ไซเบอร์ วอทช์เมน : การเมือง-เลือกตั้ง ไปไม่ถึงกรงขัง? สิทธิลงเลือกตั้งของอดีตผู้ต้องขัง สู่นโยบายคุณภาพชีวิตในเรือนจำ มีโอกาสแค่ไหน

ท่ามกลางกระแสที่ประชาชนต่างตื่นตัวมีส่วนร่วมในการเลือกตั้ง รวมถึงเสนอตัวเป็นผู้แทนของประชาชนในการเข้าไปบริหารประเทศ ยังมีคนอีกกลุ่มที่มีความปรารถนากับเรื่องนี้ แต่ถูกเงื่อนไขทางกฎหมายหรือแม้แต่การตีตราจากสังคม ทำให้พวกเขาถูกกันออกไปจากโอกาสที่จะได้มีส่วนร่วมเหมือนคนอื่น

พวกเขาคือ เหล่าผู้ต้องขังและอดีตผู้ต้องขัง ซึ่งใช้ชีวิตภายในเรือนจำเพียงเพราะกระทำความผิดตามกฎหมายและได้รับโทษตามความผิด

แต่เมื่อพวกเขาได้รับอิสรภาพ พวกเขากลับต้องใช้ชีวิตในสังคมซึ่งโดยเฉพาะสังคมไทย ยังคงมีภาพจำหรือทัศนคติต่ออดีตผู้ต้องขังในแง่ลบ แม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนไปมากก็ตาม

ถึงกระนั้น ยังมีอดีตผู้ต้องขังจำนวนหนึ่งไม่ยอมจำนนต่อความเชื่อแบบนี้ ได้รวมตัวเรียกร้องและตั้งคำถามถึงโอกาสที่จะได้มีสิทธิส่วนร่วมเหมือนประชาชนทั่วไป แม้รู้ภายหลังว่ารัฐธรรมนูญ 2560 จำกัดพวกเขาให้เป็นบุคคลต้องห้าม

ในขณะที่หลายประเทศ นักโทษมีสิทธิลงคะแนนเสียงจากเรือนจำหรือแม้แต่สมัครเป็น ส.ส.หาเสียงกับเพื่อนในเรือนจำแล้ว

แต่สังคมไทยกลับกีดกันพวกเขาจนทำให้การเมืองหรือเลือกตั้งดูเป็นเรื่องไกลตัว

 

“นอกจากไกลตัวแล้ว เพื่อนเราส่วนใหญ่ที่เคยติดคุกก็ไม่รู้เรื่องนี้ด้วย หรือแม้แต่คนไทยเองอาจไม่ได้สนใจมากนัก” พรทิพย์ มั่นคง หรือกอล์ฟ อดีตนักกิจกรรมกลุ่มประกายไฟที่เคยจำคุกในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชนุภาพจากการแสดงละครเวที “เจ้าสาวหมาป่า” ก่อนมาก่อตั้งกลุ่มแฟรี่เทล (Fairly Tell) กลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อช่วยเหลืออดีตผู้ต้องขังหญิงหลังได้รับอิสรภาพ กล่าวถึงเรื่องที่ว่านี้ หลังมีเพื่อนอดีตผู้ต้องขังมีชุดนโยบายที่อยากนำเสนอ แต่ก็มีความเห็นตอบมาว่า ยังไงก็หมดสิทธิลงเลือกตั้ง เพราะเป็นอดีตผู้ต้องขัง

โดยตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 98 ได้กำหนดบุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ ไม่สามารถลงสมัครเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในจำนวน 18 ข้อ คือ (7) ต้องคําพิพากษาให้จําคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล (8) เคยได้รับโทษจําคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงสิบปีนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทําโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

ซึ่งก่อนหน้านี้ ในรัฐธรรมนูญฉบับก่อน (2550) ในมาตรา 101 ระบุว่า…เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงห้าปีในวันเลือกตั้ง ทำให้กังวลว่าลักษณะต้องห้ามในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเหมือนคำสั่งประหารให้ตายทั้งเป็น

กอล์ฟกล่าวอีกว่า ในระยะเวลา 10 ปี ไม่รวมกับเวลาที่ต้องชดใช้ความผิดในคุก จริงๆ ยาวนานมาก แล้วก็อาจจะต้องถามถึงความจำเป็นว่า จำเป็นแค่ไหนที่เราจะต้องจำกัดสิทธิเข้าถึงเสนอทางการเมืองผ่านพรรคการเมืองสำหรับอดีตนักโทษ

ส่วนสาเหตุที่ว่าทำไมสนใจ ก็เพราะเราเป็นคน เป็นคนเหมือนคนอื่นที่ไม่ได้ติดคุก มีเลือดเนื้อเหมือนกัน มีความรู้สึกเหมือนกัน แม้ว่าตอนนี้ บางคนไม่ได้สนใจว่าเราจะต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองหรือไม่ แต่ก็ไม่แน่ 2-3 ปีข้างหน้า ถ้าสถานการณ์ดีกว่านี้ อาจจะอยากเป็นก็ได้ เพียงแต่กฎหมายสูงสุดฉบับนี้ไม่สามารถให้เราเป็นได้ ไม่สามารถทำงานเพื่อนำเสนอนโยบายได้เลย

กอล์ฟยังแสดงความคิดเห็นท่ามกลางกระแสข่าวการยุบพรรคการเมืองในขณะนี้ว่า จริงๆ ในฐานะพรรคการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ กกต.ชุดนี้ ภายใต้กฎหมายเลือกตั้งนี้ เรามีความหวั่นไหวอย่างหนึ่งว่า การยุบพรรคเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ และมากไปกว่านั้น โทษจำคุกอาจเกิดขึ้นได้กับคนที่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองหรือกรรมการบริหารพรรค และในระยะเวลาที่รัฐบาลเผด็จการ คสช.มอบให้คือโทษจำคุก หลังจากนั้นพ้นโทษคือ 10 ปี แต่เราไม่เข้าใจในฐานะคนที่เคยอยู่ในคุก

ไม่เข้าใจว่าพรรคการเมืองต่างๆ นิ่งเฉยหรือปล่อยให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นได้ยังไง

 

ด้านนายวิญญัติ ชาติมนตรี เลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิเสรีภาพ ตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2475 ก็ไม่มีฉบับไหนเลยที่ให้สิทธิทางการเมืองกับผู้ต้องขัง

คนเป็นผู้ต้องขัง ในรัฐธรรมนูญพูดไว้ 2 สถานะ โดยสถานะแรกคือผู้ถูกคุมขังตามหมายศาล ซึ่งเป็นกลุ่มที่อยู่ในระหว่างพิจารณาคดีหรือศาลยังไม่ตัดสินถึงที่สุด กับสถานะที่สอง คือผู้ต้องขังตามคดีทุกความผิด และในรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.ป.ส.ส.กำหนดชัดในการจำกัด

ไม่เพียงเท่านี้ ไทยนอกจากตัดสิทธิทางการเมืองของผู้ต้องขังแล้ว ยังไม่มีกำหนดโทษขั้นต่ำว่าเท่าไหร่ถึงถูกตัดสิทธิ ผิดกับบางประเทศอย่างแคนาดา ซึ่งตามหลักสิทธิมนุษยชนไม่ควรตัดสิทธิพวกเขา แต่ทำไมพวกเขาถึงถูกตัดสิทธิ เพราะด้วยฐานความเชื่อที่ว่า พวกเขาเป็นคนไม่ดี เป็นคนประพฤติเลวร้าย ผิดกฎเกณฑ์ของสังคม หรือยังไม่เคยทำผิดมาก่อนก็ถูกมองอย่างนั้น พวกเขาถูกกากบาทตั้งแต่แรกแล้ว

ส่วนที่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับก่อนกำหนดไว้ 5 ปี แต่ฉบับปัจจุบันกำหนดไม่เกิน 10 ปีนั้น นายวิญญัติกล่าวว่า ความจริงนี้ นัยยะทางการเมืองของผู้ร่างรัฐธรรมนูญนั้นมีแน่นอน ใครเป็นผู้ร่างเรารู้อยู่แล้ว วัตถุประสงค์ทางการเมืองเราไม่อาจพูดได้ แต่การขยายจาก 5 เป็น 10 ปี ก็แทบประหารชีวิตพวกเขาไปในตัว แทนที่จะมีโอกาสได้ปรับตัวช่วยเหลือตัวเอง หรือพัฒนาให้เป็นคนดี ช่วยพัฒนาประเทศในการมีส่วนร่วมทางการเมืองแต่กลับไม่มี

ไม่นับคนที่ไม่ได้ลงการเมืองแต่ใช้ชีวิตปกติอย่างสมัครงานก็ยังยากถ้ามีประวัติเคยถูกจำคุก

 

ในส่วนพรรคการเมืองก็มีข้อเสนอต่อกลุ่มผู้ต้องขังและอดีตผู้ต้องขังด้วย แม้ผู้เสนอจะไม่ใช่พรรคใหญ่แต่เป็นพรรคทางเลือก

ศิริ นิลพฤกษ์ นักเคลื่อนไหวความหลากหลายทางเพศและสมาชิกพรรคเกียนกล่าวว่า พรรคเราคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนเสมอ แม้การรับสมัครสมาชิกพรรคก็ไม่ถามว่าคุณเป็นใคร มาจากไหน แค่สมัครออนไลน์แล้วก็เข้ามาพูดคุยเรื่องนโยบายทางความคิด สิ่งที่เราจะทำได้ดีและรวดเร็วที่สุดคือจะต้องทำให้เกิดเลือกตั้งโดยเร็วและเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยอย่างปกติที่สุด นั้นทำให้รัฐธรรมนูญแก้ไขได้ ถ้าเกิดเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยที่ไม่ปกติ ก็ยังมีเงื่อนไขที่ทำให้เราสามารถแก้ไขได้อีก

สิ่งที่เราทำควบคู่ด้วยคือการศึกษา เราหลายคนถูกปลูกฝังเชิงศาสนาว่า คนทำผิดปุ๊บ กลายเป็นคนเลว คนบาป หลังจากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการลงโทษทางสังคม แม้ว่าทำผิดเล็กน้อย ก็ถูกจำกัดสิทธิไม่เพียงแค่ตัวกฎหมายแต่จากสังคมที่ทำให้พวกเขาถูกตัดสิทธิ

สังคมต้องสร้างความเข้าใจร่วมกันแทนที่สงสาร

 

ขณะที่นายนิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ คณะทำงานของพรรคสามัญชน และอดีตผู้ต้องขังคดียึดสถานีโทรทัศน์เอ็นบีทีช่วงชุมนุม พธม.ปี 2551 เสนอว่า มาตรา 98 ในรัฐธรรมนูญ 2560 ต้องแก้ไขลักษณะบุคคลต้องห้าม โดยว่าเคยได้รับโทษและเพิ่มไปว่า ต้องห้ามบุคคลที่ทำลายประชาธิปไตยโดยการรัฐประหาร

อย่างที่สอง แก้ไขไม่ให้คุกมีไว้ขังแต่คนจน

และอย่างที่ 3 สิทธิการเลือกตั้ง นักโทษระหว่างถูกคุมขังควรมีสิทธิเลือกตั้ง นอกจากนี้ ยังมีประเด็นอื่นคือ เรื่องสิทธิในการได้รับอาหารที่มีคุณภาพและสภาพความเป็นอยู่ในเรือนจำต้องเป็นไปตามหลักสุขลักษณะ ขนาดพอดี สิทธิรักษาพยาบาล ซึ่ง สปสช.ประกาศสิทธินี้ เป็นแนวโน้มที่ดี

แต่ว่าบุคลากรทางแพทย์ในโรงพยาบาลเรือนจำปฏิบัติต่อนักโทษเหมือนไม่ใช่คน แก้การเซ็นเซอร์จดหมายระหว่างผู้ต้องขัง-ญาติ

สิทธิการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารก็ต้องมีด้วย

 

นอกจากนี้ นายรังสิมันต์ โรม จากพรรคอนาคตใหม่ อดีตนักโทษทางการเมืองคดี 14 กลุ่มประชาธิปไตยใหม่และคดีประชามติ กล่าวว่า สภาพของเรือนจำที่เป็นอยู่ไม่ได้เคารพต่อหลักสิทธิมนุษยชน จะต้องแก้ไข แม้ว่าเรื่องแบบนี้ไม่มีพรรคการเมืองไหนกล้าฝืนกระแสสังคม แต่เราต้องแก้ไขให้คนกลับสู่สังคมได้

อีกทั้งยังต้องแก้ทัศนคติของผู้คุม ไม่ให้นักโทษถูกปฏิบัติดั่งข้าทาส และต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ แม้จะไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องใช้ 100 เสียงในสภา

แต่ถ้ามีโอกาส เราจะแก้