E-DUANG : ปรากฏการณ์ ทักษิณ ยิ่งลักษณ์ กับพัฒนาการ ของ “เทคโนโลยี”

ปัจจัยอะไรทำให้การต่อสู้ในยุคของ “ทักษิณ ยิ่งลักษณ์”แตกต่างไปจากยุคของ นายปรีดี พนมยงค์ หรือแม้กระทั่งยุคของ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ

ทั้งๆที่ นายปรีดี พนมยงค์ และ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ได้รับผลกระทบจาก”รัฐประหาร”เหมือนกัน

นายปรีดี พนมยงค์ เลือกที่จะไปลี้ภัยในจีน

พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เพียงขออนุญาตไปพักและรักษาตัวอย่างเงียบๆอยู่อังกฤษ

อาจมีการเคลื่อนไหวแต่ก็ด้วย”รูปแบบ”อื่น

นายปรีดี พนมยงค์ อาจมากด้วย”ข่าวลือ”แต่อย่างมากก็โดย การเขียนและการให้สัมภาษณ์

แต่ไม่เหมือนกับที่ปรากฏในยุคของ”ทักษิณ ยิ่งลักษณ์”

 

ปรปักษ์ทางการเมืองอาจลงความเห็นว่าเป็นเพราะนิสัยของ นาย ทักษิณ ชินวัตร ไม่ยอมแพ้จึงพลอยลากจูงเอา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชิน วัตร พ่วงไปด้วย

แต่หากรัฐประหารของ”ทักษิณ ยิ่งลักษณ์”อยู่ในยุคเดียวกับ นายปรีดี พนมยงค์ หรือแม้กระทั่ง พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ

ก็คงไม่มีอะไรมากทำได้อย่างเก่งก็เหมือน นายปรีดี พนมยงค์ คือ เขียนหนังสือหรือให้สัมภาษณ์

จุดต่างอย่างสำคัญจึงขึ้นอยู่กับ “เทคโนโลยี”

จากเพียงหลังรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 มายังหลังรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 เทคโนโลยีก็เปลี่ยนแปลงอย่าง ชนิดก้าวกระโดด

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเติบใหญ่ขยายตัวของ”อินเตอร์เน็ต”อันเป็นรากฐานของ “สื่อออนไลน์”

ยอดวิวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จึงยังเป็นระดับ”ล้าน”

ขณะเดียวกัน นายทักษิณ ชินวัตร ก็สามารถจัด Good Monday ไม่ว่าจะนั่งอยู่ดูไบ ไม่วาจะนั่งอยู่ฮ่องกง

สื่อสารโดยตรงมายังแฟนานุแฟนในประเทศไทย

 

เทคโนโลยีต่างหากที่หดระยะทางและความรวดเร็วในการสื่อสารระหว่าง นายทักษิณ ชินวัตร น.ส.ยิ่งลักาณ์ ชินวัตร กับมวลชนในประเทศไทย

เมื่อ”เทคโนโลยี”สร้างความสะดวกให้ได้เช่นนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะเลือกทำกิจกรรมอะไร

ปรากฏการณ์”ทักษิณ ชินวัตร”จึงได้คึกคักขึ้นมา