เพ็ญสุภา สุขคตะ : ที่สุดของปริศนาพระสิขีพุทธปฏิมาศิลาดำ

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ยอมรับว่าดิฉันไม่เคยรู้สึกยุ่งยากใจอะไรมายมากเท่านี้มาก่อนเลย เคยเขียนถึง “พระพุทธปฏิมา” องค์สำคัญๆ ที่ปรากฏในตำนาน ไม่ว่าองค์ปราบเซียนที่สร้างความสับสนงุนงง อย่างเช่น พระแก้วมรกต พระพุทธสิหิงค์ ก็ว่ายากสุดๆ แล้ว ทว่าทุกเรื่องก็ผ่านพ้นไปด้วยดี

มีแต่ “พระสิขีพุทธปฏิมาศิลาดำ” องค์นี้องค์เดียวนี่แหละที่ดิฉันตั้งท่าๆ จะเขียน จะไขความกระจ่างชัดมานานตั้งแต่ 10 ปีก่อนแล้วให้เป็นที่ประจักษ์สิ้นสงสัย แต่ก็ไม่เคยทำสำเร็จสักที

เพียงแค่จะเริ่มต้นขยับคีย์บอร์ดแป้นพิมพ์ก็แพ้ภัยตัวเองมาตลอด เป็นอันต้องล้มเลิกทุกครั้ง

เพราะอะไรล่ะหรือ พระสิขีพุทธปฏิมาศิลาดำ ยุ่งยากถึงขนาดนั้นเชียว?

แน่นอนค่ะ ดิฉันจะสาธยายให้เห็นถึงความซับซ้อนซ่อนเงื่อน เกินกว่าจะชำระสะสางเรื่องนี้ได้สำเร็จให้ฟังทีละเปลาะๆ

ประการแรก ตำนานเรื่อง “พระสิขีพุทธปฏิมา” เขียนเป็นภาคผนวกอยู่แนบท้ายหนังสือ “ชินกาลมาลีปกรณ์” ซึ่งแต่งโดยพระรัตนปัญญาเถระ สมัยพระเมืองแก้วของล้านนา เมื่อ พ.ศ.2060 คือไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหาหลักที่เกี่ยวข้องกับตัวละครเด่นๆ เช่น พระนางจามเทวี พระญามังราย พระญากือนา

หากแต่เป็นการเขียนถึงแยกออกมาเป็นเรื่องเฉพาะ กึ่งตำนานกึ่งเรื่องจริง แถมยังเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยุคไหนแน่ก็ไม่รู้ ไม่มีการระบุศักราชที่แน่ชัด ชื่อบุคคล ตัวละคร สถานที่ เมืองต่างๆ ที่ปรากฏ ล้วนยุ่งเหยิงอุนุงตุงนังไปหมด เช่น เอาพระนางจามเทวี (1204-1260) มาอยู่ร่วมสมัยกับพระเจ้าอนิรุทธมหาราชแห่งพุกาม (1560-1600) เป็นต้น

ประการที่สอง ในเมืองลำพูน ลำปาง ณ ปัจจุบัน มีวัดหลายแห่งที่นักวิชาการให้ความเห็นว่าพระพุทธรูปองค์นั้น องค์นี้น่าจะเป็นพระสิขีพุทธปฏิมาศิลาดำ อยู่หลายองค์ ซึ่งแต่ละองค์บ้างก็เข้าเค้า บ้างก็ไม่เข้าเค้า องค์ที่เข้าเค้าคือพุทธลักษณะค่อนข้างเก่า ก็ยังหาหลักฐานไม่พบว่าเดินทางมาประดิษฐานอยู่ที่วัดนั้นๆ ได้อย่างไร ส่วนวัดที่พุทธศิลป์ไม่เข้าเค้า กลับเป็นสถานที่ที่เกี่ยวข้องใกล้เคียงตามที่ตำนานระบุ

ประการที่สาม พระสิขีพุทธปฏิมา ไม่ได้อยู่ในกลุ่มพระพุทธรูปที่มีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักของชาวล้านนาในวงกว้าง ไม่เหมือนกับพระเจ้าแก่นจันทน์ พระแก้วขาว จึงไม่ค่อยมีเบาะแสหรือคำบอกเล่าเชิงมุขปาฐะให้สืบค้นเรื่องราวในแง่มุมต่างๆ ได้อย่างหลากหลาย

กล่าวโดยสรุปก็คือ ตำนานไปทาง หลักฐานด้านโบราณคดีไปอีกทิศ แถมวัดต่างๆ ยังอ้างว่าพระพุทธรูปที่ทำจากหินรุ่นเก่าภายในวัดนั้นๆ ของพระคุณเจ้า น่าจะใช่สิขีปฏิมาศิลาดำองค์จริง

เรื่องนี้ยังไม่เคยเปิดเวทีเสวนากันมาก่อนเลย ดังที่ได้เรียนให้ทราบ เพราะไม่ใช่พระพุทธรูปกลุ่ม Popular

 

อโยชฌปุระของรัตนพิมพวงค์ vs อโยชฌปุระของชินกาลมาลีปกรณ์

ตํานานเรื่องพระสิขีพุทธปฏิมานี้ยาวประมาณ 2-3 หน้าเอสี่ ดิฉันชั่งใจมานานหลายปีว่าหากจะเขียนถึงเรื่องนี้ควรเริ่มต้นอย่างไรดีเพื่อไม่ให้ผู้อ่านสับสน ทั้งไม่เยิ่นเย้อน่าเบื่อ แต่ก็ต้องเก็บประเด็นให้ครบถ้วน

จะใช้วิธีตัดตอน โดยหยิบเอาเฉพาะจุดสำคัญที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่ดิฉันสนใจนำมาวิเคราะห์เท่านั้นก็พอจะดีหรือไม่ หรือควรจะเอาต้นฉบับตำนานมาลงให้อ่านกันแบบเต็มๆ ไปเลยเสียก่อน หรือจะใช้วิธีเขียนไปย่อหน้าหนึ่งแล้วหยุดวิเคราะห์ทีละส่วนๆ เอาไงดี ในที่สุดดิฉันก็คิดว่าน่าจะใช้วิธีหลัง

ถ้าเช่นนั้น ขอเริ่มเลยนะคะ จะไล่จากบรรทัดแรกไปทีละย่อหน้า แล้วหากมีอะไรสะดุด ก็จะหยุดตั้งคำถามอธิบายแทรกทีละประเด็น

“ในปีกุนนั้น กษัตริย์อโยชฌปุระ ยกพลนิกายมานครเขลางค์ จริงอยู่กษัตริย์อโยชฌปุระนั้น เสด็จมานครเขลางค์ เมื่อวันอังคาร เดือนอ้าย แล้วยึดเอาพระพุทธปฏิมาชื่อ สิขี ไปจากวัดกู่ขาว ขอเล่าเรื่องการอุบัติของพระพุทธปฏิมา ชื่อ สิขี ซึ่งสถิตอยู่ในวัดกู่ขาวต่อไป”

แค่ย่อหน้าแรกก็มึนแล้ว จะถอดรหัสอย่างไรดี ใครทำอะไรที่ไหนอย่างไรกับใคร ดูเผินๆ คล้ายว่า ก็บอกข้อมูลมาตั้งเยอะแล้วนี่นา ทั้งปีกุน วันอังคาร เดือนอ้าย (when) ทั้งกษัตริย์อโยชฌปุระ (who) ทั้งสถานที่ที่เกิดเรื่องคือเขลางค์นคร (where) ทั้งกริยาที่มายึดเอาพระสิขีพุทธปฏิมาไป (what) กระจ่างขนาดนี้ยังจะเคลือบแคลงอะไรอีก

ขอประทานโทษด้วยจริงๆ ปีกุนนั้น ไม่ทราบว่ารอบไหน อย่างน้อยก็น่าจะบอกว่าในรอบ พ.ศ.1800 กว่า หรือ 1900 กว่า หรือ 2000 กว่า นี่ไม่ทราบเลยจริงๆ ว่าควรจะอยู่ในช่วงศตวรรษใด

กษัตริย์อโยชฌปุระนั้นเล่า พระองค์คือใคร มาดูกันตั้งแต่คำว่า “อโยชฌปุระ” ก่อน คำนี้เผินๆ ก็คล้ายว่าง่ายอีก แต่อย่าเพิ่งรีบด่วนสรุปนะคะว่าหมายถึง อโยธยา อยุธยา แบบชั้นเดียว เพราะคำคำนี้ ในตำนานพระแก้วมรกตเคยสร้างความสับสนงุนงงมาแล้วครั้งหนึ่ง

เพราะบอกว่า “อโยชฌยา” ตั้งอยู่เหนือรัฐละโว้ขึ้นไปตอนบน แถมมีกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ชื่อ อาทิตยราช อ้าว! ไปๆ มาๆ อโยชฌยาในความเข้าใจของพระโพธิรังสี ผู้แต่งรัตนพิมพวงค์ หมายถึงลำพูนหรือนี่ แล้วพระรัตนปัญญาเถระล่ะ อโยชฌยาตามความเข้าใจของท่านจะหมายถึงที่ใดอีกหนอ?

ไม่รู้ละว่าปีไหน และกษัตริย์จากแว่นแคว้นใด (แต่หากอโยชฌปุระในชินกาลมาลีปกรณ์เกิดหมายถึงลำพูน-หริภุญไชย คงแปลกพิลึก ที่อยู่ๆ เมืองแม่จะไปตีเมืองลูก หรือเมืองพี่จะไปตีเมืองน้อง) แต่ที่แน่ๆ เมืองลำปางหรือเขลางค์นคร เคยมีพระพุทธรูปองค์หนึ่งชื่อ “สิขี” อยู่ที่วัดกู่ขาวจริง ต่อมาได้ถูกกษัตริย์จากอโยชฌปุระองค์นั้นนำเอาไป (ไว้ที่ไหน?) เมื่อวันอังคาร เดือนอ้าย (โอ๊ย! บอกวันและเดือนจะได้ประโยชน์อันใดเล่า ตราบที่ไม่บอกปีศักราช)

กล่าวโดยสรุปจากแค่ย่อหน้าแรกย่อหน้าเดียว ประมาณว่ามีการย้ายพระสิขีพุทธปฏิมาจากกู่ขาวไปไว้ที่อื่น ซึ่งเราไม่ทราบว่าเหตุการณ์นี้อยู่ในช่วงใดของประวัติศาสตร์ และเป็นแค่นิทานเล่ากันสนุกๆ หรือว่าเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้น ถ้าสมมติว่าอโยชฌปุระในที่นี้หมายถึง กรุงศรีอยุธยา เหตุการณ์ก็ย่อมเกิดขึ้นก่อนสมัยสมเด็จพระไชยราชาอย่างแน่นอน เพราะชินกาลมาลีปกรณ์เขียนเมื่อ พ.ศ.2060 สมัยพระเมืองแก้ว ตรงกับสมัยพระไชยราชา

ถ้าเอาตามทฤษฎีนี้ ปัจจุบันพระสิขีพุทธปฏิมา ก็ต้องประดิษฐานอยู่ในพระนครศรีอยุธยาหรือเช่นไร แล้วอยู่ที่ไหนกันเล่า?

แล้วลำปางมีวัดที่ชื่อ “กู่ขาว” ไหม คำตอบคือมี เป็นโบราณสถานเก่าแก่ที่เชื่อกันว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยพระนางจามเทวี และเจ้าอนันตยศ (โอรสแฝดน้อง ผู้ที่พระนางจามเทวีส่งมาครอบครองเมืองเขลางค์นคร) นั่นเทียว

ถ้าเอาตามนี้ ก็แสดงว่า ข้อความในย่อหน้าแรก เป็นการเปิดประเด็นเรื่องที่จะเขียนด้วยการใช้เทคนิคแบบ Flash Back หรือเล่าเรื่องย้อนหลัง โดยเปิดฉากที่เหตุการณ์ปัจจุบัน ว่ากษัตริย์อโยชฌปุระองค์หนึ่งมาเอาพระสิขีพุทธปฏิมาไปจากเมืองเขลางค์

 

โยงไกลถึงพุทธกาล
ทำไมต้อง “หินดำ”?

ย่อหน้าที่สอง พรรณนาต่อไปว่า

“ได้ยินว่า ยังมีหินดำก้อนหนึ่ง ทางด้านฝั่งตะวันตกแม่น้ำ ไม่ไกลอโยชฌปุระ (มาอีกแล้วชื่อนี้) ครั้งหนึ่ง พระผู้มีพระภาคของเราเมื่อดำรงพระชนม์ชีพอยู่ แวดล้อมด้วยพระขีณาสพทั้งหลาย เสด็จมาทางอากาศแล้วลงมายังที่นั้น ประทับนั่งบนก้อนหินดำนั้น ตรัสทารุกขันธูปมสูตร แก่พระภิกษุทั้งหลาย ตั้งแต่นั้นมา หินดำก้อนนั้น เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายกราบไหว้บูชาเป็นนิตย์ตลอดมา เพราะฉะนั้น หินดำก้อนนั้น จึงมีชื่อปรากฏว่า อาทรศิลา และหินดำก้อนนั้น ผู้เเฒ่าผู้แก่ชาวรัมมนะประเทศทั้งหลายเรียกด้วยภาษาของตนว่า สีลาธิมิ แปลว่า พระหิน เพราะเล็งเอาเหตุที่ศิลานั้นมีผู้นับถือบูชา”

อันที่จริงย่อหน้าที่สองนี้ยังไม่จบ แต่ยาวเหยียดเกือบหนึ่งหน้าเอสี่ จึงตัดตอนเอาเท่านี้ก่อนนะคะ เดี๋ยวจะยาวเกินไป เรามาดูทีละปมๆ

โผล่มาอีกแล้ว อโยชฌปุระที่รัก จะเป็นเมืองเดียวกันกับที่ปรากฏในย่อหน้าแรกหรือไม่ หากเป็นเมืองเดียวกัน ก็แสดงว่า กษัตริย์จากเมืองนี้เขามาเอา “หินดำ” ของเขาคืนหรือเช่นไร เพราะเมืองของเขาคือจุดเริ่มต้นสร้างพระหินดำ?

ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำ สายใดเล่า? ก็ไม่บอก และโยงไกลถึงยุคพุทธกาล ถ้าเช่นนั้นก็ควรเป็น อโนมานที เนรัญชลา คงคา หรือยมุนา ไหม? หรือจะให้พระพุทธเจ้าเสด็จเลียบโลกมาแถวใดในสุวรรณภูมิ?

คือสถานที่นั้นไม่รู้อยู่ในอินเดียหรือที่ไหน เพราะอินเดียก็มีเมืองอโยธยา จู่ๆ พระพุทธเจ้าก็เหาะมานั่งบนหินดำก้อนหนึ่ง ณ เมืองที่ชื่ออโยชฌปุระ แล้วตรัสเทศน์ “ทารุกขันธูปมสูตร”

เช็กข้อมูลดูแล้ว “ทารุกขันธูปมสูตร” เป็นชื่อพระสูตรที่อยู่ใน สฬายตนวัคค สํยุตตนิกาย ว่าด้วยโทษของนักปฏิบัติที่หากทำไม่ถูกวิธี อุปมาดั่งท่อนไม้ลอยน้ำไปสู่มหาสมุทรอันเคว้งคว้างนั่นแล

น่าสงสัยว่า “หินดำ” จะให้แรงบันดาลใจอะไรต่อเรื่องราวของ “แท่นมนังศิลาอาสน์” ที่ปรากฏในศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ 1 ของพ่อขุนรามคำแหงบ้างหรือไม่

ที่แน่ๆ เรื่องราวของ “หินดำ” นี้ได้ปรากฏขึ้นในตำนานพระเจ้าเลียบโลก ตอนที่พระพุทธองค์เสด็จมายังเมืองลำพูน ณ จุดที่กลายเป็นพระธาตุหริภุญไชยในปัจจุบันนี้ ก็มีการเขียนว่า ทรงประทับอยู่ที่ฝั่งตะวันตกของแม่ระมิงค์ บน “แท่นหินดำ”

ต้องถอดรหัสให้ได้ว่า “หินดำ” คืออะไรกันแน่ ทำไมไม่ “หินขาว” หรือสีอื่นๆ เรื่องนี้ไม่ได้มาพูดจาล้อเล่นขำๆ นะคะ ดิฉันเชื่อว่าตำนานยุคก่อนมักซ่อนรหัสเอาไว้ เช่น กาเผือก กาดำ ก็ตีความกันได้แล้วว่าหมายถึง ชาวอารยันกับทมิฬ หรือคนอินเดียตอนเหนือกับชนพื้นเมืองทางสุวรรณภูมิ

ส่วนในที่นี้ใช้คำว่า หินดำ แต่สีขาวกลับเป็นวัสดุอื่น นั่นคือ “แก้วขาว” (พระแก้วขาว พระพุทธปฏิมาอีกองค์ที่มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน ซึ่งมีตำนานประกบคู่กันมาว่าพระพุทธรูปทั้งสององค์มีความเกี่ยวข้องกับพระนางจามเทวี) น่าจะเป็นสัญลักษณ์คู่ตรงข้ามอะไรหรือไม่

คำว่า “อาทรศิลา” (หินที่ผู้คนนับถือ) ก็ดี “สีลาธิมิ” (หินที่คนบูชา) ก็ดี อดไม่ได้ที่จะชวนให้นึกถึง “หินดำที่เมืองเมกกะห์” หินศักดิ์สิทธิ์ของผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งเรียกว่า “กะบะห์” หินดำทั้งสองศาสนานี้ น่าจะมีนัยอะไรที่อาจสื่อถึงกันอยู่บ้าง อย่างน้อยก็เรื่องอำนาจความศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าศึกษาค้นคว้าต่อไป

ส่วน “รัมมนะประเทศ” ในที่นี้หมายถึงเมืองรามัญ แต่จะเป็นมอญแถบสะเทิม (สุธัมมวดี) หงสาวดีในพม่า หรือมอญสุพรรณภูมิ นครปฐม ละโว้ในสยามยุคทวารวดี หรือไม่ก็มิอาจทราบได้ เพราะในอดีตกลุ่มชนชาวมอญกระจายตัวอยู่ในหลายพื้นที่

แต่ก็อีกนั่นแหละ ในยุคพุทธกาลที่พระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่ ขณะนั้นเมืองสะเทิมกับหงสาก่อเกิดเป็นถิ่นอาศัยของประชากรชาวรามัญแล้วล่ะหรือ?

บอกแล้วว่าอย่าให้ถอดทุกเม็ด ตีแตกจับผิดทุกประเด็น บทความนี้คงต้องใช้เวลาไล่เรียงกันต่ออีกหลายสัปดาห์ กว่าจะเคลียร์เรื่องพระหินดำให้ทะลุปรุโปร่ง โปรดติดตามอ่านกันยาวๆ