เครื่องเคียงข้างจอ/วัชระ แวววุฒินันท์ /บ้านเรือนเคียงกัน

วัชระ แวววุฒินันท์

เครื่องเคียงข้างจอ/วัชระ แวววุฒินันท์

บ้านเรือนเคียงกัน

“บ้านเรือนเคียงกัน” เป็นชื่อเพลงฮิตเพลงหนึ่งในจำนวน 2,000 กว่าเพลงของวงดนตรีสุนทราภรณ์ วงดังที่มีอายุยืนนานมาถึง 80 ปี

ความโด่งดังของวงดนตรีสุนทราภรณ์นั้น คนรุ่นอายุเกิน 50 ปีคงทราบดี ด้วยเป็นวงดนตรีบิ๊กแบนด์ที่ได้รับความนิยมในวงสังคม และในหมู่นักฟังเพลงไทยอย่างมาก

คนรุ่นใหม่น้อยคนที่จะรู้จักเพลงของวงสุนทราภรณ์ แต่หารู้ไม่ว่าหลายบทเพลงที่ได้ยินกันบ่อยๆ ตามเทศกาลต่างๆ นั้นเป็นบทเพลงของสุนทราภรณ์ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเพลง “สวัสดีปีใหม่”, เพลง “รำวงเริงสงกรานต์” และเพลง “รำวงลอยกระทง” ที่ตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ มักเปิดกันสนั่นหูในช่วงเทศกาลนั้นๆ

หรือเพลงประกอบหนังโฆษณาบางชิ้นก็นำเอาบทเพลงของสุนทราภรณ์มาเรียบเรียงใหม่ก็มี

บทเพลงที่มีอายุหลายสิบปี แต่ยังคงได้รับการถ่ายทอดอยู่ในปัจจุบัน แสดงถึงความเป็นอมตะได้อย่างดี ที่ไม่มีกาลเวลามากีดขวาง

นั่นคือบทเพลงของสุนทราภรณ์ที่ได้ชื่อว่าเป็น “สมบัติทางดนตรี” ของประเทศไทย

 

วงสุนทราภรณ์เป็นชื่อที่นำมาจากคำว่า “สุนทร” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนามสกุล “สุนทรสนาน” ของครูเอื้อ สุนทรสนาน ผู้ก่อตั้งวงดนตรีสุนทราภรณ์ รวมกับชื่อ “อาภรณ์” ซึ่งเป็นชื่อภรรยาสุดที่รักของครูเอื้อ ออกมาเป็น “สุนทราภรณ์” เพื่อแสดงถึงความรักของครูที่มีต่อภรรยาของท่าน

และด้วยอารมณ์สุนทรีย์ จึงมีบทเพลงที่ประพันธ์มาจากชีวิตรักของครูเอื้อและคุณอาภรณ์อยู่หลายเพลง เช่น เพลง “ยอดดวงใจ” แสดงถึงการเชิดชูเทิดทูนหญิงอันเป็นที่รักยิ่ง

เพลง “ศึกในอก” พูดถึงอารมณ์ว้าวุ่นใจในความรักที่มีชายอื่นมาจีบคุณอาภรณ์ เปรียบเหมือนการทำศึกแห่งความรักของครู

เพลง “บ้านเรือนเคียงกัน” นี่ก็เช่นกัน แต่งขึ้นจากชีวิตจริงที่บ้านของครูเอื้อกับบ้านของคุณอาภรณ์อยู่ใกล้กัน ครูเอื้อได้แต่แอบมองหญิงสาวหน้าตาสดใสผ่านรั้วบ้านทุกวัน และเป็นแนวมองดอกฟ้าเพราะฐานะนั้นต่างกัน ครูเอื้อเลยเขียนเพลงนี้เพื่อจีบสาวที่แอบรักนั่นเอง…หวานซะไม่มี

ถ้าเป็นสมัยนี้คงแอบส่งไลน์ หรือทวิตเตอร์เพื่อจีบเป็นแน่

 

หากจะพูดถึงเรื่องราวชีวิตรักของครูเอื้อ ก็เปรียบได้เหมือนนิยายประโลมโลกย์ที่เราคุ้นเคย เป็นความรักที่มุ่งมั่นที่มีฐานะเป็นอุปสรรค

ครูเอื้อสมัยหนุ่มๆ ทำงานเป็น “นักดนตรี” อยู่กรมศิลปากร เช่าบ้านหลังเล็กๆ อยู่แถวถนนราชดำเนินกลาง บ้านนั้นอยู่ใกล้กับบ้านของพระยาสาครบุรีและคุณนายสะอิ้ง บิดามารดาของคุณอาภรณ์ กรรณสูต ที่ถูกเลี้ยงดูอย่างกับไข่ในหิน ด้วยความที่เป็นบุตรีเพียงคนเดียว

ครูเอื้อแสดงออกถึงความสนใจในตัวคุณอาภรณ์อย่างชัดแจ้ง แม้วัยจะต่างกันเพราะคุณอาภรณ์ยังเรียนหนังสืออยู่ แต่ครูเอื้อก็ถือมั่นในความรักจริงเป็นฐาน ร้อนถึงคุณนายสะอิ้งต้องเรียกตัวไปพบ

เมื่อถามว่าทำงานที่ไหน ครูเอื้อบอกว่าทำงานอยู่กรมศิลปากร ถามว่าทำอะไร ก็ตอบด้วยความภาคภูมิใจว่า “เป็นนักดนตรี” แต่ก็แอบหวั่นใจไม่น้อยเพราะในยุคนั้นการเต้นกินรำกินเป็นอาชีพที่ไม่ได้รับการยอมรับเช่นปัจจุบัน ด้วยเห็นว่าไม่มั่นคง จะมาเลี้ยงดูลูกสาวคนอื่นได้อย่างไร

และก็เป็นตามคาด เมื่อคุณนายสะอิ้งตอบว่า “เป็นนักดนตรี?…นี่ขนาดเป็นอธิบดีฉันยังไม่ยกลูกสาวให้เลย” เป็นการดักคอเพื่อไม่ให้มายุ่งกับลูกสาวตน

จากวันนั้น ครูเอื้อก็ไม่ได้ย่อท้อ มุมานะทำมาหากินสร้างหลักฐาน สร้างฐานะ สร้างการยอมรับในสังคม และดนตรีก็คือ “อาวุธ” ที่ครูเอื้อใช้ในการสร้างตนเองขึ้นมา และหัวใจที่มั่นคงก็เป็นเครื่องพิสูจน์ในความรัก

จนต่อมาทั้งคู่ก็ได้สมรสกัน

 

เพลง “บ้านเรือนเคียงกัน” แต่งทำนองโดยครูเอื้อ ส่วนคำร้องเขียนโดยครูแก้ว อัจฉริยะกุล ขับร้องต้นฉบับโดยคุณสุปาณี พุกสมบุญ และก็ได้คุณศรีสุดา รัชตะวรรณ มาบันทึกเสียงในเวลาต่อมา

บัดนี้ “บ้านเรือนเคียงกัน” ไม่ได้เป็นหนึ่งในประวัติเพลงรักของครูเอื้อเท่านั้น แต่ได้รับการนำมาเป็นเพลงนำของละครเวทีชุด “สุนทราภรณ์ เดอะ มิวสิคัล” เรื่องล่าสุด ซึ่งจัดโดยมูลนิธิสุนทราภรณ์ ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และบริษัท เจ เอส แอล โกลบอล มีเดีย จำกัด

ในชื่อเรื่อง “บ้านเรือนเคียงกัน สุนทราภรณ์ เดอะ มิวสิคัล”

เรื่องราวไม่ได้ล้อตามชีวิตรักของครูเอื้อเสียทีเดียว แต่เล่าถึงบ้าน 2 หลังที่อยู่ติดกัน บ้านหนึ่งฐานะเศรษฐี อีกบ้านนั้นต้องดิ้นรนทำมาหากิน โดยเปิดเป็นร้านอาหารตามสั่ง

ตัวแม่ของ 2 บ้านมีปากเสียงเรื่องฐานะกันมาตลอดจนลูกสาว ลูกชายของ 2 บ้านพลอยไม่กินเส้นกันไปด้วย สุดท้ายด้วยเหตุการณ์อลวนอลเวงบางอย่างทำให้กลายเป็น “คนรู้ใจ” ในที่สุด

นักแสดงนำเรื่องนี้มี 4 คน ประกบกันเป็น 2 คู่พี่น้องสองหลังที่ว่า

คู่พี่คนโตคือ “ต้น ธนษิต” ลูกชายบ้านรวย ที่ตามจีบ “ซานิ นิภาภรณ์” ลูกสาวบ้านจน

คู่นี้เล่นตามจีบ แต่ปากแข็ง เล่นเชิงกันได้อย่างน่ารักสนุกสนาน บทการแสดงที่พร้อมจะใส่ความกุ๊กกิ๊กเอื้อให้ ต้นกับซานิเล่นกันได้อย่างน่ารัก ยิ่งเรื่องร้องเพลงแล้วไม่ต้องเป็นห่วง ดีกรีแชมป์เวทีเอเอฟต่างปีของทั้งคู่การันตีได้อย่างดี เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้รับผิดชอบดนตรีคือ อู๋-ธรรพ์ณธร ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา จึงสนุกในการเรียบเรียงให้ออกมาสมัยใหม่แปลกหู เหมือนจะร้องยาก แต่สองคนก็เอาอยู่

อยากให้มาฟังเพลง “ใจรัก” และ “รักรัญจวน” จากการร้องของต้น ที่เรียบเรียงออกมาแนวอาร์แอนด์บี ไพเราะได้อารมณ์ไปอีกแบบ

ส่วนซานินั้นตอนผิดหวังจากความรักและครวญเพลง “จากรัก” ออกมานั้น ได้อารมณ์เศร้าผิดหวังได้อย่างชะงัดด้วยท่วงทำนองสไตล์บลูส์

แต่ก็มีเพลงสดใสร่าเริงให้ทั้งคู่ได้ทั้งร้องและเต้นด้วย ในเพลง “กระต่ายโง่” ลาลาแลนด์ยังไง ฉากนี้ก็เป็นน้องๆ เลยละ

 

ส่วนอีกคู่ที่เป็นคู่น้องคือ “ปอ อรรณพ” ลูกชายบ้านจนที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับ “แป้ง มิตรชัย” คุณหนูบ้านรวย คู่นี้เล่นเป็นคู่กัดกันตั้งแต่ฉากแรก ผู้ชมจะได้เห็นความกวนยียวนของปอได้อย่างชัดเจน เมื่อบวกกับอารมณ์สนุกสนานกวนโอ๊ยของเขาด้วยแล้วยิ่งสนุกใหญ่ ส่วนเรื่องลีลายิ่งไม่ต้องห่วง ใครที่เป็นแฟนเพลงของปอคงนึกออกถึงอาการ “ร่อนเอว” ของเขาได้ดี

ส่วนแป้งนั้นได้เลือดพ่อคือ เอ-ไชยา มิตรชัย มาอย่างเต็มเปี่ยม แม้จะเป็นการแสดงละครเวทีอาชีพครั้งแรก แต่เลือดนักแสดงลิเกของแป้งก็สามารถนำมาใช้กับการแสดงละครเพลงเรื่องนี้ได้อย่างดี

ช่วงแรกต้องดัดการร้องของแป้งที่ติดสำเนียงแบบลิเกมากไปสักหน่อย ให้ดูอ่อนลงและเข้ากับบทเพลงสุนทราภรณ์มากขึ้น ซึ่งแป้งก็หัวไวและทำออกมาได้อย่างดี

ส่วนการแสดงนั้น แป้งใช้ประสบการณ์ที่เคยผ่านงานละครโทรทัศน์มาแล้วช่วยให้เล่นได้ง่ายขึ้น แต่ต้องเพิ่มลีลาท่วงท่าแบบละครเวทีเข้าไป

ปอรับผิดชอบเพลงดังอย่าง “อุษาสวาท” “พรานล่อเนื้อ” “รอยบุญรอยกรรม” และไปร้องเพลงคู่ได้หวานหยดกับแป้งในเพลง “ชะตาฟ้า”

ส่วนแป้งนั้น ร้องเพลง “จำได้ไหม” เพลงดังของคุณรวงทอง ทองลั่นทม แต่ในเรื่องนี้ถูกนำมาตีความใหม่ที่น่ารักไปอีกแบบ และต้องร้องใส่อารมณ์ในเพลง “กล่อมวนา” อีกด้วย

เชื่อว่าคู่ปอและแป้งนี้ จะทำให้ผู้ชมหลงรักและเอ็นดูได้ไม่ยาก

 

ต้องพูดถึง “คู่แม่” สักหน่อย เพราะเป็นหัวใจของเรื่อง ได้ “ผัดไท” มารับบทคุณแม่บ้านรวย เรื่องนี้ต้องปะทะกับเพื่อนรักในชีวิตจริงคือ “นุ่น ดารัณ” ที่มารับบทแม่บ้านจน

ประสบการณ์การแสดงที่โชกโชนของนักแสดงทั้งสองไม่ต้องพูดถึง เจอกันทีไร ทั้งเวทีตกเป็นของเธอทั้งสองทุกฉาก แถมต้องร้องและเต้นคู่กันในเพลง “สวรรค์สวิง” อีกด้วย

นี่แค่นักแสดงส่วนหนึ่งเท่านั้น ยังมีนักแสดงที่สร้างสีสันอีกมาก ขอยกไปพูดถึงอีกทีหลังรอบการแสดงรอบสื่อมวลชนในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ผ่านไปแล้วนะครับ

ส่วนใครที่อยากชมรีบจองบัตรได้เลยทางไทยทิกเก็ตเมเจอร์ ที่นั่งดีๆ ถูกจับจองไปเยอะแล้ว จัดการแสดงในวันเสาร์-อาทิตย์ ตลอดเดือนมีนาคมเลย คือตั้งแต่วันเสาร์ที่ 2 มีนาคม จบในวันอาทิตย์ที่ 31 มีนาคม วันละ 1 รอบเท่านั้น เวลาบ่าย 2 โมง ที่โรงละครเอ็ม เธียเตอร์ เพชรบุรีตัดใหม่

ฝากให้มาอุดหนุนกันนะครับ กับละครเพลงรื่นอารมณ์ผสมอลเวง “บ้านเรือนเคียงกัน สุนทราภรณ์ เดอะมิวสิคัล”