้อมไปด้วยกัน
เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 09.00 น. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานชมรมแม่บ้านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ และ รศ.ดร.ชนาธิป ผาริโน อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คุณวราภรณ์ คัตตะพันธ์ ภริยารองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 13 คุณพักตร์อัมพร ประพฤติดีพร้อม ภริยาเสนาธิการมณฑลทหารบกที่ 13 คุณอารีรัตน์ ปานนวม ภริยาหัวหน้ากองกิจการพลเรือน มณฑลทหารบกที่ 13 และคณะ นางประเสริฐสุข เพฑูรย์สิทธิชัย ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก นายจักรพงษ์ แย้มยิ้ม ผู้จัดการกลุ่มงานโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ นายอนุชิต สังฆสุวรรณ ผู้ตรวจราชการกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นางสาวอ้อวดี สุนทรวิภาต ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพัฒนาระบบมาตรฐานและแผนพัฒนาท้องถิ่น และผู้บริหารกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ลงพื้นที่จังหวัดลพบุรี ตรวจติดตามโครงการพัฒนาและขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจก จากโครงการถังขยะเปียก ลดโลกร้อนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในเขตพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลโก่งธนู พร้อมมอบนโยบายการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมชน โดยมี นายสุปกิต โพธิ์ปภาพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี หัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน/หมู่บ้าน และสมาชิก และอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก (อถล.) จำนวนมากในพื้นที่เข้าร่วม ณ ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลโก่งธนู จากนั้นลงพื้นที่ตรวจติดตามวิธีการจัดเก็บข้อมูลปริมาณขยะเปียกในระดับศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และระดับครัวเรือนของพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลโก่งธนู อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า จังหวัดลพบุรี เป็นจังหวัดที่ 4 จากทั้งหมด 5 จังหวัดในกลุ่มตัวอย่าง ที่กรมฯ ขอให้มีการดำเนินการจัดเก็บข้อมูลเพื่อทำวิจัยการประเมินและรับรองผลการบริหารจัดการขยะเศษอาหารตามแนวทางการทำถังขยะเปียกในการช่วยลดสภาวะโลกร้อนโดยเทียบเท่าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยจะมีการดำเนินการใน 3 กลุ่มเป้าหมาย คือ ประเภทครัวเรือน ประเภทศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และประเภทโรงเรียน ทั้งหมดนี้ เพื่อให้ได้ค่าเฉลี่ยอัตราการเกิดขยะเศษอาหารที่สามารถใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงของ สถ. ในการลดภาระการบริหารจัดการขยะของส่วนรวม และสร้างมูลค่าเพิ่มจากสารบำรุงดินที่ได้จากการหมักขยะเศษอาหารในถังขยะเปียก ซึ่งในอนาคตการจัดทำถังขยะเปียกครัวเรือนสามารถประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงได้จากการดำเนินโครงการถังขยะเปียก ลดโลกร้อน หากได้รับการขึ้นทะเบียนรับรองเพื่อพัฒนาคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) โดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) สำเร็จ ก็อาจมีรายได้ในอนาคตกลับคืนสู่ชุมชนได้ ซึ่งทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวันนี้ รศ.ดร.ชนาธิป ผาริโน อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ที่จะพัฒนาระเบียบวิธีวิจัยการประเมินและรับรองผลการบริหารจัดการขยะเศษอาหารตามแนวทางการทำถังขยะเปียกในการช่วยลดสภาวะโลกร้อนโดยเทียบเท่าการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ให้ถูกต้องตามหลักวิชาการที่ยอมรับทั้งในระดับประเทศและระดับสากล ก็ได้ลงพื้นที่มาในวันนี้ด้วยเช่นกัน
ทางด้าน ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานชมรมแม่บ้านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (ชม.สถ.) และประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ กล่าวด้วยว่า ในฐานะเครือข่ายจิตอาสา ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของพลังสตรีหรือพลังแม่บ้านในการเป็นจิตอาสา เสริมสร้างจิตสำนึกของการคัดแยกขยะเศษอาหารตั้งแต่ต้นทาง นั่นคือ ครัวเรือน โดยใช้กลไกของแม่บ้านที่เป็นผู้ใกล้ชิดคนในครอบครัวที่สุด โดยกระตุ้นให้มีการคัดแยกขยะเศษอาหารหรือขยะเปียกออกจากขยะทั่วไป ช่วยสร้างความรับรู้ ความเข้าใจให้คนในท้องถิ่นของตนเองได้มามีส่วนร่วมในการลดปริมาณขยะ ซึ่งแม่บ้านเองจะยังได้สารบำรุงดินจากการทำถังเปียกครัวเรือน ที่จะช่วยลดรายจ่ายในการปลูกผักสวนครัว หรือประโยชน์ด้านเกษตรกรรมอื่นๆ ของครอบครัวและชุมชนได้ด้วย ทั้งยังมีส่วนในการช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่จะเป็นการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมในระดับชุมชนในพื้นที่ให้ดียิ่งขึ้นอีกทางนั่นเอง
ดร.วันดี ยังได้กล่าวถึงความร่วมมือระหว่าง ชม.สถ. กับ สมาคมแม่บ้านทหารบก ด้วยว่า ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีโอกาสเข้าหารือกับ รศ.ดร.กฤษติกา คงสมพงษ์ นายกสมาคมแม่บ้านทหารบก โดยทั้งสองชมรมฯ มีนโยบายที่สอดคล้องกันและสามารถสานต่องานร่วมกันได้ในอนาคต นั่นคือ นโยบายการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม ซึ่งในฝั่งสมาคมแม่บ้านทหารบก ได้ส่งเสริมให้กำลังพลของกองทัพบก และครอบครัว มีจิตสำนึกในการคัดแยกขยะและรักษาสิ่งแวดล้อม ลดปริมาณขยะมูลฝอยในชุมชนทหาร และมีการจัดตั้งธนาคารขยะภายในหน่วยงาน เป็นที่มาให้สมาคมแม่บ้านทหารบก ส่งตัวแทนร่วมการลงพื้นที่ตรวจติดตามโครงการถังขยะเปียก ลดโลกร้อนในวันนี้
ทั้งนี้ คุณวราภรณ์ คัตตะพันธ์ ภริยารองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 13 ในฐานะตัวแทนของสมาคมแม่บ้านทหารบกได้กล่าวในที่ประชุมว่า ทุกวันนี้ในชุมชนทหารจะมีการจัดตั้ง ธนาคารคัดแยกขยะกันครบถ้วนทุกหน่วย ซึ่งช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและสร้างรายได้เป็นอย่างดี แต่ที่ขาดไปคือการจัดทำถังขยะเปียก และจะได้เชิญผู้แทนของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้าไปแนะนำการจัดทำถังขยะเปียกโดยละเอียดให้กับกำลังพลของกองทัพบก และครอบครัวในโอกาสต่อไป
ในตอนท้าย นายสุทธิพงษ์ และ ดร.วันดี ได้กล่าวชื่นชมผู้บริหารของจังหวัดลพบุรี และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่ช่วยทำให้ฝันเป็นจริง โดยดำเนินการการจัดการขยะเปียกครัวเรือนนำร่อง เพื่อคำนวนหาค่าเฉลี่ยอัตราการเกิดขยะเศษอาหาร ในการลดภาระการบริหารจัดการขยะของส่วนรวม และสร้างมูลค่าเพิ่มจากสารบำรุงดินที่ได้จากการหมักขยะเศษอาหารในถังขยะเปียก ซึ่งจนถึงวันนี้เฉพาะที่จังหวัดลพบุรีมีจำนวนครัวเรือนที่มีการจัดทำถังขยะเปียก 125,900 ครัวเรือน หรือคิดเป็นร้อยละ 73 ของครัวเรือนทั้งหมด รวมถึงมีจำนวนครัวเรือนที่เข้าร่วมเป็นเครือข่าย “อาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก” (อถล.) แล้วกว่า 105,849 ครัวเรือน หรือคิดเป็นร้อยละ 61 ของครัวเรือนทั้งหมด อีกหนึ่งความสำเร็จคือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 125 แห่งในจังหวัด ยังได้ดำเนินการตามแผนรณรงค์แยกก่อนทิ้ง ของกระทรวงมหาดไทย ด้วยการจัดทำสัญลักษณ์แยกประเภทขยะครบถ้วน 100% แล้วอีกด้วย
ก็ต้องขอขอบคุณท่านผู้บริหารทุกท่านที่ได้ร่วมกันตอบสนองต่อวาระแห่งชาติ การบริหารจัดการขยะ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้รับมอบหมายจาก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้รับผิดชอบในเรื่องนี้ การบริหารจัดการขยะเป็นการทำตามสัจธรรม เมื่อเราเป็นคนสร้างของเสีย เราก็ต้องเป็นคนจัดการ ไม่เช่นนั้น โลกของเราก็จะเป็นศูนย์รวมของเชื้อโรค มีกลิ่นเหม็น สกปรก รกรุงรัง เกิดก๊าซเรือนกระจก นำไปสู่ภาวะโลกร้อน และทำให้อากาศเกิดความแปรปรวน ซึ่งวันนี้การบริหารจัดการขยะขององค์การบริหารส่วนตำบลโก่งธนู ถือว่าทำได้สำเร็จในระดับที่กลายเป็น “ตักศิลา” หรือศูนย์เรียนรู้ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งอื่นๆ ซึ่งกรมฯ อยากให้มีการเผยแพร่วิธีการบริหารจัดการขยะของ อบต.โก่งธนูออกไปให้มากที่สุด เพื่อจะได้เป็นความรู้ และเป็นตัวอย่างของการบริหารจัดการขยะในทุกมิติต่อไป
และอยากถือโอกาสฝากสองเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการขยะ เรื่องแรก ก็คือ การจัดทำ “ถังขยะเปียก ระบบปิด” ที่ในภาคเหนือจะนิยมจัดการขยะเปียกผ่านการจัดทำ “เสวียน” ครอบต้นไม้ เพื่อใช้เป็นสถานที่เก็บกิ่งไม้ ใบไม้ รวมทั้งขยะเปียกให้เป็นปุ๋ยของต้นไม้ ซึ่งถือว่าดีแล้ว แต่กรมฯ อยากเห็นการจัดทำ “ถังขยะเปียก ระบบปิด” เพราะระบบปิด จะทำให้เกิดการเน่าเปื่อย การย่อยสลาย และทำให้กระบวนการลดก๊าซเรือนกระจกดำเนินไปได้ดีกว่าระบบเปิดแบบเสวียน ที่ทาง กรมฯ เอง ได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่า ภายในเดือนเมษายน 2562 นี้ ทุกครัวเรือนทั่วประเทศจะต้องมีถังขยะเปียกครัวเรือนครบ 100% เรื่องที่สองคือ “อาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก” (อถล.) ซึ่งที่ อบต.โก่งธนู มีจำนวนสมาชิกมากกว่า 1,500 คน นอกเหนือไปจากที่ อถล.จะได้ร่วมกันบำเพ็ญสาธารณประโยชน์เพื่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ก็อยากเห็นการฝึกอบรมให้กับอาสาสมัครเหล่านี้ในหัวข้อต่างๆ เช่น การฝึกอบรมการบริหารจัดการขยะขั้นสูง พาไปศึกษาเรียนรู้ในที่อื่นๆ ทำให้รับความรู้และเกิดความรักความสามัคคีของชุมชนด้วย
นายสุทธิพงษ์ยังย้ำด้วยว่า ปีนี้ถือว่าเป็นปีมหามงคลของชาวไทย ซึ่งจะมีการจัดงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ระหว่างวันที่ 4-6 พฤษภาคม 2562 จึงอยากเชิญชวนให้มาร่วมกันทำความดีในรูปแบบของการปฏิบัติบูชา เพื่อเฉลิมฉลองและแสดงความจงรักภักดีถวายแด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวาระนี้ โดยร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาบ้านเมืองของเราให้น่าอยู่ขึ้นด้วยการจัดทำถังขยะเปียก ลดโลกร้อน โดยให้คิดเสมอว่า ความสำเร็จนั้นอยู่ที่จิตสำนึกของพวกเราทุกคน มาร่วมกัน Change For Good เปลี่ยนเพื่อโลกที่ดีกว่า เปลี่ยนให้เพื่อประเทศไทยที่สวยงามขึ้นกว่าเดิม ให้ทุกคนได้มาเป็นส่วนสำคัญในการช่วยลดภาวะโลกร้อนในแบบที่ทำตามได้ในชีวิตประจำวัน ให้ได้เป็นส่วนสำคัญในการทำให้โลกใบนี้น่าอยู่ขึ้น มาร่วมกันสร้างประวัติศาสตร์ให้กับประเทศไทย คืนความอุดมสมบูรณ์ให้แผ่นดิน ทำให้ประเทศไทยไร้ขยะ และแผ่นดินไทยที่ไร้กลิ่นเหม็นเน่าจากขยะ
ในโอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานชมรมแม่บ้านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ ยังได้ร่วมปลูกต้นมะม่วงในโครงการ “ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” บริเวณ ทุ่งดอนช้าง หมู่ 5-6 อบต.โก่งธนู ซึ่งเป็นโครงการที่ อบต.โก่งธนู ดำเนินการร่วมกับมูลนิธิชัยพัฒนา ตั้งเป้าปลูกต้นมะม่วงพระราชทาน 30 สายพันธ์ กว่า 1,800 ต้น ในพื้นที่บริเวณนี้อีกด้วย
ณ วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2561