ฉัตรสุมาลย์ : วัดเส้าหลินในปัจจุบัน

จากเมืองลั่วหยาง เราเดินทางมาอีก 73 ก.ม. ถึงเมืองเติงเฟิง ใช้เวลาบนรถประมาณ 1 ชั่วโมง ฟังไกด์ คือคุณสุลิน เป็นไกด์จีนที่เรียนภาษาไทยที่เมืองจีนนั่นแหละ เล่าเรื่องท่านตักม้อ หรือท่านโพธิธรรม เวอร์ชั่นจีน ที่ได้เล่าให้ฟังไปแล้วในเรื่องหิมะสีเลือด เมื่ออาทิตย์ก่อน

รถค่อยๆ ขึ้นเขา ผ่านที่จอดรถขนาดใหญ่ นับด้วยสายตามีรถบัสของนักทัศนาจรจอดอยู่ก่อนแล้วไม่ต่ำกว่า 30 คัน เราเริ่มตื่นตัวว่า เราไม่ได้มาวัดเส้าหลินที่สงบเงียบ แทรกตัวอยู่ในธรรมชาติบนเขาดังที่เราคิดแล้ว

วัดเส้าหลิน สร้างขึ้นใน พ.ศ.1038 ในสมัยของไท่เหอ เจ้าผู้ครองรัฐวุ่ยเหนือ เนื่องจากตั้งอยู่บนยอดเขาเส้าซื่อ ทางทิศตะวันตกของเทือกเขาซงซาน บริเวณนั้นปกคลุมด้วยป่า (หลิน) จึงกลายเป็นชื่อวัดเส้าหลิน

32 ปีผ่านไป ท่านโพธิธรรม หรือที่จีนเรียกว่า ตักม้อ ได้เดินทางมาเผยแผ่ธรรม ปรมาจารย์ตักม้อพอใจสภาพที่อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ จึงพำนักปฏิบัติธรรมที่นี่

เป็นเจ้าอาวาสองค์แรกของเส้าหลิน

 

จุดที่ตั้งของวัดเส้าหลินในปัจจุบันอยู่ห่างจากวัดเส้าหลินเดิม 700 เมตร

เส้าหลินเป็นวัดของพุทธศาสนานิกายมหายานที่มีความเก่าแก่กว่า 1,500 ปี อยู่ทางทิศตะวันตกของเทือกเขาซงซาน หนึ่งในจำนวนยอดเขาที่มีความศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เคารพของชาวจีน 5 แห่ง แป็นเทือกเขาที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในประวัติศาสตร์และแวดวงยุทธภพ ประกอบด้วยยอดเขาน้อยใหญ่ถึง 72 ยอด ในกลุ่มเขาไท่ซื่อมี 36 ยอด ในกลุ่มเขาเส้าซื่อ 36 ยอด ในอำเภอเติงเฟิง เมืองเจิ้งโจว มณฑลเหอหนาน ภูมิทัศน์เหมาะมากเพราะอยู่กึ่งกลางระหว่างเมืองเจิ้งโจวและเมืองลั่วหยาง บริเวณรอบๆ วัดเส้าหลินเป็นพื้นที่โล่งกว้าง ใช้เป็นที่ฝึกวิทยายุทธ์ของหลวงจีน

วัดเส้าหลินโด่งดังมากที่สุดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้รับการกล่าวขานกันในเรื่องของกระบวนท่าวิทยายุทธ์ เพลงหมัดมวย พลังลมปราณและกังฟูเส้าหลิน เป็นแหล่งวิทยาการต่อสู้ และศิลปะการป้องกันตัวที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของจีน นิยายกำลังภายในจะต้องกล่าวถึงวิชากังฟูของสำนักวัดเส้าหลินอยู่เป็นหลัก

ปัจจุบัน วัดเส้าหลินมีหลวงจีนที่บวชและศึกษาทั้งธรรมะและกังฟู 180 รูป พระอาจารย์หย่งซินเป็นเจ้าอาวาสในปัจจุบัน

 

วัดที่เงียบสงบและฝังตัวอยู่บนเทือกท่ามกลางป่าไม้ กลายเป็นสถาบันใหญ่ที่มีทั้งส่วนที่เป็นวัด มีส่วนที่เป็นศูนย์การฝึกวิทยายุทธ์ที่เลื่องชื่อ และอีกส่วนหนึ่งคือ การจัดงานแสดงวิทยายุทธ์ของเส้าหลิน

คณะของเราเดินตามไกด์ไปอย่างงงๆ ถ่ายรูปท่านโพธิธรรม หรือตักม้อไปด้วย มีรูปของท่านหลายแห่ง หน้าตาดกไปด้วยทั้งหนวดและเครา คิ้วก็ดกแบบแขก และนัยน์ตาโต บางแห่งเบิกโพลงจนเว่อร์ ทั้งนี้ เพราะจีนเห็นความต่างไปจากจีน จึงมักจะทำภาพท่านตักม้อแบบที่เห็น แล้วยังมีนิยายปรัมปราที่เล่าเสริมว่า ท่านตักม้อไปนั่งสมาธิแล้วมีอาการง่วง ท่านก็เลยเอามีดมาเฉือนหนังตาออก ท่านก็เลยมีนัยน์ตาเบิกโพลงอย่างที่เห็น

หนังตาที่เฉือนทิ้งไปนั้น เกิดเป็นต้นชาขึ้นมา พระในนิกายเซนจึงนิยมดื่มชา

เล่าให้ฟังสนุกๆ พอเพลินนะคะ

เราเห็นนักเรียนที่กำลังไปซ้อมฝึก เป็นเด็กชายวัยรุ่นราว 13-14 ปี ใส่ชุดพละสีเดียวกันหมด วิ่งมาเป็นกลุ่มๆ

เราเห็นเขามุ่งหน้าไปในทิศทางนั้น โดยอัตโนมัติเราก็เลยเดินตามไปทางนั้นด้วย ที่ลานกว้างทางซ้ายมือของถนน มีนักเรียนเส้าหลินหลายร้อยคนกำลังฝึกเข้ม ตามจังหวะที่อาจารย์เป็นคนกำหนด มีการฟอร์มแถวเป็นรูปต่างๆ เห็นถึงผลของการฝึกซ้อมว่า กว่าจะได้ระเบียบอย่างนั้น น่าจะฝึกมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว

เราดูการฝึกซ้อมด้วยความสนใจ เป็นแบบเดียวกับที่เราเคยเห็นในหนังจีน แต่หลับตาเห็นภาพว่า คราวนี้จำนวนคนมหาศาลเต็มลานกว้างทีเดียว

 

หลังจากนั้น เราซื้อตั๋วเข้าไปดูการแสดงซึ่งจัดเป็นรอบ วันหนึ่งมีสองรอบ ในห้องแสดงนี้จุคนได้ครั้งละ 560 คน นั่งไม่มีพนักพิง น่าจะมีสัก 5 ขั้น แบ่งเป็นสามล็อค ที่นั่งเต็มหมด เราคลำทางเข้าไป ปรากฏว่าที่นั่งด้านหน้าเต็มหมดแล้ว จึงไปได้ที่นั่งทางด้านข้าง

มีการแสดงโดยนักเรียนของศูนย์ฝึกเส้าหลิน นักเรียนพวกนี้ก็เป็นสามเณรนั่นเอง ใส่ชุดสีเทา มีผ้าคาดเอว ขาพันผ้ารัดกุมถึงเข่า

มีการแสดงหลายฉาก ฉากที่จำได้เพราะประทับใจ คือฉากที่นักเรียนสองคนถือหอกแหลมเล็งไปที่คนที่สาม คนที่สามที่ยืนอยู่ตรงข้ามเอาปลายหอกรวบเข้าไว้ด้วยกันวางที่ตรงคอของตน จุดที่เป็นหลุมลงไประหว่างกระดูกไหปลาร้า แล้วเอนตัวเข้าหาคนที่ถือหอกทั้งสองคน ด้วยแรงต้านที่ดันเข้ามานั้น ทำให้หอกโค้งงอ

สังเกตว่า ตอนที่เอาปลายหอกวางที่คอนั้น นักเรียนกำหนดจิต และใช้พลังลมปราณต้านรับแรงจากปลายหอก

เสียงตบมือกราว

อีกฉากหนึ่งที่เจ๋งที่สุด คือฉากเจาะลูกโป่ง

เณรคนหนึ่งถือแผ่นกระจกลงมาจากเวที แล้วเดินโชว์กระจกให้ทุกคนที่นั่งแถวหน้าได้ตรวจสอบว่ากระจกแผ่นนั้นสมบูรณ์

เณรผู้ที่จะปาเข็ม ยืนอยู่ฝั่งหนึ่ง มีแผ่นกระจกคั่น อีกฝากหนึ่งของกระจก มีเณรอีกคนหนึ่งถือลูกโป่งรออยู่

เณรที่ปาเข็มจะต้องปาเข็มผ่านกระจกไปเจาะลูกโป่งที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง

เข็มแรกปาไปไม่โดน เข็มหล่นดังแป๊ก

เข็มที่สองผ่านทะลุกระจก ลูกโป่งแตกดังโพละ

เรียกเสียงตบมือรอบห้อง

สังเกตได้ว่า จังหวะในการซัดเข็มนั้น เร็วและแรงมาก

สามเณรที่ถือกระจก ถือกระจกลงจากเวที เดินให้ผู้ชมดูโดยรอบว่า กระจกเป็นรูจริง

จากนั้น พิธีกรเชิญผู้ชมขึ้นไปบนเวที 4 คน เป็นผู้ชาย 3 คนสุดท้ายเป็นแหม่มสาวๆ อีกคนหนึ่ง เพิ่มสีสันมากขึ้น

พิธีกรเชิญสามเณรมาแสดงท่าการฝึกของเส้าหลิน แล้วให้ผู้ชมทำตามแต่ละท่าน ก็เรียกเสียงเชียร์ได้พอควร ท่าหกคะเมนตีลังกา ผู้ชมท่านนั้นเป็นชายหนุ่มวัย 30 ปลาย ก็สามารถทำได้ แม้ไม่สวยก็ตาม

ถึงตอนแหม่มก็สามารถมีส่วนร่วมด้วย เรียกใจผู้ดูพอควร ทุกคนได้ของที่ระลึกจากเจ้าภาพ ออกจากการแสดง เป็นอันจบการแสดง

 

เส้าหลินกว้างขวางมาก เราเดินขึ้นไปชมในส่วนของวัดซึ่งอยู่สูงขึ้นไป แสดงถึงความเก่าแก่

มีอารามที่ประดิษฐานประติมากรรมรูปพระพุทธเจ้าในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตกว่า 1,000 องค์ นับเป็นอารามแห่งแรกในการบุกเบิกพุทธศาสนาของผู้ออกบวชที่มาจากอินเดีย สร้างขึ้นเมื่อ ค.ศ.495 สถาปัตยกรรมโบราณที่ยังคงเหลืออยู่ มีศาลาตักม้อ ตำหนักไป่อี้ ตำหนักพระพุทธพันองค์ เป็นต้น

ที่ด้านหน้าศาลา มีต้นไม้ น่าจะเป็นต้นแปะก้วย วันนั้นดอกร่วงเป็นสีเหลืองเต็มไปหมด ต้นที่ยืนอยู่หน้าวิหารนั้นเก่าแก่มาก ที่ลำต้นมีรูๆ ปรากฏอยู่ ไกด์เล่าว่า พระเณรฝึกกังฟูทดสอบความแข็งของนิ้วทิ่มเข้าไปในลำต้น เลยเป็นรอยอยู่ดังที่เราเห็น

เราขึ้นรถแบตเตอรี่ ขึ้นสูงต่อไปอีก เพื่อชมถ่าหลิน หรือป่าเจดีย์ เป็นหมู่เจดีย์กว่า 200 องค์ รูปร่างต่างๆ กัน ความสูงต่ำต่างกัน แต่ที่สูงที่สุดน่าจะไม่เกิน 5 เมตร เมื่อพระอาจารย์นิกายเซนที่เส้าหลินมรณภาพลง ก็จะนำอัฐิธาตุมาฝังที่นั่น ความอลังการของเจดีย์มากน้อย ขึ้นอยู่กับกำลังศรัทธาของลูกศิษย์ของแต่ละองค์

ในความเป็นสงฆ์นั้น เมื่อออกบวชแล้วก็ตัดขาดมาจากครอบครัว เมื่อมรณภาพ ทางวัดก็ต้องดูแลดังที่ปรากฏที่ป่าเจดีย์แห่งนี้

อากาศเริ่มเย็นลงมาก ไกด์เรียกรถแท็กซี่รับจ้างให้ไปส่งคณะเราตรงจุดที่จอดรถบัส เราจึงกลับไปรวมพลที่โรงแรม

แล้วคืนนั้นเรายังมีโปรแกรมไปชมโชว์เส้าหลิน

 

โชว์เส้าหลินนี้เป็นสุดยอดโชว์ในแผ่นดินจีน โดยใช้ทิวทัศน์ธรรมชาติเป็นฉากหลัง จากฝีมือการสร้างสรรค์ของจางอี้โหมว ศิลปินดังของจีน

เรานั่งชมตรงเวทีเปิดกลางแจ้ง ท่ามกลางความหนาวเย็น ผู้แสดงนับร้อยคน การใช้ไฟประดับฉากพิสดารมาก มีทั้งพระตำหนักบนเขาเป็นฉาก เวลาฉายไฟไปจับเฉพาะที่ตำหนักดูโดดเด่นงดงาม

ตรงกลางมีสะพาน เวลาตัวละครเดินข้ามสะพาน เป็นความงามที่พิเศษจริงๆ มีการแสดงทั้งคนทั้งวัวที่ต้อนมาเข้าฉากด้วย ตื่นตาตื่นใจ

บางฉากเป็นช่วงฤดูฝน ผู้ชมก็สัมผัสรับรู้ได้

ฉากข้างหน้า ขึ้นคำอธิบายให้เห็นตั้งแต่

“อันกายนั้นเปรียบเหมือนต้นโพธิ์

จิตเหมือนกระจกเงา

หมั่นปัดกวาดเช็ดถู

ไม่ให้ฝุ่นละอองจับต้อง”

โศลกบทนี้ เป็นการฝึกปฏิบัติจิตโดยทั่วไป แต่ที่เว่ยหล่างซึ่งเป็นสังฆนายกองค์ที่หกของนิกายเซน สะท้อนความเข้าใจของท่านกลับกันกับโศลกบทนี้ ท่านว่า

“ต้นโพธิ์ก็ไม่มี

กระจกก็ไม่มี

แล้วฝุ่นจะจับต้องอะไร”

ความเข้าใจเช่นนี้ เป็นไคลแมกซ์ของนิกายเซนที่วิพากษ์การปฏิบัติของชาวพุทธที่มีมาก่อนหน้านั้น ด้วยทิศทางเช่นนี้ นิกายเซนจึงได้รับการต้อนรับในหมู่ชาวพุทธจีนเป็นอย่างยิ่ง

จางอี้โหมว ศิลปินผู้สร้างงานแสดงนี้ ได้แสดงให้เห็นความอลังการของการแสดง ขณะเดียวกันไม่ทิ้งความลุ่มลึกทางปัญญาของเซน