อำนาจ ความมั่นคง อำนาจ คสช. อำนาจรัฐบาล พลิกเปลี่ยน แปรผัน

ไม่เพียงแต่สถานการณ์อันเนื่องจาก “ราคาข้าว” ที่สะท้อนการตั้งรับของ คสช. และของรัฐบาล หากแต่สถานการณ์อันเนื่องจาก “เบส อรพิมพ์” ก็บ่งชี้และเน้นย้ำ เพิ่มความเด่นชัด

1 เด่นชัดในสถานะและการดำรงอยู่ของ คสช. และของรัฐบาล

ท่าทีของ คสช. และของรัฐบาลอาจยังยืนยันวิธีวิทยาในการวิเคราะห์และสรุปต่อปัญหาเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง แต่ก็ผ่อนคลายมากยิ่งขึ้น

เป็น “วิธีวิทยา” ที่รักษาตั้งแต่รัฐประหารเป็นต้นมา

นั่นก็คือ ไม่ยอมรับว่าเป็นปัญหาของตนเอง หากแต่ดำเนินกลยุทธ์ผลักออกไปและตอบโต้ด้วยกลยุทธ์ที่กล่าวหาคนอื่น ปัจจัยอื่น

ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง “การส่งออก” ไม่ว่าจะเรื่อง “ราคาพืชทางการเกษตร” ตกต่ำ

เมื่อเผชิญกับกรณี “ราคาข้าว” จึงพุ่งปลายหอกไปยัง การสมคบคิดระหว่างกลุ่มการเมืองกับกลุ่มโรงสี

และเมื่อเผชิญกับกรณี “เบส อรพิมพ์” ก็โยนโครมให้กับ “คนเสื้อแดง”

เท่ากับยืนยันว่า เวลา 2 ปีเศษหลังรัฐประหาร การสร้างความปรองดองมิได้เกิดขึ้นในทางเป็นจริง กลุ่มการเมือง กลุ่มคนเสื้อแดง ยังเป็นเหยื่อของทุกสถานการณ์และความเดือดร้อน

ขณะเดียวกัน 1 เด่นชัดว่ากลุ่มการเมือง กลุ่มคนเสื้อแดงก็ไม่ยอมตกเป็น “เป้านิ่ง”

บทบาทโต้กลับ
ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

เมื่อเผชิญกับข้อกล่าวหาใหญ่ 2 ข้ออันเกี่ยวเนื่องและสัมพันธ์กัน กล่าวคือ 1 ข้อกล่าวหาความผิดและความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว และ 1 ข้อกล่าวหาในเรื่องของราคาข้าวที่เสื่อมทรุด ตกต่ำ

เหมือนกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะก้มหน้าแบกรับ

แต่ท่าทีในการแบกรับก็ค่อยๆ แปรเปลี่ยน มีความเด่นชัดมากยิ่งขึ้น มิได้เป็นการก้มหน้าก้มตาเหมือนที่เคยเกิดขึ้น

ไม่ว่ากรณีของ ป.ป.ช. ไม่ว่ากรณีของการถอดถอนโดย สนช.

ตรงกันข้าม เมื่อเข้าสู่การพิจารณาโดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และเมื่อเข้าสู่การใช้มาตรา 44 เพื่อเปิดทางสะดวกให้กับการมีคำสั่งทางปกครองเพื่อเรียกค่าเสียหายเป็นเงินจำนวนไม่ต่ำกว่า 3.5 หมื่นล้านบาท

เริ่มปรากฏ “ปฏิกิริยา” จาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ทุกครั้งที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เดินทางไปศาลฎีกา ก็จะมีมวลชนจำนวนหนึ่งไปรอคอย มอบดอกกุหลาบ และร้องตะโกนให้กำลังใจ

และเมื่อมีการโยนปัญหาราคาข้าวเปลือกตกต่ำให้เป็นเรื่องการสมคบคิดระหว่างกลุ่มการเมืองกับกลุ่มโรงสีเพื่อสร้างสถานการณ์ และดิสเครดิตรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อาจไม่ได้ออกมาแก้ตัวหรือปฏิเสธ

ตรงกันข้าม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เดินทางไปยังพื้นที่ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ ซื้อข้าวสารจากชาวนาจำนวนหนึ่ง จากนั้นก็นำออกขายในพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑล

เล่นบท “แม่ค้า” เล่นบทช่วย “ชาวนา”

กระบวนการโต้กลับ
จาก ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

หากเปรียบเทียบกับสถานกาณ์ในห้วง 1 ปีแรกของรัฐบาลรัฐประหาร คสช. และรัฐบาลคุมอย่างเฉียบขาดต่อการเคลื่อนไหวทางการเมือง

ผ่านประกาศคำสั่ง คสช. ผ่านการส่งเจ้าหน้าที่ประกบตัว

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่เพียงแต่จะถูกกีดกันมิให้เคลื่อนไหว หากเมื่อเดินทางแม้กระทั่งไปทำบุญก็ถูกทหารประกบตัว

ประกบตัวไม่เว้นแม้แต่เมื่อเดินทางเข้าห้องน้ำ

ความเข้มเช่นนี้เริ่มคลายลงเมื่อประสบเข้ากับสถานการณ์อันเกี่ยวกับ “ราคาข้าว” และยิ่งเมื่อเข้าสู่สถานการณ์อันเกี่ยวกับ “เบส อรพิมพ์” กระแสแห่งการวิพากษ์วิจารณ์ ยิ่งดำเนินไปด้วยความคึกคัก

ในลักษณะที่ คสช. และรัฐบาลตกเป็น “เป้าหมาย”

อำนาจในทางการทหาร และในทางการเมือง ยังคงอยู่ในมือของ คสช. และในมือของรัฐบาลอย่างเต็มเปี่ยม ไม่มีอำนาจของกลุ่มการเมืองใดสามารถท้าทายได้ แต่จุดเปลี่ยนอย่างสำคัญมีความเด่นชัดว่า คสช. และรัฐบาลอยู่ในฐานะ “ตั้งรับ” มากยิ่งขึ้น

มิได้เป็นการ “ตั้งรับ” จากการรุกของอีกฝ่าย

ตรงกันข้าม ไม่ว่าสถานการณ์อันเกี่ยวกับ “ราคาข้าว” ไม่ว่าสถานการณ์อันเกี่ยวกับ “เบส อรพิมพ์” สะท้อนให้เห็นจุดอ่อนและความบกพร่องในด้านบริหารจัดการของ คสช. และของรัฐบาล

ปัญหามิได้มาจาก “กลุ่มการเมือง” สมคบคิดกับ “กลุ่มโรงสี”

ปัญหามิได้มาจาก “คนเสื้อแดง” เคลื่อนไหวอย่างเป็น “ขบวนการ” เพื่อดิสเครดิตและทำลายบทบาทของ เบส อรพิมพ์

หากทุกอย่างมีจุดเริ่มต้นมาจาก 1 คสช. และ 1 รัฐบาล

เป็นกระบวนการบริหารจัดการของ คสช. เป็นกระบวนการบริหารจัดการของรัฐบาลจึงทำให้เกิดวิกฤต “ราคาข้าว” และโยงยาวมายังวิกฤต “เบส อรพิมพ์”

นี่คือ จุดอ่อนอันทำให้ “สถานะ” คสช. และของรัฐบาลเริ่มแปรเปลี่ยน

ยิ่งใกล้โรดแม็ป
ปฏิกิริยา จะยิ่งเข้ม

จากสถานการณ์ “ราคาข้าว” ต่อเนื่องไปยังสถานการณ์ “เบส อรพิมพ์” จึงนำสถานะ “ตั้งรับ” ให้เกิดขึ้นกับ คสช. และกับรัฐบาล

ทั้งๆ ที่พยายามโต้กลับ ทั้งๆ ที่พยายามปัดความรับผิดชอบ

เมื่อผสมผสานกับสถานการณ์ในแบบ “อุทยานราชภักดิ์” ในแบบ “แม่ผ่องพรรณพัฒนา” ในแบบ “อโลฮา ฮาวาย” เป็นต้น

ยิ่งทำให้ “สถานะ” ของ คสช. และของรัฐบาล “คลอนแคลน”

คลอนแคลนจากที่เคยมีอย่างเฉียบขาด มั่นคงในห้วงหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 คลอนแคลนในท่ามกลางสถานการณ์ที่แปรเปลี่ยน

ยิ่งใกล้กำหนดตาม “โรดแม็ป” ปัญหาจะยิ่งหนักหนาและสาหัส