กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร : “ควาญ กับ ช้าง”

เมื่อหลายวันก่อน

ผมพาลูกไปเที่ยวที่ “สวนสัตว์เขาดิน”

ไม่ได้มีโอกาสไปมานานมาแล้วครับ เกือบสิบปีได้

อากาศร้อนนิดๆ คนไม่เยอะ เที่ยวสบายๆ ช่วงวันหยุด

ที่น่าสนใจอย่างแรกคือ มีชาวต่างชาติมาเที่ยวเยอะมากครับ

หลายๆ ท่านอาจจะสงสัย

เอ๊ะ นักท่องเที่ยวมาสวนสัตว์เขาดิน น่าจะไม่ค่อยตื่นตาตื่นใจ

เหมือนไปพระบรมมหาราชวัง วัดพระแก้ว

หรือสถานที่สนุกๆ อย่างถนนข้าวสาร

มีจริงหรอ ชาวต่างชาติมาเที่ยวเขาดินเยอะแยะ

มีครับ มีจริงๆ

อะแฮ่ม แต่ว่าส่วนใหญ่มาจาก “ประเทศเพื่อนบ้าน” เราเอง

มีทั้งพม่า ทั้งลาว กินส้มตำกันสนุกสนาน

ส่วนมากเป็นผู้ใช้แรงงาน ที่เข้ามาทำงานในบ้านเราครับ

“เขาดิน” อยู่กลางเมือง ราคาค่าเข้าไม่แพง เหมาะเลยครับ

สำหรับการพักผ่อนสุดสัปดาห์ของเพื่อนๆ เหล่านี้

ผมพาลูกเดินไปรอบๆ ก็พบว่ามีอยู่บริเวณหนึ่ง ที่มีคนมุงเยอะมาก

พอเดินเข้าไปดู ก็พบ “การแสดงควบคุมช้าง” ครับ

โอ้โห มีทั้ง ยกขา เตะฟุตบอล วิ่งแข่ง อะไรจะขนาดนั้น

พอการแสดงจบ ผมก็พาลูกเดินเข้าไปถ่ายรูปกับช้าง และ “ควาญช้าง” ครับ

ผมกล่าวชื่นชม “พี่เก่งมากเลย ทำได้ไงเนี่ย ดูแล้วหวาดเสียวมาก”

พี่ควาญช้างยิ้ม แล้วตอบมาเบาๆ

“ช้างอารมณ์ดี ทำอะไรก็ไม่ยากหรอก”

 

เมื่อสมัยที่ผมเรียน MBA ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ที่อเมริกา

มีอยู่วิชาหนึ่งครับ ที่ผมชอบมากเป็นพิเศษ อยู่ในคณะบริหารธุรกิจนี่แหละ

สอนโดยศาสตราจารย์ “ชิพ ฮีธ (Chip Heath)”

ผู้เขียนหนังสือขายดีชื่อยาว “How to Change things when change is hard (สร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างไรเมื่อการเปลี่ยนแปลงมันยากเหลือเกิน)”

เขาบอกว่า การเปลี่ยนแปลง “พฤติกรรม” มนุษย์นั้น

ไม่ต่างอะไรจากการสั่งให้ “ควาญช้างที่อยู่บนหลังช้างบังคับให้ช้างเดินเข้าไปในป่าทึบ”

มาถึงตรงนี้ งงล่ะสิครับ ฮ่าๆๆ ค่อยๆ นะครับ

ถ้าเราอยากให้ควาญช้างพาช้างตัวโตไปที่ไหนสักที่หนึ่ง

สิ่งแรกเลยคือ “ควาญช้าง” จะต้องเข้าใจว่า ไปถึงเป้าหมายได้อย่างไร ได้ประโยชน์อะไร

เช่น ไปที่บ้านพักในป่า เพราะที่นั่นมี “อาหาร” ชั้นเลิศ เอาไว้ให้รับประทาน

“ควาญช้าง” เป็นตัวแทนของ “ความรู้ เหตุผล” ที่จะต้องเปลี่ยนแปลง

ซึ่งเป็นสิ่งแรก ที่มีความสำคัญ

ผมขอยกตัวอย่าง การเปลี่ยนแปลงที่ดูเหมือนง่าย แต่ทำยาก

คือ “การออกกำลังกาย”

ถ้าเราอยากจะเริ่มออกกำลังกาย

อย่างแรกที่สุด เราจะต้องรู้ว่า ออกกำลังกายแล้วได้อะไร

ไปออกกำลังกายได้ที่ไหนบ้าง

ต้องเตรียมอุปกรณ์อะไรบ้าง

ใช้เวลานานแค่ไหน จะแบ่งเวลาอย่างไร

สิ่งเหล่านี้คือ “ความรู้ และ เหตุผล” ที่สำคัญในการเริ่มออกกำลังกายครับ

 

ทีนี้ หลายๆ ท่านคงพอจะเดาออกว่า “โลกนี้ มันไม่ได้ง่ายดายขนาดนั้น”

คนอ้วนทุกคนในโลกนี้รู้ครับ ว่าออกกำลังกายเป็นสิ่งที่ดี

รู้ครับ ว่าถ้าจะเริ่มออกกำลังกายต้องทำอย่างไร

มีเงินที่จะซื้ออุปกรณ์ รองเท้า พร้อมจะออกกำลังกายได้เสมอ

แต่ว่า ตามสถิติ มากกว่า 90% ที่รู้แล้ว

ก็ยัง “ลงมือออกกำลังกาย” ไม่ได้เสียที

เพราะอะไรน่ะหรือครับ

คำตอบคือ “ช้าง” ครับ

ช้างเป็นตัวแทนของ “อารมณ์ ความรู้สึก”

ควาญช้าง จะเก่งแค่ไหน รู้ว่าต้องไปที่ไหนอย่างไร

แต่ถ้า “ช้าง” ไม่เอาด้วย

ยังไงก็ “แพ้” ครับ

 

ยกตัวอย่าง การออกกำลังกาย เช่นกัน

คนส่วนใหญ่ที่ลุกขึ้นมาออกกำลังกายนั้น จะต้องมี “อารมณ์ ความรู้สึก” ร่วมเสมอ

เริ่มออกกำลังกาย เพราะเพิ่งป่วยหนักมา “กลัว” จะตาย

เริ่มออกกำลังกาย เพราะท้ากับเพื่อนๆ หลายๆ คนไว้ ไม่อยาก “เสียหน้า”

โหลดแอพกันมา แชร์กัน ใครวิ่งไปแล้วเท่าไร เป็นการ “กดดัน” กันเอง ให้ได้ออกกำลังกาย

นี่คือ หลักการเบื้องหลังของแอพพลิเคชั่นออกกำลังกายทั้งหลาย

ต่างๆ นานา

ในเชิงของธุรกิจแล้ว การที่จะทำให้ผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมมาใช้สินค้าของเรานั้น

เรื่องของ “อารมณ์” มีผลมากๆ อย่างที่เราเห็นใน “การตลาด” มากมาย

โฆษณาประกันชีวิต ที่ไม่ได้บอกเหตุผลว่าทำไมต้องซื้อประกัน

แต่เล่นกับ “อารมณ์” ความห่วงใย การดูแลกันของมนุษย์ล้วนๆ จนคนซึมซับได้เอง ว่าทำไมต้องซื้อประกัน

อีกตัวอย่างหนึ่ง คือบริษัท “แอปเปิ้ล”

เชื่อไหมครับ ตอนที่ “แอปเปิ้ล” ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ มาในช่วงแรกๆ นั้น

ไม่ค่อยมีใครใช้ครับ

ไม่ใช่ว่าไม่รู้ว่ามันดี แต่เพราะ “พฤติกรรม” เปลี่ยนยาก

คนยังคงใช้ผลิตภัณฑ์ของ “ไมโครซอฟต์” หรือที่เรียกว่า “วินโดว์” ไม่ยอมเปลี่ยน

สตีฟ จ็อบส์ ตัดสินใจแก้ปัญหาด้วย “นวัตกรรม” โดยสร้างสิ่งหนึ่งขึ้นมาครับ

สิ่งนั่นคือร้าน “Apple Store” ที่ตกแต่งอย่างสวยงาม มีสไตล์เป็นที่สุด

ร้าน Apple Store ของบริษัทแอปเปิ้ล เปิดตัวขึ้นด้วยสาเหตุเดียว

คือ อยากให้คนที่ไม่เคยใช้ผลิตภัณฑ์ของแอปเปิ้ล ได้ลองใช้ดูสักครั้ง

“ความรู้สึก อารมณ์ร่วม” ในการได้สัมผัสเครื่อง แมคบุ๊ก ไอพอด

จะทำให้คน “ซื้อ” มากกว่าการป่าวประกาศสรรพคุณ

 

ทีนี้ ทั้ง “ควาญช้าง” และ “ช้าง” พร้อมแล้วที่จะเดินไปสู่จุดหมาย

แต่หากว่า “ป่ารกทึบ” จนเกินไป ก็อาจทำให้ท้อแท้ได้

เราจึงต้องมีส่วนสุดท้ายในการจัดการการเปลี่ยนแปลง นั่นคือ “การถางหญ้า”

ทำให้การเปลี่ยนแปลงนั้น “ง่าย” ให้มากที่สุด

ยกตัวอย่าง การออกกำลังกาย

รู้ว่า ต้องออกกำลังกาย เข้าใจถึงเหตุผล มีอารมณ์ร่วม

วันนี้เพิ่งเคลียร์งานเสร็จ อยากจะออกกำลังกายตอนนี้เดี๋ยวนี้

แต่ว่า “สวนสาธารณะ” ที่ใกล้ที่สุด ต้องขับรถไปครึ่งชั่วโมง

หมดกำลังใจแน่ๆ ถ้าเป็นแบบนี้บ่อยๆ เข้า

การซื้อ “ลู่วิ่ง” มาไว้ในออฟฟิศเลย ก็เป็นการช่วยให้การเปลี่ยนแปลงง่ายขึ้น

เช่นเดียวกัน คิดจะออกกำลังกายทีไร ลืมรองเท้าไว้ที่บ้านทุกที

ซื้อมันไว้เลยสองคู่ ไว้ที่บ้าน และที่ทำงาน จะได้ไม่มีข้ออ้าง

ทำให้การเปลี่ยนแปลงนั้น “ง่าย” แบบนี้ เป็นต้น

อยากให้คนคุยกันมากขึ้นในออฟฟิศ

ไม่จำเป็นต้องไปบอกว่า คุณจะได้อะไร อธิบายให้มากความ

แค่เอา “คอก” ออกไป ทำเป็นโต๊ะใหญ่ๆ นั่งทำงานด้วยกัน

ยังไง ยังไง ก็ต้องคุยกัน

การเปลี่ยนแปลงนั้น เริ่ม “ง่ายๆ” จากการปรับ “สภาพแวดล้อม”

 

“ช้างอารมณ์ดี สั่งให้ไปไหนก็ไป ไม่ยาก” พี่ควาญช้างบอกไว้

ควาญช้าง รู้ว่าต้องไปที่ไหน ไปอย่างไร

ช้าง ต้องพร้อม อยู่ในอารมณ์ที่อยากไป

หญ้าต้องไม่สูงจนเกินไป ทำให้การเดินทางลำบาก

เหตุผล อารมณ์ สภาพแวดล้อม สามสิ่งที่จะทำให้ “การเปลี่ยนแปลง” ประสบผล

รู้แล้ว รออะไร

รีบไปซื้อ “กล้วย” มาสักหวีสิ

เดี๋ยวจะหาว่า “ช้าง” ไม่เตือน