This page is intentionally left blank หน้าว่างในประวัติศาสตร์ ของวัตถุธรรมดาสามัญ ในสภาพแวดล้อมของศิลปะที่ถูกมองข้าม (จบ)

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์
ตัวกั้นที่จอดรถจากคอนกรีต (จากลานจอดรถ 123 ปาร์กกิ้งซึ่งเป็นที่ตั้งของบางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลลอรี่) จํานวน 8 แท่ง แต่ละแท่งขนาด 245 x 7 x 7 ซม. น้ําหนัก 29 กก.

การเล่นกับความสัมพันธ์ระหว่างสองพื้นที่สองหอศิลป์ของนิทรรศการ This page is intentionally left blank ของปรัชญา พิณทองนั้น ก็เชื่อมโยงไปถึงองค์ประกอบส่วนที่สามในนิทรรศการ ที่เป็นแท่งคอนกรีตกั้นที่จอดรถหลากสีสัน จำนวน 8 แท่ง ที่วางเรียงรายอยู่บนพื้นหอศิลป์

ซึ่งเจ้าแท่งคอนกรีตเหล่านี้ เดิมทีในอดีตเคยถูกใช้เป็นที่กั้นที่จอดรถ ของลานจอดรถ 123 ปาร์กกิ้ง ที่เคยตั้งอยู่บนพื้นที่ที่กลายเป็นหอศิลป์ บางกอก ซิตี้ซิตี้ ในปัจจุบันนี่เอง

ตัวกั้นที่จอดรถจากคอนกรีต(จากลานจอดรถ 123 ปาร์กกิ้งซึ่งเป็นที่ตั้งของบางกอกซิตี้ซิตี้ แกลลอรี่) จํานวน 8 แท่ง แต่ละแท่งขนาด 245 x 7 x 7 ซม.น้ําหนัก 29 กก.

“สมัยก่อนตอนเรามาเรียนภาษาเยอรมันที่สถาบันเกอเธ่ หรือมาทำวีซ่าที่สถานทูตเยอรมัน เราก็มาจอดรถที่นี่ ลองนึกดูเล่นๆ ว่าถ้าดึงผนังหอศิลป์ทั้งหมดออก พื้นที่นี้ก็จะกลับกลายไปเป็นที่จอดรถเหมือนเดิม เราเลยเปิดประตูห้องแสดงงานให้อากาศและแสงสว่างข้างนอกเข้ามา และเพื่อให้มองเห็นที่จอดรถข้างนอกได้ด้วย เราตั้งคำถามว่า ถ้าที่จอดรถเป็นแก่นสารของการมีอยู่และเป็นโครงสร้างหลักของพื้นที่แห่งนี้ก่อนที่หอศิลป์จะมาถึง ถ้าอย่างนั้นหน้าที่ของมันในฐานะที่จอดรถนั้นเป็นสิ่งที่กำลังค้ำจุนศิลปะอยู่หรือเปล่า?”

ดูเผินๆ เหมือนแท่งคอนกรีตเหล่านี้ถูกศิลปินจงใจแต่งแต้มเติมสีทับกันหลายชั้นเพื่อให้มีความสวยงามสมเป็นวัตถุทางศิลปะ

แต่ความเป็นจริง สีสันบนแท่งคอนกรีตเป็นสีดั้งเดิมของมันอยู่แล้ว ปรัชญาแค่เก็บพวกมันมาโดยไม่ได้ทำอะไรนอกจากขัดล้างทำความสะอาด

โดยเขากล่าวว่า

“เดิมทีสีบนแท่งคอนกรีตพวกนี้ถูกทาเพื่อบ่งบอกว่าที่ตรงนั้นเป็นที่จอดรถของใคร พอเปลี่ยนคนจอดมันก็จะถูกทาสีใหม่ ทั้งสีเขียว แดง เหลือง ม่วง ทับลงไปในแท่งเดียวกันซ้ำแล้วซ้ำเล่า แท่งคอนกรีตพวกนี้เองก็ถูกโยนทิ้งไว้ในที่ที่เหมือนสุสานที่เขาเอาขยะไปกองรวมอยู่ตรงนั้น มันเป็นหลักฐานของสิ่งที่หลงเหลือจากการที่ถูกทิ้ง ถูกวางไว้ห่างจากสายตาและความต้องการ เราก็แค่ไปเอามันกลับมาวางในที่ที่มันเคยอยู่เท่านั้นเอง”

สิ่งที่น่าสนุกเกี่ยวกับงานชุดนี้ก็คือ ตำแหน่งการวางแท่งคอนกรีตเหล่านี้จะถูกขยับปรับเปลี่ยนไปในรูปแบบต่างๆ ทุกวัน ไปจนจบการแสดงงาน โดยรูปแบบอันแปรผันที่ว่านี้สัมพันธ์ไปกับขนาดของพื้นที่ในห้องแสดงงานที่สามารถจอดรถได้ 8 คันพอดิบพอดี

ตัวกั้นที่จอดรถจากคอนกรีต(จากลานจอดรถ 123 ปาร์กกิ้งซึ่งเป็นที่ตั้งของบางกอกซิตี้ซิตี้ แกลลอรี่) จํานวน 8 แท่ง แต่ละแท่งขนาด 245 x 7 x 7 ซม.น้ําหนัก 29 กก.

ดูๆ ไปก็อดคิดไม่ได้ว่าผลงานในนิทรรศการนี้ของปรัชญานั้นมีส่วนผสมที่ทำให้นึกไปถึงกระแสเคลื่อนไหวอันหลากหลายในประวัติศาสตร์ศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นผลงานสมุดบันทึก และแท่งคอนกรีตที่เป็นการหยิบเอาสิ่งของสำเร็จรูปมาทำเป็นงานศิลปะ แบบเดียวกับงานแบบเรดดี้เมด (Readymades) ตัวแท่งคอนกรีตเองก็มีสีสันอันฉูดฉาดเปี่ยมอารมณ์แบบศิลปะนามธรรม (Abstract art) และมีรูปทรงเรขาคณิตซ้ำๆ อันเรียบง่ายธรรมดา มีความเป็นวัสดุอุตสาหกรรมแบบมินิมอลลิสม์ (Minimalism) หรือกระบวนการทาสีผนังห้องแสดงงานที่มีความคล้ายคลึงกับงานศิลปะคอนเซ็ปช่วล (Conceptual art)

และลักษณะร่วมเหล่านี้ก็ถูกสะท้อนออกมาในองค์ประกอบส่วนสุดท้ายในนิทรรศการ ที่อยู่ในรูปของชุดปึกการ์ดกระดาษร้อยห่วงบรรจุคำศัพท์และคำอธิบายสั้นๆ เกี่ยวกับกระแสเคลื่อนไหวและแนวคิดทางศิลปะต่างๆ ให้คนได้หยิบมาอ่านเพื่อทำความเข้าใจ หรือไปค้นคว้าต่อได้ ซึ่งธนาวิภัณฑารักษ์ของนิทรรศการกล่าวว่า

ตัวกั้นที่จอดรถจากคอนกรีต (จากลานจอดรถ 123 ปาร์กกิ้งซึ่งเป็นที่ตั้งของบางกอกซิตี้ซิตี้ แกลลอรี่) จํานวน 8 แท่ง แต่ละแท่งขนาด 245 x 7 x 7 ซม. น้ําหนัก 29 กก.

“ตัวการ์ดคำศัพท์นี้ก็ทำหน้าที่เหมือนเป็นข้อเขียนประกอบนิทรรศการนั่นแหละ เพียงแต่เราไม่เขียนเป็นบทความอธิบายอะไรยืดยาว แต่จะใส่คำศัพท์และคำอธิบายสั้นๆ ที่เราเลือกมาจากในเว็บไซต์ของหอศิลป์ Tate Modern ให้ผู้ชมอ่าน เพราะงานในนิทรรศการนี้มันอาจจะสร้างความเหวอสำหรับผู้ชมจำนวนหนึ่ง เพราะพอเข้ามาในห้องแล้ว เห็นของอยู่จำนวนน้อยนิดแค่นี้ แล้วงานส่วนหนึ่งก็ยังเป็นการทาสีขาวบนผนัง ซึ่งก็เป็นสีขาวอยู่แล้วอีก เราก็เลยอยากจะให้แผนที่เขาคร่าวๆ เพื่อไม่ปล่อยให้เขาหลงทาง และเพื่อให้ปะติดปะต่อกับสิ่งที่เห็น และชักชวนให้ตั้งคำถาม เพราะเรารู้สึกว่าต้องเกิดคำถามขึ้นอย่างแน่นอน ว่าอะไรแบบนี้ก็เป็นศิลปะได้เหรอ”

“เราก็เลยยกคำถามขึ้นมาว่า แล้วอะไรล่ะ ที่ทำให้ศิลปะเป็นศิลปะ? มันมีเงื่อนไขอะไรบ้าง? ถ้าเขาอ่านการ์ดนี้จนหมดก็คิดว่าเขาอาจจะพอมองออก ว่างานที่อาจจะดูประหลาดสำหรับเขาเนี่ย เอาเข้าจริงๆ มันมีคนทำมาก่อนหน้านี้แล้ว ในจุดต่างๆ ของประวัติศาสตร์ศิลปะ ตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 ที่ผ่านมา จนถึง 21 งานของปรัชญาสามารถปักหมุดเข้าไปได้ในจุดต่างๆ เหล่านี้”

“แต่ในขณะเดียวกันก็มีส่วนที่เป็นเรื่องเฉพาะพื้นที่ของเมืองไทยอยู่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของประวัติศาสตร์ของพื้นที่ทางศิลปะในไทย ที่เราพูดผ่านหอศิลป์เจ้าฟ้า โดยตั้งต้นจากสมุดบันทึกของหอศิลป์นั่นแหละ”

สิ่งที่น่าสนใจอีกประการในนิทรรศการนี้ก็คือ องค์ประกอบต่างๆ ในนิทรรศการที่กล่าวมานั้น ไม่ได้ถูกแยกเป็นผลงานแต่ละชิ้นโดดๆ หากแต่ทั้งหมดถูกหลอมรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเป็นงานชิ้นเดียว (แม้แต่การเข้าไปทาสีในห้องแสดงงานของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป เองก็ตาม)

หรือแม้แต่บัตรเชิญของงานที่อยู่ในรูปของกระดาษขาวขนาดโปสเตอร์พับสี่ทบ เมื่อคลี่ออกมาจะมีรอยพับแบ่งกระดาษเป็น 16 ช่อง ก็สะท้อนถึงการกั้นแบ่งพื้นของห้องแสดงงานด้วยคอนกรีตกั้นที่จอดรถ

อีกทั้งบนหน้ากระดาษที่นอกจากจะมีตัวหนังสือชื่อนิทรรศการแล้ว ยังมีตัวหนังสือพิมพ์ว่า “สีขาว กับ เงาของกระดาษ” “white shadow” และ “รอยพับ กับ เส้นตรง” “line and fold” อยู่ด้วย การบรรยายลักษณะทางกายภาพของวัตถุที่มองเห็นด้วยตาออกมาเป็นภาษาเขียนเช่นนี้ ก็สอดคล้องกับการตั้งคำถามกับลักษณะการเหลื่อมซ้อนของการมองและการอ่าน ที่ปรากฏอยู่ในความหมายของชื่อนิทรรศการได้เป็นอย่างดี

นอกจากผลงานศิลปะดังที่กล่าวมาแล้ว ในช่วงการแสดงนิทรรศการยังมีโปรแกรมสาธารณะและกิจกรรมต่างๆ อาทิ

การบรรยาย “Archive Fever : A Freudian Impression (Jacques Derrida, 1995/1996)” โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เกษม เพ็ญภินันท์ ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันที่ 16 ธันวาคม 2561

กิจกรรมภาคสนามและงานเขียนเชิงทดลอง “ลาก-เส้น-ต่อ-จุด” เยี่ยมชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป, หอศิลป์ พีระศรี และบางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่ ในวันที่ 22 ธันวาคม 2561

ตัวกั้นที่จอดรถจากคอนกรีต(จากลานจอดรถ 123 ปาร์กกิ้งซึ่งเป็นที่ตั้งของบางกอกซิตี้ซิตี้ แกลลอรี่) จํานวน 8 แท่ง แต่ละแท่งขนาด 245 x 7 x 7 ซม.น้ําหนัก 29 กก.

กิจกรรมชวนอ่าน “An Archival Impulse (Hal Foster, 2004)” โดย ดร.สายัณห์ แดงกลม ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร กับนักอ่าน 12 คน ในวันที่ 19 มกราคม (ปิดรับสมัครแล้ว)

กิจกรรมสนทนากับศิลปินและภัณฑารักษ์ ดำเนินรายการโดย กรมธรณ์ สฤทธิบูรณ์ และการเปิดตัวสูจิบัตรนิทรรศการและสิ่งพิมพ์จากกิจกรรม “ลาก-เส้น-ต่อ-จุด” ในวันที่ 27 มกราคม 2562 เวลา 14:00-17:00 น.

นิทรรศการ This page is intentionally left blank จัดแสดงที่บางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่ (สาทรซอย 1 สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินลุมพินี จอดรถที่ 123 ปาร์กกิ้ง) ตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2561 – 27 มกราคม 2562 แกลเลอรี่เปิดทำการวันพุธถึงวันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 13:00-19:00 น.

ขอบคุณภาพและข้อมูลจากบางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่