KPI ใช่หรือ ?

“KPI ใช่หรือ”

ในฐานะคนทำงานด้านนวัตกรรมองค์กรมากว่า “ทศวรรษ”

ถ้าจะให้มี “คำถาม” สักคำถามหนึ่ง

ที่เวลามีใครถาม ก็จะลำบากใจทุกครั้ง

นั่นคือ “การวัดผล”

วันก่อนได้มีโอกาสพูดคุยกับ “ไมค์ เพ็ง (Mike Peng)”

ผู้คร่ำหวอดในวงการนวัตกรรมจากบริษัท “ไอดีโอ (IDEO)”

“ไมค์ คุณคิดว่า KPI ของงานทางด้านนวัตกรรมคืออะไร” ผมถาม

ไมค์ยิ้ม แล้วตอบกลับมา

“เดี๋ยวบอกตอนท้ายนะ”

ทุกวันนี้มีวิธีการทำงานใหม่ๆ มากมายให้องค์กรได้เลือกสรร

ไม่ว่าจะเป็น “ลีน สตาร์ตอัพ (Lean Startup)”

กระบวนการทำงานที่เป็นเหมือนคัมภีร์ไบเบิล บริษัท “สตาร์ตอัพ” ทั่วโลก

ผู้คิดค้นคือ “เอริก รีส์ (Eric Ries)”

เน้นเรื่องวงจรของ “สร้าง-วัดผล-เรียนรู้”

หรือภาษาอังกฤษคือ “Build-Measrue-Learn”

วิธีการทำงาน ที่ไม่มุ่งเน้นการวางแผนมากจนเกินไป

แต่เน้นการผลิตของง่ายๆ ที่เรียกกันว่า “Minimum Viable Product (MVP)”

ของง่าย ผลิตได้เร็วๆ ไม่ต้องใช้เงินเยอะ พร้อมจะปรับเปลี่ยนตามที่ลูกค้าแนะนำ

ทำของ ทดสอบกับลูกค้า วัดผล เรียนรู้ ทำซ้ำไปเรื่อยๆ

อย่าใช้เงินเยอะ อย่าตายเร็ว

คือหัวใจของ “ลีน สตาร์ตอัพ”

“อะไจล์ (Agile)” วิธีการทำงานที่บอกถึงความ “คล่องแคล่ว”

เน้นให้ผู้ทำงาน ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ในวงการ “ซอฟต์แวร์”

พูดคุยกันบ่อยๆ ไม่ต้องรอกระบวนการอะไรมากมาย

ทำของออกมาเล็กๆ แต่ทำออกมาเรื่อยๆ ที่เรียกว่า “Product Increment”

ปรับปรุงพัฒนาต่อเนื่อง จากการสังเกตการใช้งานของลูกค้า

จะประชุมกันตอนเช้าทุกวันสั้นๆ ที่เรียกว่า “ยืนตรงประชุม (stand-up meeting)”

หรือจะทำบอร์ดที่เอาไว้อัพเดตงานกัน ที่เรียกว่า “คานบานบอร์ด (Kanban Board)”

บอกเล่าว่าอะไร กำลังจะทำ (To-Do)

อะไรที่ “กำลังทำอยู่ (Doing)”

และอะไรที่ “ทำเสร็จแล้ว (Done)”

เครื่องมือง่ายๆ ที่ช่วยให้การสื่อสารภายในทีมใกล้ชิด

ตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องมีประชุมให้มากความ

นี่แหละคือ “อะไจล์ (Agile)”

หรือสุดท้ายที่กำลังฮอตฮิตมาก

“ความคิดเชิงออกแบบ หรือดีไซน์ทิ้งกิ้ง (Design Thinking)”

วิธีการแก้ปัญหาจากซิลิคอน วัลเลย์

ที่เน้น “การทำความเข้าใจลูกค้าอย่างแท้จริง (Empathy)”

ก่อนที่จะทำการ “ระดมสมองสร้างความเป็นไปได้นอกกรอบเดิมๆ (Ideate)”

ปิดท้ายด้วยการ “ลงมือสร้างต้นแบบ (Prototype)” เพื่อนำไปทดสอบกับผู้ใช้งาน

ที่ดูไปก็คล้ายกับการสร้าง “MVP” ของลีน สตาร์ตอัพ

และ “product increment” ของอะไจล์

ความรู้เหล่านี้นี่แหละที่กำลังเข้ามาเปลี่ยนองค์กรบ้านเรา

และก็ทำเอา “พนักงาน” งงไปไม่น้อย

เพราะองค์กรไทยเราชอบ “ตื่นตระหนก”

เห็นว่าองค์กรมีเงิน ก็เลยอยากจะ “อบรม” ให้ได้เยอะๆ

ซึ่งหลายครั้ง การไม่เข้าใจในวิธีการทำงานเหล่านี้

กลับทำให้ “ของดีๆ” นั้น

กลายเป็น “เสียของ”

เพราะพนักงานงง และไม่รู้จะนำไปใช้อย่างไร

คนเราจะรู้สึกปลอดภัย เวลาทำงานอะไรสักอย่าง

หากมี “กระบวนการ” ให้ยึดเกาะเสียหน่อย

หากแต่ว่า “วิธีการทำงานเหล่านี้”

นอกจากเป็นกระบวนการที่ “หลวม” แล้ว

ยังเน้นเรื่องการฝึก “ทัศนคติ” และ “ทักษะ” ด้วย

ลองนึกดูนะครับ

เราทุกคนน่าจะรู้กันบ้างแล้วว่า จุดเริ่มต้นของการสร้างนวัตกรรมนั้น

คือ “การทำความเข้าใจลูกค้า”

แต่ถ้าถามให้ลึกลงไปว่า “ทำอย่างไร” ล่ะ

เช่น การคุยกับลูกค้า การสังเกตสิ่งรอบตัวต่างๆ

แต่ละคนก็จะมีความสามารถแตกต่างกันออกไป

ยกตัวอย่างเช่น บริษัทรองเท้าส่งพนักงานสองคนออกไปที่ประเทศใหม่แห่งหนึ่ง

เมื่อไปถึง พบว่าผู้คนไม่ใส่รองเท้าเลย

พนักงานคนแรกรีบกลับไปรายงานหัวหน้า

“ไม่มีใครใส่รองเท้าเลยครับที่นี่ ธุรกิจเราก็จะไม่มีโอกาสมาโตได้”

กับพนักงานอีกคนหนึ่ง รีบกลับไปรายงานหัวหน้าเช่นกัน

“ไม่มีใครใส่รองเท้าเลยครับที่นี่ เราน่าจะมีโอกาสทำตลาดได้ดีทีเดียว”

เรื่องเดียวกัน สถานการณ์เดียวกัน แต่ “ทักษะ” ต่างกัน

ก็จะนำ “องค์กร” ไปสู่เส้นทางที่ต่างกัน

เช่นกัน การประชุมอัพเดตงานต่างๆ ที่เรียกว่า “สแตนด์อัพ”

ประชุมที่มีจุดประสงค์ให้ “อัพเดต” ในเรื่องสำคัญๆ ที่เกี่ยวกับคนอื่นๆ ทำให้งานของทีมเดินต่อไปได้

ถ้าคนในทีมไม่เตรียมตัวมา ก็จะกลายเป็น “ประชุม” อีกอัน ที่เพิ่มเติม น่าเบื่อ

กลายเป็นคิดว่า “อะไจล์ (Agile)” ไม่ประสบผลสำเร็จอย่างที่ควรจะเป็น

ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้ว อยู่ที่การ “นำไปใช้ (Implement)” ทั้งสิ้น

เพราะท้ายที่สุดแล้ว จะเรียนวิชาใหม่ๆ ให้เยอะแยะเพียงใด

ต้นเหตุการณ์สร้าง “นวัตกรรม” ที่สำคัญที่สุด

ก็คือ “คนทำงาน” นั่นเอง

ถ้ามี “ทัศนคติ” และ “ทักษะ” ที่ถูกต้องแล้ว

คุยกับลูกค้าเป็น คิดนอกกรอบเดิมๆ ได้ ชอบลงมือทำ ไม่กลัวความล้มเหลว

จะอีกกี่ “กระบวนการ” ก็ไม่ใช่สาระสำคัญ

แล้วเราจะ “วัดผล” นวัตกรรมอย่างไรดีล่ะ

เคพีไอ (KPI) น่ะมีมั้ย สิ่งสำคัญที่เราจะต้องคอยดู คอยทำอยู่ตลอดเวลา

ไมค์นิ่งไป พร้อมรอยยิ้ม และตอบออกมาเบาๆ

KPI = Keep People Inspired (สร้างแรงบันดาลใจให้ทีมงาน)

นี่แหละหน้าที่ของ “ผู้นำยุคใหม่”

เพราะเมื่อคนทำงานมี “ทักษะ” ที่ถูกต้องแล้ว

หากมี “แรงบันดาลใจ” อยากจะตื่นมาทำงานทุกวัน

รับรอง “นวัตกรรม” จะเกิดขึ้นทุกหย่อมหญ้าขององค์กรที่รักแน่นอน