บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ/ ‘ทษช.’ คำนวณ ‘ผิดพลาด’ ครั้งใหญ่

บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ

‘ทษช.’ คำนวณ ‘ผิดพลาด’ ครั้งใหญ่

 

วันที่ 8 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันที่พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) เสนอชื่อบุคคลที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี ดังที่ทราบกันไปแล้วนั้น ถือเป็นข่าวเซอร์ไพรส์ สะเทือนเลื่อนลั่นไปทั้งแผ่นดิน เกิดความช็อก อึ้ง และไม่อยากเชื่อกันทั้งวันตั้งแต่ช่วงเช้า หลังจากหัวหน้าพรรค ทษช.คือ ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช แถลงอย่างเป็นทางการว่าได้เสนอชื่อผู้ใดเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรค

ก่อนที่ในเวลาต่อมา คือประมาณเกือบ 5 ทุ่มของวันเดียวกันนั้น ก็เกิดข่าวใหญ่ไปอีกทาง ในระดับที่สามารถจารึกเป็นประวัติศาสตร์ เมื่อมีพระราชโองการว่า “การนำสมาชิกชั้นสูงในพระบรมราชวงศ์มาเกี่ยวข้องกับระบบการเมือง ขัดต่อโบราณราชประเพณี ขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมของชาติ ถือเป็นการกระทำที่มิบังควร ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง”

ความจริงแล้ว ข่าวเกี่ยวกับการเสนอบุคคลที่จะมาเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคไทยรักษาชาติ ถูกนำร่องโหมโรงมาก่อนหน้านั้น 2-3 วันแล้ว

เห็นได้จากบทความของนายแอนดรูว์ แม็กเกรเกอร์ มาร์แชล อดีตนักข่าวสำนักข่าวรอยเตอร์ ที่เล่าลือกันว่าสนิทสนมกับคุณทักษิณ ชินวัตร ที่ได้เขียนไว้ชัดเจนว่า “มีความเป็นไปได้สูง” ที่ ทษช.จะเสนอพระนามทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ เป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรค

 

แอนดรูว์รายงานโดยอ้างข้อมูลจาก “แหล่งข่าวระดับสูง” หลายคนทั้งไทยและต่างประเทศว่าจะมีการเสนอชื่อบุคคลดังกล่าว

ซึ่งหากดูเส้นทางของข่าวแล้ว “แหล่งข่าวระดับสูงในประเทศ” ของแอนดรูว์ ก็น่าจะเป็นคนในพรรคไทยรักษาชาติ ซึ่งทำให้มีการตั้งข้อสังเกตว่าในวันที่ ทษช.นำรายชื่อแคนดิเดตไปยื่นต่อ กกต.นั้น มีนักข่าวต่างชาติเกาะติดทำข่าวมากเป็นพิเศษ

ส่วน “แหล่งข่าวระดับสูงต่างประเทศ” ของนายแอนดรูว์ จะเป็นคุณทักษิณ ชินวัตร หรือไม่ เพราะอาศัยอยู่ในต่างประเทศและถือพาสปอร์ตต่างด้าวไม่ทราบ

แต่แหล่งข่าวนี้น่าจะทำให้นายแอนดรูว์มั่นใจร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะหากดูความเชื่อมโยงและโครงข่ายแล้วพรรค ทษช.ถือเป็น “พรรคสาขา” ของพรรคเพื่อไทย ตามกลยุทธ์ “แตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย” เพื่อหนีกติกาการเลือกตั้งใหม่ เพราะกติกาใหม่ทำให้โอกาสมีโอกาสน้อยที่พรรคเพื่อไทยจะได้เก้าอี้เกิน 250 ที่นั่ง จึงต้องแตกพรรคออกไปเพื่อหวังจะได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์มาเติมอีกทาง เพื่อที่สุดท้ายรวมๆ กันแล้วพรรคเครือข่ายทักษิณจะได้ตั้งรัฐบาล

พรรคที่ถูกมองว่าเป็น “พรรคแบงก์ร้อยหรือแบงก์ย่อย” ของพรรคเพื่อไทย นอกจาก ทษช.แล้วก็มี “เพื่อชาติ” และอาจรวมถึง “ประชาชาติ” ยังไม่นับรวมพรรคพันธมิตรอย่าง “อนาคตใหม่” ที่เป็นแนวร่วมในทางความคิดและอยู่สีเดียวกัน

หากจำกันได้ ก่อนหน้านี้คุณทักษิณประกาศอย่างมั่นใจว่า พรรคเพื่อไทยจะชนะแบบ avalanche หรือ “หิมะถล่ม” ซึ่งน่าตื่นเต้นกว่าแลนด์สไลด์หรือดินถล่ม ซึ่งเป็นไปได้ว่าความมั่นใจนั้นอาจมาจาก “รายชื่อบุคคล” สุดเซอร์ไพรส์ที่จะเสนอเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรค

ข่าวการเสนอชื่อแคนดิเดตไม่เพียงจะถูกโหมโรงด้วยข่าวจากนักข่าวฝรั่งอย่างแอนดรูว์ หากแต่บุคคลในฝั่งเสื้อแดงบางคนก็ออกมาพูดอย่างมีนัยยะว่า “อีกไม่กี่วันการเมืองไทยจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ”

 

พลันที่ ทษช.เปิดรายชื่อแคนดิเดตนายกฯ ก็ทำให้พรรคเครือข่ายคึกคักขึ้นมาทันที เช่น จตุพร พรหมพันธุ์ อดีตแกนนำเสื้อแดง ได้ฉวยโอกาสออกมาพูดทันทีว่า “แสดงว่าข้อกล่าวหาที่ว่าคุณทักษิณไม่จงรักภักดีต่อสถาบันนั้นไม่เป็นความจริง”

ส่วนนางธิดา ถาวรเศรษฐ ที่ปรึกษากลุ่ม นปช. ซึ่งตลอดมามักจะกล่าวถึงชนชั้นสูงในทางลบและต่อต้าน ทำนองว่าชนชั้นนำไม่สนใจประชาชนระดับล่าง ก็กลับมีท่าทีเปลี่ยนไปแบบหน้ามือหลังมือ คราวนี้อ้างประวัติศาสตร์ว่าเคยมีชนชั้นสูงที่มีทัศนะก้าวหน้าร่วมมือกับคณะราษฎรในการเมืองการปกครองมาแล้ว

แต่เมื่อมีพระราชโองการที่ชัดเจนดังกล่าวออกมา ดูเหมือนพรรคเครือข่ายคุณทักษิณทั้งพรรคแบงก์พันและแบงก์ร้อยต่างเงียบงัน ไร้การเคลื่อนไหว

เกิดคำถามว่า ใครอยู่เบื้องหลังการเสนอแคนดิเดตนายกฯ ของพรรค ทษช.

ลำพัง ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช คนหนุ่มที่เป็นหัวหน้าพรรคและยังไร้ประสบการณ์ จะมีความสามารถและบารมีเพียงพอที่จะนำเสนอรายชื่อแคนดิเดตดังกล่าวหรือ

หลังจากนี้เชื่อว่าเบื้องหลังหลายอย่างคงคลี่คลายออกมาให้เห็น

 

เริ่มจากวันที่ 11 กุมภาพันธ์ นายรุ่งเรือง พิทยศิริ อดีตกรรมการบริหารพรรค ทษช. ได้มายื่นหนังต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อยืนยันว่าได้ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค และกรรมการบริหารพรรค ต่อ น.ส.ชยิกา วงศ์นภาจันทร์ นายทะเบียนพรรค ตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ เนื่องจากไม่เห็นด้วยที่พรรคจะมีมติเสนอชื่อแคนดิเนตนายกฯ และเป็นการแสดงความบริสุทธ์ใจว่าตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสนอชื่อแคนดิเดต

ผลพวงที่เกิดขึ้นกับ ทษช.อันเนื่องมาจากเรื่องนี้ กล่าวได้ว่าราวกับโดน “สึนามิ” กระแทกใส่ เพราะไหนจะถูกมองในทางลบว่าทำสิ่งมิบังควร ไหนเสี่ยงจะถูกยุบพรรค

ถือเป็นการ “คำนวณที่ผิดพลาด” อย่างร้ายแรงของพรรค ทษช. ที่เชื่อกันว่าความคิดนี้น่าจะมาจากคุณทักษิณ ซึ่งนี่ก็คือการพิสูจน์ให้เห็นว่าทักษะและความสามารถในการหยั่งรู้ของคุณทักษิณ ไม่ได้เก่งกาจ แม่นหรือรู้ลึกรู้จริง อย่างที่เชื่อกัน

ไม่เช่นนั้นคงไม่ทำเรื่องที่ “ล้ำเส้นไปลึกมาก” เช่นนี้

 

น่าลุ้นว่าอนาคตของผู้สมัคร ส.ส.ของพรรค ทษช.จะเป็นอย่างไร

เช่น จาตุรนต์ ฉายแสง ประธานยุทธศาสตร์พรรค ที่เดิมมีชื่อว่าจะถูกเสนอเป็นแคนดิเดตนายกฯ รายนี้คงไม่ผิดนักที่จะบอกว่าเป็น “พ่อสายบัวรอเก้อ” โดยปรากฏว่านับจากวันที่ 7 กุมภาพันธ์ก็เงียบหายไปเลย จากที่ปกติจะเคลื่อนไหวถี่ทางโซเชียลมีเดีย มาโผล่ชี้แจงอีกทีก็วันที่ 12 กุมภาพันธ์

แต่ในคำชี้แจงนายจาตุรนต์ก็แสดงให้เห็นความพิลึกพิลั่นของระบบการทำงานพรรคนี้ เพราะนายจาตุรนต์อ้างว่าตนเอง “ไม่ได้ไปร่วมในเหตุการณ์วันที่ 8 กุมภาพันธ์ และรู้สึกไม่สบายใจ”

คำชี้แจงนี้เผยให้เห็นว่า การทำงานของพรรค ทษช.ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยหรือให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วม เพราะขนาดนายจาตุรนต์เป็นถึงประธานยุทธศาสตร์ของพรรค แต่กลับไม่รู้เรื่องสำคัญ แสดงว่าไม่มีใครหารือหรือบอกกล่าวนายจาตุรนต์เลย ซึ่งทำให้ข้อสันนิษฐานที่ว่า “เจ้าของพรรคตัวจริง” ไม่ใช่บุคคลที่มีรายชื่ออยู่ในพรรค น่าเชื่อถือขึ้นมาทันที

ต่อมานายจาตุรนต์โพสต์ในโซเชียลมีเดีย โดยใช้หัวข้อ “เห็บกระโดดที่ไหนกัน” เนื้อหาระบุว่า “รู้สึกวาทกรรม หมาตาย เห็บกระโดด กำลังฮิต แต่ผมขอบอกแบบสบายๆ ว่า ผมไม่คิดว่า ทษช.จะถูกยุบง่ายๆ แต่ถ้าถูกยุบจริงผมจะอยู่เป็นคนสุดท้าย เหมือนที่เคยทำมาแล้วที่ไทยรักไทย”

ถ้าให้ตีความก็น่าจะหมายความว่า นายจาตุรนต์กำลังเปรียบเทียบว่าตัวเองเป็น “เห็บที่ภักดีต่อสิ่งที่ตัวเองเกาะอยู่” ไม่ว่าสิ่งที่ตัวเองเกาะนั้นจะทำเรื่องไม่สมควรปานใดก็ตาม

แต่ที่น่าคิดมากกว่าคือ ขนาดว่าทางสมาชิกพรรคและ “เจ้าของพรรคตัวจริง” ทำราวกับนายจาตุรนต์ไม่มีความหมาย ไร้ตัวตน เช่นในเหตุการณ์วันที่ 8 กุมภาพันธ์เช่นนี้แล้ว นายจาตุรนต์ยังทนอยู่ได้อย่างไร

เวลาอยู่ข้างนอกเรียกร้องประชาธิปไตยและอวดอ้างว่าตัวเองอยู่ซีกประชาธิปไตย แต่ในพรรคตัวเองกลับขาดไร้ประชาธิปไตย