“ประเทศเล็กที่สมบูรณ์” การสำรวจภาพจำของอีสาน ผ่านปกหนังสือ

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ในตอนนี้ขอพูดถึงนิทรรศการศิลปะน่าสนใจที่เราได้ไปดูมากันอีกนิทรรศการ

นิทรรศการนี้มีชื่อว่า

“ประเทศเล็กที่สมบูรณ์”

ป้ายกระจกปิดทอง“ประเทศเล็กท่ีสมบูรณ์”

นิทรรศการแสดงเดี่ยวของประทีป สุธาทองไทย ศิลปินชาวกรุงเทพฯ ผู้ย้ายถิ่นฐานไปอาศัยและทำงานที่ภาคอีสาน จังหวัดมหาสารคาม

โดยเขาเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

ประทีปนำเสนอผลงานศิลปะในนิทรรศการนี้ในรูปแบบของภาพวาดซึ่งเป็นผลลัพธ์ของความสนใจเกี่ยวกับภาพจำของอีสาน

ทั้งการสร้างความเป็นอีสานผ่านข้อเขียนทางประวัติศาสตร์

ประวัติศาสตร์สตรีไทย

และในรูปแบบของสิ่งตีพิมพ์อย่างหนังสือ ที่มีส่วนในการหล่อหลอมภาพจำของอีสานมาตั้งแต่ยุคสงครามเย็น

ประทีปเลือกนำหนังสือเก่าแก่คร่ำคร่า ปกหลุดร่อน เลือนราง ซีดจาง และถูกทอดทิ้งในกาลเวลาอันยาวนาน มาจำลองขึ้นใหม่ในรูปของภาพวาดเหมือนจริง

วาดด้วยสีน้ำมันบนผ้าใบ เพื่อสำรวจการถือกำเนิดและหมดอายุไขของความรู้และประโยชน์ของหนังสือ ที่เคยทำหน้าที่เป็นอุบายในการสนับสนุนวาทกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเพื่อโฆษณาอุดมการณ์ชาตินิยม, ภูมิภาคนิยม หรือเพียงเพื่อเล่าเหตุการณ์ปัจจุบัน (ในสมัยนั้น)

ที่ตอนนี้กลายเป็นอดีตอันไกลโพ้นไปแล้ว

ดร.ปรีดี พนมยงค์ กับ แผนการณ์มหาชนรัฐ

“พื้นฐานของงานชุดนี้คือ ผมชอบเข้าห้องสมุดบ่อยๆ เพราะผมต้องสอนวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะไทย ด้วยความที่เราเป็นคนกรุงเทพฯ ปกติเราจะมีพื้นฐานในการอ่านประวัติศาสตร์ศิลปะไทยมาก่อน แต่พอไปสอนที่โน่นมาหลายปี ผมรู้สึกว่าในประวัติศาสตร์ศิลปะไทยไม่ค่อยมีเรื่องอีสานอยู่ ผมก็เลยคิดว่าต้องหาข้อมูลเพิ่มเติมลงไปว่า ถ้าเทียบกับยุคของประวัติศาสตร์ไทยในแต่ละยุคนั้น ภาคอีสานทำอะไรบ้าง”

ชีวิตและงาน ของ สฤษดิ์ ธนะรัตน์ จอมพลผู้พิชิต

“มันก็เป็นข้อมูลที่ผมค่อยๆ เก็บมาตลอดระยะเวลาประมาณ 10 ปี พอเริ่มจับตรงนี้จริงจัง ในช่วงสามสี่ปีที่ผ่านมา ผมพบว่า ในฐานะคนนอก เรามีภาพเกี่ยวกับอีสานที่ค่อนข้างจะโรแมนติก ภาพเหล่านี้ของอีสานเป็นภาพที่คนสร้างขึ้นมาโดยมีประเด็นบางอย่างแฝงอยู่ในนั้น”

“ผมก็เลยไปรื้อค้นดูว่ามีปัจจัยอะไรบ้างในการสร้างสิ่งเหล่านี้ ระหว่างที่เข้าห้องสมุดของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ไปค้นข้อมูล ผมก็เจอหนังสือเก่าๆ เยอะมาก แต่ละเล่มสภาพแย่มากๆ ผมก็เลยถ่ายรูปเก็บเอาไว้ ประจวบกับช่วงหนึ่งผมคิดว่าอยากกลับมาวาดรูป เพราะผมเรียนมาทางสาขาจิตรกรรม แต่ก็หยุดวาดรูปมานาน ก็เลยเอาภาพถ่ายปกหนังสือเก่าๆ ที่สะสมไว้มาดูว่ามันมีประเด็นอะไรบ้าง”

“ผมพบว่า ผมสนใจภาพที่ถูกใช้บนปกหนังสือ รวมถึงชื่อหนังสือ และแบบตัวหนังสือบนปก ก็เลยเอาปกหนังสือพวกนี้มาเป็นแบบเพื่อใช้วาดรูปขนาดเท่าจริง”

นอกจากศิลปินจะทำการจำลองปกหนังสือเก่าคร่ำคร่าเหล่านี้ออกมาเป็นภาพวาดเหมือนจริงฝีมือจัดจ้าน ที่เก็บทุกรายละเอียด ทั้งร่องรอยหลุดร่อน เก่า ซีดจางไปตามกาลเวลา จนแทบจะดูเหมือนเอาภาพถ่ายหนังสือเล่มจริงมาแสดงให้ดูแล้ว

สิ่งที่น่าสนใจอีกประการของภาพวาดปกหนังสือเหล่านี้ก็คือชื่อของหนังสือ ที่สื่อสารถึงประเด็นบางอย่างเกี่ยวกับภาพจำของอีสานออกมา

ยกตัวอย่างเช่น ภาพปกหนังสือ “ไม่มีเสียงหัวเราะจากอีสาน” ที่ศิลปินเล่าว่า หนังสือเล่มนี้ถูกพิมพ์ออกมาด้วยเหตุที่ในปี พ.ศ.2497 มีคำเล่าลือหนาหูว่าอีสานกำลังจะอดตาย กำลังจะกลายเป็นทะเลทราย

ไม่มีเสียงหัวเราะจากอีสาน

นักข่าวท่านหนึ่งจากสำนักพิมพ์สยามรัฐจึงนั่งรถไฟมุ่งหน้าไปยังอีสานเพื่อต้องการดูให้เห็นกับตา

รายงานของเขาจากภาคอีสานถูกรวบรวมตีพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือเล่มนี้โดยใช้นามปากกา “นายรำ”

นอกจากหนังสือเล่มนี้จะพิมพ์ขึ้นมาเพื่อวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลในยุคนั้น ที่ทอดทิ้งดินแดนอีสานจนแห้งแล้ง มันยังเป็นการรายงานสภาพความเป็นอยู่ในแดนอีสานจากสิ่งที่เขาเห็น ให้ชาวไทยในยุคที่การสื่อสารยังไม่กว้างไกลไร้พรมแดน หากแต่เป็นการกระซิบกันปากต่อปากผ่านการเดินทางด้วยรถไฟได้รับรู้

ที่น่าสนใจก็คือ ภาพที่ผู้เขียนเลือกเป็นปกหนังสือเล่มนี้เป็นภาพของประติมากรรมนูนต่ำ รูปผู้หญิงกำลังร่ำไห้ขณะที่อุ้มทารก ที่ประดับอยู่บนสะพานมหาดไทยอุทิศ หรือที่ชาวบ้านเรียกสะพานร้องไห้

ประติมากรรมนูนต่ำดังกล่าวถูกสร้างขึ้นเพื่อแสดงความเศร้าโศกของราษฎรเมื่อคราวพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ.2453 ก็แฝงนัยยะที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

หรือภาพวาดหนังสืออีกเล่มอย่าง “นิทานร้อยบรรทัด เล่ม 4 เรื่องประเทศเล็กที่สมบูรณ์ ซึ่งประทีปหยิบเอาส่วนหนึ่งของชื่อหนังสือมาตั้งเป็นชื่อนิทรรศการนี้นั่นเอง

นิทานร้อยบรรทัดเล่ม๔
เร่ืองประเทศเล็กที่สมบูรณ์

“ผมสนใจอีสานในช่วงเวลาประมาณปี พ.ศ.2500 หรือในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา เพราะสมัยนั้นอีสานมีความเปลี่ยนแปลงในด้านการพัฒนาตั้งแต่สมัยของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ประกอบกับแนวคิดเกี่ยวกับชนบทและการศึกษาชนบทในกรอบของมานุษยวิทยา ซึ่งผมสนใจประเด็นเรื่องอีสานกับความเป็นชนบทที่ถูกมองจากส่วนกลาง แล้วบังเอิญว่าหนังสือนี้เป็นแบบเรียนของนักเรียนชั้นประถมที่ใช้ในโรงเรียนทั่วไปตั้งแต่ปี พ.ศ.2503-2521 ผมเลยเอาส่วนหนึ่งของชื่อหนังสือเล่มนี้มาใช้เป็นชื่อนิทรรศการ เพราะแบบเรียนก็มีอิทธิพลในการสร้างภาพจำให้กับคนได้”

“เนื้อหาที่อยู่ในเล่มนี้ก็ขยายความจากแนวคิดในช่วงสงครามเย็นที่มองว่าในโลกมีประเทศใหญ่ๆ ที่เป็นมหาอำนาจ ในขณะที่บ้านเราเป็นประเทศเล็กๆ มีวิถีชีวิตที่มีความอุดมสมบูรณ์”

“ชื่อปกหนังสือเล่มนี้มันพูดอะไรได้เยอะ ผมคิดว่ารัฐบาลในยุคนั้นมีอำนาจในการจัดการความรู้ กำหนดให้คนรับรู้และคิดอะไรได้ ด้วยการสร้างภาพบางอย่างให้คนเห็นและเชื่อว่ามันเป็นอย่างนั้น”

นอกจากผลงานภาพวาดหนังสือเก่าหลากหลายปกแล้ว ในนิทรรศการนี้ยังมีผลงานวิดีโอจัดวางอย่าง “อีสานฉันรู้ คุณเข้าใจ ฉันรู้ คุณเข้าใจอีสาน” (2018) ที่ประทีปทำร่วมกับศิลปิน ไพศาล อำพิมพ์ ภาพในวิดีโอฉายให้เราเห็นสิ่งที่ขัดแย้งกับเรื่องราวในหนังสือ “ไม่มีเสียงหัวเราะจากอีสาน” ที่พูดถึงความแห้งแล้ง อดอยากยากไร้ของภูมิภาคอีสาน

วิดีโอจัดวางอีสานฉันรู้คุณเข้าใจฉันรู้คุณเข้าใจอีสาน

โดยส่วนหนึ่งของวิดีโอชิ้นนี้แสดงให้เห็นภาพงานบุญในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ที่มีชาวบ้านมากมายมาร่วมทำอาหารฉลองอย่างยิ่งใหญ่อลังการ ผิดกับภาพทะเลทรายแห้งแล้งหรือดินแตกระแหงแห้งผากของอีสาน ที่มักจะถูกนำเสนอบนปกหนังสือบางเล่ม

“คือสมัยก่อนอีสานอยู่ไกลมาก แล้วข่าวสารก็ยังมาไม่ค่อยถึงส่วนกลาง มันก็จะมีข่าวลือว่าคนอีสานอดอยากจนกลายเป็นภาพจำ ภาพดินแตกระแหงมันเป็นภาพจำของอีสานที่ทรงพลังและติดตามากๆ ตอนก่อนที่ผมจะไปสอนที่อีสาน ผมยังนึกภาพเลยว่ามันจะเป็นยังไง พอไปถึงก็เห็นว่ามันไม่แห้งแล้งเหมือนภาพที่เราดูมาตั้งแต่เด็กๆ เลย”

“พอได้ไปสัมผัสจริงๆ ผมพบว่าอีสานมีความหลากหลายมาก”

นอกจากภาพวาดและวิดีโอจัดวางแล้ว ในนิทรรศการยังมีผลงานศิลปะในรูปของกระจกปิดทองแบบโบราณ

โดยชิ้นหนึ่ง เขียนเป็นชื่อของนิทรรศการแขวนอยู่สูงบนผนัง จนดูคล้ายกับป้ายชื่อของร้านค้าเก่าแก่โบราณ

ส่วนอีกชิ้นเป็นบานกระจกปิดทอง เขียนประโยคคัดลอกจากบทอาขยานภาษาไทย ที่หลายคนน่าจะคุ้นเคยกันดีอย่าง มีเงินนับว่าน้อง มีทองนับว่าพี่ ซึ่งมีที่มาจากแบบหัดอ่านภาษาไทยของแบบเรียนศึกษาผู้ใหญ่ตั้งแต่ปี พ.ศ.2497

บานกระจกปิดทอง“มีเงินนับว่าน้องมีทองนับว่าพี่”

และในช่วงระยะเวลาท้ายๆ ของนิทรรศการ ก็จะมีการแสดงศิลปะแสดงสด ที่เป็นการร่วมงานของประทีป กับ ดุจดาว วัฒนปกรณ์ นักสร้างสรรค์ศิลปะแห่งการเคลื่อนไหวเพื่อการสื่อสารและบำบัดจิตใจคนแรกของประเทศไทย

โดยดุจดาวจะทำงานศิลปะการแสดงสด ที่ได้แนวคิดมาจากหนังสือ “สัตว์มนุษย์” (2519) ซึ่งผู้เขียนเป็นปู่ของเธอ ดุจดาวต้องการสำรวจแนวคิดเชิงสังคมระดับปัจเจกบุคคลในหนังสือ เพื่อนำมาทดลองกับความเป็นมนุษย์ที่หลงเหลือและเชื่อมโยงมาถึงมนุษย์ในปัจจุบัน ผ่านศิลปะแสดงสดของเธอที่ทำขึ้นร่วมกับแขกรับเชิญ 16 คน ใน 16 รอบ

นิทรรศการประเทศเล็กที่สมบูรณ์

นิทรรศการ “ประเทศเล็กที่สมบูรณ์” จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ.2561 – 5 พฤษภาคม พ.ศ.2562 ที่ 100 ต้นสน แกลเลอรี่ ซอยต้นสน, ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้าชิดลม, สอบถามรายละเอียดได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 0-2010-5813 หรืออีเมล [email protected] กันได้ตามอัธยาศัย

ขอบคุณภาพข้อมูลจาก 100 ต้นสน แกลเลอรี่, ภาพถ่ายบางส่วนโดยจิราภรณ์ อินทมาศ