เศรษฐกิจ / ปลดใบเหลืองประมงไทย อย่าเพิ่งดีใจ แค่เริ่มต้นแกะปมปัญหา รออีกเพียบ

เศรษฐกิจ

ปลดใบเหลืองประมงไทย

อย่าเพิ่งดีใจ

แค่เริ่มต้นแกะปมปัญหา

รออีกเพียบ

 

หลังจากที่รัฐบาลไทยใช้ความพยายามในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (ไอยูยู) มาเป็นเวลา 4 ปี ตั้งแต่วันที่ 21 เมษายน 2558 ที่โดนใบเหลือง

ในที่สุดเมื่อต้นมกราคมที่ผ่านมา รัฐบาลสามารถทำให้สหภาพยุโรป (อียู) เห็นถึงความจริงจังในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไอยูยู เป็นของขวัญต้อนรับปีใหม่ให้กับชาวประมงและคนไทยทั้งประเทศ

ความพยายามที่ผ่านมา รัฐบาลถึงกับต้องยกปัญหาดังกล่าวเป็นวาระแห่งชาติ

โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ดูแลรับผิดชอบอย่างใกล้ชิด จนมั่นใจว่าไทยได้วางรากฐานระบบป้องกันการทำประมงไอยูยูได้สมบูรณ์แล้ว ประกอบด้วย 6 ด้านสำคัญคือ

  1. ด้านกฎหมาย
  2. ด้านการบริหารจัดการประมง
  3. ด้านการบริหารจัดการกองเรือ
  4. ด้านการติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวัง (เอ็มซีเอส)
  5. ด้านการตรวจสอบย้อนกลับ

และ 6. ด้านการบังคับใช้กฎหมาย โดยอียูจะประชุมและทำงานร่วมกับฝ่ายไทยปีละ 2 ครั้ง เพื่อติดตามผลดำเนินงานว่าไทยยังเข้มข้นเหมือนช่วงโดนใบเหลืองหรือไม่

นั่นหมายความว่า เรื่องประมงยังไม่จบแม้จะได้รับการปลดใบเหลืองแล้วก็ตาม หากว่าต้องการให้การทำประมงไร้ปัญหา

 

สอดคล้องกับกลุ่มประมงพื้นบ้านและองค์กรภาคประชาสังคมที่มองว่าอียูปลดใบเหลือง เป็นแค่เพียงการเริ่มต้น ประเทศไทยโดยทุกฝ่าย รัฐและเอกชนยังต้องเดินหน้าจัดการแก้ปัญหาอีกหลายด้าน โดยเฉพาะปัญหาแรงงานประมง และการบริหารจัดการทางทะเลอย่างยั่งยืน

นายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย เคยให้สัมภาษณ์ว่า แม้จะเป็นเรื่องน่ายินดีที่ไทยได้รับการปลดใบเหลือง แต่ปัญหาภาคประมงยังไม่หมด

จากงานวิจัยของภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่ออาหารทะเลที่เป็นธรรมและยั่งยืน เมื่อปี 2561 ระบุว่า แรงงานประมงไทยยังต้องทำงานเกินชั่วโมงที่กฎหมายกำหนด เสี่ยงอันตราย การเข้าถึงข้อมูลด้านสิทธิยังคงมีข้อจำกัด

และจากการทำสำรวจแรงงานประมงพบว่าเกือบ 2 ใน 3 ของกลุ่มตัวอย่างระบุว่าไม่ได้เก็บเอกสารสำคัญ เช่น พาสปอร์ตไว้กับตัว ส่วนใหญ่ถูกนายจ้าง บริษัท หรือนายหน้าเก็บไว้ ถือเป็นสิ่งผิดกฎกระทรวงแรงงาน และ 95% ระบุว่าไม่ได้รับสำเนาสัญญาจ้างงานจากนายจ้าง

และที่ผ่านมาสมาคมประมง 22 จังหวัดชายทะเลได้ยื่นข้อเรียกร้องจากภาครัฐ โดยขอให้ได้ข้อสรุปเป็นรูปธรรมภายใน 1 เดือน

ซึ่งในจำนวนข้อเรียกร้องมีเรื่องที่เกี่ยวกับการดูแลสวัสดิการของแรงงานประมงด้วย ได้แก่

  1. การตรวจสุขภาพประจำปีของลูกจ้าง
  2. การส่งแรงงานประมงกลับจากท่าเรือต่างประเทศ
  3. การประกันสังคม

และ 4. การปฏิบัติและการใช้บังคับที่จะต้องมีใบรับรองการตรวจเรือ สภาพความเป็นอยู่ และสภาพการทำงานบนเรือ สอดคล้องกับเนื้อหาในอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอโอแอล) ฉบับที่ 188 หรืออนุสัญญา C188

 

ดูเหมือนว่าข้อกังวลของภาคประมง รัฐบาลไม่ได้เพิกเฉย เพราะ พล.อ.ฉัตรชัยให้สัมภาษณ์ว่ากำลังดำเนินการปรับปรุงอนุสัญญา C188 ว่าด้วยการทำงานภาคการประมงซึ่งจะคำนึงถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวประมงไทยด้วย โดยจะหารือเพื่อให้เป็นที่ยอมรับจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง สอดคล้องตามเจตนารมณ์ เพื่อให้ได้ข้อสรุปในประเด็นต่างๆ ร่วมกันต่อไป

คาดหมายว่าการยื่นรับรองอนุสัญญา C188 จะดำเนินการได้ภายในปลายเดือนมกราคมนี้ สร้างความมั่นใจต่อประชาคมโลกได้ว่าจะไม่มีการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับและการค้ามนุษย์ และทำให้ชาวประมงมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตามมาตรฐานสากล

ขณะที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยรัฐมนตรีว่าการ นายกฤษฎา บุญราช บอกว่าหลังจากนี้กระทรวงเกษตรฯ จะเน้นการดูแลชาวประมง ทั้งประมงชายฝั่งและประมงพื้นฐาน ทั้งเรื่องการปรับเปลี่ยนเครื่องมือการอบรม การทำประมงแบบใหม่

แต่หากชาวประมงรายใดอยากเปลี่ยนอาชีพ ก็จะดูแลช่วยหาอาชีพใหม่ให้

 

หลังรองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ออกมายืนยันการดูแลชาวประมง นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมประมงแห่งประเทศไทย ได้แสดงความเห็นสนับสนุนภาครัฐ และแสดงความมั่นใจว่าหลังจากนี้สินค้าทะเลของไทยจะกลับมาขายดีมีออเดอร์จากผู้ส่งออกได้มากขึ้น คาดว่ากำลังการผลิตจะกลับมาสูงถึง 90% จากช่วงที่ผ่านมากำลังการผลิตลดเหลือเพียง 50% ในช่วงเวลา 4 ปีที่ยังติดปัญหาเรื่องไอยูยู

“หลังจากนี้มั่นใจว่าประเทศไทยจะไม่กลับไปติดใบเหลืองอีก เนื่องจากมีการจัดระเบียบและมีกฎหมายควบคุมไว้หมดแล้ว เว้นแต่ว่าจะยกเลิกกฎหมายทั้งหมด แล้วนำกฎหมายเดิมฉบับ พ.ศ.2490 มาใช้อีก หากเป็นเช่นนั้นก็มีความเป็นไปได้สูงที่ไทยจะกลับมาติดใบเหลืองอีก ซึ่งหากพูดในหลักความเป็นจริง เป็นไปไม่ได้อยู่แล้วที่จะกลับไปใช้กฎหมายเดิม และเชื่อว่าหากรัฐบาลใหม่เข้ามาหลังประเทศไทยจัดการเลือกตั้งแล้ว ก็คงไม่สามารถปรับเปลี่ยนข้อกฎหมายดังกล่าวได้อย่างแน่นอน”

นายมงคลยังให้อีกเหตุผลหนึ่งที่มั่นใจว่าไทยจะไม่โดนใบเหลืองอีก คือปีนี้ไทยเป็นประธานอาเซียน ซึ่งมีแนวคิดหลักที่จะส่งเสริมหุ้นส่วนเพื่อความยั่งยืนในทุกมิติ ซึ่งรวมถึงการส่งเสริมการประมงที่ยั่งยืนด้วย โดยไทยได้เสนอที่จะผลักดันการจัดทำนโยบายประมงอาเซียนให้มีผลเป็นรูปธรรม รวมถึงการจัดตั้งคณะทำงานร่วมอาเซียนเพื่อป้องกันและปราบปรามการทำประมงไอยูยู เพื่อเป็นกลไกการป้องกันการทำประมงไอยูยูของภูมิภาคด้วย

โดยนายกรัฐมนตรีเองได้แถลงให้ประเทศสมาชิกอาเซียนทราบถึงความมุ่งมั่นของไทยในเรื่องนี้แล้ว

 

ในช่วงเดือนเมษายนนี้ ไทยเตรียมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ อาเซียน ไอยูยู เวิร์กช็อป เพื่อผลักดันการจัดตั้งคณะทำงานร่วมอาเซียนเพื่อป้องกันและปราบปรามการทำประมงไอยูยู หรือ ASEAN IUU Task Force ซึ่งอียูแสดงจุดยืนพร้อมจะสนับสนุนด้านงบประมาณสำหรับการจัดประชุมในครั้งต่อๆ ไป

แม้ว่านายมงคลจะสนับสนุนและเห็นด้วยกับสิ่งที่รัฐบาลดำเนินการอยู่ แต่ได้แสดงความกังวลเล็กน้อยและอยากเห็นรัฐบาลดำเนินการ คือการเปิดใจรับฟังเสียงจากชาวประมงให้มากขึ้น

แม้ว่าการเดินหน้ารับรองอนุสัญญา C188 ฉบับปรับปรุงเนื้อหาที่เน้นการดูแลสภาพความเป็นอยู่ของชาวประมง จะเป็นประโยชน์ต่อชาวประมงโดยแท้ แต่ดูเหมือนว่าเนื้อในของอนุสัญญาดังกล่าวยังเป็นที่กังวลของชาวประมงในหลายพื้นที่ที่ยังขาดความเข้าใจแท้จริงว่าชาวประมงจะได้หรือเสียประโยชน์

ดังนั้น หลังจากนี้ เป็นหน้าที่ของภาครัฐว่าจะสามารถแก้ไขสถานการณ์ความไม่เข้าใจนี้ได้อย่างไร เพราะหากภาครัฐมองในมุมเดียวว่าการรับรองใบอนุสัญญา C188 เพื่อให้ชาวประมงไทยต้องปฏิบัติภายใต้อนุสัญญาดังกล่าว เป็นการกู้ภาพลักษณ์ให้กับประมงของประเทศในสายตาชาวโลก

 แต่ต้องแลกกับความเดือดเนื้อร้อนใจของชาวประมงด้วยความไม่รู้ ที่สุดแล้วอาจทำให้เกิดความเสียหายทั้งประเทศ ไม่ต่างกับที่อียูแจกใบเหลืองก็เป็นได้