วรศักดิ์ มหัทธโนบล : รัฐบาลจีนภายใต้อำนาจนำของ ‘สีจิ้นผิง’

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

นับแต่ปี 2012 เป็นต้นมา การเมืองการปกครองจีนได้ตกอยู่ในมือของผู้นำรุ่นที่ 5 ที่มีเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนคือ สีจิ้นผิง เป็นผู้นำ ทั้งนี้ เป็นผลจากการเลือกในที่ประชุม “สมัชชา 18” ของพรรค

ครั้นเมื่อครบวาระห้าปีตามธรรมนูญพรรคแล้ว ก็มีการประชุม “สมัชชา 19” ขึ้นในปี 2017 การประชุมนี้ได้มีการเลือกคณะผู้นำชุดใหม่ แต่การนำยังคงอยู่ที่สีจิ้นผิง อันแสดงว่าเขายังคงอยู่ในตำแหน่งเดิมของพรรคเป็นวาระที่สองไปอีกห้าปี

แต่ทว่าในปีถัดมาคือ 2018 ที่ประชุมสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติได้มีมติแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นที่ว่า นับแต่นี้ไปตำแหน่งผู้นำของรัฐ (มิใช่ของพรรค) คือประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีจะเป็นตำแหน่งที่ไม่มีวาระ หรืออีกนัยหนึ่งคือเป็นตำแหน่งที่สามารถดำรงไปได้ตลอดชีวิต หรือเป็นจนกว่าจะสิ้นชีพ

การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จึงมีความสำคัญต่อการเมืองการปกครองของจีนอย่างมาก

 

เป็นที่รับรู้กันในหมู่ประชาคมโลกว่า นับตั้งแต่ที่ผู้นำรุ่นที่ 5 ภายใต้การนำของสีจิ้นผิงได้ก้าวขึ้นมามีบทบาทในจีนนั้น ต่อสถานการณ์ภายในได้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน และต่อสถานการณ์ภายนอกคือชุมชนระหว่างประเทศก็ได้รับผลจากบางนโยบายเช่นกัน

หากจะย้อนกลับไปสู่อดีตเมื่อครั้งยุคสงครามเย็นแล้ว การเปลี่ยนแปลงหรือการแสดงบทบาทใดๆ ของจีนย่อมได้รับความสนใจเป็นปกติอยู่แล้ว แต่กับยุคของสีจิ้นผิงกลับมีความแตกต่างออกไป เพราะเห็นได้ว่าในยุคนี้จีนมีท่าทีเชิงรุกมากกว่าในอดีตอย่างชัดเจน

ผลสะเทือนทั้งภายในและภายนอกจีนภายใต้การนำของสีจิ้นผิงดังกล่าว ย่อมมีปัจจัยที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์เช่นนั้น ปัจจัยนี้มีตั้งแต่เหตุการณ์ที่เกิดก่อนที่เขาจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำไม่นาน และเมื่อเป็นผู้นำแล้วก็ได้ประกาศชุดนโยบายที่อาจส่งผลต่อการพัฒนาในด้านต่างๆ แก่จีนเอง (หากเขาทำได้สำเร็จ)

เช่น นโยบายการปราบปรามการฉ้อราษฎร์บังหลวง ข้อริเริ่มแถบและทาง (Belt and Road Initiative, BRI) หรือที่บางครั้งก็เรียกว่า หนึ่งแถบหนึ่งทาง (One Belt One Road, OBOR) เป็นต้น

ประเด็นจากที่กล่าวมานี้มีความสำคัญทั้งต่อจีนและต่อประชาคมโลกอย่างมาก เพราะทั้งนโยบายภายในและภายนอกนั้น จีนมักกำหนดให้สอดรับกัน แยกออกจากกันได้ยาก โดยที่กล่าวเฉพาะนโยบายต่อภายนอกแล้วอาจกล่าวได้ว่า ไม่มีครั้งใดที่จีนจะมีการกระทำเชิงรุกมากเท่าครั้งนี้ก็ว่าได้

ซึ่งงานศึกษานี้จะได้อธิบายประกอบไปด้วยนโยบายหรือรายละเอียดอื่นเป็นลำดับต่อไป

 

ผู้นำรุ่นที่ 5 : บางบุคคลกับบางองค์กร

คณะผู้นำจีนรุ่นที่ 5 ของจีนที่จะกล่าวต่อไปในนี้มีที่มาจาก “สมัชชา 18” (2012) และ “สมัชชา 19” (2017) แกนนำหลักที่สำคัญคือคณะกรรมการประจำกรมการเมือง โดยใน “สมัชชา 18” คณะบุคคลดังกล่าวประกอบไปด้วยสีจิ้นผิง หลี่เค่อเฉียง จางเต๋อเจียง อี๋ว์เจิ้งเซิง หลิวอวิ๋นซาน หวังฉีซาน และจางเกาลี่ ส่วนใน “สมัชชา 19” คณะบุคคลในตำแหน่งนี้คือ สีจิ้นผิง หลี่เค่อเฉียง ลี่จ้านซู วังหยาง หวังฮู่หนิง จ้าวเล่อจี้ และหานเจิ้ง

โดยสรุปแล้วสมัชชาทั้งสองครั้งนี้มีคณะกรรมการประจำกรมการเมืองรวมเจ็ดคน

คณะบุคคลตามที่กล่าวมาข้างต้นนี้มองโดยทั่วไปแล้ว ทุกคนล้วนมาตามครรลองของธรรมนูญพรรคคอมมิวนิสต์จีน และหากเปรียบเทียบบุคคลทั้งสองคณะแล้วจะพบว่า กลุ่มบุคคลเดิมใน “สมัชชา 18” ที่ยังคงอยู่ใน “สมัชชา 19” มีอยู่สองคนคือ สีจิ้นผิงและหลี่เค่อเฉียง นอกนั้นคือบุคคลที่เข้ามาใหม่

การเปลี่ยนแปลงคณะบุคคลนี้ (หรือแม้แต่ในอดีต) มักหลีกเลี่ยงข้อวิจารณ์หรือวิเคราะห์จากผู้ที่ติดตามการเมืองจีนไปไม่ได้ ประเด็นหลักมักจะเป็นไปในเรื่องที่ว่าบุคคลใดเป็นพรรคพวกของใคร หรือจัดอยู่ในกลุ่มที่ไต่เต้าขึ้นมาด้วยตนเองหรือเป็นลูกท่านหลานเธอ

ในครั้งนี้ก็เช่นกันที่มีการวิจารณ์หรือวิเคราะห์กันไปต่างๆ นานา แต่กระนั้น การวิจารณ์หรือวิเคราะห์ในยุคของสีจิ้นผิงนี้กลับมีสองประเด็นคือ บุคคลใดที่ใกล้ชิดสีจิ้นผิง และการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นวาระในการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี

ในบรรดากรรมการประจำกรมการเมืองเจ็ดคนจาก “สมัชชา 19” นั้น เมื่อดูจากภูมิหลังของแต่ละคนแล้วจะพบว่า แทบทุกคนต่างเข้ามามีบทบาทระดับสูงภายในพรรคช่วงเดียวกับที่สีจิ้นผิงเป็นผู้นำ บทบาทที่ว่านี้หมายถึงการเป็นผู้นำในองค์กรสำคัญของพรรค

แต่ในบรรดาบุคคลทั้งเจ็ดนี้มีเพียงคนเดียวที่พัฒนาการที่น่าสนใจคือ หวังฮู่หนิง

 

กล่าวคือ หวังฮู่หนิงมิได้ไต่เต้าขึ้นมาด้วยตำแหน่งภายในพรรคดังบุคคลอื่นตั้งแต่แรกเริ่ม แต่มาจากการเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยฟู่ต้านในซ่างไห่ (เซี่ยงไฮ้) ครั้นเมื่อเข้ามามีบทบาทภายในพรรคก็ปรากฏว่า หวังฮู่หนิงได้รับเลือกให้เป็นกรรมการกลางและกรรมการกรมการเมืองก็ใน “สมัชชา 19” และยังเป็นหนึ่งในกรรมการประจำกรมการเมืองในสมัชชาครั้งนี้อีกด้วย

ที่สำคัญ หลังจากที่มีตำแหน่งดังกล่าวแล้วก็ยังพบอีกว่า หวังฮู่หนิงยังเป็นรัฐมนตรีสำนักวิจัยนโยบายแห่งศูนย์กลางพรรค และผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมาธิการกลางเพื่อการปฏิรูปที่รอบด้านซึมลึก (จงยางเฉวียนเมี่ยนเซินฮว่าไก่เก๋อเหว่ยหยวนฮุ่ย, Central Comprehensively Deepening Reform Commission)1 องค์กรหลังนี้มีสีจิ้นผิงเป็นประธานและก่อตั้งขึ้นในปี 2013

แต่เดิมองค์กรหลังนี้มีชื่อว่า คณะแกนนำเพื่อการปฏิรูปที่รอบด้านซึมลึก (Central Leading Group for Comprehensively Deepening Reform) จนถึงปี 2018 จึงได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นดังที่กล่าวข้างต้น

คณะกรรมาธิการชุดนี้มีหน้าที่วางแนวทางการปฏิรูปในหกด้านด้วยกันคือ ด้านเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม สังคม จริยธรรม และการสร้างพรรคที่เป็นระบบในระยะยาวทั้งในส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น

ที่สำคัญ ยังมีหน้าที่เสริมสร้างอำนาจการนำของสีจิ้นผิงผ่านกลไกรัฐอีกด้วย

การที่มีหน้าที่ในด้านต่างๆ ดังกล่าว คณะกรรมาธิการชุดนี้จึงได้จัดตั้งองค์กรลูกขึ้นมาอีกหกองค์กร ทั้งหกองค์กรนี้จะทำหน้าที่ในด้านต่างๆ ตามที่กล่าวมาข้างต้น

ดังนั้น การที่หวังฮู่หนิงที่เพิ่งเข้ามาเป็นกรรมการกรมการเมือง และเป็นเสมือนแม่บ้านขององค์กรนี้จึงสะท้อนว่า ตัวเขาย่อมมีความสำคัญต่อบทบาทของสีจิ้นผิงอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะเมื่อกล่าวกันว่า สุนทรพจน์ที่สีจิ้นผิงแสดงในหลายโอกาสนั้น ส่วนหนึ่งมาจากการร่างและ/หรือการให้คำปรึกษาของหวังฮู่หนิง

หากเป็นเช่นนั้นจริงก็คงไม่น่าแปลกใจที่เราจะพบว่า สุนทรพจน์หลายชิ้นของสีจิ้นผิงมักจะอ้างถ้อยคำจากคัมภีร์โบราณ การอ้างเช่นนี้ในอดีตจะมีก็แต่เหล่าบัณฑิตที่สมาทานลัทธิขงจื่อเท่านั้นที่ทำกัน และหวังฮู่หนิงก็เป็น “บัณฑิต” หรือปัญญาชนเพียงหนึ่งเดียวในกรมการเมืองในยุคของสีจิ้นผิง

บทบาทและฐานะของเขาจึงบ่งบอกถึงความสำคัญของเขาในพรรคไปด้วยในตัว

 

นอกจากคณะกรรมาธิการกลางเพื่อการปฏิรูปที่รอบด้านซึมลึกแล้ว อีกองค์กรหนึ่งที่ถูกจัดตั้งขึ้นยุคนี้ก็คือ คณะกรรมาธิการกลางความมั่นคงแห่งชาติ (จงยางกว๋อเจียอานเฉวียนเหว่ยหยวนฮุ่ย, Central National Security Commission, CNSC)

องค์กรนี้มีสีจิ้นผิงเป็นประธานและมีผู้อำนวยการสำนักงานคือ ติงเซีว์ยเสียง กรรมการกรมการเมืองและมีประวัติการทำงานใกล้ชิดกับสีจิ้นผิงมาโดยตลอด โดยเฉพาะเมื่อครั้งที่สีจิ้นผิงเป็นเลขาธิการพรรคประจำซ่างไห่

ครั้นเมื่อสีจิ้นผิงย้ายมายังกรุงเป่ยจิง (ปักกิ่ง) เขาก็ยังคงติดตามเข้ามาในฐานะหนึ่งในคณะทำงานของสีจิ้นผิงอีกด้วย และในการประชุม “สมัชชา 19” เขาก็ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่ของสำนักเลขาธิการแห่งศูนย์กลางพรรค

ดังนั้น การเป็นผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมาธิการกลางความมั่นคงแห่งชาติอีกหนึ่งตำแหน่งนี้ จึงสะท้อนความสำคัญในบทบาทของเขาได้ไม่น้อย โดยเฉพาะเมื่อดูจากหน้าที่ของกรรมาธิการชุดนี้

นั่นคือ การดูแลด้านความมั่นคงและความปลอดภัยของโลกไซเบอร์ การก่อการร้าย

องค์กรทั้งสองดังกล่าวถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของ “สมัชชา 19” เพราะเป็นองค์กรที่มีหัวใจสำคัญของปฏิบัติการคือ การสร้างกระบวนการตัดสินใจ (decision making) ให้เกิดความคล่องตัวทั้งในภาคเศรษฐกิจและภาคความมั่นคงให้สอดคล้องกันอย่างเป็นเอกภาพ

หากพิจารณาจากแง่ที่ว่าแล้วก็จะเห็นได้ว่า องค์กรทั้งสองจะทำงานที่คู่ขนานกันไปโดยอิงกันและกันโดยแยกขาดจากกันไม่ได้ ทั้งนี้ โดยมีสีจิ้นผิงเป็นแกนกลางที่สำคัญในฐานะประธานของทั้งสององค์กรนี้

เมื่อเป็นเช่นนี้ปฏิบัติการของสีจิ้นผิงจึงมีความสำคัญยิ่ง

—————————————————————————————————————————-
1ระบบการเมืองการปกครองจีนแบ่งเป็นระบบของพรรคกับของรัฐ โดยพรรคคือพรรคคอมมิวนิสต์จีนจะมีความสำคัญเหนือรัฐ ดังนั้น ภายในพรรคจึงมีองค์กรพรรคอยู่นับสิบองค์กร ผู้นำสูงสุดในองค์กรจะมีฐานะเทียบเท่ารัฐมนตรี ถึงแม้คำเรียกขานตำแหน่งในบางองค์กรจะระบุเป็นอย่างอื่น (เช่น ผู้อำนวยการ ประธาน เป็นต้น) มิได้ระบุว่าเป็นรัฐมนตรีก็ตาม โดยทั่วไปแล้วผู้นำองค์กรพรรคจะมีความสำคัญกว่ารัฐมนตรีที่อยู่ในระบบของรัฐหรือคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลในโลกเสรี