ในประเทศ : ลือแรง “ปฏิวัติซ้ำ” ทษช.ระส่ำ คสช.ถูกเสี้ยม “รัฐประหาร” จะมีอีกไหม?

วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมา ถือเป็นวันประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่สำคัญ

และสำหรับการเลือกตั้ง 2562 ที่กำลังเข้มข้นอยู่นั้น ถือเป็นวันที่ทำให้ “หมากทางการเมือง” เปลี่ยนไป กระแสตีกลับพรรคไทยรักษาชาติเกิดขึ้นทันที

จากเดิมที่ก่อนหน้านี้การเลือกตั้ง 2562 จะเป็นการชี้ชะตา คสช. เพราะเป็นการเลือกระหว่าง “เอา-ไม่เอาทหาร-คสช.” แต่สภาวะนี้ถูกผลักไปเป็น “เลือกเอา-ไม่เอาทักษิณ” อีกโจทย์หนึ่ง เพราะการทิ้งไพ่ใบใหญ่ของ “ทักษิณ” ครั้งนี้ ก็ต้องแลกกับ “ต้นทุนสูง” ที่ตามมา

ทั้งยังสร้างความระส่ำไปทั้งพรรคไทยรักษาชาติ อีกทั้งมวลชน-ลูกพรรคที่อยู่ในสภาวะ “อกหัก” โดยแรงสะเทือนนี้ส่งไปถึง “พรรคเพื่อไทย” ด้วย

ภายในพรรคไทยรักษาชาติเอง ก็ไม่ได้มีความเห็นที่เป็นเอกภาพกับสิ่งที่เกิดขึ้น มีความเห็นหลากหลายเกิดขึ้นทั้งก่อนและหลัง 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แต่คนในพรรคก็ยอมรับว่า เสี่ยงไม่น้อยกับการตัดสินใจของพรรคครั้งนี้ เปรียบเสมือน “เดินอยู่บนเส้นด้าย”

 

ศึกเลือกตั้งในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ละฝ่ายต่างดูทิศทางลมว่าจะเอาอย่างไรต่อ เพราะเป็น “บิ๊กเซอร์ไพรส์-ศุกร์หยุดโลก” ที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนและเผื่อใจกันแล้วว่าไม่น่าจะเกิดขึ้นจริง

แต่เมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว สภาวะทางการเมืองก็เปลี่ยนไปด้วย กลุ่มเสื้อเหลืองเก่า-กปปส.เดิมกลับมารวมพลังกันอีกครั้ง เพื่อต่อต้าน “ทักษิณ”

อีกทั้งกลุ่มที่อยู่ในสภาวะ “เกลียดทักษิณเบื่อบิ๊กตู่” ส่วนหนึ่งก็ฟันธงกลับมาเลือก “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เป็นแคนดิเดตนายกฯ พรรคพลังประชารัฐอีกครั้ง

รวมทั้งปฏิบัติการไอโอขั้วหนุน คสช.ก็ทำงานทันที เพื่อตอกย้ำสิ่งที่ “ทักษิณ” ได้กระทำลงไป และหนุน “บิ๊กตู่” ให้มาปกป้องสถาบันสำคัญของชาติ

 

ผ่านมาไม่ถึง 2 วัน เกิดความแตกตื่น เมื่อมีการแชร์ภาพการขนย้ายยานเกราะเกิดขึ้น ในสภาวะที่สถานการณ์แหลมคม ทำให้ข่าวลือ “รัฐประหารซ้อน-ปฏิวัติซ้ำ” เกิดขึ้นตามมา

แม้กองทัพบกจะชี้แจงว่าเป็นการขนย้ายยุทโธปกรณ์เพื่อไปใช้ในการฝึก จากที่ตั้งหน่วย จ.ปราจีนบุรี-สระแก้ว-ชลบุรี ไปยัง จ.ลพบุรี ที่มีการฝึกหน่วยทหารรักษาพระองค์ร่วมเหล่าทัพ ประจำปี 2562 ช่วงวันที่ 1-21 กุมภาพันธ์ ทำให้ พล.ร.2 รอ. ติดป้าย “เพื่อการฝึก” ข้างยานเกราะ อย่างน้อยก็ทำให้รู้ว่าจะเคลื่อนย้ายจากที่ใดไปที่ใด และในภารกิจใด

แต่ก็มีคนอีกเป็นจำนวนไม่น้อยที่ไม่เชื่อในคำชี้แจงของ ทบ. ด้วยประสบการณ์ในอดีตที่มีกับกองทัพมา

ยิ่งไปกว่านั้น ท่ามกลางกระแสข่าวที่ยังคุกรุ่น มีการรายงานข่าวว่า ผบ.เหล่าทัพเดินทางไปต่างประเทศพร้อมกันในคืนวันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นั่นทำให้กระแสข่าว “รัฐประหารซ้อน” ยิ่งหนาหูขึ้น รวมทั้งมีขบวนการปั่นกระแสข่าวลือ ยิ่งทำให้เรื่องดังกล่าวกระจายออกไป

เพราะสังคมไทยข่าวลือที่ผ่านๆ มามักจะเป็นจริงหลายครั้ง เข้าสำนวนที่ว่า “ไม่มีไฟ ย่อมไม่มีควัน” นั่นเอง

จนมาถึงเช้าตรู่ 11 กุมภาพันธ์ มีการเผยแพร่ราชกิจจานุเบกษาปลอมขึ้นมา โดยข้อความระบุถึงการใช้ ม.44 คำสั่งหัวหน้า คสช.ปลด 3 ผบ.เหล่าทัพพ้นจากตำแหน่ง ซึ่งสอดรับกับเหตุการณ์ข่าวลือรัฐประหารซ้อนด้วย

ทางสำนักนายกรัฐมนตรีและ คสช.ก็ได้ออกมาชี้แจงว่าเป็น “เอกสารปลอม” โดยทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ และ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ได้สั่งการให้ติดตามหามือทำเอกสารปลอมมาดำเนินคดี โดยขีดเส้น 7 วันต้องออกหมายจับให้ได้

เป็นความเคลื่อนไหวที่มาพร้อมกับกระแสข่าว “บิ๊กป้อม” หายไป!

 

โดยในข้อเท็จจริง พล.อ.ประวิตรได้นำประชุมคณะกรรมการเตรียมการถวายรักษาความปลอดภัยงานพระราชพิธีที่กระทรวงกลาโหม 11 กุมภาพันธ์ แต่ ผบ.เหล่าทัพได้ส่งผู้แทนมาร่วมประชุมทั้งหมด ยกเว้น พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร.

ทั้งนี้ พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผบ.ทหารสูงสุด มีกำหนดการประชุมมอบหมายงานตามวาระปกติ ที่ บก.กองทัพไทย พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ไม่ได้เข้าประชุม สำนักงานเลขาธิการ คสช. โดยมอบหมายให้ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รอง ผบ.ทบ. ในฐานะรองเลขาธิการ คสช. นำประชุมแทน

มีรายงานขณะนั้นว่า ผบ.ทบ.เพิ่งเดินทางกลับจากราชการต่างประเทศ

ด้าน พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผบ.ทร. มีกำหนดการต้อนรับ ผบ.ทร.กัมพูชา ที่ บก.ทร. และ พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ผบ.ทอ. มีภารกิจและกำหนดการที่ บก.ทอ.

“บิ๊กป้อม” ได้ยืนยันในเวลาต่อมาว่าไม่มีรัฐประหารซ้อนแน่นอน รวมทั้ง “บิ๊กตู่” ก็ปฏิเสธเช่นกัน โดยชี้ว่า ม.44 ใช้กับทุกตำแหน่งไม่ได้ นอกจากนี้ การทำราชกิจจานุเบกษาปลอมถือเป็นเรื่องร้ายแรง และมองว่าเป็น “กระแสเสี้ยม” ต่อกองทัพกับรัฐบาล หวังทำให้เกิดความระแวงระหว่าง “บิ๊กตู่” กับเหล่าทัพด้วย

ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ต้องตอกย้ำถึงความสัมพันธ์แบบพี่น้องกันมานับสิบๆ ปีและเรื่องหนุนทำความดี

“ไม่ทราบเหตุผลว่ามีการปล่อยข่าวปลอมเพราะอะไร เช่น การปล่อยข่าวว่ามีการปลดผู้บัญชาการเหล่าทัพ ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลย หากเป็นความจริง ผมจะต้องแจ้งอยู่แล้วเรื่องการโยกย้ายหรือออกคำสั่งจะต้องผ่านขั้นตอนต่างๆ ไม่สามารถใช้ ม.44 แต่งตั้งหรือปลดใครได้ทุกตำแหน่ง เพราะจะใช้ ม.44 เฉพาะคนที่มีปัญหาเท่านั้น ที่แล้วมาผมก็ไม่เคยมีปัญหากับใครทั้งสิ้น และขอสื่ออย่าเขียนว่าสถานการณ์ในเหล่าทัพนั้นไม่ได้ เพราะมันดีมาโดยตลอด เป็นพี่น้องกันมาตั้งนานแล้วหลายสิบปี ถือเป็นภาระความผูกพัน ถ้าทุกคนต่างทำความดีก็ต้องส่งเสริมซึ่งกันและกัน หากไม่ดีและเขาไม่ชอบผม ผมก็ต้องยอมรับ โดยต้องยอมรับซึ่งกันและกัน”

พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

 

เมื่อประมวลความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องดังกล่าวแล้ว ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่านับจากนี้ไปจะมีเหตุรัฐประหารขึ้นอีกหรือไม่ แน่นอนว่าไม่มีใครกล้าฟันธง แม้แต่ “บิ๊กแดง” ก็เคยกล่าวไว้ตั้งแต่หลังรับตำแหน่ง ผบ.ทบ. ว่าไม่สามารถรับประกันได้

โดยชี้ว่าเหตุของการรัฐประหารมาจากการเมืองและการจลาจล ที่สำคัญบริบทการเมืองไทย “รัฐประหาร” ก็ฝังรากลึกและเป็นส่วนหนึ่งของ “วัฒนธรรมทางการเมืองแบบไทยๆ” มายาวนานที่หมุนวงจรมาตามวงรอบ

แต่การทำรัฐประหารก็จะมีชั้นเชิงมากขึ้น ในยุค 10 ปีที่ผ่านมา รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และ 22 พฤษภาคม 2557 ล้วนมีม็อบนำทางทั้งสิ้น หรือม็อบชนม็อบ เพื่อผลักสถานการณ์ให้สุกงอม ซึ่งรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ก็ถูกนำร่องโดยกฎอัยการศึกก่อน 2 วัน ที่เรียกว่า “รัฐประหารครึ่งใบ” มาแล้ว

อย่าลืมว่าตัวละครในขั้วความขัดแย้งที่เป็นมูลเหตุหนึ่งแห่งการรัฐประหาร 2 ครั้งที่ผ่านมา คือ “ทักษิณ” นั่นเอง โดยที่ผ่านมายุค 4-5 ปี คสช. “ทักษิณ” ก็เลือกที่จะนิ่ง ผิดกับยุคหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 โดย “ทักษิณ” กลับมาขยับมากขึ้นช่วงปี 2561 ที่ปี่กลองการเมืองเริ่มดังขึ้น เพื่อปลุกใจลูกพรรคและฐานเสียง

แต่ก็ไม่มีใครคิดว่า “ทักษิณ” จะเลือกเส้นทาง “บิ๊กเซอร์ไพรส์” และจากนี้ไปจะมี “แผนสำรอง” หรือไม่ด้วย

 

ต้องไม่ลืมว่าในช่วงต้นปี 2562 เคยมีข้อเสนอจาก “ยงยุทธ ติยะไพรัช” แกนนำพรรคเพื่อชาติ ที่จะ “พาทักษิณกลับบ้าน” ดังขึ้นอีกครั้ง หลังเสนอมาหลายครั้ง โดยชี้ว่า หากมอง “ทักษิณ” เป็นอีกต้นเหตุความขัดแย้งก็ควรนำเข้ามาอยู่ในกระบวนการสร้างความปรองดองด้วย

ซึ่ง คสช.ก็ได้ปิดประตูข้อเสนอนี้ไปแล้ว โดยย้ำว่ากลับมาได้เลย แต่ต้องมารับโทษตามกฎหมาย ทั้งนี้ การเปิดไพ่ใบสำคัญที่ผ่านมา ก็มีการมองว่า “ทักษิณ” ยังคงมีความต้องการที่จะกลับไทยอยู่ตลอด แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นก็ทำให้อนาคตของ “ทักษิณ” ที่จะกลับไทยยิ่งลดน้อยลงไปอีก

ดังนั้น “ปัจจัยกระตุ้น” ให้เกิดการรัฐประหารอย่าง “ทักษิณ” ที่ยังคงอยู่ในระบบการเมือง จึงต้องจับตาอนาคตพรรคไทยรักษาชาติและการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นว่าสุดท้ายแล้ว “ทักษิณ” จะเหลือที่ยืนแค่ไหนและมีอำนาจต่อรองได้มาก-น้อยอย่างไร

อย่าลืมว่าช่วง 2 ปีรัฐบาลยิ่งลักษณ์ “ทักษิณ” ก็มีความพยายามที่จะกลับบ้านมาตลอด จนเป็นที่มาของ “พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเหมาเข่ง-สุดซอย” นั่นเอง ท่ามกลางเสียงที่ว่า “ดีลลงตัว-เคลียร์กันแล้ว” ในเวลานั้น

ซึ่งกลับกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวทำให้ “รัฐบาลเพื่อไทย” ล้มไป และ คสช.เข้ามามีอำนาจยาวเกือบ 5 ปี

น่าจับตาว่า นับจากนี้สถานการณ์จะพัฒนาต่อไปอย่างไร และ “เงื่อนไข” สำหรับการปฏิวัติ-รัฐประหาร จะวนกลับมาอีกครั้งหนึ่งก่อนที่จะเกิดการเลือกตั้งในเดือนมีนาคมหรือไม่