การศึกษา / เปิดที่มา ‘สัมพันธ์ ฤทธิเดช’ ขึ้นแท่น ‘เลขาธิการ กกอ.’ ??

การศึกษา

 

เปิดที่มา ‘สัมพันธ์ ฤทธิเดช’

ขึ้นแท่น ‘เลขาธิการ กกอ.’ ??

 

เผยโฉมหน้าออกมาแล้ว สำหรับตำแหน่งสำคัญๆ อย่าง “เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.)” หลังจากที่เก้าอี้ตัวนี้ว่างเว้นมาเป็นเวลานานเกือบ 3 เดือน!!

ล่าสุด นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ระบุว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อเร็วๆ นี้ มีมติเห็นชอบตั้ง “นายสัมพันธ์ ฤทธิเดช” อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส) เป็นเลขาธิการ กกอ.คนใหม่แทนนายสุภัทร จำปาทอง อดีตเลขาธิการ กกอ.ที่ถูกย้ายไปเป็นเลขาธิการสภาการศึกษา

หน้าตาเลขาธิการ กกอ.คนใหม่นี้ เรียกได้ว่าสร้างความ “แปลกใจ” ให้ใครหลายๆ คน ทั้งยังก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ทั้งด้านบวกและลบ ถึงความเหมาะสม ความเชี่ยวชาญด้านการบริหาร และเหตุผลของการแต่งตั้ง!!

นพ.ธีระเกียรติให้เหตุผลการแต่งตั้งนายสัมพันธ์ ว่า นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.เป็นผู้เสนอชื่อให้พิจารณา ประกอบกับนางอรสา ภาววิมล รองเลขาธิการ กกอ.โดยได้ทำหนังสือให้ตนเร่งแต่งตั้งเลขาธิการ กกอ.คนใหม่ เนื่องจากภาระงานภายในสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ค่อนข้างมาก จึงได้แต่งตั้งเลขาธิการ กกอ.ขึ้นมา เพื่อบริหารงาน

“ทั้งนี้ แม้จะมีการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ขึ้นมา และต้องยุบ สกอ.ไป ถึงเวลานั้นค่อยมาคิดว่าจะดำเนินการอย่างไร แต่เบื้องต้นตำแหน่งที่ตั้งขึ้นมาแล้วจะไม่ลดลง นายสัมพันธ์ยังเป็นข้าราชการระดับ (ซี) 11 ได้จนเกษียณอายุราชการ”

นพ.ธีระเกียรติกล่าว

 

ร้อนถึง นพ.อุดม ผู้ที่เสนอชื่อนายสัมพันธ์ ต้องรีบออกมาชี้แจงว่า เพราะต้องเลือกคนให้ตรงกับงาน ต้องการคนที่มีความเข้าใจเรื่องการอุดมศึกษาแท้จริง ดังนั้น จึงพยายามเลือกคนที่เหมาะสมที่สุด และเพื่อรองรับกระทรวงการอุดมฯ ที่จะตั้งขึ้นในอนาคต โดยนายสัมพันธ์มีประสบการณ์เคยเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย เป็นคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มมส และเป็นอธิการบดี มมส ที่มีประสบการณ์

“นายสัมพันธ์ถือเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถด้านการบริหารงาน ที่สำคัญ เรื่องความโปร่งใส การทุจริตต่างๆ ไม่เคยมีข้อร้องเรียนเลย ซึ่งถือเป็นตัวอย่างของผู้บริหารที่ดี อีกทั้งเป็นคนที่ไม่แข็งเกินไป ซึ่งงาน สกอ.เป็นงานที่ต้องประสานงานได้ทั้งภายในและหน่วยงานอื่นๆ รวมถึงมหาวิทยาลัยด้วย” นพ.อุดมกล่าว

ส่วนที่หลายฝ่ายกังวลว่าตามโครงสร้างกระทรวงการอุดมฯ จะมีซี 11 เพียง 1 คน คือตำแหน่ง “ปลัดกระทรวง” แต่ขณะนี้มีบุคคลที่มีโอกาสเป็นปลัดกระทรวงถึง 2 คน ซึ่งอาจเป็นปัญหานั้น นพ.อุดมมองว่า

“ไม่ได้เป็นประเด็น เพราะได้หารือกับคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) แล้ว โดยเจ้าตัวสามารถเลือกที่จะทำงานที่กระทรวงการอุดมฯ หรือจะทำที่หน่วยงานอื่นก็ได้”

 

อย่างไรก็ตาม การที่ใครจะมานั่งเก้าอี้ซี 11 ได้ ต้องไม่ธรรมดาอย่างแน่นอน ซึ่งก็มีเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่า เลขาธิการ กกอ.ป้ายแดงคนนี้ มีประวัติไม่ธรรมดา ที่มาถึงตำแหน่งเลขาธิการ กกอ.ได้ เป็นเพราะรู้จักกับผู้หลักผู้ใหญ่ในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การศึกษาและกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งเป็นคนพานายสัมพันธ์มาแนะนำให้รู้จักกับ นพ.อุดม

นอกจากนี้ยังมีเสียงเล็ดลอดออกมาว่า ที่นายสัมพันธ์สามารถก้าวขึ้นมาเป็นอธิการบดี มมส ได้ เพราะมีอดีตอธิการบดี มมส เป็นผู้ผลักดัน…

ทั้งนี้ หลังที่ประชุม ครม.มีมติแต่งตั้งนายสัมพันธ์เป็นเลขาธิการ กกอ.ก็มีหลายฝ่ายกังขาถึงความรู้ ความสามารถด้านการบริหารงาน ว่าจะสามารถบริหารงานอุดมศึกษาภาคใหญ่ของประเทศได้หรือไม่!!

งานนี้ อดีตเลขาธิการ กกอ.อย่างนายภาวิช ทองโรจน์ ออกมาให้ความเห็นว่า ขณะนี้ไม่ควรจะแต่งตั้งเลขาธิการ กกอ.เพราะกระทรวงการอุดมฯ กำลังจะเกิดขึ้นภายใน 1-2 เดือนนี้ จึงไม่มีเหตุจำเป็นที่ต้องแต่งตั้งเลขาธิการ กกอ.คนใหม่

อีกทั้งการแต่งตั้งเลขาธิการ กกอ.อาจจะนำมาซึ่งผลเสียมากกว่าผลดี เป็นการวางปัญหาทิ้งไว้ อาจจะนำไปสู่สถานการณ์ที่ไม่ลงรอยกันในอนาคต เพราะกระทรวงการอุดมฯ กำหนดให้มีข้าราชการซี 11 เพียง 1 คน คือปลัดกระทรวง แต่ขณะนี้กลับมีซี 11 ที่มีโอกาสเป็นปลัดกระทรวงถึง 2 คน

นอกจากจะตั้งคำถามกับการแต่งตั้งเลขาธิการ กกอ.แล้ว นายภาวิชยังตั้งข้อสังเกตถึงการแต่งตั้ง “คณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ชุดใหม่” ว่าที่ประชุมสมาคมสภามหาวิทยาลัย (ประเทศไทย) (สสมท.) ตั้งข้อสังเกตว่ากระทรวงการอุดมฯ กำลังจะเกิดแล้ว ทำไมถึงแต่งตั้ง กกอ.ชุดใหม่ขึ้นมา เพราะยังมี กกอ.ชุดเดิมที่รักษาการอยู่

“อีกทั้งการตั้ง กกอ.ชุดใหม่ อาจจะละเมิดหลักการเดิมที่ นพ.ธีระเกียรติออกกฎห้ามคณะกรรมการ กกอ.ไปเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในสภามหาวิทยาลัยต่างๆ เพราะอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนกัน แต่เมื่อผลการแต่งตั้ง กกอ.ออกมา กลับมีอธิการบดี รองอธิการบดี และอาจารย์มหาวิทยาลัย มาเป็นกรรมการ ซึ่งจะมีผลประโยชน์ทับซ้อนกันมากกว่าเดิม เพราะบุคคลเหล่านี้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการบริหารงานของมหาวิทยาลัยโดยตรง ต่างจากการเป็นกรรมการสภา ที่มีหน้าที่ออกความเห็นเท่านั้น ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับงานบริหารใดๆ”

นายภาวิชกล่าว

 

ขณะที่มีความเห็นต่างจาก น.ท.สุมิตร สุวรรณ รองคณบดีคณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ที่มองว่า ถือเป็นเรื่องดี และเห็นด้วยที่จะมีเลขาธิการ กกอ.คนใหม่ อีกทั้งนายสัมพันธ์มีความเชี่ยวชาญด้านงานวิชาการ เคยเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย เคยเป็นอธิการบดี มมส มีประสบการณ์ และมีความรู้ความสามารถด้านการบริหารงาน จึงเหมาะสมกับตำแหน่งอย่างมาก

ตำแหน่งเลขาธิการ กกอ.เป็นตำแหน่งที่ไม่ควรปล่อยว่างเป็นระยะเวลานาน เพราะงานมหาวิทยาลัยมีมาก การให้รองเลขาธิการ กกอ.รักษาการแทน อาจทำให้มีภาระงานมากขึ้นจนไม่สามารถทำงานได้ทันเวลา และบางเรื่องสมควรที่จะให้เลขาธิการ กกอ.ตัดสินใจเองมากกว่า” น.ท.สุมิตรระบุ

นอกจากนี้ น.ท.สุมิตรยังฝากความหวังไว้กับเลขาธิการ กกอ.คนใหม่ว่า ปัญหาเร่งด่วนที่เลขาธิการ กกอ.ควรแก้ไข และต้องรีบลงมือทำ คือการรับสมัครสอบคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัย ของนักเรียนชั้น ม.6 ให้เรียบร้อย พร้อมทั้งศึกษาบทบาทหน้าที่ให้ดี หากกระทรวงการอุดมฯ เกิดขึ้นมา สกอ.จะมีหน้าที่อะไร เปลี่ยนแปลงบทบาทหน้าที่ของตนให้ไปในทิศทางใด ส่วนแผนระยะยาว ควรจะจัดการปัญหาที่ค้างคาให้มีความชัดเจน

เรียกได้ว่า นายสัมพันธ์จะต้อง “พิสูจน์” ตัวเองครั้งใหญ่ เพื่อให้ได้การยอมรับจากผู้คนในแวดวงอุดมศึกษา

เมื่อก้าวมานั่งในตำแหน่ง “เลขาธิการ กกอ.” ในช่วงเปลี่ยนผ่านแล้ว จะจับงานไหนขึ้นมาแก้ไขพัฒนาก่อน

เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าปัญหา “อุดมศึกษาไทย” มีมากมายหลายอย่าง

ทั้งปัญหาที่ค้างคา อย่างปัญหาการสรรหา “อธิการบดี” ที่ผ่านมา ที่มีการถกเถียงว่าบุคคลที่อายุเกิน 60 ปี สามารถเป็นอธิการบดีหรือไม่?

อีกทั้ง การพัฒนาการอุดมศึกษาไทยที่ต้องทันต่อการเปลี่ยนแปลง วิกฤตที่มหาวิทยาลัย โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยเอกชนกำลังเผชิญกับตัวเลขนักศึกษาที่ลดลง ทำให้เกิดปัญหาแย่งชิงนักศึกษา และอีกสารพัดปัญหามากมาย…

  ต้องติดตามว่า “นายสัมพันธ์ ฤทธิเดช” จะพิสูจน์ตัวเองได้มากน้อยแค่ไหน!!