ภาพยนตร์/นพมาส แววหงส์ /GLASS

นพมาส แววหงส์

ภาพยนตร์/นพมาส แววหงส์

GLASS

‘ลัทธิความเชื่อในการ์ตูนภาพ’

 

กำกับการแสดง Night Shyamalan

นำแสดง  James McAvoy Bruce Willis Samuel L. Jackson Anya Taylor-Joy

Sarah Paulson Spencer Treat Clark Charlayne Woodard

 

เอ็ม. ไนต์ ชยามาลัน เป็นผู้กำกับฯ-ผู้ประพันธ์ประเภทที่ภาษาอังกฤษยืมคำภาษาฝรั่งเศสมาใช้ว่า auteur เขาเป็นแขกอินตะระเดียทั้งหน้าตาและชื่อเสียงเรียงนามซึ่งน่าจะมีรากศัพท์จากภาษาสันสกฤต

นี่ถ้าเรียกชื่อเขาแบบไทยๆ ก็จะต้องเรียกว่า “ศยามล” ซึ่งแปลว่า สีดำ ผิวคล้ำ สอดคล้องกับชื่อกลางในภาษาอังกฤษของเขาว่า Night หรือรัตติกาล

ชยามาลันทั้งคิดเรื่อง เขียนบทและกำกับหนังเบ็ดเสร็จในตัวเอง แถมยังชอบโผล่หน้าออกมาเป็นลายมือชื่อตัวเองให้เห็นในบทเล็กๆ บ่อยๆ

ใน Glass ก็ออกมาช่วงต้นๆ เรื่องในบทคนขายของในร้าน

เขาเริ่มโด่งดังระเบิดจากหนังเรื่อง The Sixth Sense (1999) ซึ่งมีการหักมุมตอนจบที่เกินความคาดหมาย จนกลายเป็นแบบฉบับประจำตัวของชยามาลัน

ตามมาด้วย Unbreakable (2000)

หลังจากนั้น เขาก็มีหนังที่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จตามมาอีกหลายเรื่อง

 

หนังเรื่อง Unbreakable ซึ่งมีบรูซ วิลลิส ในบทของเดวิด ดันน์ ชายกระดูกเหล็ก “ผู้ไม่แตกไม่หัก” โดยเป็นมนุษย์ที่อยู่ขั้วตรงข้ามกับเอไลจาห์ ไพรซ์ (แซมวล แอล. แจ๊กสัน) ผู้เปราะบาง แบบที่กระทบอะไรนิดอะไรหน่อยกระดูกก็หักร้าวไปทั้งตัว

ตอนที่หนังออกฉายเมื่อ 18 ปีที่แล้ว ก็นึกว่าเป็นหนังม้วนเดียวจบแบบ stand-alone ไม่มีใครนึกว่าชยามาลันจะมีไอเดียตามต่อมาอีก โดยทิ้งช่วงนานถึงสิบหกปีถึงจะตามต่อมาด้วย Split (2016) โดยแนะนำตัวละครใหม่ที่มีหลายบุคลิกสลับสับเปลี่ยนกันไปในตัวละครที่เล่นโดยเจมส์ แม็กอะวอย

และอีกสามปีต่อมา จึงกลายเป็นไตรภาคที่สมบูรณ์ ด้วยเรื่อง Glass โดยขมวดเรื่องทั้งหมดลงจบอย่างหักมุมตามแบบฉบับของผู้กำกับฯ คนนี้

ซึ่งทำให้ Glass กลายเป็นตอนจบที่น่าสนใจและสนุกที่สุดของไตรภาคที่เรียกกันว่า Eastrail 177 ซึ่งเป็นชื่อขบวนรถไฟที่ตกรางตั้งแต่ในภาคแรก ส่งผลให้เดวิด ดันน์ เป็นผู้รอดชีวิตคนเดียวขณะที่ผู้โดยสารร้อยกว่าคนเสียชีวิตหมด และเป็นข้อพิสูจน์ว่าในโลกนี้มีคนที่ “ไม่แตกไม่หัก”

นั่นคือเครื่องแสดงว่าคนประเภทซูเปอร์ฮีโร่ที่ทรงพละกำลังและไม่บุบสลายนั้นมีอยู่จริงในโลกนี้ ตามที่เรื่องราวของหนังสือการ์ตูนคอมิกเขียนถึง

 

หนังสนุกชวนติดตามกว่าที่คาดไว้ก่อนได้ดูเยอะเลยค่ะ

เห็นหนังตัวอย่างก็ก่อนที่จะรู้ว่าเป็นตอนจบของไตรภาค ก็รู้สึกว่าชยามาลันทำอะไรซ้ำซาก เอาตัวละครเก่ามารีไซเคิลอีกแล้ว

แต่ Glass กลายเป็นหนังรวบยอดไอเดียทั้งหมดของเรื่องที่เกิดจากมันสมองและจินตนาการของผู้กำกับฯ แหวกแนวคนนี้

เดวิด ดันน์ (บรูซ วิลลิส) เป็นยอดมนุษย์ผู้ไม่บุบสลาย จากอุบัติเหตุรถไฟสายตะวันออกชนตกรางครั้งใหญ่ และเอไลจาห์ ไพรซ์ เป็น “มนุษย์กระดูกเปราะ” นักสะสมการ์ตูนภาพผู้เชื่อมั่นในโลกของซูเปอร์ฮีโร่

เดวิด ดันน์ กลายมาเป็นผู้พิทักษ์โลกคนใหม่ที่มีสัญลักษณ์คือชายผู้สวมฮู้ดคลุมศีรษะ ผู้มีญาณพิเศษเพียงเมื่อสัมผัสตัวคนร้าย ที่มีลูกชายคอยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ช่วยเหลือ

ขณะที่เอไลจาห์ ไพรซ์ เจ้าของฉายา “มิสเตอร์กลาส” (เขาบอกอย่างยียวนเป็นมุกว่าเขามีชื่อต้นว่า “มิสเตอร์” และนามสกุล “กลาส”) เนื่องจากความเปราะบางแตกง่ายเหมือนกระจก กลายมาเป็นอภิมหาวายร้ายจอมวางแผนผู้สร้างมหันตภัยให้แก่ชาวโลก

ส่วนหนังภาคสองคือ Split ที่เสนอตัวละครชื่อ “เควิน เวนเดิล ครัมบ์” ผู้มีตัวตนหลากหลายบุคลิกอยู่ในตัว มากกว่าที่จิตแพทย์คนไหนจะเคยพบทั้งหมด เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาทั้งชาย หญิง เด็ก และสัตว์ร้ายจอมพลัง เจมส์ แม็กอะวอยเก่งมากทีเดียวที่เล่นเป็นบุคคลหลายคนเปลี่ยนโฉมหน้าไปได้ในพริบตา

หนึ่งในบรรดาบุคลิกของเขาคือชายที่ชอบจับเด็กสาวไปกักขังทรมาน เนื่องจากตัวเขามีอดีตอันขมขื่นที่ถูกกระทำทารุณกรรม และอีกบุคลิกที่สำคัญคือ “บีสต์” หรือสัตว์ร้ายที่ไต่เกาะไปตามกำแพงหรือเพดานได้ แล้วยังมีพละกำลังมหาศาลเหนือมนุษย์

Glass ปูพื้นเรื่องด้วยการปะทะระหว่างพระเอกกับผู้ร้าย ในคราบของผู้พิทักษ์ความยุติธรรมสวมฮู้ดที่พยายามปราบปรามสยบตัวร้ายหลายบุคลิก  หลังจากที่เดวิด ดันน์ ติดตามไปช่วยเด็กสาวเชียร์ลีดเดอร์หลายคนที่ถูกกักขังไว้ และไล่ล่าตามจับตัว จนทั้งผู้ร้ายและพระเอกต่างโดนตำรวจรุมล้อมจับกุมไว้ได้

 

ทั้งคู่ถูกนำตัวไปคุมขังไว้ในโรงพยาบาลโรคจิต ในฐานะผู้ป่วยจิตเวช โดยมีจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาโรคจิตของผู้ป่วยที่มีหลายบุคลิกในตัว โรคนี้เรียกด้วยศัพท์ทางการแพทย์ว่า DID (Dissociative Identity Disorder) บางครั้งผู้เขียนยังคุ้นปากใช้คำเก่าที่เคยเรียกโรคนี้ว่า Multiple Personality Disorder ในแบบที่นิยายสมัยก่อนนำเสนอในเรื่องของ ดร.เจคคิลกับมิสเตอร์ไฮด์ เป็นต้น

แต่ตัวละครตัวนี้มีตัวตนถึง 24 บุคลิกอยู่ในตัว ทั้งที่อ่อนโยนนุ่มนวลไปจนถึงร้ายกาจ ทรงพลังเหนือมนุษย์ ปราศจากคุณธรรม และสุดยอดอันตราย

จิตแพทย์ผู้ให้การรักษาคือ ดร.เอลลี สเตเปิล (ซาราห์ พอลสัน) ผู้ให้การรักษาทั้งเควิน เดวิด ดันน์ และเอไลจาห์ ไพรซ์ โดยแยกขังเดี่ยวและมีระบบรักษาความปลอดภัยอย่างหนาแน่น

เธอพยายามพิสูจน์ว่าทั้งสามมีอาการทางจิตเวชของการหลงผิดโดยอธิบายด้วยหลักวิทยาศาสตร์

แต่ก็เกิดเรื่องใหญ่ขึ้นจนได้ จากมันสมองอันฉลาดปราดเปรื่องของมิสเตอร์กลาส และพละกำลังมหาศาลของคู่ต่อสู้สองขั้วคือ ฝ่ายธรรมะและฝ่ายอธรรม

 

หนังที่เก็บเรื่องเซอร์ไพรส์ไว้เผยตอนจบตามแบบของชยามาลันนั้น เล่าอะไรมากไม่ได้ค่ะ จะกลายเป็นสปอยเลอร์ทำให้เสียรสหมด เลยต้องขยักไว้แค่นี้พอ

พูดได้แต่เพียงว่าชยามาลันกลับคืนสู่ฟอร์มดั้งเดิมที่เขาเคยเป็นเมื่อครั้งทำหนัง The Sixth Sense อย่างสวยงามอีกครั้ง หลังจากสะเปะสะปะคลำหาทางอยู่นาน

บรูซ วิลลิส ซึ่งเป็นดาราคู่ขวัญมากับชยามาลันตั้งแต่ใน Sixth Sense เริ่มอายุมากขึ้นและมีบทบาทน้อยลงในหนังภาคสุดท้ายของไตรภาคชุดนี้

ขณะที่เจมส์ แม็กอะวอยเป็นตัวละครหลักที่น่าจดจำใน Split

และแน่นอนว่า Glass เป็นเรื่องราวหลักของแซมวล แอล. แจ๊กสัน ผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์สำคัญทั้งหมด

แต่เหนือฟ้าก็ยังมีฟ้า ยังมีตัวละครนิรนามอีกกลุ่มที่คอยบงการและปกปิดเรื่องอยู่เบื้องหลัง

แล้วหนังก็ยังมีการหักมุมสุดท้ายอย่างชาญฉลาดอีกครั้ง

นี่คือเรื่องราวที่เป็นการคารวะเชิดชูนิยายภาพ ซึ่งกลายเป็น “ลัทธิ” ที่มีสาวก (หรือผู้อ่าน) อย่างกว้างขวางทั่วโลก ซึ่งให้ความอุ่นใจสำหรับคนธรรมดาทั่วไปว่าท่ามกลางโลกที่อันตรายด้วยมหันตภัยจากเหล่าอธรรมหรือคนชั่วนั้น ยังมีซูเปอร์ฮีโร่ผู้ผดุงความยุติธรรมคอยพิทักษ์คุ้มครองอยู่นอกอำนาจและขอบข่ายกฎหมาย

ซึ่งทำให้ซูเปอร์ฮีโร่เหล่านั้นกลายเป็นคนนอกกฎหมาย ถูกหมายหัวและเป็นปรปักษ์กับทางการบ้านเมืองไปด้วย

ธีมของผู้พิทักษ์นอกกฎหมายนี้ได้รับการนำเสนอมาหลายครั้งหลายหนแล้ว แต่โลกก็ยังเรียกร้องต้องการผู้พิทักษ์นอกกฎหมายที่คอยดูแลความสงบสุขอยู่เสมอ ตราบใดที่โลกยังรู้สึกว่าไม่สามารถแสวงหาความบริสุทธิ์ยุติธรรมภายใต้กฎหมายบ้านเมืองได้

ผู้เขียนเข้าไปดู Glass โดยปราศจากความคาดหวังใดๆ เลย (เพราะผิดหวังกับชยามาลันมาหลายเรื่องแล้ว) จึงได้รับความสนุกเพลิดเพลินและความพอใจเต็มเปี่ยม