วรศักดิ์ มหัทธโนบล : “สีจิ้นผิง” กับยุทธศาสตร์ยุคดิจิตอล

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

การเผด็จอำนาจสู่เผด็จการดิจิตอล (ต่อ)

ถัดจากปัญหาการฉ้อราษฎร์บังหลวงก็คือ ปัญหาสิทธิมนุษยชน ซึ่งนับสิบปีที่ผ่านมาแม้ทางการจีนจะเข้าจัดการกับกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างไร แต่คนกลุ่มนี้ก็ยังคงมีอยู่จนดูเหมือนมีการเกิดคนหน้าใหม่อยู่เรื่อยๆ

ในยุคสีจิ้นผิงก็เช่นกัน

ในขณะที่การจัดการกับการฉ้อราษฎร์บังหลวงกำลังดำเนินไปอย่างจริงจังอยู่นั้น คืนหนึ่งของวันที่ 9 กรกฎาคม 2015 หลังจากที่หวังอี่ว์ได้ส่งสามีและบุตรชายของเธอที่สนามบินเป่ยจิง (ปักกิ่ง) แล้วกลับมาถึงที่พักนั้น เธอพบว่า บริเวณรอบอาคารที่พักของเธอมีกลุ่มชายฉกรรจ์เดินไปมาอยู่รอบๆ อาคาร

จนดึกของคืนวันนั้นเธอก็พบว่าไฟฟ้าในบ้านได้ดับลง และทำให้อินเตอร์เน็ตของเธอใช้งานต่อไม่ได้ ฉับพลันก็มีชายฉกรรจ์กลุ่มหนึ่งพังประตูห้องพักของเธอเข้ามา จากนั้นก็จับเธอใส่กุญแจมือแล้วควบคุมตัวเธอไปจากที่พักทันที

เธอถูกควบคุมตัวอยู่ในศูนย์กักกันที่ไม่เป็นที่เปิดเผย จนหนึ่งปีต่อมาเธอก็ถูกปล่อยตัวหลังจากที่เธอยอมสารภาพผิดผ่านการถ่ายทอดทางโทรทัศน์

หวังอี่ว์เป็นนักกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชนคนแรกที่ถูกจับกุม หลังจากนั้นก็มีการจับกุมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนและนักเคลื่อนไหวทางด้านนี้อีกกว่า 300 คน

 

เนื่องจากหวังอี่ว์เป็นคนแรกที่ถูกจับกุมในวันและเดือนดังกล่าว กรณีที่เกิดขึ้นทั้งกับตัวเธอและบุคคลอื่นหลังจากนั้นจึงถูกเรียกว่า เหตุการณ์ 709 (709 Incident) หรือที่บางที่ก็เรียกว่า การกวาดล้าง 709 (709 Crackdown)

อันหมายถึง เหตุการณ์การกวาดล้างนักกฎหมายจีนในวันที่ 9 เดือน 7 (จีนเรียกวันเดือนด้วยการเรียกเดือนก่อนแล้วตามด้วยวัน) ซึ่งก็คือวันที่ 9 กรกฎาคม

นักกฎหมายที่ถูกจับกุมในครั้งนี้มีหลายคนที่เข้ารีตในศาสนาคริสต์ การนับถือในศาสนานี้จึงย่อมเป็นธรรมดาอยู่เอง ที่บุคคลกลุ่มนี้จะมีความคิดเห็นที่สวนทางกับนโยบายหรือบทบาทของหน่วยงานรัฐเสมอ บุคคลกลุ่มนี้จึงเป็นภัยที่ต้องคอยเฝ้าระวังอย่างยิ่ง ดังนั้น ทั้งบุคคลกลุ่มนี้และนักกฎหมายคนอื่นจึงถูกส่งตัวไปยังสถานที่ที่มีการสอดส่องอย่างเงียบๆ

หลายคนให้การว่า ตนต้องทนถูกทุบตี ถูกบีบคั้นทางด้านจิตใจ ถูกคุกคามผ่านสมาชิกในครอบครัว ถูกบังคับให้กินอาหารที่มียาผสมโดยไม่รู้ว่าคือยาอะไร และถูกรบกวนการนอนอยู่ตลอดเวลาที่ถูกกักขัง

เหตุการณ์ 709 จากที่กล่าวมานี้ จะว่าไปแล้วก็ไม่ต่างกับกรณีการปราบปรามการฉ้อราษฎร์บังหลวง ที่ว่าเป็นกรณีที่ก่อนหน้านี้ก็เคยมีมาก่อนแล้ว จะมีที่ต่างออกไปก็ตรงที่ว่า การกวาดล้างครั้งนี้ของสีจิ้นผิงกลุ่มเป้าหมายแคบลงมาอยู่ที่นักกฎหมาย

ในขณะที่ก่อนหน้านี้จะเป็นนักเคลื่อนไหวที่มาจากอาชีพที่หลากหลาย

และที่เป็นนักกฎหมายในครั้งนี้เป็นนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชนโดยส่วนใหญ่ นักกฎหมายเหล่านี้จะให้คำปรึกษาหรือว่าความให้แก่ผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากรัฐ หรือถูกเจ้าหน้าที่รัฐหรือนักธุรกิจ (ซึ่งส่วนหนึ่งคือธุรกิจของรัฐ) ใช้อำนาจไปในทางที่มิชอบ

ดังนั้น หากเปรียบเทียบกับก่อนหน้านี้แล้วจะเห็นได้ว่า การกวาดล้างในครั้งนี้มีความละเอียดอ่อนในแง่ความชอบธรรมอย่างยิ่ง เพราะคนเหล่านี้มิได้ทำอะไรที่ผิดกฎหมายของรัฐ ความผิดของคนกลุ่มนี้จึงคือ การทำให้เห็นว่าการปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์จีนมีปัญหา ซึ่งถือเป็นการท้าทายอย่างหนึ่ง

เพราะไม่ว่าจะอย่างไรพรรคจะต้องไม่ผิด

 

จะอย่างไรก็ตาม บุคคลสุดท้ายที่ถูกตัดสินจำคุกในเหตุการณ์ 709 ก็คือ หวังเฉีว์ยนจาง ทนายความนักสิทธิมนุษยชนซึ่งถูกจับกุมเมื่อเดือนสิงหาคม 2015 หลังจากนั้นก็ไม่มีใครรู้ถึงชะตากรรมของเขาได้อีก แม้แต่ภรรยาและบุตรชายของเขาก็ถูกห้ามมิให้เข้าเยี่ยม

จนผู้ภรรยาต้องสร้างวีรกรรมด้วยการเดินเท้านับร้อยกิโลเมตรเดินทางจากเป่ยจิงไปเทียนจิน (เทียนสิน) อันเป็นเมืองที่ผู้เป็นสามีของเธอถูกจองจำจนเป็นข่าวไปทั่วโลก

เธอไม่เพียงถูกห้ามเข้าเยี่ยมเท่านั้น แม้แต่ในวันที่พิจารณาตัดสินคดีของหวังเฉีว์ยนจางเมื่อเดือนธันวาคม 2018 เธอก็ยังถูกห้ามมิให้เข้าฟังการพิจารณาคดีอีกด้วย โดยรัฐได้ให้เหตุผลว่าเพราะเป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคง

ผลของคดีได้มีการประกาศออกมาในปลายเดือนมกราคม 2019 ก่อนถึงวันเทศกาลฤดูใบไม้ผลิ (ตรุษจีน) หนึ่งสัปดาห์ โดยนอกจากศาลจะตัดสินจำคุกเขาเป็นเวลาสี่ปีครึ่งแล้ว ก็ยังตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลาห้าปีอีกด้วย ทั้งหมดนี้เป็นไปภายใต้ความผิดฐานบ่อนทำลายความมั่นคงของรัฐ

อันเป็นข้อหาที่ทุกคนในเหตุการณ์นี้ถูกกล่าวหา

 

หากการปราบปรามการฉ้อราษฎร์บังหลวงและเหตุการณ์ 709 สะท้อนมาตรการที่แข็งกร้าวแล้ว มาตรการที่ไม่แข็งกร้าวก็มีเช่นกัน นั่นคือ การควบคุมอินเตอร์เน็ต

เมื่อแรกที่อินเตอร์เน็ตเข้ามาครั้งแรกในปี 1994 นั้น ทางการจีนคิดเพียงว่าจะใช้มันให้เป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจ แต่ครั้นเวลาผ่านไปจึงได้ตระหนักว่า อินเตอร์เน็ตมีพลังมากกว่านั้น โดยเฉพาะพลังทางการเมืองที่จะถูกขบวนการประชาธิปไตยในจีนนำมาใช้ประโยชน์

จากเหตุนี้ ในปี 1998 โครงการที่จะสกัดกั้นพลังทางการเมืองของอินเตอร์เน็ตจึงเริ่มขึ้นโดยมีชื่อว่า โครงการมหากำแพงไฟ (Great Firewall Project, GFP)

จีนดำเนินโครงการนี้จนถึงปี 2003 จึงได้เริ่มอีกโครงการที่ถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการมหากำแพงไฟ นั่นคือ โครงการโล่ทองคำ (Golden Shield Project, GSP) ซึ่งใช้งบประมาณราว 700 ล้านเหรียญสหรัฐในการพัฒนาโครงการ โดยฮาร์ดแวร์ของโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากซิสโก้กับอีกหลายบริษัทในสหรัฐ (1)

ทั้งสองโครงการนี้ได้ทำให้รัฐบาลจีนควบคุมการใช้อินเตอร์เน็ตได้อย่างมีประสิทธิภาพ นั่นคือ สามารถสกัดกั้นทุกการสื่อสารที่ไม่พึงประสงค์ของรัฐบาลอย่างได้ผล

 

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าผู้ใช้อินเตอร์เน็ตพิมพ์คำว่า 64 หรือ 604 ที่หมายถึง เดือนมิถุนายน (หรือเดือน 6) วันที่ 4 ซึ่งเป็นวันที่เกิดเหตุการณ์นองเลือดที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในปี 1989 แล้ว คำนี้จะไม่ปรากฏคำอธิบายใดๆ ด้วยคำนี้จะได้ถูกบล๊อกโดยอัตโนมัติ เพราะเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องที่รัฐบาลจีนไม่พึงประสงค์ให้กล่าวถึง เป็นต้น

นอกจากนี้ การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่มาจากโลกภายนอกก็ถือเป็นของต้องห้ามเช่นกัน ดังนั้น ชาวจีนจึงเข้าไม่ถึงทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก ยูทูบ และกูเกิล โดยจีนได้สร้างไป่ตู้ (Baidu) เท็นเซ็นต์ (Tencent) เหญินเหญิน (Renren) โยวคู่ (Youku) ถู่โต้ว (Tudou) และซีน่า (Sina) ขึ้นมาใช้แทน

ส่วนการสกัดกั้นข้อมูลข่าวสารที่ไม่พึงประสงค์นั้น รัฐบาลได้สร้างกองทัพไซเบอร์ขึ้นมา จากรายงานในปี 2003 พบว่า รัฐบาลมีกองทัพไซเบอร์ราวสองล้านคนที่ทำหน้าที่ในด้านต่างๆ ในการสกัดกั้นทางอินเตอร์เน็ต

ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่า คำว่า กำแพงไฟ อันเป็นชื่อของโครงการดังกล่าวย่อมมีนัยประหวัดไปถึงกำแพงเมืองจีนหรือ The Great Wall ที่ทำหน้าที่ในการปกป้องการรุกรานจากภายนอกให้แก่จีนมาเป็นเวลานับพันปี แต่นัยประหวัดนี้ย่อมมิใช่นัยที่รัฐบาลจีนกำลังใช้อยู่

ที่สำคัญ รัฐบาลจีนจะมิอาจใช้อย่างมีประสิทธิภาพแน่ๆ หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทใหญ่ทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของสหรัฐ ซึ่งเป็นประเทศที่มีค่านิยมประชาธิปไตยอยู่สูง

 

อย่างไรก็ตาม พอมาถึงยุคของสีจิ้นผิงการควบคุมอินเตอร์เน็ตในจีนก็ถูกพัฒนาไปอีกขั้นหนึ่ง เมื่อรัฐบาลเรียกร้องภาคเอกชนให้ร่วมสกัดกั้นเนื้อหาต่างๆ ทางอินเตอร์เน็ตด้วย

ซึ่งภาคเอกชนก็สนองตอบด้วยดีเพราะผลประโยชน์ที่ตนจะได้จากรัฐบาล

อีกทั้งเจ้าของบริษัทที่ว่านี้มีหลายคนที่เป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนด้วย ในที่นี้รวมทั้งแจ๊ก หม่า ผู้เป็นเจ้าของอาลีบาบา

และเหญินเจิ้งเฟย (2) เจ้าของหัวเว่ยด้วยเช่นกัน

————————————————————————————————————————-
(1) อนึ่ง ซิสโก้ในที่นี้ก็คือ Cisco System, Inc. ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในเมือง San Jose มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐ อันเป็นศูนย์กลางหนึ่งในซิลลิคอน วัลเลย์ ที่ทรงอิทธิพลทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของโลก
(2) นามสกุล (แซ่) เหญินของเหญินเจิ้งเฟยนี้ โดยทั่วไปจะอ่านว่า เญิ่น แต่ในกรณีที่เป็นแซ่จะอ่านว่า เหญิน