สนทนา ‘สดศรี สัตยธรรม’ อดีต กกต. จากใจรุ่นพี่ถึงรุ่นน้อง และ “เรื่องใหญ่” หวังว่าจะไม่มีรัฐประหาร

“ขณะนี้เราคงต้องมองดูว่าความสงบมันเกิดขึ้นหรือไม่ ความสงบที่หมายถึงนี้ไม่ใช่สงบธรรมดา แต่ต้องสงบในลักษณะที่ทุกคนมีจุดหมายเดียวกันที่จะไปเลือกตั้งแน่นอน แล้วจะว่าไปเหตุการณ์แทรกซ้อนต่างๆ มันสามารถเกิดขึ้นได้เสมอ เหมือนกับเรานั่งอยู่เฉยๆ จะตายวันนี้/พรุ่งนี้ก็ได้ มันไม่มีอะไรแน่นอนเลยในชีวิต รวมถึงเรื่องการเมืองก็เช่นกัน ไม่มีอะไรแน่นอน เพราะว่าในขณะนี้ยังมีความเป็นห่วงว่าอำนาจรัฐจะเข้ามาแทรกซ้อนในการเลือกตั้งหรือไม่ ถ้าแทรกซ้อนเข้ามาจะมีในหลายลักษณะ สำคัญที่สุดเราต้องไม่ลืมว่าการปฏิวัติรัฐประหารกับการเมืองไทยมันไม่เคยแยกขาดออกจากกัน” อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สดศรี สัตยธรรม มองถึงสถานการณ์การเมืองปัจจุบันที่ยากจะไว้ใจและคาดเดา

อดีต กกต.เปิดใจว่า

“ตัวเองก็ได้แต่หวังว่าจะไม่มีเหตุแทรกซ้อนในลักษณะที่ทำให้การเลือกตั้งต้องยุติลงและทุกพรรคการเมืองเองก็คงมองดูว่า ณ วันนี้มันมีข่าวลวงข่าวลับเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ส่วนตัวคิดว่าความเชื่อมั่นของพรรคการเมืองต่างๆ ลดลงอยู่ที่ 70 เปอร์เซ็นต์ว่าจะได้มีการเลือกตั้งหรือไม่”

“เราเองก็คงมองดูและคาดหวังว่าทางผู้มีอำนาจจะดำเนินการเพื่อให้ได้ตัวผู้กระทำความผิดมาว่าใครเป็นคนทำอะไรที่ไหนในการปล่อยข่าว ซึ่งทุกอย่างนั้นขึ้นอยู่กับความจริงใจของทุกฝ่ายว่าจะมีความจริงใจที่จะให้มีการเลือกตั้งจริงหรือไม่ในครั้งนี้”

ในสถานการณ์ที่หลายคนจับตาว่าในที่สุดแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินชี้ว่ายุบหรือไม่ยุบพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) หลังจากเหตุการณ์ประวัติศาสตร์เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 อันเป็นวันเปลี่ยนชะตาการเมืองไทยในหน้าประวัติศาสตร์ไปอีกยาวนาน ที่สำคัญบทบาทของ กกต.ต่อการเลือกตั้งครั้งนี้ก็ยิ่งมีความสำคัญมากอย่างยิ่ง ความในใจที่ห่วงใยรุ่นน้อง กกต.จึงเกิดขึ้น

คุณสดศรีกล่าวว่า “ในฐานะ กกต.รุ่นพี่ก็มองว่า น่าเห็นใจ กกต.ชุดนี้เป็นชุดที่ต้องมาเจอกฎหมายใหม่ทั้งหมดเลย แม้ว่าจะมีบางส่วนที่เป็นของรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ มาบ้าง แต่ระบบการเลือกตั้งที่เปลี่ยนใหม่ เป็นระบบจัดสรรปันส่วนผสมที่ทำให้การคิดคำนวณใหม่ จากที่เคยทำๆ กันมา แม้แต่ในเรื่อง บัตรเลือกตั้ง 350 แบบ/เขต ซึ่งลักษณะที่แตกต่างกันทั้งหมดนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก”

“กกต.จะต้องละเอียดอ่อนและต้องพิจารณารอบคอบ และอย่าให้พลาดในเรื่องเกี่ยวกับบัตรเลือกตั้งเป็นอันขาด อีกประเด็นสำคัญก็คือเหตุการณ์การเมืองไทย เป็นเรื่องที่ กกต.ไม่เคยได้เจอกับเหตุการณ์เหล่านี้ จึงมีแต่เรื่องที่ตัดสินใจได้ยาก”

“ในฐานะรุ่นพี่ก็คงอยากให้กำลังใจ กกต.รุ่นน้องยุคนี้ว่า ต้องยึดตัวบทกฎหมายเป็นหลักและจำต้องใช้หลักรัฐศาสตร์เข้ามาพิจารณาควบคู่กับหลักนิติศาสตร์ด้วย เพราะว่าการที่จะใช้แต่หลักนิติศาสตร์อย่างเดียวคงไม่พอสำหรับในเรื่องปัจจุบัน บางครั้งต้องใช้หลักรัฐศาสตร์เข้ามาคาบเกี่ยวในเรื่องสำคัญ”

“แต่ก็โชคดี กกต.มี 7 ท่าน ช่วยกันระดมสมอง 7 สมองน่าจะดีกว่า 5 สมองจากในอดีต และคงได้แต่หวังว่า กกต.ชุดนี้จะผ่านพ้นอุปสรรคต่างๆ และทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้ประสบผลสำเร็จได้ด้วยดี”

“แม้ว่าที่ผ่านมา ในหมู่นักการเมือง นักเคลื่อนไหวจะพูดถึงการเอาเปรียบในทางการเมืองหลายอย่างที่ถูกปฏิบัติจากฝ่ายผู้มีอำนาจรัฐ แต่เหนือสิ่งที่นักการเมืองหลายคนได้พูดและอ้างถึง คนที่จะตัดสินใจได้ดีที่สุดคือ “ประชาชน” ฉะนั้น วันที่ 24 มีนาคม ประชาชนจะต้องเป็นผู้ชี้ขาดต่อ “อำนาจนอกระบบ” หรือมีอะไรไม่ชอบมาพากลหรือไม่ ทุกอย่างจะเป็นการชี้ขาดของประชาชน และต้องยอมรับผลและความเป็นจริง ในส่วนชี้ขาดจากประชาชนก็จึงพูดได้แค่ว่า หวังเป็นอย่างยิ่งว่าก่อนวันเลือกตั้งจะไม่มีเหตุอะไรที่จะทำให้การชี้ขาดของประชาชนจะต้องเป็นอันโมฆะไป”

ไหนๆ ก็มีโอกาสพบเจออดีต กกต.สดศรีแล้ว จะไม่ชวนมองกรณีการพิจารณาเรื่องยุบพรรคไทยรักษาชาติไม่ได้

สดศรีมองเรื่องนี้ว่าเป็นเรื่องที่มีผลกระทบอย่างยิ่งต่อพรรคการเมืองต่างๆ ในส่วนของไทม์ไลน์นั้น มองว่ากระบวนการต่างๆ จากนี้ไม่น่าจะมีเหตุที่จะต้องสืบพยานนาน คงไม่ช้า-ไม่ใช้เวลามาก อย่างระยะเวลาของการรับสมัครห่างจากช่วงการเลือกตั้งพอสมควร จึงมองว่าระยะเวลาดังกล่าว ศาลคงจะต้องเร่งพิจารณาให้เร็ว เพราะถ้าเป็นเรื่องสำคัญและเป็นสิ่งที่ประชาชนติดตามสนใจอยู่

ที่สำคัญหากพิจารณาช้ามันจะมีผลกระทบถึงพรรคการเมืองที่เขาจะถูกยุบและระบบเลือกตั้งนี้เป็นระบบใหม่บัตรใบเดียวทุกอย่างจะกระทบไปหมด

จึงมองว่าการพิจารณาน่าจะเกิดขึ้นก่อนวันเลือกตั้ง

ถ้าการพิจารณาก่อนมีการเลือกตั้งและสมมุติมีผลว่าให้ยุบพรรคการเมืองนี้ กรรมการบริหารทั้งชุดจะถูกงดเว้นไม่ให้มีสิทธิเลือกตั้งอันนี้ตลอดชีวิต และกรรมการบริหารทั้งชุดสั่งไม่ให้ตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาใหม่ เพราะฉะนั้น ในเรื่องนี้ก็คงเป็นเรื่องที่ว่า ถ้ามีคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญก่อนการเลือกตั้ง เหตุการณ์มันชัดเจน

แต่ถ้าเกิดมีการตัดสินให้ยุบหลังเลือกตั้งเป็นเรื่อง หลายอย่างตามมาทั้งพรรคการเมืองต้องชำระทรัพย์สินของพรรคทั้งหมด สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน สตง.จะเข้ามาพิจารณาคล้ายกับการยึดทรัพย์ ดูแลทรัพย์สินและหนี้สินของพรรคนี้และอาจจะต้องยึดเงินรายได้ที่ได้จากพรรคการเมืองและส่งไปให้กับมูลนิธิ

แต่ถ้าไม่มีมูลนิธิที่เขาระบุไว้ในข้อบังคับก็ต้องให้กับเงินกองทุนพัฒนาพรรคการเมืองของ กกต.

ส่วนคะแนน ส.ส.เขต ที่จะต้องมาคำนวณเป็นของ ส.ส.บัญชีรายชื่อด้วยก็ต้องถือว่าให้ยกเลิกไป

พูดง่ายๆ คือ ถ้ายุบหลังจากเลือกตั้งไปแล้วจะเกิดผลเสียมากกว่าตอนก่อนเลือกตั้ง เพราะว่าถ้าก่อนเลือกตั้งเขาก็จะรู้ตัวแล้วว่าเขาไม่ต้องลง เขาไม่ต้องไปหาเสียงแล้วทุกอย่างก็จบสิ้นไปตามกระบวนการ

แต่ถ้าหลัง ยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้าพรรคที่ถูกยุบเกิดได้คะแนน ส.ส.เขตเป็นที่ 1 ต้องถือว่าในเขตนั้น กระบวนการเลือกตั้งในเขตนั้นต้องทำการเลือกตั้งใหม่ซึ่งมันจะเกิดปัญหามากกว่า มันจะไปกระทบต่อการเอาคะแนนมารวมเพื่อหาปาร์ตี้ลิสต์ทั้งหมดอีก

แล้วถ้าเลือกตั้งซ่อมเลือกกันใหม่ เราต้องมาแยกกระบวนการคิดอีกว่ามีผลต่อคะแนนของวันที่ 24 มีนาคมที่เลือกไปแล้ว ที่ต้องกระทบเป็นทอดๆ ต่อสัดส่วนปาร์ตี้ลิสต์อีก

 

ต้องยอมรับว่าเรื่องนี้มันเป็นเรื่องใหม่ การที่จะคำนวณหา ส.ส.บัญชีรายชื่อหรือปาร์ตี้ลิสต์มันจบลงไป แล้วส่วนนี้จะให้เลือกตั้งซ่อมใหม่ มันจะกลายเป็นประเด็นที่ กกต.ต้องพิจารณาเหมือนกันว่าจะต้องมีการเลือกตั้งซ่อมหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมาเราไม่เคยใช้การเลือกตั้งระบบจัดสรรปันส่วนผสมจะต้องจัดการเลือกตั้งใหม่

แต่ส่วนนี้มีประเด็นที่ไม่ได้เขียนเอาไว้ให้ชัดเจนว่าจะต้องเลือกตั้งซ่อมใหม่หรือไม่ เพราะว่าคะแนนที่ออกไปแล้วมันจะรวนหมดเลย และในลักษณะของการเลือกตั้งซ่อมใหม่ซึ่งคะแนนเพียง 1 คะแนนก็จะทำให้เกิดการผันผวนของคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ได้อีก

นี่จึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่ง กกต.เองจะต้องดำเนินการจัดการว่าจะทำอย่างไรให้มันไม่ไปกระทบต่อการพิจารณาคะแนนของ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ

สรุปคือ ถ้ายุบก่อน ปัญหาจะเกิดตามมาน้อยกว่าจะได้จบๆ กันไปเลย แต่ถ้ายุบหลังเลือกตั้งมันจะไปตีรวนถึงคะแนนปาร์ตี้ลิสต์และไม่ได้เกิดผลดีอะไรขึ้นมาในลักษณะที่ว่าทำไมต้องมาทำหลังอีก

ขณะที่กระบวนการศาลรัฐธรรมนูญก็คงสืบพยานในคดีนี้ ประเด็นสำคัญที่สุดก็คือว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญและละเอียดอ่อนการที่มีประเด็นเรื่องของพระราชวงศ์เข้ามาเกี่ยวข้อง

ในสามัญสำนึกของประชาชนชาวไทยเราคงจะต้องมองว่าการสืบพยานของศาลท่านจะต้องพิจารณาโดยเปิดเผยหรือไม่ เพราะว่าถ้าหากพิจารณาโดยเปิดเผยอาจจะต้องมีส่วนเกี่ยวข้องกับพระราชวงศ์ เพราะฉะนั้น อาจจะต้องดำเนินการโดยวิธีพิจารณาลับหรือเปล่า อันนี้ก็เป็นกระบวนการพิจารณาของศาล ที่จะต้องพิจารณาว่าเรื่องละเอียดอ่อนและกระทบสถาบัน จะต้องทำอย่างเปิดเผยหรือลับ สุดแท้แต่ดุลพินิจของศาล

อยากให้มองกรณีพรรคชาติไทยในอดีตที่กระบวนการตัดสินแทบจะรวดเร็วมาก คือมีการยื่นคำร้องให้ยุบพรรค แล้วใช้เวลาไม่นานในการยื่นไต่สวนและมีคำสั่งมาเลย

คิดว่าศาลรัฐธรรมนูญคงพิจารณาแล้วว่าเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา (ในที่นี้ก็คือการรวมคะแนนมันจะกลายเป็นประเด็น) หากพิจารณาล่าช้าหลังเลือกตั้งต้องตีประเด็นตีความมากมายว่าจะต้องเลือกตั้งซ่อมหรือไม่ และในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังมีช่องว่างมาก ฉะนั้น จะต้องทำอย่างไรกันต่อไปเนื่องจากมีประเด็นระบบการจัดสรรปันส่วนผสมเข้ามาเกี่ยวข้องจึงต้องรอบคอบ

ส่วนพรรคเพื่อไทย ที่หลายคนพยายามพูดถึงหรือบางคนพยายามแสดงความเห็นและพยายามโยง ต้องไม่ลืมว่าเพื่อไทยเป็นพรรคที่เคยถูกยุบมาแล้ว 2 ครั้งคือไทยรักไทยและพลังประชาชน ครั้งนี้ถ้าถูกยุบอีกก็เป็นครั้งที่ 3 ซึ่งพรรคเพื่อไทยเอง ถ้าเราสังเกตเขามีความระมัดระวังสูงมาก เพื่อไม่ให้เกิดการยุบพรรคอีก

แต่ทว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังมีหลักเกณฑ์มากมายที่ถูกวางไว้อย่างเคร่งครัดและสามารถทำให้พรรคการเมืองสะดุดขาตัวเองได้อีก

ชมคลิปสัมภาษณ์พิเศษ อดีต กกต.สดศรี