วิกฤติศตวรรษที่ 21 : การขีดเส้นผลประโยชน์ของจีน – โครงการแถบและทาง

วิกฤติประชาธิปไตย (38)

โครงการแถบและทางในปี 2018

โครงการแถบและทาง (Belt and Road Initiative – BRI) ของจีนที่ได้ริเริ่มขึ้นในปี 2013 เมื่อถึงปี 2018 มีข่าวว่าบริษัทจีนได้สร้างเขตความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า 82 แห่งใน 24 ประเทศ

นายหยางเจียฉี หัวหน้าสำนักงานกิจการต่างประเทศของพรรคคอมมิวนิสต์จีน (เขาเป็นนักการทูตสำคัญคนหนึ่งของจีน) กล่าวว่า

“ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา มูลค่าการค้าสินค้าระหว่างจีนกับประเทศที่เข้าร่วมโครงการสูงกว่า 5 ล้านล้านดอลลาร์ การลงทุนโดยตรงในโครงการกว่า 70 พันล้านดอลลาร์”

และสร้างงาน 240,000 ตำแหน่งในประเทศแถบและทาง ภายใต้โครงการนี้มีขบวนรถไฟกว่า 11,000 ขบวนวิ่งระหว่างจีนกับยุโรป

การสร้างระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถานทำให้เศรษฐกิจของปากีสถานขยายตัวถึงร้อยละ 2

และทางรถไฟสายมอมบาซา-ไนโรบี ที่เคนยา (เปิดใช้งานกลางปี 2017) คาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจของเคนยาขยายตัวราวร้อยละ 1.5

อนึ่ง จีนยังมีความคิดที่จะสร้าง “เส้นทางสายไหมขั้วโลก” โดยสนับสนุนให้นักลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานและทดลองการเดินเรือเชิงพาณิชย์ที่มหาสมุทรอาร์กติก (ดูรายงานข่าวชื่อ Engine of Growth : Trade turnover across China”s “One Belt, One Road” exceed $5 trillion since 2013 ใน rt.com 23.12.2018

นั่นเป็นมุมมองจากของจีนและรัสเซีย สำหรับตะวันตกนั้นแตกต่างกันไป บ้างเห็นว่าจะล้มเหลว ไม่ควรที่สหรัฐและพันธมิตรจะสร้างโครงการทำนองนี้ขึ้น

บ้างมองด้วยความหวาดระแวง เช่น นักยุทธศาสตร์สหรัฐบางคนเห็นว่าโครงการแถบและทางเป็นโครงการ “ทำในจีน และเพื่อจีน”

ส่วนนิวยอร์กไทม์สประโคมเรื่องโครงการนี้มีเป้าประสงค์ทางการทหารเป็นสำคัญ บ้างโจมตีว่าเป็นโครงการที่มีปัญหาและความเสี่ยงสูง เป็นกับดักหนี้ที่จีนหยิบยื่นให้แก่ประเทศตลาดเกิดใหม่ และมีหลายประเทศที่ปรับท่าทีไปหลังเปลี่ยนรัฐบาล

เช่น มาเลเซีย ปากีสถาน และศรีลังกา

แต่โครงการนี้ก็ยังเดินหน้า มีการประชุมสมัชชาแถบและทางระหว่างประเทศที่จีนอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากสหรัฐเที่ยวแซงก์ชั่นทางเศรษฐกิจและทำสงครามการค้ากับประเทศต่างๆ สร้างอุปสรรคแก่การค้าและการลงทุน นอกจากนี้ พื้นที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงเหมาะสำหรับการลงทุนที่เหลืออยู่ก็อยู่ในโครงการแถบและทาง

ท้ายสุด โครงการแถบและทางที่เน้นการลงทุนทางโครงสร้างพื้นฐานและพลังงาน เป็นความต้องการจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับเอเชียในการพัฒนาทางเศรษฐกิจ

โครงการแถบและทางในทางปฏิบัติ

นโยบายโครงการต่างๆ ของจีนนั้นโดยทั่วไปเกิดขึ้นจากความจำเป็นและการปฏิบัติได้ในท่ามกลางการพัฒนาและสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และมักมีความต่อเนื่อง มีการทดลองในการปฏิบัติและมีผลสำเร็จหรือบทเรียนจำนวนหนึ่งที่มากพอ จึงประกาศเป็นนโยบาย

ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องที่จู่ๆ สีจิ้นผิงจะลุกขึ้นมาแถลงโครงการแถบและทางในปี 2013 ให้เป็นที่แตกตื่น ในทางปฏิบัติโครงการนี้ได้ก่อรูปมานานตั้งแต่สมัยประธานเหมา จนกระทั่งชัดเจนในสมัยสีจิ้นผิง

และในสมัยสีเอง ก็ได้มีการทำให้สมบูรณ์ขึ้นในการประชุมสมัชชาแถบและทางในเดือนพฤษภาคม 2017 ลำดับความเป็นมาสามารถสรุปได้ดังนี้

ตั้งแต่ทศวรรษ 1950 จีนมีความคิดที่จะสร้างสิ่งที่เรียกในปัจจุบันว่า “ระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน” เชื่อมมณฑลซินเจียงของจีน (เมืองคัชการ์) ผ่านปากีสถานทั้งประเทศลงสู่ทะเลอาหรับ ที่ท่าเรือน้ำลึกกวาดาร์

จีนเริ่มต้นด้วยการร่วมมือกับปากีสถานสร้างทางหลวงคาราโครัม ผ่านเทือกเขาคาราโครัม ที่เป็นจุดเชื่อมพรมแดนของจีน ปากีสถาน และอินเดีย

เทือกเขานี้ต่อเนื่องกับเทือกเขาหิมาลัยที่สูงสุดในโลก (คาราโครัมสูงเป็นที่สอง) พื้นที่เป็นแดนทุรกันดาร ก่อสร้างได้ยากลำบากมาก เกิดแผ่นดินถล่มบ่อยครั้ง การก่อสร้างเริ่มต้นในปี 1959 เปิดใช้งานได้ในปี 1979 ต้องสังเวยชีวิตคนงานทั้งชาวปากีสถานและชาวจีนไปไม่น้อย

เมื่อถึงปี 2000 เศรษฐกิจจีนได้ขยายตัวขึ้นมาก มีบทบาทใหญ่ในภูมิภาค เกิดนโยบายมุ่งตะวันตกเพื่อขยายความเจริญให้ลึกเข้ามาในแผ่นดิน มีสองมณฑลที่โดดเด่นขึ้นมาในการเป็นประตูของจีนให้ติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ ซินเกียงที่เชื่อมต่อกับเอเชียกลาง เอเชียใต้ ไปจนถึงตะวันออกกลาง ซึ่งมีความสำคัญเป็นพิเศษสำหรับความมั่นคงทางพลังงานของจีน

อีกมณฑลหนึ่งได้แก่ยูนนาน ซี่งจะเป็นประตูสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ทะเลจีนใต้เป็นเส้นทางเดินเรือหลักของการค้าของจีน ทั้งยังเป็นภูมิภาคที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง

จีนได้ลงมือก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกกวาดาร์ตั้งแต่ปี 2001 สามารถเปิดใช้งานขั้นต้นในปี 2006

ขณะเดียวกันได้มีการขยายทางหลวงคาราโครัมทั้งด้านความยาวและความกว้าง รองรับได้ทั้งทางถนนและทางรถไฟ ได้คุณภาพมาตรฐานสากล

จีนยังมีโครงการช่วยการผลิตพลังงานของปากีสถานที่ขาดแคลนอย่างมาก รวมทั้งการวิจัยและพัฒนาในด้านต่างๆ จีนได้รวมโครงการเหล่านี้เข้าด้วยกันในโครงการใหญ่แถบและทาง

จีนได้เริ่มเสนอโครงการระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน ในปี 2013 และได้มีการลงนามริเริ่มโครงการจากทั้งสองชาติในปี 2015 ซึ่งจะเป็นแผนระยะยาวไปจนถึงปี 2030

จีนยังช่วยเป็นคนกลางฟื้นความสัมพันธ์และการค้าระหว่างปากีสถานกับอัฟกานิสถาน จนเป็นผลสำเร็จในระดับหนึ่ง

จึงกล่าวกันว่าระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถานเป็นหัวรถจักรของโครงการแถบและทางที่มีการปฏิบัติบังเกิดผลแล้ว จีนยังมีโครงการระเบียงเศรษฐกิจอีกหลายแห่งภายใต้โครงการแถบและทางคือ ระเบียงเศรษฐกิจจีน-มองโกเลีย-รัสเซีย สะพานเชื่อมยูเรเซียใหม่ (สามารถเดินรถไฟขนสินค้าจากมณฑลเจ๋อเจียงของจีนไปยังประเทศอังกฤษได้ในเวลา 18 วัน ระเบียงนี้เป็นข่าวบ่อย) ระเบียงเศรษฐกิจเอเชียกลาง-ยุโรปตะวันออก (เป็นระเบียงเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงสูงมาก เส้นทางต้องผ่านประเทศอิหร่านและตุรกี)

ระเบียงเศรษฐกิจจีน-คาบสมุทรอินโดจีน และระเบียงเศรษฐกิจบังกลาเทศ-จีน-อินเดีย-เมียนมา ที่ดำเนินไปอย่างไม่ครึกโครมเท่า

ในปี 2011 ได้มีเหตุการณ์สำคัญที่ส่งผลต่อการสร้างโครงการแถบและทางของจีน ได้แก่ การเสื่อมถอยและการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ของสหรัฐแสดงออกสำคัญที่

ก) นโยบายครอบงำมหาตะวันออกกลางของสหรัฐล้มเหลว สหรัฐจำต้องประกาศยุติสงครามอิรักและถอนทหารออกมาแต่ก็ยังคงติดหล่มสงครามที่นั่นจนถึงขณะนี้ จากความอาลัยในสงครามและสถานะเดิม

ข) วิกฤติเศรษฐกิจการเงินสหรัฐยังไม่ทันจาง ก็ขยายสู่สหภาพยุโรป สหรัฐ-ยุโรป ที่เคยเป็นตลาดการค้าการลงทุนใหญ่ของโลก ไม่สามารถแสดงบทบาทนี้ได้เหมือนเดิมอีก

ค) สหรัฐได้ปรับเปลี่ยนนโยบายมาปักหลักเอเชีย ซึ่งหมายความว่าจะปิดล้อมและขัดขวางความรุ่งเรืองและการพัฒนาของจีน การปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์

เมื่อมาถึงขณะนี้ก็ชัดเจนขึ้นว่า สหรัฐจะเปลี่ยนแผนสงครามจากสงครามต่อต้านการก่อการร้าย เป็นสงครามเย็นใหม่ ถือเอาจีนและรัสเซียเป็นปรปักษ์ตัวกลั่น

ในสถานการณ์ใหม่นี้จีนจำต้องเร่งหาหรือสร้างตลาดใหม่ เพื่อระบายสินค้าที่ผลิตล้นเกินจากการลงทุนมากเกินไป

มีนักวิเคราะห์บางคนเรียกโครงการแถบและทางของจีนว่า “แผนมาร์แชลของจีน”

โดยเห็นว่าทั้งสองโครงการมีความละม้ายกัน คือทั้งสองเป็นโครงการที่ริเริ่มสนับสนุนโดยรัฐบาล

แผนมาร์แชลของสหรัฐเป็นแผนอเนกประสงค์ เพื่อต่อต้านการขยายตัวของคอมมิวนิสต์หลังสงครามโลกครั้งที่สอง การวิเคราะห์แบบนี้มีนัยว่าโครงการแถบและทาง ริเริ่มขึ้นเพื่อต่อต้านอิทธิพลของสหรัฐในเอเชีย ยุโรปและแอฟริกา

ซึ่งจีนปฏิเสธ เพราะเห็นว่านโยบายโครงการต่างๆ ของจีนเป็นการปฏิบัติที่สร้างความชนะแก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และการรุ่งเรืองของจีนก็เป็นไปอย่างสันติไม่ต้องการก่อสงครามไม่ว่าร้อนหรือเย็น

ความคล้ายกันอีกประการหนึ่งก็คือแผนการมาร์แชลสร้างขึ้นเพื่อระบายสินค้าอุตสาหกรรม ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วจากเศรษฐกิจสงครามในสหรัฐ

ถ้าประเทศยุโรปยุติการสั่งซื้อสินค้า ก็จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างหนักได้ การช่วยเหลือของสหรัฐในการบูรณะยุโรป ช่วยรักษาและขยายความต้องการสินค้าจากสหรัฐขึ้นอีก โครงการแถบและทางก็เป็นทางระบายสินค้าที่ผลิตล้นเกินในจีนออกไปบ้าง และสร้างความต้องการใหม่ ขึ้นแทนที่ตลาดเก่าเช่นสหรัฐ-ตะวันตกที่อยู่ในภาวะชะลอตัวยาวนาน

ยิ่งไปกว่านั้น ปรากฏว่าสหรัฐที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ของโลกแสดงท่าทีชัดเจนขึ้นว่าต้องการปิดล้อมจีนที่จีนจำต้องตอบโต้ถึงที่สุด โครงการแถบและทางเป็นเหมือนการขีดเส้นแสดงเขตอิทธิพลและผลประโยชน์ของจีน แสดงฐานะบทบาทของจีนในภูมิรัฐศาสตร์โลกให้สหรัฐรู้ชัดว่า สหรัฐได้ก้าวข้ามเขตมามากเพียงใดและล้ำเส้นแดงมาหรือไม่

นอกจากนี้ โครงการแถบและทาง ยังเสริมฐานะของวิสาหกิจแห่งรัฐจีนในการเป็นผู้นำบุกเบิกการพัฒนาเศรษฐกิจของจีนต่อไป ซึ่งก็เป็นการเสริมฐานะการนำของพรรคและรัฐจีนด้วย โดยรวมโครงการแถบและทางช่วยเสริมพลังแก่แผน “ทำในจีน 2025” และเป็นเครื่องมือในการเร่งทำให้เงินหยวนของจีนเป็นสกุลเงินสากล

จีนสามารถใช้โครงการนี้เป็นตัวแบบการปฏิรูปและการพัฒนาให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาและตลาดเกิดใหม่ นั่นคือการใช้รัฐและวิสาหกิจแห่งรัฐเป็นผู้ขับเคลื่อนบุกเบิกที่สำคัญ ไม่ใช่ตัวแบบเสรีนิยมของสหรัฐดังที่เป็นมา

โครงการแถบและทางที่เป็นอยู่

: “หนึ่งแกน สองปีก”

โครงการแถบและทางระยะที่หนึ่งของจีน มีประเทศต่างๆ เข้าร่วม 48 ประเทศ จีนจำแนกตามพื้นที่ภูมิศาสตร์ แบ่งเป็นสามกลุ่ม เรียกว่า “หนึ่งแกน สองปีก” ส่วนที่เป็นแกนประกอบด้วย 15 ประเทศเป็นเพื่อนบ้านของจีน สำหรับ “สองปีก” แบ่งเป็น “ปีกตะวันตก” ประกอบด้วยประเทศในยุโรป แอฟริกา และประเทศในบริเวณตะวันออกกลางรวม 24 ประเทศ และ “ปีกตะวันออก” ได้แก่ ประเทศในอเมริกากลางและใต้ และแปซิฟิกใต้ รวม 7 ประเทศ

พื้นที่เพื่อนบ้านที่เป็นแกนหลักของโครงการ ประกอบด้วยประเทศในเอเชียกลาง เอเชียใต้และตะวันออกเฉียงใต้ รวมไปจนถึงออสเตรเลีย (สำหรับประเทศหลังนี้เป็นพันธมิตรเหนียวแน่นกับสหรัฐ จิตใจอยู่ตะวันตก พื้นที่อยู่ตะวันออก จีนมีการติดต่อค้าขายและลงทุนสูงกับออสเตรเลีย)

เมื่อพิจารณาจากการลงทุนและการเข้าซื้อกิจการ ก็จะเห็นภาพได้ชัด

จีนลงทุนมหาศาลในโครงการระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน

ถ้าพิจารณาจากการเข้าซื้อกิจการของจีน ระหว่างปี 2008 ถึงราวไตรมาสที่สามของปี 2017 พบว่าจีนได้เข้าซื้อกิจการในสิงคโปร์ถึงร้อยละ 58 ของมูลค่าทั้งหมด รองมาได้แก่มองโกเลีย ร้อยละ 16.5

แสดงว่าจีนถือเอาพื้นที่ทะเลจีนตะวันออก ทะเลจีนใต้ และมหาสมุทรอินเดีย เป็นเขตผลประโยชน์ใจกลางของตน ที่จะไม่ยอมให้ใครมาปั่นป่วนก่อความไม่สงบโดยที่ไม่ต่อต้านคัดค้าน

ในการประชุมสมัชชาโครงการแถบและทาง เดือนพฤษภาคม 2017 สีจิ้นผิงได้กล่าวปราศรัยเพื่อสร้างความมั่นใจและความสำเร็จของโครงการนี้ว่า มีเป้าประสงค์สำคัญ 5 ประการ ได้แก่

ก) การร่วมมือกันทางนโยบาย ซึ่งจีนได้ทำข้อตกลงจำนวนมากกับประเทศและองค์การต่างๆ

ข) อำนวยความสะดวกแก่การเชื่อมต่อ ตัวอย่างความสำเร็จได้แก่ “สะพานเชื่อมยูเรเซียใหม่” ระเบียงเศรษฐกิจจีน-มองโกเลีย-รัสเซีย และระเบียบเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน

ค) การค้าอย่างไม่มีข้อจำกัด ก่อให้เกิดการค้ามูลค่ากว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์ระหว่างปี 2014 ถึง 2016 โดยจีนลงทุนในประเทศเหล่านี้กว่า 50 พันล้านดอลลาร์

ง) การเชื่อมต่อทางการเงิน สร้างธนาคารกลุ่มบริกส์ และกลุ่มสถาบันการเงินระหว่างจีน กับประเทศในเอเชียกลางและยุโรปตะวันออก

จ) เชื่อมสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับประชาชน เช่น จีนให้ทุนการศึกษาปีละราว 10,000 ทุน (แต่ประเด็นนี้จีนยังต้องปรับปรุงอีกมากเพราะคนงานจีนในต่างประเทศตามโครงการต่างๆ แยกตัวจากชาวพื้นเมือง สร้างชุมชนของตนขึ้นมา) (ดูรายงานชื่อ Embracing the BRI ecosystem in 2018- Navigating pitfall and seizing opportunities ใน deloitte.com 2018)

อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จดังกล่าวดูจะไม่ทำให้ประเทศตะวันตกและบางประเทศเช่นอินเดียเกิดความคลายใจ ในวาระซ่อนเร้นของโครงการนี้ของจีน กระทั่งกลับทำให้หวาดระแวงและเรียกร้องให้โครงการมีความโปร่งใสและเป็นตามมาตรฐานของยุโรปมากขึ้น

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงการทำให้เงินหยวนเป็นสากล