บทวิเคราะห์ : ป.ป.ช. ปิดจ๊อบ นาฬิกาหรู ของขวัญปีใหม่ “บิ๊กป้อม” ตัดไฟก่อนเป็นภัยต่อการเลือกตั้ง

ไม่มีอะไรอยู่ในกอไผ่ ปิดฉากตามคาด สำหรับปมร้อน “นาฬิกาหรู” ของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดยหลังจากที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ใช้เวลา 1 ปีเต็มๆ พิสูจน์เบื้องต้นว่า “นาฬิกานั้นท่านได้แต่ใดมา” ถึงที่สุดแล้ว คำร้องขอให้ตรวจสอบ กลับเป็นอันตีตกไป เมื่อ ป.ป.ช.วินิจฉัยว่าไม่มีมูลจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จ

ปมแหวนแม่ นาฬิกาเพื่อน (ที่ตายไปแล้ว) นับเป็นเรื่องกวนใจพี่ใหญ่แห่ง “บูรพาพยัคฆ์” มาตลอดทั้งปี นักการเมืองจากหลายค่ายหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาโจมตีสนุกปาก ดิสเครดิตรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เป็นอย่างดี

จนหลายคนมองว่า “บิ๊กป้อม” อาจไม่ไหว จะยอมไขก๊อกลาออก สละตัวเอง ป้องกันความเสียหายที่จะมาสู่รัฐบาล

แต่การณ์หาได้เป็นเช่นนั้น

เพราะ “บิ๊กป้อม” อาศัยความอึด ทนอยู่ได้ท่ามกลางกระแสกดดันอย่างหนัก

ซึ่งไม่ใช่แค่แรงกดดันทางการเมืองที่โหมกระหน่ำโจมตีโดยนักการเมือง

แต่ยังรวมถึงภาคส่วนอื่นๆ ในสังคมไทยทุกสาขาอาชีพ

โดยเฉพาะศิลปินดารา ที่แสดงออกอย่างชัดเจนว่าเห็นถึงความผิดพิรุธในกรณีนี้ พร้อมเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. โชว์ความแมน ให้ “บิ๊กป้อม” ลาออก เพื่อเป็นบรรทัดฐาน

กระแสกดดันนี้แรงถึงขนาดที่ “บิ๊กตู่” ต้องจับปากกาแต่งเพลง “ใจเพชร” เพลงในลำดับที่ 5 มีท่อนฮุกให้กำลังใจ “บิ๊กป้อม” ว่า

“ทำใจให้เป็นเพชรแท้ ไม่แพ้อะไรเสียอย่าง วันนี้มีเราเคียงข้าง อุปสรรคก็ไร้ความหมาย บทเรียนสอนเรา ไม่เหมือนในวันวาน ความฝันที่ใจของเราต้องการ ต้องสร้างมันด้วยกันจึงยั่งยืน”

 

“บิ๊กป้อม” ถูกร้อง ป.ป.ช.ให้ตรวจสอบภายหลังปรากฏเป็นข่าวว่าครอบครอง “นาฬิกาหรู” หลายเรือน พร้อม “แหวนเพชร” อีกจำนวนหนึ่ง โดยไม่ได้ยื่นในรายการแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อครั้งเข้ารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม วันที่ 4 กันยายน 2557

ท่ามกลางกระแสกดดันจากสังคม โดยมีสื่อออนไลน์อย่างเพจ CSI LA คอยขุดคุ้ย คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงมีมติให้ตั้งคณะทำงานแสวงหาข้อเท็จจริง

ซึ่งถือเป็นกระบวนการชั้นต้นในการตรวจสอบของ ป.ป.ช. โดยคณะทำงานแสวงหาข้อเท็จจริงนี้มีหน้าที่รวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อพิสูจน์ให้ได้ว่าข้อร้องเรียนดังกล่าวมีมูลเข้าข่ายฐานความผิดหรือไม่ ก่อนจะเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนอีกครั้งหนึ่ง เพื่อสอบเชิงลึก

คณะกรรมการ ป.ป.ช.คือใคร?

 

คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดปัจจุบันได้มuการสรรหาในช่วงรัฐบาลนี้ มี “พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ” หรือ “บิ๊กกุ้ย” อดีตรองเลขาธิการ “บิ๊กป้อม” ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งจาก คสช.ให้ปฏิบัติหน้าที่รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รักษาการ ผบ.ตร.) แทน “พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว” หลังรัฐประหาร 2557 เป็นประธานคณะกรรมการ

เป็นคณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่ไม่ถูกรีเ:Hต แม้จะมีคุณสมบัติไม่ตรงตามรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งมีข่าวหนาหูว่าเป็นความต้องการของผู้มีอำนาจ ที่อยากให้อยู่คู่บารมีเพื่อสางคดีต่างๆ ที่ยังค้างคา

ที่แล้วมา ป.ป.ช.ถูกตั้งคำถามถึงความเป็นกลางในฐานะองค์กรอิสระมาโดยตลอด โดยเฉพาะหลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ที่ ป.ป.ช.เร่งไล่ตามเช็กบิลนักการเมืองจากค่ายพรรคเพื่อไทย (พท.) ชนิดล้างผลาญ ซึ่งคดีรับจำนำข้าวและขายข้าวแบบจีทูจีก็เป็นหนึ่งในผลงานชิ้นโบแดงของ ป.ป.ช.

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายคดีที่รอเข้าห้องเชือด ชี้มูลความผิด

 

สําหรับปม “นาฬิกาหรู” คณะทำงานแสวงหาข้อเท็จจริงได้ให้ พล.อ.ประวิตรชี้แจงที่มาของทรัพย์สิน 4 ครั้ง โดยทุกครั้ง พล.อ.ประวิตรชี้แจงด้วยลายลักษณ์อักษรว่า นาฬิกาทั้งหมดได้ยืมมาจากเพื่อนรักที่เสียชีวิตไปแล้ว คือนายปัฐวาท สุขศรีวงศ์ เจ้าสัวคอมลิงค์ ผู้มีฐานะทางการเงินมั่งคั่ง เพราะนายปัฐวาทคนนี้รักเพื่อนฝูงมาก มีนาฬิกาในความครอบครองหลายเรือน และมักให้เพื่อนยืมใส่เล่นเป็นประจำ แต่กระนั้น พล.อ.ประวิตรก็ได้คืนไปแล้ว

ส่วน “แหวนเพชร” นั้น เป็นของพ่อที่แม่มอบให้ระหว่างดำรงตำแหน่งทางการเมืองในรัฐบาลนี้ ซึ่งหมายความว่า “พล.อ.ประวิตร” ได้แหวนเพชรจากแม่ภายหลังเข้ารับตำแหน่งแล้ว เป็นเหตุให้ทรัพย์สินไม่อยู่ในการแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช.

เลขาฯ ป.ป.ช.แถลงว่า จากพยานหลักฐานและข้อเท็จจริง คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติด้วยคะแนนเสียง 5 ต่อ 3 ว่า ยังไม่มีมูลเพียงพอที่ “พล.อ.ประวิตร” จะจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ และมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่ามีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สิน

ป.ป.ช.ดึงเกมนี้มายาวนาน อย่างที่หลายคนวิจารณ์ เป็นการ “ยื้อ” ซึ่งนับว่ากดดัน ป.ป.ช.พอสมควร แม้ประธาน ป.ป.ช.จะยืนยันความตรงไปตรงมา ด้วยการไม่เข้าร่วมประชุมวาระดังกล่าว แต่สังคมก็อดสงสัยไม่ได้ว่าจะเกิดความโปร่งใสหรือไม่

นั่นส่งผลให้นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการ ป.ป.ช.ซึ่งเป็นอดีตนักตรวจสอบบัญชีตัวยง ต้องคอยหลบหน้าสื่ออยู่บ่อยๆ เพราะอายที่จะต้องพูดถึงเรื่องนี้ ที่ไม่ค่อยมีอะไรคืบหน้าเลย

 

กระทั่งมาหาจังหวะลงได้ในไม่กี่เดือนก่อนการเลือกตั้งจะเกิดขึ้น นั่นอาจเป็นเพราะมีการประเมินแล้วว่าจะไม่ส่งผลดี หากปล่อยให้เรื่องนี้คาราคาซังยืดเยื้อต่อไป ในเมื่อ “บิ๊กตู่” มีโอกาสสูงที่จะลงเล่นในสนามการเมือง โดยให้พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เสนอชื่อขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย

ดังนั้น หากไม่เคลียร์ประเด็นนี้ให้เรียบร้อย ย่อมจะส่งผลเสียตามมาเป็นแน่ เพราะจะเข้าทางฝ่ายตรงข้าม ที่ได้จังหวะหยิบประเด็น “นาฬิกาหรู” บิ๊กป้อมมาผูกโยงกับ “บิ๊กตู่” และพรรคพลังประชารัฐ เพราะอย่างที่บอก เมื่อประเด็นนาฬิกาหรูนั้นอยู่ในความสนใจของทุกกลุ่มในสังคมไทย การหยิบประเด็นนี้มาเล่นงานกัน จึงมีผลต่อความน่าเชื่อถือของผู้ถูกโจมตีพอสมควร

ดังนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงมีมติให้ข้อกล่าวหา “บิ๊กป้อม” เป็นอันต้องตกไป ตั้งแต่กระบวนการแรกเริ่มของการตรวจสอบเบื้องต้นเท่านั้น โดยไม่จำเป็นต้องตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนให้เสียเวลา

ทั้งที่หากจะให้สมเหตุสมผลหน่อย ป.ป.ช.สามารถตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนขึ้นมาตรวจสอบ และค่อยตีตกภายหลังก็ย่อมได้

แต่ไม่เป็นเช่นนั้น เพราะมีการประเมินสถานการณ์แล้วว่านั่นจะยิ่งส่งผลกระทบไปใหญ่ ไม่ใช่กระทบต่อความน่าเชื่อถือของ ป.ป.ช. แต่นักการเมืองจากค่ายเพื่อไทยและค่ายอื่นๆ จะพากันรุมกดดัน “บิ๊กตู่” ให้ปลด “บิ๊กป้อม” เปิดทางให้ ป.ป.ช.ได้มีการตรวจสอบ มิเช่นนั้นจะใช้อำนาจหน้าที่แทรdแซงองค์กรอิสระได้

นั่นถือเป็นหายนะใหญ่หลวง เพราะไม่เพียงแต่กระทบรัฐบาล แต่ยังกระทบพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งมีผลต่อการเลือกตั้ง

ถ้าอดได้เป็นรัฐบาล ใครจะรับผิดชอบ