สัมภาษณ์พิเศษ : ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล สืบพระราชปณิธานปิดทองหลังพระ ฝ่าทุนนิยมศตวรรษที่ 21

โดย อิศรินทร์ หนูเมือง

 

1ในปัญญาชนสยาม ที่อยู่คู่บริบทของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และล่วงเข้าสู่ยุคเบื้องแรกประชาธิปไตยไทย คือ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ องค์ต้นราชสกุล “ดิศกุล”

ทรงเป็นที่ปรึกษาราชการของพระมหากษัตริย์ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ถึง 3 พระองค์ ตั้งแต่รัชสมัย รัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 7

ผู้เป็นองค์ต้นราชสกุล “ดิศกุล” นี้ คือผู้ครองตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยต่อเนื่อง 20 ปี คือผู้ริเริ่มเสนอความเห็นต่อรัชกาลที่ 6 ให้ประชาชนเข้าถวายบังคมพระบรมศพ รัชกาลที่ 5

พระราชบันทึกโดย ราม วชิราวุธ พระนามแฝงของรัชกาลที่ 6 ระบุไว้ตอนหนึ่งว่า

“แต่ก่อนๆ นี้มิได้เคยมีประเพณีให้ประชาชนได้เข้าถวายบังคมพระบรมศพในที่ใกล้เช่นนี้ กรมหลวงดำรงได้เปนผู้แสดงความเห็นว่า ควรปล่อยให้ประชาชนเข้าเฝ้าพระบรมศพ เพื่อให้สมกับที่พระเจ้าหลวงมีพระนามว่า ปิยมหาราช”

n20150117172956_70181

ในรัชสมัย รัชกาลที่ 9 ทายาทแห่งราชสกุล “ดิศกุล” ผู้สืบสาแหรกแรกจาก สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กับหม่อมเฉื่อย คือ ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล ได้เข้ารับใช้เบื้องพระยุคลบาท ในฐานะ “ราชเลขานุการ” ในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สมเด็จย่า) ต่อจากบิดา คือ หม่อมเจ้าดิศศานุวัติ ดิศกุล ตั้งแต่ปี 2510

ในวาระพิเศษ ครั้งหนึ่ง “ม.ร.ว.ดิศนัดดา” เล่าเรื่องพระจริยวัตรอันงดงามระหว่าง “ในหลวงรัชกาลที่ 9” กับ “สมเด็จย่า” และสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ในการถ่ายทอด-เรียนรู้ศาสตร์ของ “สมเด็จย่า” สู่ “ศาสตร์ของพระราชา” จนถึงทุกวันนี้

คุณชายดิศนัดดา เล่าว่า “สมเด็จย่า ทรงเรียนรู้จากพระสวามี คือ พระบรมราชชนก โดยเฉพาะความเป็นนักจดจำ”

“ศาสตร์ของพระราชา ทำให้คนมีพลังมากขึ้นทั้งประเทศ ทำให้มีการสืบสานพระราชดำริเพิ่มขึ้น แต่จะต้องช่วยกันทำให้เกิดการ Action ให้ได้ ให้เกิดการร่วมมือ จับมือกันทำ ทั้งประชาชน ข้าราชการ และรัฐบาล มาทำงานด้วยกัน”

เป้าหมายของคุณชายดิศนัดดา คือ ให้นานาชาติรู้จัก “ศาสตร์พระราชา”

“ให้นานาชาติรู้จักประเทศไทย ในฐานะผู้ให้กู้ แต่ไม่ใช่การกู้เงินสด แต่เป็นการปล่อยกู้ความรู้จากพระราชา จึงจะสำเร็จในการปฏิบัติตามพระราชดำรัส”

ม.ร.ว.ดิศนัดดา เชื่อว่า “ในหลวงจะอยู่กับเราตลอดไปในอนาคต”

ในฐานะ “เลขาธิการ” มูลนิธิปิดทองหลังพระ และมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ม.ร.ว.ดิศนัดดา น้อมนำพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 ทั้งในฐานะที่เป็นองค์สัญลักษณ์ของผู้นำ “ที่พาทำ นำพาพสกนิกร ร่วมคิด ร่วมทำ”

โดยทุกคนที่ร่วมกัน “พาทำ” ด้วยความศรัทธาที่มีต่อพระราชปณิธาน และพระราชวิสัยทัศน์ของในหลวงรัชกาลที่ 9

“สมเด็จย่า เสด็จห้วยฮ่องไคร้ เมื่อ 1 มกราคม 2531 จากนั้นทรงเริ่มโครงการดอยตุง จ.เชียงราย เริ่มสร้างพระตำหนัก สมเด็จย่า ทรงเริ่มโครงการพัฒนาดอยตุย เมื่อพระชนมายุ 87 พรรษา ทรงงานครอบคลุม 29 หมู่บ้าน พื้นที่ 93,000 ไร่”

“วิธีการอภิบาลในหลวงรัชกาลที่ 9 ของสมเด็จย่า คือการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ เช่น ระหว่างที่ทอดพระเนตรรายการโทรทัศน์ เมื่อครั้งที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ยังทรงพระเยาว์ สมเด็จย่าจะให้ทรงทำกิจกรรมต่างๆ ไปด้วย ในเวลาเดียวกัน”

“สมเด็จย่าทรงสอนให้เห็นความสำคัญของการ รู้จริง รู้ลึก ครั้งหนึ่งในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเรียนวิชาดาราศาสตร์ แล้วมีโจทย์มาถามสมเด็จย่า ครั้งนั้นทำให้สมเด็จย่าต้องทรงศึกษาเอ็นไซโคลพีเดียไปด้วย”

หากย้อนไปถึง “สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ก็เคยสอนว่า ครอบครัวท่านต้องเป็นครอบครัวที่คิดทำเพื่อส่วนรวม”

%e0%b8%a3-%e0%b8%a7-1-e1458108614945-768x772

ภารกิจของคุณชายดิศนัดดา ผู้ปิดทองหลังพระ น้อมนำพระราชดำรัส ไปสู่การปฏิบัติของมูลนิธิปิดทองหลังพระ ในช่วง 5 ปีแรก ได้ทำงานใน 5 จังหวัด คือ น่าน อุดรธานี อุทัยธานี เพชรบุรี และกาฬสินธุ์

“ในระยะ 5 ปีนับจากนี้ ต้องสร้างองค์ความรู้ให้เป็นที่ประจักษ์ นำมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง มาร่วมทำงานกับมูลนิธิปิดทองหลังพระ เป็นศาสตร์ 1 ในศาสตร์ระดับโลก ที่นานาชาติให้การยอมรับ” ม.ร.ว.ดิศนัดดา กล่าว

“มูลนิธิปิดทองหลังพระ จะเป็นจุดเชื่อมให้ฝ่ายต่างๆ เช่น ข้าราชการ มาร่วมกันทำงานพัฒนา ตามหลักการทำงานของแม่ฟ้าหลวง หรือศาสตร์ของสมเด็จย่า และศาสตร์ของพระราชา”

จากนั้นนำเอาวิชาของ “แม่ฟ้าหลวง” ไปเผยแพร่ และทำงานพัฒนาในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป

“เรายังอยากจะยืนยันว่า จะทำอย่างไรให้คนดีได้ปกครองประเทศ ให้ชนบทมีการพัฒนาจนมีความใกล้กับเมืองในทุกๆ ด้าน ผ่านการสร้างคนรุ่นใหม่”

“ดังนั้น จึงมีการเชื่อมโยงการทำงานกับมูลนิธิรากแก้ว เพื่อนำศาสตร์การพัฒนาไปขยายผลในระดับมหาวิทยาลัย นำนักศึกษาในเมืองไปศึกษางานพัฒนาชนบท เรียนรู้ร่วมกันทั้งคนมี-คนจน และคนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม”

นักศึกษาในมหาวิทยาลัยที่ร่วมโครงการกับ “มูลนิธิรากแก้ว” จะได้เรียนรู้ทฤษฎี และได้ลงมือทำงานในชุมชน ในแบบของ “การปิดทองหลังพระ” ตามแนวทางของ “แม่ฟ้าหลวง”

หลักสูตรนี้ คุณชายดิศนัดดาเชื่อว่า จะทำให้นักศึกษามีจิตสำนึก เข้าใจปัญหาของชาวบ้าน “มีใจ” ให้ชาวบ้าน

“ในอนาคต อยากให้ทั้งศาสตร์แม่ฟ้าหลวง ได้เป็นหลักในการทำงาน และสนับสนุนเงินทุนในบางโครงการ”

โดยมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง จะมีบทบาทเป็น “เทรนนิ่ง” ศาสตร์ของโครงการพัฒนา ให้มีการเติบโตอย่างยั่งยืน ไม่ได้ใช้เงินบริจาคในการดำเนินงาน นับเป็น Social Economic โดยหลักการ “พาทำ” อย่างเข้มข้นในระดับปฏิบัติการ

“ต้องพาทำ เป็นแกนในสายวิชาการ สร้างศาสตร์พระราชาให้มีความแน่นแฟ้น ให้มีความถ่องแท้”

ที่สุดแล้ว “ศาสตร์พระราชา” ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จะเป็นแกนวิชาหลัก สำหรับโลกของทุนนิยมในศตวรรษที่ 21

“ศาสตร์นี้จะทำให้เกิดการ Care และการ Share กันมากขึ้น คนที่ร่ำรวยเพราะการกอบโกย จะเริ่มรู้สึกตัวจากการเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยใหม่”

20160307_120940

การทำงานเชิงรุก-ขยายแนวร่วม ของมูลนิธิ “ปิดทองหลังพระ” จะขยายพื้นที่การทำงานลงไปที่เขตจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในปีนี้ (2559) จะใช้บุคลากรของ “ปิดทอง” ลงไปช่วยพัฒนาการจำหน่าย “ลองกอง” ทำแบบ Quick Hit เพื่อแก้ปัญหาความยากจนของชาวสวนลองกอง

“เข้าไปช่วยตั้งแต่กระบวนการทำให้ผลออกมา การแทงช่อ การคัดลูก มีกระบวนการคัดแยก ขอให้กลุ่มบริษัท SCG เข้าไปช่วยดีไซน์แพ็กเกจ เพื่อให้เขาขายได้ราคาแพงขึ้น แต่คุณภาพลองกองดีขึ้น ให้พ่อค้ารายใหญ่จากกรุงเทพฯ ไปช่วยซื้อ แต่ให้เขาลดกำไรลง”

คุณชายดิศนัดดาวาดภาพในอนาคตไว้ว่า “มีแผนไว้ว่าหากภาคใต้ต้องลดพื้นที่ปลูกยางพารา จะพาทำ การปลูกทุเรียน เพราะมีบริษัทใหญ่จากกรุงเทพฯ รับปากไว้ว่าจะช่วยร่วมขายในตลาดต่างประเทศให้”

“ปิดทองหลังพระ ทำงานพัฒนาที่จังหวัดน่าน 12 ปี ดอยตุงยั่งยืนได้ 30 ปี เชื่อว่าจังหวัดชายแดนใต้ น่าจะพัฒนาให้ยั่งยืนได้ราว 12 ปีเช่นกัน หากภาครัฐ เอกชน ประชาชน ร่วมคิดร่วมทำ บูรณาการจากทุกฝ่ายอย่างจริงจัง เชื่อว่าการช่วยเกษตรกรชาวสวนลองกองที่นำร่องไปแล้ว จะสำเร็จ เราอยากเรียกว่าแนวทางเกษตรประณีต”

20160307_120904-e1458108544248

ด้วยประสบการณ์ทำงานเป็น “คุณชายชาวดิน-ชาวดอย” มาเกือบ 5 ทศวรรษ ยิ่งทำให้เชื่อมั่นว่า “แนวทางการทรงงานและทฤษฎีอภิปรัชญาของในหลวงภูมิพลอดุลยเดช ในโลกของการพัฒนาอย่างยั่งยืน นับเป็นศาสตร์ที่มีความลุ่มลึกกว่าดัชนีชี้วัดทางเศรษฐศาสตร์ใดๆ ในโลกนี้”

“สะท้อนจากในเวลานี้ มีนักวิชาการจากหลายประเทศมาแกะ-ถอดรหัส การทรงงานของพระองค์ท่าน เป็นตำรา แล้วนำไปสอนในหลายแห่ง เป็นดัชนีควบคู่กับดัชนีการพัฒนาของสหประชาชาติ”

“แล้วโลกนี้จะเปลี่ยนไปในทิศทางของศาสตร์พระราชา” ม.ร.ว.ดิศนัดดา ย้ำความเชื่อมั่น สืบสานพระราชปณิธาน