นงนุช สิงหเดชะ : หม่อมอุ๋ย-นาฬิกาหรู ‘สะเทือน’ (บิ๊กตู่) โค้งสุดท้าย?

หม่อมอุ๋ย-นาฬิกาหรู ‘สะเทือน’ (บิ๊กตู่) โค้งสุดท้าย?

 

แม้ช่วงปลายปีที่แล้ว รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเร่ง “แจก” สารพัดอย่างพร้อมกับมาตรการช่วยเหลือคนจนอย่างมากมาย ซึ่งน่าจะช่วยเพิ่มความนิยมให้กับรัฐบาลและส่งอานิสงส์ไปยังพรรคพลังประชารัฐ ที่แสดงออกชัดเจนว่าจะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ให้เป็นนายกฯ ในการเลือกตั้งครั้งที่จะถึง

แต่ดูเหมือนว่า ความนิยมที่น่าจะได้รับเพิ่มขึ้นการแจกกระหน่ำดังกล่าว ถูกลดทอนด้วย “จุดอ่อน จุดลบ จุดสลบ” ในโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งเพียง 2 เดือน

ทั้งจากกรณีที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล หรือหม่อมอุ๋ย อดีตรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ที่เคยร่วมงานกับ พล.อ.ประยุทธ์ ออกมาเผยแพร่บทความชื่อ “8 เหตุผลที่ผมไม่ต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ อีก”

รวมทั้งการที่ ป.ป.ช.มีมติเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม ว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ไม่มีความผิดในคดีที่มีผู้ร้องเรียนว่าครอบครองนาฬิกาหรู 22 เรือน และแหวนอีกจำนวนหนึ่งโดยไม่ได้ยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช.

 

ป.ป.ช. สรุปว่ายังไม่มีมูลพอที่จะฟังได้ว่า พล.อ.ประวิตรจงใจแสดงบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จ เนื่องจากนาฬิกาดังกล่าวเป็นการยืมเพื่อนมาใส่ ส่วนแหวนก็เป็นมรดกจากมารดา จึงมีมติ 5 ต่อ 3 ให้ยกคำร้อง

คดีนาฬิกาหรู สะเทือนรัฐบาล คสช. ในแง่ความโปร่งใส สุจริต ค้านกับจุดยืนของรัฐบาลนี้ที่เน้นย้ำการปราบปรามทุจริตและคอร์รัปชั่นหรือความไม่โปร่งใสทั้งป่วง อีกทั้งคดีก็ลากยาวมาเกือบ 1 ปี คล้ายกับจะช่วยกันอุ้มผู้ถูกกล่าวหาอยู่กลายๆ

แน่นอนผลตัดสินที่ออกมา สร้างความกังขาให้กับสังคม จึงถูกโจมตีอย่างหนักจากหลายฝ่าย ล่าสุดถึงกับมีความเคลื่อนไหวล่ารายชื่อเพื่อปลด พล.อ.ประวิตรแล้ว รวมทั้ง ป.ป.ช.เองก็ถูกวิจารณ์ถึงความเป็นกลางและอิสระ

แม้ ป.ป.ช.จะยืนยันว่าตัดสินไปตามพยานหลักฐาน แต่เรื่องทำนองนี้ค่อนข้างละเอียดอ่อนเพราะ “อารมณ์สังคม” คาดหวังอีกอย่าง

การที่ ป.ป.ช.เลือกห้วงเวลานี้ในการสรุปผลคดี จะด้วยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ อาจทำให้รัฐบาลคิดว่าจะส่งผลดีต่อคะแนนนิยม เพราะเท่ากับล้างมลทินรัฐมนตรีในรัฐบาลไปแล้ว

แต่ดูแล้วน่าจะส่งผลเสียต่อคะแนนนิยมรัฐบาลมากกว่า เพราะเท่ากับว่าแผลที่ใกล้แห้ง คนใกล้ลืมแล้วถูกรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ ความทรงจำของสังคมจึงสดใหม่ขึ้นมาอีกครั้ง

อันที่จริงหากไม่อยากให้ ป.ป.ช.ตกที่นั่งลำบาก และไม่สร้างจุดอ่อนให้รัฐบาล พล.อ.ประวิตรควรลาออกไปก่อนหน้านี้แล้ว แม้ว่าจะเชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ของตัวเองก็ตาม เพราะสังคมเคลือบแคลงไปแล้ว อีกประการหนึ่ง พล.อ.ประวิตรก็ไม่ได้มีหลักฐานอะไรมาแสดงชัดเจนว่ายืมเพื่อนมา

ในเมื่อไม่ยอมแสดงสปิริตด้วยการลาออก อาจจะเพราะไม่อยากออกหรือเพราะ พล.อ.ประยุทธ์ขอร้องไม่ให้ออก

รัฐบาลและ พล.อ.ประยุทธ์ก็ต้องรับผลที่จะเกิดขึ้น ซึ่งอาจแสดงออกในการเลือกตั้งครั้งที่จะถึงนี้

 

ในส่วนของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรที่ออกมาวางระเบิดในโค้งสุดท้ายด้วยบทความที่เป็นเสมือนออก “หมัดตรง” ไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ นั้น ก็สมควรที่ พล.อ.ประยุทธ์จะรับฟังและนำไปพิจารณาว่าเป็นไปตามที่หม่อมอุ๋ยติติงหรือไม่ ทั้งเรื่องการแจกเงินสร้างความนิยมให้ตนเองและพรรคการเมืองบางพรรค ซึ่งเป็นการเอาเปรียบคู่แข่ง ไม่สง่างาม

เรื่องการใกล้ชิดสนิทสนมกับนายทุนบางกลุ่มบางคน เรื่องการขาดวุฒิภาวะด้านอารมณ์และคำพูด การใช้เวทีต่างประเทศด่าสื่อมวลชน

แต่ในจำนวน 8 ข้อนี้ มีข้อหนึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและอาจ “จุดอารมณ์” ของประชาชนติด นั่นก็คือข้อสังเกตของหม่อมอุ๋ยที่ว่าพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มีการสอดไส้เพื่อเอาใจจีนเป็นพิเศษ ด้วยการบรรจุข้อความที่อนุญาตให้ต่างชาติที่เข้ามาในฐานะผู้อยู่อาศัยถือกรรมสิทธิ์ที่ดินในประเทศไทยได้ง่าย และไม่ได้กำหนดจำนวนสูงสุดไว้

หม่อมอุ๋ยชี้ว่าข้อความดังกล่าว เป็นการเปิดโอกาสให้นายทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในอีอีซี สามารถนำคนงานต่างด้าวพร้อมทั้งครอบครัวที่เป็นผู้อยู่อาศัยเข้ามาในไทยได้ด้วย โดยทั้งคนงานและผู้อยู่อาศัยทุกคนมีสิทธิ์เป็นเจ้าของที่ดินในไทยได้เช่นกัน “ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เคยมีรัฐบาลใดเปิดโอกาสเช่นนี้ให้กับคนต่างด้าวมาก่อนเลย”

อดีตรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ แฉอีกว่า จากการสอบถามนักลงทุนญี่ปุ่นและยุโรป ไม่ปรากฏว่านักลงทุน (ผู้ประกอบการ) เหล่านี้ต้องการนำผู้อยู่อาศัยเข้ามาถือครองที่ดินแต่ประการใด มีเฉพาะผู้ประกอบการเท่านั้นที่ต้องการถือครองที่ดิน

พร้อมกันนี้ยังเตือนด้วยว่า ประเทศเพื่อนบ้านของไทยที่เพิ่งมีคนจีนเข้าไปถือครองที่ดินและอยู่อาศัยถึง 1 แสนครอบครัว บัดนี้พ่อค้าชาวจีนได้ครอบงำการค้าของประเทศนั้นไปมากแล้วเพราะมีเงินทุนมากกว่า

อีกทั้งยกตัวอย่างกรณีมหาธีร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ที่ได้ประกาศยกเลิกโครงการรถไฟความเร็วสูงที่จีนสนับสนุนเพราะเห็นว่ารถไฟสายนี้ไม่ต่างจากนโยบาย “ล่าอาณานิยมยุคใหม่”

ประเด็นเรื่องจีน มีความอ่อนไหวต่อความรู้สึกของคนไทย โดยเฉพาะหากเป็นเรื่องที่ผ่อนปรนให้คนจีนเข้ามาอาศัยและทำมาหากินในเมืองไทย เพราะขณะนี้คนไทยเริ่มมีความกังวลมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากประเด็น “ไชน่าทาวน์แห่งใหม่” ย่านห้วยขวาง ที่มีคนจีนรุ่นใหม่เข้ามาทำมาหากินแบบครบวงจร

คนกลุ่มนี้ตอนแรกก็เข้ามาในรูปของนักท่องเที่ยว หรือนักศึกษา แต่พอเห็นช่องทางทำมาหากินก็อยู่ต่อยาว ทั้งเปิดร้านอาหาร สถานบริการ ที่พักอาศัยและจิปาถะ ส่วนหนึ่งก็รองรับทัวร์จีนที่มาเที่ยวเมืองไทย เรียกว่าเงินทองจากทัวร์จีน แทบไม่ตกถึงกระเป๋าคนไทย

ยังไม่แน่ใจว่าเจ้าหน้าที่หรือรัฐบาลไทย เข้าไปดูแลควบคุมไชน่าทาวน์แห่งใหม่นี้หรือยัง เพราะมีข่าวมาพักใหญ่ 2-3 ปีแล้ว แต่ยังไม่เห็นการเข้าไปกวดขันดูแลอย่างจริงจัง

 

ที่ผ่านมารัฐบาลชี้แจงข้อกล่าวหาของหม่อมอุ๋ยไม่ชัดเจน โดยเฉพาะการเอาใจจีนโดยให้เข้ามาอยู่และถือครองที่ดินแบบไม่มีข้อจำกัด

หากชี้แจงไม่เคลียร์ จะเสียคะแนนนิยมได้ง่ายๆ เพราะเลือดรักชาติและชาตินิยมของคนไทยนั้นไม่แพ้ใครในโลก เป็นประเด็นอ่อนไหวที่ถูกจุดติดได้เร็วและง่าย

พล.อ.ประยุทธ์นั้นไม่ชี้แจงอะไร พูดเพียงว่า ที่หม่อมอุ๋ยออกมาพูด ต้องการอะไร

ทำไมต้องถาม เพราะหม่อมอุ๋ยพูดชัดเจนแล้วว่า วัตถุประสงค์ที่ออกมาพูดคืออะไร

การที่หม่อมอุ๋ยออกมาพูด ถือว่าเป็นกระจกส่องให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ได้ดี เพราะหลายเรื่อง คนใกล้ตัวคงไม่มีใครกล้าเตือน ทำให้เหลิงไปกับภาพลวงตาได้ง่าย