ธงทอง จันทรางศุ : จีนเก่าไหหลำ และจีนใหม่รัชดาฯ

ธงทอง จันทรางศุ

ผมเพิ่งกลับจากการเดินทางไปเกาะไหหลำมาถึงเมืองไทยได้สามสี่วัน

กลิ่นอายของเกาะไหหลำยังติดตัวอยู่เลยครับ

อันที่จริงชื่อเกาะแห่งนี้เป็นที่คุ้นหูของผมมานานแล้ว

เพราะนอกจากความรู้ทางภูมิศาสตร์ว่าเกาะดังกล่าวเป็นดินแดนของจีนแผ่นดินใหญ่ที่ตั้งอยู่ในบริเวณทะเลจีนใต้แล้ว

เกาะไหหลำยังมีความผูกพันเกี่ยวข้องกับผมเป็นการส่วนตัวด้วย เพราะบรรพบุรุษของผมบางท่านเดินทางมาจากเกาะที่ว่า แล้วมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในประเทศไทย และยังคงมีผู้ที่สืบเชื้อสายลงมาจนถึงปัจจุบันนี้เป็นจำนวนมาก

คนไทยจำนวน 60 กว่าล้านคนที่เป็นประชากรของประเทศอยู่ในเวลานี้ อันที่จริงก็มีสายเลือดทั้งที่เป็นไทยและมีเชื้อชาติอื่นผสมปนเปกันอยู่เป็นจำนวนมาก

แต่ในบรรดาเชื้อชาติที่มีจำนวนปริมาณมากที่สุดน่าจะได้แก่เชื้อชาติจีนซึ่งยังสามารถแบ่งย่อยได้เป็นหลายชาติพันธุ์

ที่เราได้ยินกันบ่อยๆ ก็เช่น ฮกเกี้ยน แต้จิ๋ว แคะ และไหหลำ

ในสมัยก่อนโน้นการเดินทางเข้ามาของพลเมืองรุ่นใหม่ที่เป็นเชื้อชาติจีนไม่ได้เป็นที่รังเกียจกีดกันของสังคมไทย

ชาวจีนได้เดินทางเข้ามาติดต่อค้าขายและบางจำนวนได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในเมืองไทยของเรา อย่างน้อยก็ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีแล้ว

เหตุการณ์ได้เป็นดังนั้นเรื่อยมา ชุมชนจีนมีจำนวนมากและปรากฏหลักฐานอยู่ในประวัติศาสตร์หลายครั้ง

เช่น เมื่อตอนที่เราสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ ภูมิสถานที่ซึ่งเป็นที่ตั้งของพระบรมมหาราชวังและวัดพระศรีรัตนศาสดารามปัจจุบันเคยเป็นชุมชนชาวจีนมาก่อน เมื่อบ้านเมืองมีความจำเป็นต้องใช้ที่ดินตรงนั้นเพื่อประโยชน์ราชการ ชาวจีนก็ได้รับจัดสรรพื้นที่ใหม่เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย

ได้แก่บริเวณที่เราเรียกว่าสำเพ็งทุกวันนี้นั่นเอง

จากที่เคยได้ยินได้ฟังหรืออ่านหนังสือมาบ้าง ชาวจีนที่อพยพทิ้งถิ่นฐานบ้านช่องของตนเองจากเมืองจีนมาเผชิญโชคในกรุงสยาม ส่วนใหญ่แล้วมักเป็นชายที่อยู่ในวัยกำลังหนุ่มแน่น

หลายคนมีเมียมีลูกมาแล้ว แต่ใจเด็ดพอที่จะทิ้งลูกเมียมาแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ในชีวิต

เหตุผลที่คนจีนจำนวนไม่น้อยกล้าตัดสินใจยอมเสี่ยงกับความไม่แน่นอนของอนาคตในเมืองไทย มีคำอธิบายว่าเพราะอนาคตในเมืองจีนนั้นไม่แน่นอนเสียยิ่งกว่า

ตั้งแต่ความยากลำบากในการทำมาหากินเพราะดินฟ้าอากาศไม่เป็นใจ

ภัยธรรมชาติที่เมืองจีนนั้นร้ายกาจนักหนา เวลาหนาวก็หนาวจัดจนจับไปถึงขั้วหัวใจ บทจะร้อนขึ้นมาก็ร้อนเป็นเพลิงรุม ครั้นถึงฤดูฝน ฝนก็ตกหนักจนเกิดอุทกภัย

ทั้งหมดนี้เป็นอุปสรรคกับการทำมาหากินของผู้คนในสังคมเกษตรกรรมเป็นอย่างยิ่ง

ที่ร้ายยิ่งกว่านั้น คือโอกาสก้าวหน้าในชีวิตที่มีประตูปิดแคบเสียเหลือเกิน

ถ้าไม่ใช่ผู้ที่เกิดมาในตระกูลสูงหรือมีฐานะร่ำรวยมาแต่ก่อนแล้ว การจะเป็นผู้มีหน้าตาขึ้นมาในสังคมจีนครั้งนั้นดูจะเป็นเรื่องไกลเกินคิด

บางช่วงเวลาเมืองจีนเองก็มีปัญหาทางการเมืองจนเกิดสงครามกลางเมือง

เป็นที่เดือดร้อนแก่ไพร่บ้านพลเมืองทั่วไป

ทั้งหมดนี้เมื่อเทียบกับเมืองไทยแล้วจะเห็นความแตกต่างห่างไกลกันมาก เพราะตำแหน่งที่ตั้งของเมืองไทยนั้นอยู่ในที่ดินและภูมิประเทศที่วิเศษนักหนา

นานปีทีหนจึงจะมีภัยธรรมชาติครั้งใหญ่เกิดขึ้น

การเมืองในบ้านเราครั้งอดีตก็ไม่เคยถึงขนาดที่จะเกิดสงครามกลางเมืองให้ไพร่บ้านพลเมืองต้องเดือดร้อน

โอกาสหลายอย่างในเมืองไทยเปิดกว้าง คนจีนที่มีฝีมือในทางการค้าขาย พอคุ้นเคยใกล้ชิดกับราชการเข้าหน่อย ก็อาจมียศถาบรรดาศักดิ์ขึ้นมากลายเป็นขุนนางในระบบราชการไทย

เป็นเจ้าภาษีนายอากร หรือแม้กระทั่งเป็นเจ้ากรมท่าซ้าย กินยศพระยาเป็นพระยาโชฎึกราชเศรษฐีกันมาหลายคนแล้ว

คนจีนที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานใหม่ในช่วงแรกมักมาขออาศัยพักพิงอยู่กับคนจีนร่วมแซ่เดียวกัน หรือมาจากตำบลหมู่บ้านเดียวกัน พอให้ตั้งตัวติดเสียก่อน

คนจีนที่เข้ามาอยู่ก่อนก็ถือเป็นมารยาทหรือหน้าที่ทางสังคมที่จะต้องเอื้อเฟื้ออนุเคราะห์แก่คนจีนที่เดินทางติดตามเข้ามา

แต่ละชาติพันธุ์ก็มีความถนัดและโอกาสในการทำมาหากินที่แตกต่างกันไป

ว่ากันว่าคนจีนไหหลำอย่างบรรพบุรุษของผม มีความสันทัดในการทำกิจการโรงเลื่อยไม้และโรงแรม หลักฐานยังพอปรากฏได้จากคำที่เราเรียกผู้จัดการโรงแรมรุ่นเก่าว่า “โก” ซึ่งเป็นภาษาจีนไหหลำ

และแม้จนทุกวันนี้คนไทยเชื้อสายจีนไหหลำหลายครอบครัวก็ยังประกอบกิจการโรงแรมเป็นล่ำเป็นสันอยู่ในหลายจังหวัด

ทวดของผมซึ่งเป็นบิดาของคุณยายโดยตรง ชื่ออุ่นตุ้ย เป็น “จีนนอก” แซ่ฮุนมาจากไหหลำ น่าจะเข้ามาเมืองไทยในตอนปลายรัชกาลที่สี่หรือต้นรัชกาลที่ห้า

เพราะมีหลักฐานว่าท่านมีลูกชายคนใหญ่เมื่อปีพุทธศักราช 2425 ซึ่งเป็นปีที่สิบสี่ในรัชกาลที่ห้า

ผมยังสืบค้นไม่ได้ว่าเมื่อแรกมาถึงเมืองไทยใหม่ๆ ท่านประกอบอาชีพอะไรบ้าง รู้แต่เพียงว่าอาศัยเวลาไม่นานท่านได้ทำกิจการค้าหลายอย่าง ทำให้มีฐานะมั่นคงพอสมควร

หนึ่งในกิจการเหล่านั้นคือโรงเลื่อยไม้ตามแบบธรรมเนียมของชาวไหหลำทั้งปวง

นอกจากนั้น ท่านยังมีกิจการโรงเผาปูนขาวที่จังหวัดราชบุรี ทำเรือข้าวเพื่อรับซื้อข้าวจากหัวเมืองนำมาขายในกรุงเทพฯ ตั้งห้างขายของที่สั่งเข้ามาจากต่างประเทศ เรียกว่าห้างฮุนซุยโห กับทำโรงน้ำแข็ง และมีโรงงานทำขนมปังปอนด์อีกด้วย

เรียกว่าทำการค้าทุกท่า อะไรที่เป็นช่องทางทำมาหากินสุจริตแล้วได้เงินทองเป็นอันว่าท่านทำทั้งหมด ความรู้ของคุณทวดอุ่นตุ้ยกว้างขวางยาวไกลไปจนกระทั่งถึงการทำอาหารอย่างฝรั่งจนมีชื่อเสียงด้วย

ครั้งหนึ่งในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดเส้นทางรถไฟสายเหนือจากอยุธยาไปแก่งคอยเมื่อพุทธศักราช 2440

และอีกครั้งหนึ่งเมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดทางรถไฟสายมหาชัยเมื่อพุทธศักราช 2444

ท่านได้รับมอบหมายจากทางราชการให้เป็นผู้จัดการเรื่องพระสุธารสหรือน้ำชาเวลาบ่าย

พร้อมทั้งจัดเครื่องว่างเลี้ยงดูข้าราชการผู้ใหญ่ในงานนั้นด้วย

ดังได้กล่าวแล้วว่าคนจีนที่เข้ามาเผชิญโชคในเมืองไทยส่วนมากอยู่ในวัยหนุ่ม

บางคนมีครอบครัวมาแล้วแต่ไม่ได้นำครอบครัวมาด้วย

อีกหลายคนรวมทั้งคุณทวดของผมยังไม่เคยมีครอบครัวมาก่อน

เป็นธรรมดาอยู่เองที่จีนนอกเหล่านั้นเมื่อถึงวันเวลาที่สมควรก็จะหาคู่ครองที่มีความเหมาะสม ส่วนใหญ่แล้วก็จะเป็นลูกของคนจีนที่มาจากชาติพันธุ์เดียวกัน แต่เป็นรุ่นที่เข้ามาอยู่ในเมืองไทยก่อนตนเอง

และหลายคนก็ได้แต่งงานกับคนไทยจนมีความกลมกลืนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยไปมากแล้ว

คุณทวดอุ่นตุ้ยก็ได้แต่งงานกับคุณทวดคำ ลูกสาวของจีนปินกับนางหุ่น ผู้เป็นเจ้าของตลาดน้อยในย่านสัมพันธวงศ์ และได้มีลูกชาย-หญิงด้วยกันจำนวนสิบคน เป็นหญิงสามคน และเป็นชายถึงเจ็ดคน

ลูกหญิงคนหนึ่งคือคุณยายของผมนั่นเอง

ผมได้พบรูปภาพของคุณทวดอุ่นตุ้ยถ่ายพร้อมกับลูกหลายคน

มีข้อสังเกตที่น่าสนใจว่าลูกชายทุกคนแต่งกายตามธรรมเนียมจีนครบถ้วน ในขณะที่ลูกสาวแต่งกายอย่างไทย เช่น ไว้จุกหรือนุ่งโจงกระเบน

เพื่อนของผมที่เป็นนักประวัติศาสตร์ให้ความเห็นว่า ครอบครัวที่เกิดขึ้นจากการสมรสระหว่างชาวจีนที่เป็นจีนนอกกับฝ่ายภริยาซึ่งส่วนมากเป็นคนไทย หรือมีเชื้อสายไทยกว่าครึ่งกว่าค่อนนั้น นิยมให้ลูกชายถือธรรมเนียมจีนเคร่งครัด เพราะถือว่าเป็นผู้ที่จะสืบตระกูลและต้องเป็นผู้ที่รับสืบทอดกิจการค้าของครอบครัว

ในขณะที่ฝ่ายลูกหญิง โดยมากอยู่ในความดูแลใกล้ชิดของผู้เป็นมารดาซึ่งมีความเป็นไทยมากกว่าบิดา

ด้วยเหตุนี้ลูกสาวจึงไว้จุกและนุ่งโจงกระเบน สุดแต่ผู้เป็นแม่จะจัดการให้

และเมื่อโตขึ้นถึงวัยที่จะมีเหย้าเรือน ก็อาจจะแต่งงานมีความสัมพันธ์กับครอบครัวของคนไทยที่มีวงศ์วานกว้างขวาง

พอเกี่ยวดองกันเสียอย่างนี้แล้ว ก็จะยิ่งทำให้กิจการค้าของครอบครัวมีความมั่นคงและเป็นที่นับหน้าถือตามากยิ่งขึ้นตามไปด้วย

การที่สังคมไทยเปิดกว้างรับคนจีนหลายชาติพันธุ์เข้ามาเป็นสมาชิกของเมืองไทยมีความต่อเนื่องกันมาหลายร้อยปี

และคนจีนจำนวนมากก็ได้กลมกลืนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยเรียบร้อยแล้ว

แต่ต่อมาเนื่องจากการเมืองของโลกผันแปรไป ในช่วงเวลาประมาณหลังสงครามโลกครั้งที่สองเกิดการต่อสู้กันระหว่างความคิดสองค่าย เรียกว่าโลกเสรีกับโลกคอมมิวนิสต์ จีนแผ่นดินใหญ่กลายเป็นคอมมิวนิสต์

ในขณะที่เมืองไทยสังกัดอยู่ฝ่ายโลกเสรีเต็มที่ (ส่วนเสรีจริงมากน้อยแค่ไหนนั้นอีกเรื่องหนึ่งนะครับ) การที่จะรับให้พลเมืองของประเทศคอมมิวนิสต์เข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ของเมืองไทยจึงเป็นเรื่องที่ต้องรังเกียจกีดกันกันอย่างยิ่ง

ประกอบกับความจำเป็นของเมืองไทยเราเองที่แต่เดิมต้องการแรงงานต่างด้าวเข้ามาช่วยในการสร้างบ้านแปงเมืองกลายเป็นเรื่องพ้นยุค คำว่า “จีนนอก” จึงหายไปจากความรับรู้ของคนไทย เพราะไม่มีจีนนอกที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารแบบเก่าให้เราได้พบเห็นอีกแล้ว

เขียนมาถึงตรงนี้แล้วก็มีคำถามที่ผมอดถามถามตัวเองไม่ได้ว่า แล้วแถวถนนรัชดาภิเษกที่มีคนจีนเดินอยู่ครึกครื้นทุกวันนี้ ตกลงเขามาเดินเที่ยวเล่นอย่างนักท่องเที่ยวชั่วคราวหรือมาอยู่ทำมาหากินเป็นเรื่องเป็นราว และถ้าเขาจะมาอยู่แบบฝังรกรากกันจริงๆ สังคมไทยเราทุกวันนี้มีความสามารถที่จะทำให้ “จีนใหม่” รุ่นนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยอย่างที่ปู่ย่าตายายของเราได้เคยทำสำเร็จมาแล้วแต่กาลก่อนหรือไม่

ใครกล้าตอบคำถามนี้บ้างครับ ช่วยตอบให้ผมชื่นใจหน่อยเถิด