สุรชาติ บำรุงสุข : 40 ปีแห่งการล้อมปราบ (10) ยุคต่อต้านจักรวรรดินิยม

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข
ภาพการประท้วงขับไล่ฐานทัพอเมริกันในไทย ที่หน้าสถานทูตถนนวิทยุ (ภาพจาก http://www.bwfoto.net/ques_answ/topic.asp?TOPIC_ID=9992)

“หยดฝนย้อยหยาดฟ้ามาสู่ดิน ประมวลสินธุ์เป็นมหาสาครใหญ่
แผดเสียงซัดปฐพีอึงมี่ไป พลังไหลแรงรุดสุดต้านทาน”

กุหลาบ สายประดิษฐ์
14 ตุลาคม 2516

 

หนึ่งในทิศทางกิจกรรมใหม่ของนิสิตนักศึกษาในยุคหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ก็คือการเคลื่อนไหวต่อต้านฐานทัพสหรัฐอเมริกาในประเทศไทย

ถ้าจะถือว่าทิศทางเช่นนี้เป็นการก่อตัวของ “กระแสต่อต้านอเมริกา” ในหมู่นักศึกษาไทยก็ไม่ผิดอะไรนัก

ดังจะเห็นได้จากการเปิดตัวหนังสือชื่อ “ภัยขวา” ในปี 2514 ที่มีส่วนสะท้อนให้เห็นถึงการวิจารณ์บทบาทของสหรัฐในอินโดจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสงครามเวียดนาม

ซึ่งกระแสเช่นนี้ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นผลพวงของการต่อต้านสงครามที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมอเมริกา

สงครามเวียดนามได้ผลักดันให้คนหนุ่มสาวอเมริกันเป็นจำนวนมากกลายเป็นนักเคลื่อนไหว และนำไปสู่การกำเนิดของพวก “ขบวนการต่อต้านสงคราม” ในสังคมตะวันตก

การต่อต้านเช่นนี้ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิเสธการรับหมายเกณฑ์ที่จะมารบในเวียดนาม หรือการเปิดการเดินขบวนประท้วงสงครามดังเช่นที่เกิดขึ้นในหลายๆ เมืองของสหรัฐ

จนการต่อต้านสงครามกลายเป็นการ “ต่อต้านรัฐบาล” ไปโดยปริยาย

คนบางส่วนอาจจะสุดโต่งจนกลายเป็น “บุปผาชน” แต่คนบางคนกลายเป็น “นักเคลื่อนไหว”

กระแสจากตะวันตกเช่นนี้ก็พัดพาเข้าสู่สังคมไทยเช่นกัน

จนทำให้ขบวนคนหนุ่มสาวไทยบางส่วนเริ่มให้ความสนใจกับปัญหาความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ มากขึ้น

จุดเริ่มต้นของกระแส

การล้มลงของระบบทหารในปี 2516 ได้เปิดพื้นที่ทางการเมืองใหม่ ซึ่งหนึ่งในขณะนั้นก็คือ การหยิบเอาประเด็นด้านนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงไทยขึ้นมาเป็นเรื่องหลักของการเคลื่อนไหว โดยมีปัญหาความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ เป็นแกนกลางที่สำคัญของเรื่องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ซึ่งภายใต้ระบบทหารในแบบเดิมนั้น โอกาสที่เปิดประเด็นนี้ในเวทีสาธารณะแทบจะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย

แต่แล้วเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น ในวันที่ 24 ธันวาคม 2516 มีจดหมายจาก “สหายจำรัส” (ชื่อจัดตั้งของ นายเปลื้อง วรรณศรี สมาชิกระดับนำของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย) ถึงผู้นำรัฐบาลไทยในขณะนั้น ขอเปิดการเจรจาหยุดยิง

ต่อมาในวันที่ 4 มกราคม 2517 รัฐบาลพบว่าข้อเสนอหยุดยิงดังกล่าวเป็น “จดหมายปลอม” โดยมีหน่วยข่าวกรองของสหรัฐเป็นผู้จัดทำ

จนในท้ายที่สุด เมื่อเรื่องเปิดเผยขึ้น จึงได้มีการขอโทษรัฐบาลไทยในกรณีนี้

ปัญหาดังกล่าวได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการวิพากษ์วิจารณ์อเมริกันหลัง 14 ตุลาฯ ไปโดยปริยาย และขณะเดียวกันก็มีหนังสือเรื่อง “เปิดหน้ากากซีไอเอ” (เขียนโดย ชวินทร์ สระคำ และ ยอดธง ทับทิวไม้) เป็นตัวจุดประกาย

ต่อมาในปี 2517 งานในทิศทางการวิเคราะห์แบบฝ่ายซ้ายเล่มแรกก็ปรากฏตัวขึ้นคือ “โฉมหน้าจักรพรรดินิยม” (มณี ศูทรวรรณ, 2517) ซึ่งเป็นบทความที่ตีพิมพ์ในหนังสือนิติศาสตร์ ฉบับปี 2500 หนังสือเล่มนี้มีข้อเสนอทางทฤษฎีอย่างสำคัญก็คือ ประเทศไทยมีลักษณะเป็น “กึ่งศักดินากึ่งเมืองขึ้น”

และประเด็นนี้มีอิทธิพลอย่างมากต่อการวิเคราะห์ทางการเมืองของปีกซ้ายในขบวนการนักศึกษาในช่วงต่อมา

แต่อีกด้านหนึ่ง ปัญหานี้มีส่วนกระตุ้น “ต่อมชาตินิยม” ในหมู่นิสิตนักศึกษาด้วยประเด็นเรื่องเอกราชและอธิปไตยของประเทศ และทำให้เห็นว่าสหรัฐละเมิดอธิปไตยไทย จะว่าเป็นเรื่องอารมณ์ความรู้สึกแบบฝ่ายซ้ายทั้งหมดเลยก็คงไม่ใช่

ซึ่งในสถานการณ์เช่นนี้ การเคลื่อนไหววิพากษ์วิจารณ์อเมริกันจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของ “วัฒนธรรมปัญญาชน” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และกระแสเช่นนี้ก็ขยายตัวไปยังมหาวิทยาลัยต่างๆ ด้วย

พวกเราที่จุฬาฯ ก็รับเอากระแสวิพากษ์อเมริกันมาด้วยเช่นกัน ผมกับเพื่อนๆ ส่วนหนึ่งได้มีโอกาสเข้าไปช่วยชมรมรัฐศึกษาทำหนังสือชื่อ “อเมริกันอันตราย” (พิรุณ ฉัตรวณิชกุล, 2517)

หรือในวันชาติของสหรัฐ ในวันที่ 4 กรกฎาคม 2518 ได้มีการจัดนิทรรศการต่อต้านสหรัฐ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ถือว่าเป็นงานชุมนุมทางการเมืองใหญ่ครั้งหนึ่งของนิสิตนักศึกษาขณะนั้น

กระแสปัญญาชนฝ่ายซ้าย

ในสภาพเช่นนี้ การวิพากษ์และการต่อต้านสหรัฐกลายเป็นหนึ่งในกระแสหลักของการเคลื่อนไหวของนักศึกษาในช่วงเวลาจากปี 2517 ต่อเข้าปี 2518 และยิ่งในช่วงต่อมา ลักษณะของการเคลื่อนไหวเป็นไปในทิศทางของการ “ต่อต้านจักรวรรดินิยม” มากกว่าจะเป็นประเด็นเรื่องชาตินิยม ก็ยิ่งบ่งบอกถึงทิศทางของขบวนนิสิตนักศึกษาที่ออกไปในทิศทางของ “ความเป็นซ้าย” มากขึ้น

ประกอบกับอิทธิพลชุดความคิดของการต่อต้าน “จักรวรรดินิยมอเมริกัน” ที่เป็นผลจากการต่อต้านสงครามเวียดนาม และขยายตัวอยู่ในโลกตะวันตกเองก็ขยายตัวเข้าสู่ปัญญาชนไทย

แม้จะไม่นำไปสู่ “ขบวนการต่อต้านสงคราม” เช่นที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ แต่อิทธิพลของชุดความคิดต่อต้านปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐในสงครามเวียดนามมีผลต่อปัญญาชนไทยอยู่พอสมควร

และยิ่งถูกผนวกเข้ากับ “การต่อต้านจักรวรรดินิยม” ซึ่งอาจจะมีลักษณะของ “ปัญญาชนฝ่ายซ้าย” ด้วยแล้ว การเคลื่อนไหวชุดนี้จึงถูกมองจากฝ่ายรัฐด้วยความกังวลถึงการขยับตัวของขบวนนิสิตนักศึกษาไปเป็นฝ่ายซ้ายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แต่หากจะพิจารณาถึงผลสะเทือนของการเคลื่อนไหวเช่นนี้ ก็อาจจะสอดรับกับสถานการณ์ของการเมืองระหว่างประเทศในเอเชีย เสียงเรียกร้องจากนักศึกษาประชาชนให้รัฐบาลไทยเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนแผ่นดินใหญ่มีมากขึ้น

หลังจากการจัดนิทรรศการ “โฉมหน้าจีนใหม่” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในช่วงต้นปี 2517 แล้ว กระแสเปิดความสัมพันธ์กับจีนก็มีมากขึ้นในไทย “ม่านไม้ไผ่” (สำนวนยุคสงครามเย็นที่หมายถึงจีน) ก็ค่อยๆ ถูกเปิดมากขึ้นด้วยความสนใจใคร่รู้ของหนุ่มสาวไทย

และขณะเดียวกันก็เรียกร้องให้รัฐบาลที่กรุงเทพฯ ดำเนินนโยบายที่เป็นอิสระจากวอชิงตันมากขึ้น

ภูมิรัฐศาสตร์ใหม่ของไทย

เงื่อนไขเช่นนี้สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลพลเรือนที่ขึ้นสู่อำนาจในตอนต้นปี 2518 โดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี ประกาศว่าจะดำเนินการให้มีการถอนทหารอเมริกันและปิดฐานทัพของสหรัฐในไทยภายในระยะเวลา 1 ปี

ซึ่งคำประกาศเช่นนี้สะท้อนให้เห็นถึงภูมิทัศน์ใหม่ของการเมืองไทยที่ต้องการจะลดพันธะกับสหรัฐในฐานะของพันธมิตรเก่าลง ประกอบกับความพลิกผันของสถานการณ์การเมืองความมั่นคงในอินโดจีนที่ในเดือนเมษายน 2518 รัฐบาลนิยมตะวันตกในไซ่ง่อนและในพนมเปญถึงจุดสิ้นสุดลงด้วยชัยชนะของฝ่ายสังคมนิยมในเวียดนามและกัมพูชา…

ภูมิรัฐศาสตร์ของไทยเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง ไม่มีแนวป้องกันคอมมิวนิสต์สำหรับไทยในอินโดจีนอีกต่อไป

ภายใต้เงื่อนไขของภูมิรัฐศาสตร์ใหม่ในปี 2518 รัฐบาลไทยไม่อาจดำเนินนโยบายแบบเก่าได้อีกต่อไป การเคลื่อนไหวของนักศึกษาน่าจะเป็น “ตัวช่วย” สำหรับการปรับนโยบายของรัฐบาลคึกฤทธิ์ได้บ้าง อย่างน้อยรัฐบาลก็พอมีข้ออ้างสำหรับเสียงเรียกร้องในบ้านให้ลดพันธกรณีกับวอชิงตันลง

และขณะเดียวกันก็มีเสียงสนับสนุนในเวทีสาธารณะให้เปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับปักกิ่ง

ผมไม่ได้ประเมินว่าการเคลื่อนไหวของพวกเราเป็นปัจจัยหลักต่อการปรับนโยบายของไทย แต่อย่างน้อย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เป็นผู้ที่มองเห็นสถานการณ์ในภูมิภาคชัดเจนว่า หลังจากการแตกของเวียดนามและกัมพูชาแล้ว โอกาสที่ลาวจะอยู่รอดแบบเก่าคงเป็นไปได้ยาก

ความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้จะเป็นแรงกดดันด้านความมั่นคงให้ไทยต้องปรับนโยบายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

และที่สำคัญก็คือ สหรัฐเองก็พ่ายแพ้จนต้องถอนตัวออกจากสงครามเวียดนามไปแล้ว การจะพึ่งพิงอยู่กับระบบพันธมิตรเดิมจึงเป็นไปได้ยาก และไทยจำเป็นต้องเดินหน้าหาพันธมิตรใหม่… ปักกิ่งเป็น “คำตอบสุดท้าย” ของรัฐบาลไทยในกรณีนี้

อย่างน้อยก็เห็นได้ชัดว่า จากมุมมองของโลกสงครามเย็น หรือหมากโดมิโนตัวแรกเริ่มล้มลงแล้วในอินโดจีน

ความน่ากลัวก็คือ โดมิโนตัวอื่นก็จะล้มตามกันไป และหลังจากการล้มลงของกัมพูชาและเวียดนาม โดมิโนตัวที่สามในลาวก็คงไม่นานนัก

แล้วโดมิโนตัวที่สี่ในไทยจะอยู่อย่างไรกับภูมิทัศน์ใหม่ในภูมิภาค ขณะเดียวกัน การเมืองภายในของไทยเองก็มีการเคลื่อนไหวที่มีทิศทางออกไปทางซ้ายของขบวนนักศึกษาเป็นองค์ประกอบสำคัญด้วย

ในมุมมองของนักศึกษา แม้นโยบายของรัฐบาลจะมีท่าทีตอบรับกับการเรียกร้องที่เกิดขึ้น ดังจะเห็นว่าในที่สุดแล้ว หนึ่งในความริเริ่มทางการเมืองที่สำคัญของรัฐบาลคึกฤทธิ์ก็คือ รัฐบาลพลเรือนตัดสินใจที่จะเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนแผ่นดินใหญ่ และยุติความสัมพันธ์กับรัฐบาลไต้หวันลง

และในขณะเดียวกัน สำหรับปัญหาฐานทัพสหรัฐในไทยนั้น รัฐบาลก็มีท่าทีที่ชัดเจนที่ต้องการปรับความสัมพันธ์กับวอชิงตัน โดยเฉพาะวิกฤตการณ์มายาเกวซมีส่วนอย่างมากต่อทัศนะของรัฐบาลกรุงเทพฯ ที่เชื่อว่าถึงเวลาของการปรับนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงไทยแล้ว

และบางทีก็อาจจะฟังดูย้อนแย้งถ้าจะบอกว่าการเคลื่อนไหวของนักศึกษาในกรณีมายาเกวซได้เปิดช่องให้รัฐบาลไทยสามารถขยับตัวในการปรับนโยบายได้มากขึ้น

ปัญหาฐานทัพอเมริกันและอธิปไตยไทย

เมื่อผมกลับจากอ้อมน้อยเข้าสู่กรุงเทพฯ ก็เริ่มเข้ามามีส่วนในการเคลื่อนไหวเรื่องของสหรัฐมากขึ้น อดนึกถึงตอนเป็นนิสิตปี 1 หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ไม่ได้ ที่มีคนชวนผมไปดูฐานทัพอากาศของสหรัฐที่อุดรธานี และยังไปดูสถานีข่าวกรองที่ค่ายรามสูรอีก

ผมไปดูสถานที่เหล่านั้นด้วยความไร้เดียงสาเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นเรื่องที่อันตรายเป็นอย่างมาก แต่ก็เป็นโอกาสได้เห็นภาพจริง และไม่เคยนึกต่อเลยว่าสักวันหนึ่งจะต้องเป็นคนที่มาทำเรื่องเหล่านี้เป็นงานหลักในขบวนนักศึกษา

งานแรกที่ผมเริ่มกลับเข้ามามีส่วนร่วมก็คือ ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยตัดสินใจเข้าไปช่วยเหลือการประท้วงของกลุ่มยามรักษาการณ์ชาวไทยที่ทำหน้าที่ประจำอยู่กับฐานทัพสหรัฐในประเทศไทย

พวกเขาเรียกร้องให้รัฐบาลไทยให้ความเป็นธรรมกับผลตอบแทนที่ถูกผู้นำทหารบางส่วนควบคุมอยู่

การประท้วงครั้งนี้ทำให้ผมได้มีโอกาสเรียนรู้เรื่องราวของฐานทัพสหรัฐในไทยมากขึ้น

แม้จะเป็นเรื่อง “บอกเล่า” แต่ก็เป็นหัวข้อที่เป็นความสนใจของผมมาก่อน

ฐานทัพสหรัฐที่เคยเห็นที่อุดรธานีในยุคที่ผมเป็นเพียงนิสิตปี 1 มีภาพชัดขึ้นจากเรื่องเล่าต่างๆ ของบรรดาพี่ๆ “ไทยการ์ด”…

ชีวิตและความเป็นไปจากมุมมองของพี่น้องคนไทยที่เข้าไปทำงานเป็นยามรักษาการณ์ฐานทัพสหรัฐ ทำให้ผมได้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างฐานทัพอเมริกันกับชีวิตของคนไทยและสังคมไทยรอบฐานทัพ

แม้ต่อมารัฐบาลจะตัดสินใจเข้าสลายการชุมนุมของไทยการ์ดในเดือนพฤศจิกายน 2518 แต่เรื่องราวที่ผมได้มีโอกาสรับรู้มากขึ้นเกี่ยวกับฐานทัพสหรัฐในไทยมีส่วนโดยตรงต่อการกระตุ้นความสนใจต่อปัญหานี้อย่างจริงจัง

ในช่วงของการชุมนุม ผมเริ่มค้นคว้าเรื่องฐานทัพสหรัฐจากเอกสารภาษาอังกฤษ เพื่อหวังว่าจะมีอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อการชุมนุมเรียกร้องของพวกเขาบ้าง

แต่ในความเป็นจริงแล้ว เราแทบจะทำอะไรไม่ได้เลย ปัญหาไทยการ์ดเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวของความสัมพันธ์ระหว่างกองบัญชาการสูงสุดส่วนหน้ากับกองทัพสหรัฐ

โดยส่วนงานนี้ของกองบัญชาการสูงสุดของกองทัพไทยเป็นผู้ติดต่อประสานงานกับฝ่ายสหรัฐ ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้ล้วนสะท้อนถึงความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ อัน “หวานชื่น” ของการ “ดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์” ในยุคสงครามเวียดนามนั่นเอง

ความสัมพันธ์เช่นนี้เห็นได้ชัดว่าเมื่อสหรัฐตัดสินใจส่งกำลังรบเข้าช่วยตัวประกันจากกรณีเรือมายาเกวซนั้น รัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ไม่อนุญาตให้สหรัฐใช้ฐานทัพอู่ตะเภาเป็นจุดเปิดปฏิบัติการ

สหรัฐจึงหันไปขออนุญาต พล.ต.ประมาณ อดิเรกสาร รัฐมนตรีกลาโหม และ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ รองผู้บัญชาการทหารสูงสุดขณะนั้นแทน

ตอบได้ง่ายว่า นายกฯ คึกฤทธิ์ไม่มีทางพอใจกับสภาพเช่นนี้เลย จนอดคิดไม่ได้ว่ารัฐบาลเองก็เปิดช่องให้พวกเราเคลื่อนไหวเรื่องนี้มากขึ้น เพื่อใช้เป็นเครื่องมือต่อรองของรัฐบาล และยังเป็นฐานรองรับต่อการปรับตัวของนโยบายไทยต่อสหรัฐอีกด้วย

สถานการณ์อย่างที่กล่าวแล้วในข้างต้นมีส่วนกระตุ้นให้ผมต้องหันมาสนใจกับเรื่องฐานทัพอเมริกันอย่างจริงจังอีกครั้ง และประเด็นนี้ได้มีส่วนสำคัญต่อทั้งบทบาทของผมในขบวนนักศึกษาและต่ออนาคตทางวิชาการของตนเองในวันหน้าอีกด้วย