ลึกแต่ไม่ลับ : มวยล้มต้มคนดู หรือ ปืนลั่นใส่ ‘สมชัย’

จรัญ พงษ์จีน

คิดว่า ท้ายที่สุดแล้ว จะต้องถอยคนละก้าว เพื่อพบกันครึ่งทาง ลงเอยที่มวยล้มต้มคนดูอีกตามเคย กรณีที่ “กรธ.” ได้ออกแบบ “ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ” หรือ “กฎหมายลูก” จำนวน 10 ฉบับ เพื่อให้แล้วเสร็จตามกรอบภายในเวลา 8 เดือน

มีอยู่ 4 ฉบับที่ต้องเร่งมือให้เป็นที่เรียบร้อยนำร่องไปก่อน เพื่อให้ได้มาซึ่งกฎหมายพรรคการเมือง-ที่มา ส.ส.-ที่มา ส.ว. เป็นอ็อปชั่นบังคับต้องเริ่มจูนโมเมนตั้มด้วย “องค์กรอิสระ” ที่ชื่อ “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” หรือ “กกต.” เป็นเจ้าแรก

ผลของการออกแบบตามรัฐธรรมนูญใหม่ มาตรา 222 มีการยกเครื่อง “หมวดสัดส่วน-คุณสมบัติ”

โดยบัญญัติสัดส่วนใหม่ว่า “คณะกรรมการการเลือกตั้ง ประกอบด้วยกรรมการจำนวน 7 คน (1) เป็นผู้ได้รับเลือกจาก “คณะกรรมการสรรหา” จำนวน 5 คน (2) เป็นผู้มีความรู้ด้านกฎหมาย และเคยดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีผู้พิพากษา หรือเคยดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีอัยการมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี ซึ่งได้รับการคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา จำนวน 2 คน

ที่เป็นเรื่องคือ “หมวดคุณสมบัติ” (อย่างหนึ่งอย่างใด) ดังต่อไปนี้ คือ

1. เคยรับราชการไม่ต่ำกว่า “อธิบดี” หรือ “หัวหน้าส่วนราชการ” ที่เทียบเท่ามาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี

2. เคยดำรงตำแหน่ง “ศาสตราจารย์” ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี

3. เป็นผู้มีความรู้ความชำนาญ และประสบการณ์ทางด้านการบริหาร ในระดับไม่ต่ำกว่าผู้บริหารระดับสูงของบริษัทมหาชนจำกัด มาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปี

4. เป็นผู้เคยทำงานในภาคประชาสังคมมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 20 ปี

แรงเหวี่ยงจาก “คุณสมบัติ” เสมือน “กรธ.” จงใจทำ “ปืนลั่น” ใส่ใครใน “องค์กรอิสระ” เพราะมีกรรมการหลายคนเข้าเหลี่ยมลงร่อง “ขาดคุณสมบัติ” โดยอัตโนมัติ

หนึ่งใน “กกต.” ที่จะต้องเข้าพิธีแห่นาค คือ “สมชัย ศรีสุทธิยากร” คนฝีปากกล้า นั่งไม่ติด ออกมาโวยวายเป็นคนแรกว่า การกำหนดคุณสมบัติของ กกต. เพื่อให้เท่าเทียมกับองค์กรอิสระอื่น โดยหลักการถือว่าเป็นธรรม

“แต่ประเด็นที่สำคัญ สังคมกำลังจับจ้องอยู่ว่า ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกำลังเตรียมการในการโละ เปลี่ยนแปลงองค์ประกอบภายในองค์กรอิสระทุกองค์กร โดยเอาคนของตัวเองเข้าไปทำหน้าที่ในองค์กรเหล่านั้น นี่คือการยึดพื้นที่ทางการเมืองขององค์กรอิสระ”

การออกมาวีนของ “สมชัย” และมีแนวร่วมขานรับดีพอประมาณ ทำให้เชื่อกันว่า “กรธ.” ที่ “กูรูมีชัย ฤชุพันธุ์” เป็นประธาน สุดท้ายแล้วก็ไม่แคล้วที่ต้องตีหมอบ โดยอนุโลม ด้วยหลักการว่าด้วยคุณสมบัติยึดตามกรอบตามรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ละไว้ซึ่ง “ผลบังคับใช้”

ให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในองค์กรอิสระอยู่ในปัจจุบัน หรือก่อนหน้านี้ ยังสามารถตีตั๋วดำรงตำแหน่งต่อไปได้จนครบวาระ จะเริ่ม “เซ็ตซีโร่” กับ กรรมการชุดใหม่

แต่ทำท่าจะพากันซื้อหวยผิด เมื่อ “ปู่มีชัย” ประธาน กรธ. คอนเฟิร์มว่า

จนถึงขณะนี้ไม่มีใครทราบว่าบุคคลใดในองค์กรอิสระต้องออกจากตำแหน่ง ขึ้นอยู่กับกรรมการสรรหาเป็นผู้พิจารณาตามคุณสมบัติที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ เมื่อวินิจฉัยออกมาอย่างไรก็ต้องยอมรับ ทุกอย่างจบที่กรรมการสรรหา

“ทั้งหมดต้องทำใจ ทุกอย่างเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแล้ว เพราะตอนกำหนดคุณสมบัติในช่วงที่ร่างรัฐธรรมนูญ มีการพูดกันเยอะ ไม่ใช่อยู่ๆ เก็บงุบงิบแล้วค่อยมาออก เขียนอย่างเปิดเผยมาตั้งแต่ต้น”

และระบุว่า ตอนที่ กรธ. เขียนกฎหมายก็ไม่ได้ไปดูว่า คุณสมบัติของแต่ละคนเป็นอย่างไร เพียงแต่คิดว่าเมื่อปฏิรูปประเทศ จะทำให้องค์กรอิสระมีอำนาจมากขึ้น ต้องการคนที่มีคุณวุฒิ คุณสมบัติ และประสบการณ์สูงขึ้น และเหตุผลที่ไม่กำหนดในร่างรัฐธรรมนูญให้คุ้มครองผู้ที่ดำรงตำแหน่งอยู่จนครบวาระ กรธ. คิดว่าทำไม่ได้ เพราะร่างรัฐธรรมนูญที่เพิ่มอำนาจองค์กรอิสระมีผลทันทีเมื่อบังคับใช้ และอำนาจก็ตามมา ดังนั้น จึงต้องเปลี่ยนคุณสมบัติทันทีเช่นกัน

เสียงจริง ตอบตรง ชัดเจน จาก “มีชัย ฤชุพันธุ์” จึงไม่ต้องแปลไทยเป็นไทยแต่ประการใด หมายความว่า ผู้ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในองค์กรอิสระ ที่ขาดคุณสมบัติ ไม่เข้าข่าย อาจจะต้องพ้นจากตำแหน่ง

ทีนี้ ลองตามไปส่องกล้องดู “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” ว่ามีไผเป็นไผบ้าง ที่ส่อเค้าเล่าอาการว่า จะหลุดวงโคจรโดยอัตโนมัติ ตามกฎและกติกาใหม่ว่าด้วย “คุณสมบัติ”

“กกต.ชุดปัจจุบัน” ได้รับแต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ดำรงตำแหน่งมาตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2556

ประกอบด้วย 5 คน คือ

1. “ศุภชัย สมเจริญ” เคยเป็นผู้พิพากษา หัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ภาค 8 และ 4 ผู้พิพากษาศาลฎีกา ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 1
2. “บุญส่ง น้อยโสภณ” อธิบดีผู้พิพากษาภาค 3 รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค 7 ผู้พิพากษาศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 7
3. “ธีรวัฒน์ ธีรโรจน์วิทย์” อดีตอธิบดีผู้พิพากษาภาค 9
4. “ประวิช รัตนเพียร” อธิการบดีมหาวิทยาลัยรัตนบัณฑิต ผู้อำนวยการโรงเรียนดุสิตพณิชยการ ผู้ตรวจการแผ่นดิน
5. “สมชัย ศรีสุทธิยากร” ผู้อำนวยการศูนย์ประมวลข้อมูลคณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รักษาการรองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้อำนวยการสำนักทะเบียนและประมวลผลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ “รองศาสตราจารย์”

ยก “คุณสมบัติ” มาเป็นตัวตั้ง ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญใหม่ เคยรับราชการไม่ต่ำกว่า “อธิบดี” หรือ “หัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่า” และไม่น้อยกว่า 5 ปี 3 รายแรก น่าจะคุณสมบัติไม่ขัด เนื่องจากตำแหน่งเดิมล้วนอยู่ในระนาบ เกินกว่าข้อบังคับ หมวดคุณสมบัติ

เหลือให้ลุ้นระทึกกันเพียง 2 คน ระหว่าง “ประวิช” กับ “สมชัย”

และรายหลัง อาการน่าเป็นห่วงกว่าใครเขาเพื่อน จึงไม่แปลกว่าทำไม “สมชัย ศรีสุทธิยากร” จึงออกมาดับเครื่องชนแหลก