วิรัตน์ แสงทองคำ : กระแสสังคมธุรกิจ กรณี “ธนชาติ-เอ็มบีเค”

หมายเหตุ – ปลายปีเก่าต่อต้นปีใหม่ ควรเป็นช่วงเวลาแห่งการทบทวนความคิดและมีบทสรุปไว้ เพื่อเชื่อมโยงสถานการณ์สำคัญๆ ที่เป็นไปกับเรื่องราวที่เคยนำเสนอในระยะที่ผ่านๆ มา ก่อนจะมุ่งมองไปข้างหน้า โปรดติดตาม

โฉมหน้าใหม่ ผู้นำกระแสสังคมธุรกิจ

ท่ามกลางธุรกิจรายใหญ่ไม่กี่ราย มีกิจกรรมค่อนข้างครอบงำสังคมไทย ช่วงไม่กี่ปีมานี้ จากนี้จะค่อยๆ มองเห็นโฉมหน้ารายอื่นๆ บ้าง

เชื่อว่าจะเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีบทบาท มีอิทธิพลต่อกระแสสังคมธุรกิจไทยมากขึ้นๆ เป็นลำดับ

เรื่องราวสำคัญเปิดฉากขึ้นอย่างน่าตื่นเต้น เมื่อปลายเดือนธันวาคมปีที่เพิ่งผ่านมา ว่าด้วยการแผนใหญ่ครั้งแรกวงการธนาคารไทย ในความพยายามควบรวมธนาคาร 2 แห่ง ซึ่งมีธนาคารระดับโลก 2 แห่งเกี่ยวข้องด้วย ตามยุทธศาสตร์สำคัญให้ธนาคารไทยมีบทบาทมากขึ้นในระดับภูมิภาค

ที่ผมสนใจเป็นพิเศษคือ ธนาคารธนชาต

อีกเหตุการณ์หนึ่งซึ่งเกิดขึ้นก่อนหน้า การเปิดตัวไอคอนสยามเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เป็นเรื่องที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้

“ไอคอนสยามเป็นโครงการลงทุนของภาคเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีมูลค่าถึง 55,000 ล้านบาท เพื่อเนรมิตจุดหมายปลายทางใหม่ของประเทศไทยบนแม่น้ำเจ้าพระยา”

ในมุมมองหนึ่งเป็นตามแผนการสำคัญ “กรุงเทพฯ เป็น shopping paradise ระดับภูมิภาค”

หลายคนให้ความสำคัญถึงความร่วมมือเป็นพันธมิตรเกี่ยวข้องธุรกิจใหญ่ อย่างซีพี กับกลุ่มธุรกิจใหม่ เติบโตขึ้นอย่างน่าทึ่งในช่วงไม่ถึง 2 ทศวรรษ-กลุ่มสยามพิวรรธน์

เชื่อว่าหลายคนคงไม่ทราบว่า เบื้องหลังสยามพิวรรธน์ มีกลุ่มเอ็มบีเค อยู่อย่างเงียบๆ

ที่สำคัญเป็นที่รู้กันพอสมควรว่า กลุ่มธนชาตกับเอ็มบีเค มีความสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น อาจจะเรียกได้ว่าเป็นกลุ่มธุรกิจเดียวกันก็ว่าได้

 

เรื่องราวกลุ่มธนชาต-เอ็มบีเค ค่อนข้างซับซ้อน พิจารณาอย่างกว้างๆ มีความเกี่ยวข้องกันกับ 3 บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ คือ บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) หรือ MBK บริษัท ปทุมไรซมิล แอนด์ แกรนารี จำกัด (มหาชน) หรือ PRG และบริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TCAP

“บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) TCAPHolding company โดยเป็นบริษัทแม่ของกลุ่มธุรกิจทางการเงินธนชาตที่ประกอบธุรกิจทางการเงินครบวงจร ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม 1) กลุ่มธุรกิจการเงิน ประกอบด้วย ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจบริหารสินทรัพย์ ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจประกัน ธุรกิจลิสซิ่ง และ 2) ธุรกิจสนับสนุน ประกอบด้วย ธุรกิจโบรกเกอร์ ธุรกิจบริการ ธุรกิจกฎหมายและประเมินราคา ธุรกิจการพัฒนาฝึกอบรม” (ข้อสนเทศตลาดหลักทรัพย์ฯ)

ที่สำคัญถือหุ้นใหญ่ที่สุดในธนาคารธนชาต ประมาณ 51%

ส่วน “บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) MBK ลักษณะธุรกิจดำเนินธุรกิจศูนย์การค้า ธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยว ธุรกิจกอล์ฟ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจอาหาร ธุรกิจการเงิน ธุรกิจอื่นๆ และธุรกิจสนับสนุน”

ด้วยทั้งสามบริษัทถือหุ้นกันไปมา และถือว่ามีกรรมการและผู้บริหารอยู่ในกลุ่มเดียวกัน โดยปรากฏชื่อ บันเทิง ตันติวิท อย่างโดดเด่น ในฐานะประธานกรรมการ บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) ประธานกรรมการ บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) และประธานกรรมการ ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน)

มีความชัดเจนอีกว่า เป็นเรื่องราว “ธนชาต-เอ็มบีเค” เกิดขึ้นในยุคเดียวกัน ช่วงหลังสงครามเวียดนาม วิกฤตการณ์สถาบันการเงิน ช่วงปี 2522 ถือกันว่าได้ทำลายโอกาส “ผู้มาใหม่” กลุ่มใหญ่ที่มาจากสถาบันการเงินชั้นรอง

ขณะเดียวกันได้สร้างโอกาสอย่างเฉพาะเจาะจงให้กับบางคน โดยเฉพาะ บันเทิง ตันติวิท อาจจะเป็นคนเดียวก็ว่าได้ในเวลานั้น สามารถฟื้นฟูสถาบันการเงินเล็กๆ จนในเวลา 3 ทศวรรษต่อมา สามารถยกระดับเป็นธนาคารที่เกิดใหม่

ช่วงที่สำคัญมากๆ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนชาต เป็นกิจการเพียงไม่กี่ราย สามารถเอาตัวรอดจากวิกฤตการณ์ปี 2540 มาได้ ทั้งๆ ที่กิจการประเภทเดียวกัน ทั้งมีหรือไม่มีธนาคารสนับสนุนต้องมีอันเป็นไป รวมทั้งธนาคารเองหลายแห่งด้วย

ยิ่งไปกว่านั้นกลุ่มธนชาตยังถือเป็นกลุ่มการเงินชั้นรองกลุ่มแรกๆ ที่มีโอกาสครั้งใหญ่ ก้าวเข้าสู่การเป็นธนาคารจากการเปิดช่องครั้งใหม่หลังจากปิดตายมากว่าครึ่งศตวรรษ

นั่นคือการเกิดขึ้นของธนาคารธนชาต

 

ธนาคารธนชาต ธนาคารเกิดใหม่ในปี 2547 ดำเนินแผนการด้วยแรงบันดาลใจอย่างน่าสนใจ มีความเชื่อมโยงกับผู้ก่อตั้งคนสำคัญ มืออาชีพผู้เชี่ยวชาญทางการเงินในการเข้ามากอบกู้กิจการเงินเล็กๆ จนแข็งแรงและพัฒนาไป มีความสัมพันธ์กับเครือข่ายธุรกิจการเงินระดับโลก

พัฒนาการขั้นสำคัญเปิดฉากขึ้นเมื่อ The Bank of Nova Scotia ธนาคารชั้นนำของแคนาดาเข้าถือหุ้นในธนาคารธนชาต เมื่อปี 2550 โดยข้อผ่อนผันให้ถือหุ้นถึง 49% ตามมาด้วย (ปี 2553) ได้เข้าซื้อกิจการธนาคารนครหลวงไทย สามารถขยับฐานะจากธนาคารเกิดขึ้นใหม่ ขึ้นเป็นธนาคารขนาดกลางอย่างน่าทึ่ง

ส่วนกลุ่มเอ็มบีเค มีตำนานเกี่ยวเนื่องกับนักธุรกิจผู้บุกเบิกบางคนซึ่งดำเนินไปอย่างโลดโผน–ศิริชัย บูลกุล ทายาทนักธุรกิจเก่า บุกเบิกสร้างไซโลและท่าเทียบเรือขนาดใหญ่ ไม่เคยมีมาก่อนในเมืองไทย

ในช่วงเวลานั้น การส่งออกสินค้าพืชไร่เติบโต อาศัยจังหวะตลาดหุ้นเกิดใหม่และเฟื่องฟูช่วงสั้นๆ ระดมทุน ตามมาด้วยแผนการใหญ่กว่า โครงการศูนย์การค้ามาบุญครอง ศูนย์การค้าขนาดใหญ่แห่งแรกในกรุงเทพฯ ทว่าต้องเผชิญทั้งวิกฤตเศรษฐกิจและการบริหาร จนมีหนี้สินมากมาย ดิ้นรนอยู่เกือบสิบปี ในที่สุดเจ้าหนี้เข้ายึดกิจการ ราวๆ ปี 2530-2532

ในที่สุด ธนชาตกับเอ็มบีเค ได้มาบรรจบกัน เมื่อกว่า 2 ทศวรรษที่แล้ว ภายใต้กระบวนการรับซื้อหุ้นของกลุ่มมาบุญครองที่มีการขายทอดตลาด ถือเป็นบทสรุปการแก้ปัญหาหนี้สินก้อนใหญ่ในระบบธนาคารพาณิชย์ โดยมีธนาคารไทยพาณิชย์เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่

ไม่เพียงธนาคารไทยพาณิชย์ซึ่งมีความสัมพันธ์อันดีกับธนชาตเท่านั้น หากรวมไปถึงธนาคารต่างชาติที่เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่อีกรายของมาบุญครองด้วย

หนึ่งในนั้นก็คือ Scotia bank แห่งแคนาดา ซึ่งต่อมากลายเป็นพันธมิตรสำคัญของธนาคารธนชาต

และแล้วศูนย์การค้ามาบุญครอง เปลี่ยนมาเป็นเอ็มบีเค อันที่จริงกลุ่มบริษัทเอ็มบีเค มีเครือข่ายธุรกิจกว้างขวางหลากหลายทีเดียว ส่วนหนึ่งมาจากกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ ในช่วงวิกฤตการณ์ต่างๆ ของสังคมธุรกิจไทย

ที่สำคัญกลุ่มธุรกิจศูนย์การค้าเป็น Portfolio ที่มีน้ำหนักมากที่สุดของกลุ่มเอ็มบีเค จากรายงานผลประกอบการล่าสุด (MBK Public Company Limited Key performance 9M/2018) ให้ภาพความเป็นไปอย่างดี สะท้อนฐานะผู้นำธุรกิจศูนย์การค้าในเมืองหลวงอย่างแท้จริง

 

ในฐานะที่เป็นเจ้าของศูนย์การค้าสำคัญๆ (ถือหุ้น 100%) หลายแห่ง นับตั้งแต่ เอ็มบีเคเซ็นเตอร์ มาจนถึงพาราไดซ์พาร์ค พาราไดซ์เพลส เดอะไนน์ เซ็นเตอร์ พระราม 9 ที่สำคัญในรายงานดังกล่าวระบุว่าถือหุ้นในบริษัทสยามพิวรรธน์ ในสัดส่วน 47.98% ทั้งนี้ เฉพาะธุรกิจศูนย์การค้ามีรายได้มากกว่า 40% ของรายได้ทั้งหมด (มากกว่า 4,000 ล้านบาท จากทั้งหมดประมาณ 10,000 ล้านบาท) เท่าที่ประมวลข้อมูลทางการเงิน ธุรกิจศูนย์การค้ายังสะท้อนให้เห็นผลประกอบการที่ดีกว่าธุรกิจอื่นๆ ด้วย

มีข้อมูลบางส่วนให้รายละเอียดว่าด้วยความสัมพันธ์เพิ่มเติม เชื่อมโยงสยามพิวรรธน์ กับศูนย์การค้าสำคัญๆ ใจกลางกรุงเทพฯ โดยระบุว่า กลุ่มเอ็มบีเคมีส่วนได้ส่วนเสีย (MBK “Stake) ในศูนย์การค้าสยามเซ็นเตอร์และสยามดิสคัฟเวอรี่ ในสัดส่วน 47.98% ส่วนสยามพารากอน และไอคอนสยาม มีสัดส่วนลดลงไปบ้าง เหลือ 24%

เรื่องราวความสัมพันธ์กับสยามพิวรรธน์ น่าจะเชื่อมโยงกับกรณีหนึ่งซึ่งควรกล่าวถึง คือการเข้าซื้อกิจการศูนย์การค้าเสรีเซ็นเตอร์

เรื่องราวเกิดขึ้นเมื่อปี 2551 จากการแข่งขันธุรกิจศูนย์การค้าอย่างรุนแรงในด้านตะวันออกของกรุงเทพฯ บวกกับความผันแปรจากแรงสั่นสะเทือนต่อเนื่องมาจากวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่ปี 2540 ศูนย์การค้าเสรีเซ็นเตอร์เกิดขึ้นมาแล้วประมาณ 25 ปี จากการลงทุนของเครือข่ายตระกูลธุรกิจเก่าแก่ของไทย–กลุ่มพรีเมียร์ อีกสายหนึ่งของตระกูลโอสถานุเคราะห์ เมื่อผ่านวิกฤตการณ์ ธุรกิจการเงินของกลุ่มพรีเมียร์ต้องมีอันเป็นไปด้วย

การเข้าซื้อกิจการศูนย์การค้าเสรีเซ็นเตอร์ การลงทุนร่วมกับบริษัทสยามพิวรรธน์ ในสัดส่วน 50/50 ด้วยเงินประมาณหนึ่งพันล้านบาท แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นพาราไดซ์พาร์ค ต่อมา “กรกฎาคม 2560 บริษัทย่อยของ MBK ได้ซื้อหุ้นของบริษัท พาราไดซ์ พาร์ค จำกัด โดยจากเดิมถือหุ้นอยู่ 50.00% ได้ซื้อหุ้นเพิ่มอีก 50.00% รวมเป็น 100%” (รายงานประจำปี 2560 บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน)) ถือเป็นจังหวะก้าวสำคัญ

ส่วนความสัมพันธ์โดยตรงกับสยามพิวรรธน์ เชื่อว่าเป็นช่วงเกี่ยวเนื่องกับกรณีปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ จากบริษัท บางกอกอินเตอร์คอนติเนนตอลโฮเต็ลส์ จำกัด (ก่อตั้งในปี 2502) เป็นมาเป็นบริษัทสยามพิวรรธน์ “2546–สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานชื่อ “สยามพิวรรธน์” เป็นชื่อใหม่ให้แก่บริษัท” (อ้างจาก https://www.siampiwat.com/th/group/milestones) ในเวลานั้นปรากฏโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่ โดยบริษัท เอ็ม บี เค จํากัด (มหาชน) เข้าถือหุ้นในบริษัทสยามพิวรรธน์ในสัดส่วนประมาณ 30% ถือว่าไม่น้อยทีเดียว

ผ่านมาหลายปีทีเดียว ในจังหวะก่อนที่ศูนย์การค้าไอคอนสยามกำลังเปิดขึ้นอย่างเป็นทางการ บริษัท เอ็ม บี เค จํากัด (มหาชน) ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 2 วันติดต่อกัน (เมื่อ 30 พฤษภาคม 2561 และ 1 มิถุนายน) เรื่องรายงานการซื้อหุ้นสามัญของบริษัท สยามพิวรรธน์ จํากัด มูลค่ารวมกันเกือบๆ 1,500 ล้านบาท มีผลทำให้บริษัท เอ็ม บี เค จํากัด (มหาชน) มีสัดส่วนถือหุ้นเพิ่มขึ้นอย่างที่กล่าวไว้แล้ว

กลุ่มธนชาต-เอ็มบีเค กำลังโลดแล่นอย่างน่าสนใจ