จีนยุคบุราณรัฐ : ร้อยสำนักเปล่งภูมิ (4)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล
ขงจื๊อ

ขงจื่อกับสำนักหญู (ต่อ)

อู่จิง หรือที่การศึกษาในที่นี้เรียกว่า เบญจปกรณ์ นั้น ประกอบไปด้วยปกรณ์ 5 เล่มที่ให้ความรู้ในด้านต่างๆ จนอาจกล่าวได้ว่า หากพิจารณาจากยุคที่วิทยาศาสตร์หรือวิทยาการยังมิได้เจริญก้าวหน้าในสมัยนั้นแล้ว ความรู้ที่ปรากฏในอู่จิง ถือได้ว่าเป็นความรู้ที่ครอบคลุมในด้านที่สำคัญๆ แทบจะทุกด้าน

และเป็นความรู้เท่าที่มนุษย์ในสมัยนั้นพึงจะยึดถือสำหรับการดำเนินชีวิต แต่จะยึดได้มากน้อยเพียงใดย่อมขึ้นอยู่กับความเป็นจริง

และต่อไปนี้คือสาระโดยสังเขปของคัมภีร์หรือปกรณ์แต่ละเล่มในอู่จิง

ก.1 ซือจิง (กาพยปกรณ์, Classic of Songs, The Book of Songs)¹ ก่อนที่จะมาเป็นซือจิง ที่รู้จักกันในทุกวันนี้ ปกรณ์ชิ้นนี้ก็มีชะตากรรมไม่ต่างไปจากปกรณ์ชิ้นอื่นที่ถูกจักรพรรดิฉินสื่อทรงมีประกาศิตให้เผา

แต่ภายหลังจากที่ราชวงศ์ฉินล่มสลายไปแล้วต่อด้วยราชวงศ์ฮั่น การค้นหาปกรณ์ผ่านปราชญ์ที่ยังมีชีวิตอยู่จึงมิใช่เรื่องยาก ปราชญ์เหล่านี้จึงช่วยกันฟื้นฟูปกรณ์ต่างๆ ขึ้นมาใหม่

ขณะที่บางคนอาจซุกซ่อนหรือเก็บรักษาปกรณ์บางชิ้นเอาไว้ให้ปลอดภัยจากการเผาไปได้

ในกรณี ซือจิง หรือ กาพยปกรณ์ ที่รอดจากการเผานี้เมื่อได้รับการฟื้นฟูในสมัยราชวงศ์ฮั่น ว่ากันว่ามีอยู่ 4 สำนวน ต่อมามีอยู่ 3 สำนวนที่สูญหายไป คงเหลือเพียงสำนวนเดียวที่ตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน

สำนวน ซือจิง ที่เหลือตกทอดเพียงสำนวนเดียวนี้มีบทกวีอยู่ 311 บท ในจำนวนนี้มีที่เป็นคำกวีจริงๆ อยู่ 305 บท อีก 6 บทไม่มีคำกวี มีแต่เพียงชื่อของบทกวี กรณีที่ 6 บทหลังเป็นเช่นนี้มีความเห็นของปราชญ์ว่ากันไปต่างๆ นานา บ้างก็ว่าทั้งหกบทนี้เป็นชื่อของทำนองดนตรีจึงไม่มีคำกวี บ้างก็ว่าเป็นบทที่มีคำกวี แต่ได้ตกหล่นสูญหายไปเหลือเพียงแต่ชื่อ ความเห็นที่ว่านี้จึงไม่มีมติไปในทางใดทางหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม จำนวนที่ยังมีอยู่ 305 บทนี้สามารถแยกตัวบทกวีเป็น 3 ลักษณะด้วยกันคือ²

ลักษณะแรก เฟิง (กลอนพื้นเมือง) ซึ่งอยู่ใน 2 เขตกับอีก 13 รัฐที่ตั้งอยู่แถบลุ่มแม่น้ำฮว๋างที่เจ้าพนักงานรวบรวมมาเสนอต่อผู้นำของตน เพื่อให้ผู้นำรับทราบถึงรีตและชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรในปกครอง

ลักษณะที่สอง หย่า (วิจิตร) เป็นบทกวีที่ชนชั้นสูงหรือขุนนางแต่งถวายหรือให้กับผู้นำของตนสำหรับงานพิธีต่างๆ เช่น งานเลี้ยงรับรอง พิธีการสรรเสริญ หรือพิธีกรรมบวงสรวง เป็นต้น

ลักษณะที่สาม ซ่ง (สรรเสริญ) เป็นบทกวีที่ขุนนางชั้นสูงที่มีความสามารถในทางกาพย์เป็นผู้แต่งถวายกษัตริย์เพื่อใช้ในงานต่างๆ เช่น ราชพิธี รัฐพิธี พิธีบวงสรวงเทพยดาฟ้าดิน พิธีขอพร เป็นต้น งานเหล่านี้มักมีมโหรีประโคมและการรำหมู่ถวาย

ประเด็นที่น่าสนใจของลักษณะทั้งสามประการของซือจิงดังกล่าวอยู่ตรงที่ว่า บทกวีโดยส่วนใหญ่ถูกแต่งขึ้นในสมัยราชวงศ์โจว ซึ่งมีทั้งโจวตะวันตกและโจวตะวันออก และมีบางส่วนที่สันนิษฐานกันว่า หากไม่แต่งขึ้นในสมัยราชวงศ์ซางก็แต่งขึ้นเพื่อใช้เฉพาะในรัฐหลู่ (บ้านเกิดของขงจื่อ) บางส่วนที่ว่าก็คือบทกวีในลักษณะซ่ง

การที่บทกวีในซือจิงเกิดขึ้นในยุคสมัยที่ว่านี้ทำให้เห็นว่า เวลานั้นสังคมจีนมีความก้าวหน้าในทางวรรณศิลป์อยู่ไม่น้อย

และโดยที่หากไม่นับบทกวีที่แต่งขึ้นเพื่อสรรเสริญแล้ว บทกวีที่เหลือนอกนั้นมักสะท้อนภาพชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎร ซึ่งก็คือภาพชีวิตทางเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมของสังคมจีนขณะนั้นได้อย่างมีสีสัน

แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าการเป็นภาพสะท้อนที่ว่าก็คือ การที่ภาพเหล่านี้นับเป็นข้อมูลหนึ่งที่ทำให้เรารู้ถึงสภาพสังคมจีนในเวลานั้นไปด้วย³

เหตุดังนั้น ความสำคัญของซือจิง จึงใช่แต่จะอยู่ตรงความสูงส่งในฐานะปกรณ์หรือคัมภีร์เท่านั้น หากยังอยู่ตรงข้อมูลที่มีค่าต่อการศึกษาประวัติศาสตร์จีนอีกด้วย

ก.2 ซูจิง (รัฐตำนานปกรณ์, Classic of Document, The Book of History) ปกรณ์เล่มนี้มีอีกชื่อหนึ่งว่า ซ่างซู อันเป็นชื่อที่เรียกกันในชั้นหลัง ดังนั้น คำหลักของชื่อจึงอยู่ที่คำว่า ซู คำนี้โดยทั่วไปแปลว่า หนังสือ บันทึก ฯลฯ ความหมายเฉพาะปกรณ์เล่มนี้หมายถึง บันทึก แต่จะบันทึกเรื่องราวใดนั้น

พึงกล่าวถึงคำว่า ซ่างซู ที่เป็นอีกชื่อหนึ่งของปกรณ์เล่มนี้ประกอบด้วย คำสำคัญของชื่อนี้อยู่ที่คำว่า ซ่าง ซึ่งโดยทั่วไปจะหมายถึง เคารพนับถือ ศรัทธาเลื่อมใส บูชา เป็นต้น

แต่เฉพาะกับชื่อปกรณ์นี้แล้ว แหล่งอ้างอิง ฉือไห่ (มหาศัพทานุกรม) ของจีนระบุว่า คำว่า ซ่าง นี้มีความหมายเดียวกับอีกคำหนึ่งที่ออกเสียงเหมือนกัน ที่แปลว่า บน เบื้องบน ฯลฯ อันเป็นคำที่มีบริบทการใช้ที่กว้างขวางมาก แต่กับกรณีนี้แล้วหมายถึง ก่อนหน้า แต่กาลก่อน หรือแต่เก่าก่อน ฯลฯ สุดแท้แต่รูปประโยคที่จะผูกขึ้นมาในแต่ละบริบท

จากความหมายข้างต้นทำให้เข้าใจได้ว่า ชื่อปกรณ์เล่มนี้มีความหมายในทำนองว่า เป็นคัมภีร์ ตำรา หรือปกรณ์ที่บันทึกเรื่องราวแต่กาลก่อน ด้วยเหตุนี้ จึงไม่แปลกที่ชื่อปกรณ์เล่มนี้ในภาษาอังกฤษจึงใช้ว่า The Book of History หรือ Classic of Document โดยชื่อหลังนี้สื่อความหมายในทำนองจดหมายเหตุ

ความหมายที่กล่าวมานี้จึงทำให้เข้าใจในเบื้องต้นได้ว่า ซ่างซู เป็นปกรณ์ที่นำเสนอเรื่องราวในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ดังนั้น เมื่อกลับไปที่ชื่อแรกที่เป็นชื่อเดิมคือ ซูจิง แล้ว คำว่า ซู จึงหมายถึง บันทึก และบันทึกนี้ก็คือบันทึกประวัติศาสตร์

แต่กล่าวในแง่รายละเอียดของเนื้อหาแล้วก็จะพบอีกว่า แม้ ซูจิง จะบอกเล่าเรื่องราวในเชิงเหตุการณ์ในอดีตก็จริง แต่รายละเอียดในบางแง่มุม ซูจิง ยังได้กล่าวถึงระบบและแนวคิดการเมืองการปกครองในขณะนั้นอีกด้วย

และคงด้วยเหตุนี้เองที่มีผู้รู้บางท่านจึงเรียกปกรณ์นี้ว่า คัมภีร์รัฐศาสตร์

ส่วนการศึกษาในที่นี้เรียกว่า รัฐตำนานปกรณ์ ด้วยเห็นว่าเป็นปกรณ์ที่บอกเล่าเหตุการณ์และระบบการเมืองการปกครองในอดีต คือเป็นประวัติศาสตร์และรัฐศาสตร์ตั้งแต่ยุคตำนานจนถึงยุคต้นประวัติศาสตร์ โดยที่คำว่า “ตำนาน” นี้นอกจากจะหมายถึงเรื่องที่เล่าสืบต่อกันมา (โดยที่อาจมีหรือไม่มีหลักฐาน) แล้ว ในอดีตเมื่อครั้งที่ยังไม่มีคำว่า “ประวัติศาสตร์” ให้ใช้กันนั้น คำนี้ยังถูกใช้แทนคำว่า “ประวัติศาสตร์” อีกด้วย

กล่าวสำหรับซูจิงที่เป็นตัวเล่มแล้วก็มีความเป็นมาไม่ต่างไปจากปกรณ์เล่มอื่นๆ ที่ในด้านหนึ่งได้ตกเป็นเหยื่อของการถูกเผาในสมัยจักรพรรดิฉินสื่อ แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ยังมีผู้รักษาด้วยการแอบซ่อนเอาไว้จนเหลือรอดมาได้

ซึ่งในทางวิชาการด้านประวัติศาสตร์แล้วย่อมเป็นหนี้บุญคุณวิชาธรผู้มีนามว่า ฝูเซิง อดีตเคยเป็นขุนนางทางด้านประวัติศาสตร์ของราชสำนักฉิน แต่ครั้งที่จักรพรรดิฉินสื่อทรงมีประกาศิตให้เผาตำรับตำราของสำนักต่างๆ นั้น ฝูเซิงได้นำปกรณ์เล่มนี้ไปซ่อนไว้ในซอกหลืบของกำแพง ครั้นพอเกิดศึกเพื่อโค่นล้มราชวงศ์ฉิน เขาก็หนีออกจากราชสำนัก

รอจนฉินล่มสลายและถูกแทนที่ด้วยฮั่นซึ่งเป็นราชวงศ์ใหม่แล้ว เขาจึงกลับมารับราชการอีกครั้ง


¹คำว่า กาพย์ ในพจนานุกรมทั่วไปจะหมายถึง คำประพันธ์ประเภทหนึ่งที่มีอยู่หลายแบบ เช่น กาพย์ยานี กาพย์ฉบัง เป็นต้น หรือหากมีคำว่า กลอน กำกับต่อท้ายเป็น กาพย์กลอน จะหมายถึง คำร้อยกรอง ซึ่งอาจไม่เข้ากับการที่จะบัญญัติคำว่า ซือจิง ว่า กาพยปกรณ์ แต่ที่บัญญัติเป็นเช่นนี้ก็เพราะได้พบใน ราเมศ เมนอน, “บทนำ,” รามายณะ, วรวดี วงศ์สง่า แปล (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์เมืองโบราณ, 2551), หน้า 14. ที่เขียนขึ้นด้วยสำนวนร่วมสมัยกล่าวถึงคำเรียกขานวรรณกรรมร้อยกรองเรื่องนี้ด้วยคำว่า อธิกาพย์ (Adi Kavya) หรือกาพย์ชิ้นแรกของโลก แล้วให้ความหมายของคำว่า กาพย์ ว่าหมายถึง งานเขียนของผู้ที่เรียกว่ากวี (Kavi) หรือ “ผู้มีทัศน์” ซึ่งหมายถึง กวีผู้มีสายตากว้างไกล งานศึกษานี้เห็นว่า กาพย์ อันเป็นคำที่มีต้นธารมาจากชมพูทวีปให้ความหมายที่ลึกซึ้ง ซึ่งสอดคล้องกับฐานะการเป็นร้อยกรองของ ซือจิง จึงได้บัญญัติเป็นคำว่า กาพยปกรณ์ ด้วยประการฉะนี้

²เนื้อหาและศัพท์บัญญัติเกี่ยวกับ ซือจิง ในที่นี้คงตามผลงานอันดีเยี่ยมของ ยง อิงคเวทย์ ผู้แปลและเรียบเรียงบางบทของ ซือจิง (2535) มาสู่สยามพากษ์

³ข้อมูลหรือความรู้นี้อาจดูตัวอย่างได้จากบทกวีที่เลือกแปลมาเป็นไทยเฉพาะบางบทโดยฝีมืออันเป็นเลิศของยง อิงคเวทย์ ที่ไม่เพียงจะแปลเป็นไทยด้วยถ้อยคำที่ลงตัวและไพเราะสอดคล้องกับตัวบทในภาษาจีนเท่านั้น หากเนื้อหาของแต่ละบทต่างก็สะท้อนภาพชีวิตความเป็นอยู่ของสังคมจีนทั้งสิ้น