จุดยืน ‘ชาติไทยพัฒนา’ ต้องเลือก “จุดที่ทำให้ประเทศเดินหน้าได้” คำตอบจาก “หนูนา-กัญจนา ศิลปอาชา”

“จะเลือกในจุดที่ ปท.เดินได้” หนูนา-กัญจนา ศิลปอาชา โชว์จุดยืนชาติไทยพัฒนา

“มีคนกล่าวว่า พ่อบรรหารคือมังกรการเมือง ซึ่งดิฉันไม่อาจเทียบเคียงได้ แต่ในฐานะที่เป็นลูกพ่อ ยืนยันว่าจะทำหน้าที่อย่างเต็มสติกำลัง เพื่อไม่ให้เสียทีที่ได้เกิดเป็นลูกมังกร”

“หนูนา” กัญจนา ศิลปอาชา บุตรสาวคนโตของ “บิ๊กเติ้ง” บรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรีคนที่ 21 ผู้ล่วงลับ ยืนยันต่อหน้าสมาชิกพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) หลายร้อยคน เมื่อถูกเลือกให้ขึ้นเป็นแม่ทัพนำชาติไทยพัฒนาสู้ศึกเลือกตั้งปี 2562

มหาบัณฑิตจาก ม.วิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา สู่สนามการเมืองครั้งแรกเมื่อ 23 ปีที่แล้ว เมื่อถูกผู้เป็นพ่อมาชักชวน หลังเขตเลือกตั้งใน จ.สุพรรณบุรี ฐานเสียงอันสำคัญของพรรคชาติไทย เพิ่มขึ้น 1 เขต ส.ส.จากที่เคยมี 5 ก็กลายเป็น 6 คน

กัญจนาบอกว่า วันนั้นมีเวลาตัดสินใจเพียงแค่วันเดียวเท่านั้น เพราะวันรุ่งขึ้นต้องไปหาเสียงแล้ว การขึ้นหัวหน้า ชทพ.ก็เช่นกัน เพราะมีเวลาให้ตัดสินใจน้อยมาก

แต่เมื่อมารับตำแหน่งแล้วก็จะตั้งใจทำเต็มที่

อย่างที่สังคมรับรู้รับทราบ การขึ้นแท่นเป็นหัวหน้า ชทพ.ของ “หนูนา” ถือเป็นข่าวบิ๊กเซอร์ไพรส์ในทางการเมือง เพราะเป็นเรื่องนอกเหนือการคาดหมาย

จากที่เคยทำท่าว่าจะวางมือ สุดท้ายต้องกลับเข้ามาเพื่อเป็นคนตรงกลางของ “คนสองรุ่น” ระหว่างเหล่า “นิวบลัด” กับ “โอลด์บลัด” ที่กลับเข้ามานำทัพอีกครั้ง กระทั่งบานปลายกลายเป็น “ศึกใน” จนต้องเสีย “พวกเลือดแท้” ให้กับพรรคอื่นหลายต่อหลายคน

แม้จะเผชิญปัญหาตัวจริงไหลออก แต่ “หนูนา” คิดว่าทุกพรรคคงมีสภาพไม่ต่างกัน แม้เงื่อนไข “ภายใน” จะเปลี่ยนไป แต่ยังยืนยันเป้าหมายเดิมที่ ชทพ.วางไว้

“จะพยายามทำให้ใกล้เคียงตัวเลข 30 ที่นั่งให้ได้มากที่สุด เราขอเป็นพรรคขนาดกลาง แต่ถ้าใครจะมองว่า ชทพ.เป็นพรรคขนาดเล็กก็ได้ แต่บอกเลยว่า เล็กแต่เผ็ดแบบพริกขี้หนูแน่นอน”

นี่จึงทำให้ที่ผ่านมา ชทพ.เร่งหาผู้สมัครจำนวนมากเพื่อไปเก็บคะแนนจากระบบเลือกตั้งใหม่ “แบบจัดสรรปันส่วนผสม” ที่มีใช้เพียงหนึ่งเดียวในโลกให้ได้มากที่สุด

“เราจะส่งผู้สมัครถึง 324 เขตจาก 350 เขตเลือกตั้ง ถือเป็นตัวเลขที่เยอะพอสมควร ประวัติที่ผ่านมาเราไม่เคยส่งผู้สมัครเยอะเท่านี้ อย่างภาคใต้มี 50 เขตเลือกตั้ง เราส่งถึง 49 เขต เพื่อไปเก็บคะแนนให้ได้ทุกเม็ด” หัวหน้า ชทพ.ระบุ

เป็นเวลากว่า 2 เดือนเศษแล้ว นับจากวันที่ขึ้นรับตำแหน่ง ได้ยกทีม ชทพ.เดินสายพบปะประชาชนในหลายพื้นที่ โดย “กัญจนา” เชื่อว่า เสียงสะท้อนที่ ชทพ.ได้รับ คงไม่ต่างจากสิ่งที่หลายๆ พรรคได้

นั่นคือเศรษฐกิจปากท้องมาเป็นอันดับต้นๆ และที่สำคัญ ประชาชนต่างรอคอยการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นอีกด้วย

น.ส.กัญจนาสะท้อนว่า เพราะการเลือกตั้งห่างหายไปนาน จึงเป็นสิ่งที่ทุกคนต่างจับตาดูกันว่า จะเป็นการเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรมแค่ไหน

ท่ามกลางกระแสโหวตเพื่อเอาไม่เอา คสช. ที่พรรคใหญ่จุดขึ้น แต่หัวหน้าพรรคขนาดกลางยังยืนยันว่า จะขอแข่งขันที่ตัวนโยบายและตัวผู้สมัครเป็นหลัก

อีกทั้งยังมองว่า การพยายามผลักดันให้ต้องเลือกด้วยการตอกลิ่ม แบ่งซีกว่าจะเอาหรือไม่เอา คสช.นั้น อาจจะทำให้บรรยากาศแห่งความขัดแย้งอยู่ต่อไปอีก

“วันนี้ฝ่ายที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นเผด็จการก็มาลงเลือกตั้งแล้ว อย่าตอกลิ่มแบ่งขั้วเลย เพราะมันไม่เป็นผลดีอะไร วันนี้เมื่อ คสช.ลงเลือกตั้งก็มีสิทธิถูกวิจารณ์เหมือนกัน ในเมื่อโอกาสของการเลือกตั้งเปิดขึ้นแล้วก็ใช้ประโยชน์ให้เต็มที่ ชอบนโยบาย เชื่อมั่นในผู้สมัครของพรรคไหนก็อยากให้มองมุมนี้เป็นหลัก

“เราต้องช่วยกัน พยายามไม่ให้ความขัดแย้งเกิดขึ้นมาอีก บ้านเมืองเป็นเช่นนี้มันไม่ไปไหนเลย ประเทศรอบข้างเดินหน้ากันไปไกลแล้ว แต่เรายังอยู่กับที่ บางเรื่องก็ถอยหลัง แล้วเราจะทิ้งอะไรไว้ให้ลูกหลานเรา

“ที่ผ่านมาทาง คสช.ไม่ค่อยชอบให้ใครเรียกว่าเป็นเผด็จการ ก็อย่าไปเรียกเขา แต่ คสช.ก็ต้องฟังเสียงวิจารณ์ที่สังคมมีด้วย ที่สำคัญต้องทำให้หลุดพ้นจากเสียงวิจารณ์นั้นให้ได้ ต้องทำให้กระบวนการเลือกตั้งเป็นที่ยอมรับ เพราะเมื่อดิฉันเป็นคนอื่นยังได้ยิน ท่านก็คงได้ยินสิ่งที่คนพูดถึงท่านเหมือนกัน”

หัวหน้า ชทพ.ระบุ

ถามว่า เหตุที่ ชทพ.ถูกมองว่าจ้องแต่ร่วมรัฐบาลเพราะการไม่เลือกหรือเปล่า? น.ส.กัญจนาตอบว่า จริงๆ พรรคอื่นก็เหมือนเรา เพราะตั้งแต่ชาติไทยจนมาเป็น ชทพ. เราเป็นมาแล้วทุกอย่าง การมองว่า ชทพ.จ้องแต่ร่วมรัฐบาล จึงไม่ค่อยยุติธรรม แม้จะห้ามไม่ให้ใครวิจารณ์ได้ แต่เราทราบดีว่าความจริงมันเป็นอย่างไร

ต่อคำวิจารณ์ที่ว่า ชทพ.จ้องแต่ร่วมรัฐบาลนั้น “หนูนา” ได้ยกเหตุการณ์อันเป็นประวัติศาสตร์ทางการเมืองในช่วง “หัวเลี้ยวหัวต่อ” ก่อนการฟอร์มรัฐบาลที่เธอได้รับรู้ในฐานะลูกนายบรรหารมาบอกเล่าด้วย

ครั้งแรก เลือกตั้งในปี 2548 พรรคไทยรักไทย “กัญจนา” เล่าว่า วันนั้นเป็นที่ทราบกันดีว่า พรรคไทยรักไทยโดยการนำของนายทักษิณ ชินวัตร ชนะถล่มทลายด้วยเสียง 377 สามารถจัดตั้งรัฐบาลทักษิณ 2 ได้โดยไม่มีพรรคร่วมเลยแม้แต่พรรคเดียว

“แต่ก่อนการเลือกตั้ง ท่านทักษิณมาคุยกับคุณพ่อว่า เลือกตั้งแล้วมาช่วยกันนะ แต่เมื่อผลออกมาพรรคไทยรักไทยชนะถล่มทลายเลย พอเลือกตั้งเสร็จผลออกมา ท่านทักษิณก็ยกหูมาตามที่บอกคุณพ่อไว้ แต่คุณพ่อก็ตอบกลับว่า ไม่ต้องห่วง ตั้งรัฐบาลไปเลย ชาติไทยยินดีที่จะเป็นฝ่ายค้าน”

ครั้งที่สอง หลังวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ในปี 2540 “กัญจนา” เล่าว่า ในวันนั้นรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อยู่ได้เพียงแค่ 9 เดือนเท่านั้น ต้องสลับให้พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคที่ได้คะแนนอันดับรองได้จัดตั้งรัฐบาล

“วันชาติไทย คือพรรคตัวแปร ถ้าไม่ได้พรรคชาติไทยเข้าร่วม ประชาธิปัตย์ตั้งรัฐบาลไม่ได้ หลายคนคงทราบดีก่อนจะเป็นรัฐบาลชวลิตเกิดอะไรขึ้น คุณพ่อถูกอภิปรายในสภาหนักมาก เอาคุณปู่มาพูด กล่าวหาว่าพ่อบรรหารเกิดเมืองจีน

“ยอมรับเลยว่า ตอนนั้นครอบครัวเจ็บช้ำมาก คุณแม่ปวดร้าว ถึงขนาดวันที่ประชาธิปัตย์มาเชิญให้ไปร่วมรัฐบาล คุณแม่ทำใจไม่ได้ แต่เมื่อชาติไทยคือตัวแปร คุณพ่อได้มาคุยให้พวกเรามองข้าม เพราะถ้าชาติไทยไม่ร่วม ประเทศติดล็อกแน่”

แน่นอนว่า เหตุการณ์ที่ “หนูนา” ยกขึ้นมาก็เพื่อจะบอกว่า แต่ไหนแต่ไร ตั้งแต่เป็นชาติไทย จะเลือกเดินในจุดที่ประเทศชาติก้าวเดินได้ ไม่นำไปสู่ความขัดแย้ง

ดังนั้น หากกระบวนการเลือกตั้งเป็นที่ยอมรับแก่ทุกฝ่าย พรรคที่ชนะอันดับ 1 ได้สิทธิในการจัดตั้งรัฐบาลตามที่ยึดถือปฏิบัติกันมา เธอก็เชื่อว่าการฟอร์มรัฐบาลจะไม่มีปัญหา การเมืองก็จะเดินหน้าต่อไปได้

และเมื่อถึงวันนั้น ชทพ.ในยุคที่ 2 ของศิลปอาชาก็พร้อมจะเลือกเดินในจุดที่ทำให้ประเทศชาติก้าวเดินได้ เหมือนอย่างที่คนรุ่นพ่อเคยยึดถือปฏิบัติมาเช่นกัน