ในประเทศ / AVATAR มาร์เก็ตติ้ง

ในประเทศ

AVATAR

มาร์เก็ตติ้ง

 

ปรากฏการณ์สมาชิกพรรคเพื่อชาติในหลายจังหวัดภาคเหนือและอีสานเปลี่ยนชื่อตนเองจากเดิมมาใช้ชื่อ “ทักษิณ” และ “ยิ่งลักษณ์” ในการลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.

แม้ด้านหนึ่งจะถูกมองเป็นสีสัน เป็น “เรื่องโจ๊ก”

แต่กระนั้นเมื่อปรากฏเป็นข่าวออกไปก็ทำให้บางคนถึงกับมีอาการ “หัวร่อมิออก ร่ำไห้มิได้”

ภายใต้เรื่องโจ๊ก ลึกลงไปของการโบกธงชื่อ “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์” ขึ้นท่ามกลางสมรภูมิเลือกตั้ง ไม่เพียงจะได้รับการซูฮกในด้านเทคนิค “การตลาด”

ยังเป็นการ “ท้าทาย” ไปยังตัวบุคคลและพรรค “คู่แข่ง” โดยตรง

สำหรับพรรคเพื่อชาติ ได้รับการจัดหมวดหมู่ให้อยู่ในพรรคฝ่ายประชาธิปไตยเช่นเดียวกับพรรคอนาคตใหม่

ถึงไม่ใช่ “พรรคพี่-พรรคน้อง” กับพรรคเพื่อไทย เหมือนอย่างพรรคไทยรักษาชาติ แต่ก็เป็น “แนวร่วม” ในลักษณะเดียวกับพรรคประชาชาติและเสรีรวมไทย

นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. ผู้สนับสนุนหลักพรรคเพื่อชาติ เคยระบุถึงองค์ประกอบของพรรคว่า คือแหล่งรวมสมาชิก นปช.คนเสื้อแดง

ที่ต้องการมีพื้นที่การเมืองในระบบรัฐสภา แต่ไม่มีพื้นที่รองรับในพรรคเพื่อไทย การก่อตั้งพรรคเพื่อดำเนินการการเมืองในแนวทางของตัวเองจึงถือกำเนิดขึ้นจากจุดนี้

กลุ่ม นปช.คนเสื้อแดงส่วนใหญ่ก่อนยกระดับขึ้นเป็นพรรคการเมือง ได้ยึดถือนายทักษิณ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นศูนย์รวมจิตใจมาตลอดในทุกๆ การเคลื่อนไหว

ด้วยมองว่า “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์” คือสัญลักษณ์การเมืองในระบอบประชาธิปไตย เนื่องจากเป็นนายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้งของประชาชนส่วนใหญ่

จากมุมนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลก เมื่อกลุ่ม นปช.คนเสื้อแดงพัฒนาขึ้นเป็นพรรคเพื่อชาติ สมาชิกพรรคจะใช้กลยุทธ์ “เปลี่ยนชื่อ” ตัวเองจากเดิมเป็นชื่อ “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์”

ในการลงสมัครรับเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562

 

เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่า เป้าหมายของการรัฐประหารในเดือนกันยายน 2549 โดย คมช. คือการโค่นล้มรัฐบาลพรรคไทยรักไทยของนายทักษิณ ชินวัตร

เช่นเดียวกับรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 โดย คสช. เป้าหมายก็อยู่ที่โค่นล้มรัฐบาลพรรคเพื่อไทยของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ผลจากรัฐประหาร 2549 ทำให้พรรคไทยรักไทยถูก “ยุบพรรค” นายทักษิณ ชินวัตร ต้องเดินทางออกนอกประเทศในปี 2551 จนปัจจุบันเป็นเวลากว่า 10 ปี

ระหว่างนั้นพรรคไทยรักไทยได้ “อวตาร” มาเป็นพรรคพลังประชาชน ก่อนถูกยุบซ้ำช่วงปลายปี 2551 ต้องอวตารอีกครามาเป็นพรรคเพื่อไทย

ขณะที่ผลจากรัฐประหาร 2557 ทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องหลบหนีไปพำนักยังต่างประเทศเช่นเดียวกับอดีตนายกฯ ผู้เป็นพี่ชาย ในเดือนสิงหาคม 2560

อดีตนายกฯ สองพี่น้องไม่ได้กลับประเทศบ้านเกิดอีกเลย กระทั่งมามี “ชื่อ” เป็นผู้สมัครเลือกตั้งสังกัดพรรคเพื่อชาติ

ก่อนหน้านี้มีความพยายามในการตรวจยึด “ขันน้ำสงกรานต์” และ “ปฏิทินปีใหม่” ซึ่งมีชื่อ รูป และคำอวยพรของ “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์” มาแล้ว

กกต.เองก็ยังออกหลักเกณฑ์ห้ามไม่ให้นำรูปภาพ “คนนอก” ที่ไม่เกี่ยวกับพรรค ไม่ได้เป็นผู้สมัคร ส.ส. ไม่ได้เป็นหัวหน้าพรรค ไม่ได้เป็นคนที่พรรคชูเป็นนายกรัฐมนตรี มาอยู่บนป้ายหาเสียงโดยเด็ดขาด

แต่เมื่อเจอกับกลยุทธ์การ “เปลี่ยนชื่อ” ก็เป็นอีกเรื่อง

หมายความว่าต่อจากนี้ประชาชนในหลายจังหวัดทั่วทุกภาค จะได้เห็นชื่อ “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์” ปรากฏอยู่บนป้ายหาเสียงอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยผู้มีอำนาจและ กกต.ไม่สามารถเอาผิดได้

นายอารีย์ ไกรนรา รองหัวหน้าพรรคเพื่อชาติ กล่าวยอมรับ

การที่ผู้สมัครของพรรคเปลี่ยนชื่อเป็น “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์” เพื่อต้องการให้เป็นที่จดจำได้ง่าย อีกทั้งส่วนตัวผู้สมัครก็มีความรัก ศรัทธา ชื่นชอบอดีตนายกฯ ทั้งสองเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

รวมถึงเป็นการปรับกลยุทธ์ให้สอดรับกับรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560

 

ไม่เพียงพรรคเกิดใหม่อย่างพรรคเพื่อชาติ ที่ต้องปรับกลยุทธ์ให้สอดรับรัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งออกแบบโดย คสช.และแม่น้ำ 5 สาย

แม้แต่พรรคใหญ่อย่างเพื่อไทยก็ต้องปรับเช่นกัน โดยมีพรรคไทยรักษาชาติ หรือ ทษช. เป็นหลักฐานยืนยันการปรับกลยุทธ์ต่อสู้ครั้งนี้

ความเป็นพรรคพี่-พรรคน้อง เกื้อหนุนกันและกันระหว่างเพื่อไทยกับไทยรักษาชาติ เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์มาตั้งแต่นักการเมืองระดับแกนนำพรรคเพื่อไทยจำนวนหนึ่งย้ายไปอยู่พรรคไทยรักษาชาติ ตามกลยุทธ์

“แตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย”

ยิ่งถึงวันเปิดรับสมัครเลือกตั้งก็ยิ่งเห็นชัดถึงกลยุทธ์ดังกล่าว

เนื่องจากเป็นครั้งแรกในรอบ 18 ปีนับจากการเลือกตั้งในปี 2544 ที่พรรคเพื่อไทยอันเป็น “อวตาร” ของพรรคไทยรักไทยและพลังประชาชนส่งผู้สมัครไม่ครบเต็มจำนวนทั้งในระบบเขตและบัญชีรายชื่อ

พรรคเพื่อไทยส่งผู้สมัครระบบเขตเพียง 250 เขต จาก 350 เขต และส่งลงระบบบัญชีรายชื่อเพียง 97 คน ขณะที่พรรคไทยรักษาชาติส่งสมัคร ส.ส.ระบบเขต 121 เขต และ 107 คนในระบบบัญชีรายชื่อ

นายอดิศร เพียงเกษ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย กล่าวกับสำนักข่าวบีบีซีไทยว่า แม้พรรคเพื่อไทยส่งผู้สมัคร ส.ส. ไม่ครบทุกเขต แต่มั่นใจว่าจะได้เป็นพรรคอันดับ 1

“คะแนนเสียงที่ตกน้ำของเรา จะไม่ตกไปไหน แต่ตกไปอยู่กับพรรคพวกของเรา นี่คือสิ่งที่เรียกว่ายุทธศาสตร์แตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย”

อย่างไรก็ตาม พรรคเพื่อไทยและพรรคไทยรักษาชาติถูกตั้งคำถามว่า กำลังเล่นเกม “ฮั้ว” ผู้สมัครในการเลือกตั้งครั้งนี้หรือไม่ โดยเฉพาะสนาม กทม.ที่มีเก้าอี้ ส.ส.ให้แย่งชิงกัน 30 เขต

ปรากฏว่าพรรคเพื่อไทยส่งผู้สมัครลงเพียง 22 เขต

โดยเปิดพื้นที่ให้กับพรรคไทยรักษาชาติส่งผู้สมัครลงในเขตที่เหลือและไม่ซ้ำกันอีก 8 เขต

 

ภายใต้กลยุทธ์แตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย

รายงานข่าวระบุ พรรคเพื่อไทยตั้งเป้ากวาด ส.ส.ระบบเขตไว้ที่ 150 ที่นั่งเป็นอย่างน้อย ขณะที่พรรคไทยรักษาชาติ ซึ่งมีหน้าที่ช้อนคะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อเป็นหลัก วางเป้ารวมไว้ที่ 50 ที่นั่ง

แกนนำพรรคเพื่อไทยแจกแจงความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อไทยกับไทยรักษาชาติว่า สาเหตุมาจากการที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ออกแบบมาเพื่อสกัดพรรคใหญ่ หรือกล่าวอย่างถึงที่สุดก็คือสกัดพรรคเพื่อไทย

ไม่ให้ได้เสียง ส.ส.จำนวนมากเหมือนอย่างพรรคไทยรักไทยในปี 2544 และ 2548 พรรคพลังประชาชนปี 2551 และพรรคเพื่อไทยในปี 2554

การแยกกันเดิน รวมกันตี ซึ่งหมายถึงการแยกตัวออกไปตั้งพรรคใหม่ แล้วกลับมารวมเสียง ส.ส.กันภายหลังเลือกตั้ง จึงเป็นเทคนิคในการเอาชนะพรรคคู่ต่อสู้ ซึ่งเป็นผู้เขียนกติกาขึ้นมาเอง

นายจาตุรนต์ ฉายแสง ประธานยุทธศาสตร์เลือกตั้งพรรคไทยรักษาชาติ ชี้แจงว่า การส่งผู้สมัครไม่ซ้ำพื้นที่กันระหว่างพรรคไทยรักษาชาติกับพรรคเพื่อไทย จะใช้คำว่า “ฮั้ว” ไม่ได้

เนื่องจากการส่งไม่ซ้ำพื้นที่กัน ไม่ได้หมายความว่าถ้าพรรคเพื่อไทยไม่ส่งลงเขตใด แล้วจะมีผลทำให้ประชาชนไปลงคะแนนให้ไทยรักษาชาติเพียงพรรคเดียว เพราะในแต่ละเขตก็ยังมีผู้สมัครพรรคอื่นให้ประชาชนเลือกอีก 30-40 พรรค

อย่างไรก็ตาม แกนนำพรรคไทยรักษาชาติเพียงแต่ปฏิเสธข้อกล่าวหาเรื่อง “ฮั้ว” ผู้สมัครกับพรรคเพื่อไทย แต่ไม่ปฏิเสธความเป็นพรรคพี่-พรรคน้อง

พรรคไทยรักษาชาติประกาศชูนโยบายต่อยอดจากนโยบายพรรคไทยรักไทย ไม่ว่านโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค หรือกองทุนหมู่บ้าน เป็นต้น

นโยบายด้านเศรษฐกิจ วิธีคิดแบบ “เทคซิโนมิกส์” ก็ยังต่อยอดมาจาก “ทักษิโนมิกส์” ในยุครัฐบาลไทยรักไทยซึ่งมีนายทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้นำ

ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นปรากฏการณ์พรรคไทยรักษาชาติ หรือปรากฏการณ์ “เปลี่ยนชื่อ” ของผู้สมัครพรรคเพื่อชาติ จึงล้วนสะท้อนให้เห็นถึงความพ่ายแพ้ของคณะผู้ก่อการรัฐประหาร ที่ต้องการขุดรากถอนโคน “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์” ให้สิ้นซาก

ครั้งแล้วครั้งเล่า ก็ยังไม่สำเร็จอยู่ดี

  ความล้มเหลวนี้จะส่งผลอย่างไรต่อการเลือกตั้ง 24 มีนาคม เป็นเรื่องน่าติดตามอย่างยิ่ง