E-DUANG : “มโน” กับ “ความเพ้อฝัน” และ”ความใฝ่ฝัน”

“มโน” เป็นวลีและสำนวนอันเกิดขึ้นและสัมพันธ์กับยุคสมัยอย่าง แนบแน่น

เหมือนกับเป็นคำของ “วัยรุ่น”

เหมือนกับเป็นคำอัน “โน้มเอียง” ไปในทางตำหนิ มากกว่าจะยกย่อง ชมเชย

แต่ก็มี “ราก” ที่มาอัน “แน่ชัด”

นั่นก็คือ มาจากคำว่า “มะนะ” แล้วก็ผันเป็น “มโน” ตามกระสวนแห่งไวยากรณ์

ความหมายตรงตัวก็คือ “ใจ”

ความหมายในลักษณะร่วมก็คือ ความคิด ความรู้สึก และสัม พันธ์กับคำว่า “จินตนาการ”

แต่ก็เป็นจินตนาการอย่าง”เกินจริง”

เมื่อดำเนินไปในพรมแดนที่ “เกินจริง” จึงนำไปสู่ความใกล้ชิดกับคำว่า “ความฝัน” อย่างสนิทสนม

เพราะว่าใน”ฝัน”มีทั้งที่จริง และไม่จริง

กระนั้น “มโน”ไปไกลมากกว่า”ความฝัน”มากกว่า

 

ไม่ว่าจะติดอยู่กับคำว่า “จินตนาการ” ไม่ว่าจะติดอยู่กับคำว่า”มโน” ตามความนิยมแห่งยุคสมัย

แต่ก็ทำให้นึกถึง บรรจง บรรเจอดศิลป์

นึกถึงเพราะว่าเป็นเจ้าของหนังสือชื่อ “ชีวิตกับความใฝ่ฝัน”ในกาลอดีต

พิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์สหบรรณกรเมื่อปี 2495

ไม่เพียงแต่จะเสนอเสมือนกับเป็นคำขวัญหรือสโลแกนออกมาว่า “เราจักต้องฝัน”

หากยังแยกจำแนกจุดต่างระหว่าง “ความใฝ่ฝัน”กับ”ความเพ้อฝัน”

จำเป็นต้องยกมาให้อ่าน

 

ความใฝ่ฝันก็คือการคำนึงถึงอนาคต แต่ไม่ส่งเสริมให้ใฝ่ฝันอย่าง ลมๆแล้งๆ

นอนก็ฝัน กินก็ฝัน ฝันแต่สิ่งที่ไม่อาจเป็นจริง

ถ้าอยากจะเป็น”นักฝัน” ต้องมีจิตใจเช่นเดียวกับนักวิทยาศาส ตร์ เริ่มจากความเป็นจริง

ต้องศึกษาความเป็นจริงของสังคมและของโลก

ความเป็นจริงเหล่านี้อาจสลับซับซ้อน แต่ก็สามารถที่จะไปค้นพบกฎเกณฑ์ของมันได้ว่า เป็นมา เป็นอยู่และจะเป็นไปอย่างไร

ความใฝ่ฝันไม่ใช่ความเพ้อฝัน

ความใฝ่ฝัน คือสิ่งที่ยังไม่มีเงื่อนไขเพียบพร้อมในอันที่จะเป็นความจริงขึ้นมาในปัจจุบัน แต่เป็นสิ่งที่จะปรากฏเป็นความจริงขึ้นได้ในอนาคต

ต้องคัดค้านความเพ้อฝันเพราะมันหันหลังให้แก่ความเป็นจริง

นักเพ้อฝัน คือ ผู้ขี้ขลาด ไม่กล้าเผชิญกับความจริง

จากนี้จึงเห็นว่า “มโน”คือลักษณะแห่ง”ความเพ้อฝัน”มิใช่เรื่องของ “ความใฝ่ฝัน”