คนมองหนัง : “The Chambermaid” “สาวใช้เม็กซิกัน” ในอีกมุมหนึ่ง

คนมองหนัง

ภาพยนตร์เม็กซิกันเรื่อง “Roma” ของ “อัลฟอนโซ กัวรอน” คือหนังที่คว้ารางวัลสำคัญๆ ในช่วงปลายปีก่อน-ต้นปีนี้ และน่าจะเป็นตัวเต็งเบอร์ต้นๆ บนเวทีออสการ์

อย่างไรก็ดี ในปี 2018 “Roma” มิได้เป็นหนังจากประเทศเม็กซิโกเพียงหนึ่งเดียว ที่เลือกเล่าเรื่องราวของ “คนรับใช้สตรี” หรือ “แรงงานหญิงในภาคบริการ”

หากยังมี “The Chambermaid” (La camarista) หนังยาวเรื่องแรกของผู้กำกับฯ หญิงรุ่นใหม่ “ลิลา อาวิเลส” ซึ่งถ่ายทอดประเด็นทางสังคมทำนองเดียวกัน แต่ต่างบริบทและยุคสมัย

แม้ “The Chambermaid” จะท่องไปตามเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติระดับรองๆ และชั้นเชิงฝีมือการทำหนังของอาวิเลสจะยังแพรวพราวลุ่มลึกสู้กัวรอนไม่ได้

แต่โดยส่วนตัว ผมรู้สึกว่าหนังเม็กซิกันคู่นี้ถือเป็นจิ๊กซอว์ที่สามารถนำมาเชื่อมต่อประกบกันได้อย่างเหมาะเจาะลงตัว หรือเป็นบทสนทนาในหัวข้อต่อเนื่องกันพอดี

กล่าวคือ ในขณะที่ “Roma” พูดถึงคนรับใช้หญิงที่ได้รับการโอบอุ้มประคับประคองจากระบบอุปถัมภ์ภายใต้โครงข่ายอำนาจของชนชั้นที่สูงกว่า ท่ามกลางกระแสการเรียกร้องประชาธิปไตยภายในประเทศเม็กซิโกเมื่อทศวรรษ 1970

“The Chambermaid” กลับพูดถึงสตรีชนชั้นล่างรายหนึ่ง ในฐานะแรงงานภาคบริการประจำโรงแรมหรู ซึ่งเป็นปัจเจกชนตัวเดี่ยวโดด และแทบจะถูกตัดขาดจากเครือข่ายความสัมพันธ์หรือระบบอุปถัมภ์ใดๆ

เธอใฝ่ฝันทะเยอทะยานอยากจะมีชีวิตที่ดีขึ้น แต่ก็ยังไปไม่ถึงไหนสักที เพราะอำนาจ/การตัดสินใจ (ที่อธิบายเหตุผลไม่ได้) ของนายจ้าง การต้องแข่งขันกับเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ ตลอดจนสหภาพแรงงานที่ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพนัก

ท่ามกลางบริบทของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวยุคโลกาภิวัตน์

“The Chambermaid” เล่าเรื่องของแม่บ้านทำความสะอาดห้องพักในโรงแรมหรู วัย 24 ปี ซึ่งมีลูกชายวัย 4 ขวบ แต่เธอต้องว่าจ้างให้คนอื่นมาช่วยเลี้ยงดูแทน เพราะไม่มีเวลามากพอ (ส่วนพ่อเด็กนั้น หนังไม่กล่าวถึง)

อาวิเลสพาผู้ชมไปพบปะกับบรรดาแขกบนชั้น 21 ซึ่งตัวละครนำดูแลอยู่ แขกเหรื่อที่มีบุคลิกหลากหลายและมีพฤติกรรมแปลกประหลาดผิดเพี้ยนกันไปคนละอย่างสองอย่าง (ออกแนว “หลายชีวิตในโรงแรมใหญ่”) หรือแขกบางคนก็ไม่ปรากฏกายออกมาเลย แต่กลับมีความสำคัญต่อจิตใจคุณแม่บ้านมิใช่น้อย

พร้อมๆ กันนั้น หนังค่อยๆ คลี่คลายให้เรามองเห็นมิติซับซ้อนของชีวิตตัวละครนำ ผ่านสถานการณ์ละเอียดลออนานัปการ

ตั้งแต่ฉากที่เธอโทรศัพท์ไปคุยกับลูกชายตัวน้อยและคนเลี้ยงลูก

ฉากที่เธอไปรับจ๊อบเลี้ยงเด็กทารก ซึ่งเป็นลูกของแขกในโรงแรมคนหนึ่ง

ฉากที่เธอเล่นบทพ่อแง่แม่งอนกับเพื่อนร่วมงานเพศชาย (พนักงานทำความสะอาดกระจกประจำโรงแรม) ซึ่งเข้ามาจีบเธอ อันนำไปสู่โมเมนต์สำคัญของหนัง ที่ทำให้ฉากเลิฟซีนระหว่าง “อนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม” กับ “พรทิพย์ ปาปะนัย” ใน “พลอย” ของ “เป็นเอก รัตนเรือง” แลดูจิ๊บๆ ไปเลย

ฉากที่เธอไปเรียนหนังสือภาคค่ำ และได้ทำความรู้จักกับเพื่อนพนักงานใหม่ๆ จนก่อเกิดสายสัมพันธ์กึ่งมิตรกึ่งศัตรู

ตลอดจนการพยายามไต่เต้าและความมุ่งมาดปรารถนาที่จะมีชีวิตที่ดีกว่าเดิมของเธอ ผ่านการเฝ้าติดตามทวงถามเรื่องการได้สิทธิถือครองชุดราตรีสีแดงที่มีลูกค้าลืมเอาไว้ หรือความต้องการจะเลื่อนระดับขั้นในการทำงานอย่างไม่ปิดบัง

ขณะเดียวกัน อาวิเลสยังใส่รายละเอียดอื่นๆ เข้ามาในหนังของตนเองได้อย่างมีเสน่ห์

เช่น การฉายภาพให้เห็นว่าเวลาพวกแขกละเลงห้องพักในโรงแรมจนเละเทะนั้น อัตราความเลอะเทอะมันรุนแรงได้ถึงขั้นไหน

นอกจากนี้ หนังจะเน้นให้เห็นว่าตัวละครนำเป็นคน “มือไม้หนัก” ระดับที่ขัดส้วมได้สะอาดเอี่ยมอ่อง แต่อาการมือหนักนั้นก็ลามไปถึงเรื่องอื่นๆ ด้วย อาทิ เวลาเธออาบน้ำ หรือเวลาเธอแอบหยิบจับข้าวของของแขกขึ้นมาดู

ตัวละครสมทบอีกรายที่น่าประทับใจ ได้แก่ คุณป้าซึ่งคอยกดลิฟต์โดยสารบริการบรรดาเพื่อนพนักงานในโรงแรม แกเล่าให้ตัวละครนำฟังว่าตนเองเคยเป็นแม่บ้านทำความสะอาดประจำห้องพักมาก่อน แต่เพราะมีปัญหาด้านร่างกายจากการปฏิบัติงาน จึงต้องมารับหน้าที่นี้

ด้วยความที่งานดังกล่าวเต็มไปด้วยเวลาว่างอันเหลือเฟือ คุณป้าเลยพกหนังสือมาอ่านฆ่าเวลาจนเป็นกิจวัตร ระหว่างต้องยืนขึ้นๆ ลงๆ อย่างเดียวดายอยู่ในลิฟต์

อาวิเลสเล่าเรื่องราวเหล่านี้ไปอย่างเรียบเรื่อย ทว่าเพลิดเพลิน และสามารถเร้าอารมณ์คนดูได้ในจุดที่ควรจะพีกพอดี

โดยรวมๆ โลกของตัวละครนำเหมือนจะรื่นรมย์อยู่บ้าง แต่สุดท้ายก็หนักไปทางอมทุกข์มากกว่า

อย่างไรก็ตาม หนังไม่ได้มุ่งแสดงความเห็นอกเห็นใจหรือเอาใจช่วยเธอ แต่ยังขับเน้นให้เห็นถึงความตึงเครียด, การหมกมุ่นอยู่กับตัวเอง, การ (แทบ) ไม่มีเพื่อน และความทะเยอทะยานที่เกินขีดจำกัดไปบ้างของตัวละครรายนี้

บทสรุปของ “The Chambermaid” จัดว่า “เจ๋ง” และ “ชวนเหวอ” พอสมควร

เมื่อคุณแม่บ้านตัวละครนำไม่สามารถขับเคลื่อนตนเองไปเป็นพนักงานระดับดีเลิศประจำ “ชั้นหรูที่สุด” ของโรงแรมได้เสียที (แถมยังคล้ายจะโดนหักหลังโดยเพื่อนร่วมงาน)

สิ่งที่เธอพยายามทำ จึงได้แก่การทดลองสลับสับเปลี่ยนวิถีชีวิต จากการเป็นแม่บ้านทำความสะอาดคนหนึ่ง ไปเลียนแบบ/สวมรอยเป็น “แขก” ในชั้นหรูสุด

จากพนักงานที่ต้องโดยสารลิฟต์โทรมๆ หลังตึก ไปสู่การใช้บริการลิฟต์ลูกค้าอย่างเนียนๆ

แม้อัตลักษณ์แท้จริง ฐานะทางเศรษฐกิจ และการแต่งกายของเธอจะยังคงเป็น “แม่บ้านธรรมดาๆ” อยู่ก็ตามที