รายงานพิเศษ/โชคชัย บุณยะกลัมพ/ชาวอเมริกันเสพข่าวโซเชียลมากขึ้น กับความย่ำแย่ของสื่อสิ่งพิมพ์

รายงานพิเศษ/โชคชัย บุณยะกลัมพ

https://www.facebook.com/ChokCyberAIEntertainment/

ชาวอเมริกันเสพข่าวโซเชียลมากขึ้น

กับความย่ำแย่ของสื่อสิ่งพิมพ์

 

สถานการณ์หนังสือพิมพ์ที่ย่ำแย่มาพักใหญ่ มาในปีนี้อุตสาหกรรมสื่อสิ่งพิมพ์ที่เคยยิ่งใหญ่ ยังอาการหนักขึ้นไปทุกขณะ เมื่อโซเชียลมีเดียแซงหน้าหนังสือพิมพ์

ในปี 2561 ที่ผ่านมานับเป็นครั้งแรกที่จำนวนคนอเมริกันซึ่งรับทราบข่าวสารจากโซเชียลมีเดีย มากกว่าจำนวนคนที่รับทราบข่าวสารจากหนังสือพิมพ์

เมื่อปีก่อนหน้านั้น การรับรู้ข่าวสารจากโซเชียลมีเดียมากกว่าหนังสือพิมพ์เป็นฉบับๆ นั้นยังสูสีกันอยู่ ส่วนปีก่อนหน้านั้น หนังสือพิมพ์ยังนำหน้าอยู่เล็กน้อย เมื่อเทียบกับสื่ออื่นๆ สื่อที่ได้รับความนิยมที่สุดคือโทรทัศน์

ถึงแม้ว่าทีวียังเป็นแหล่งรับรู้ข่าวสารยอดนิยม แต่การรับรู้ข่าวผ่านทีวีก็กำลังจะลดลง ทั้งยังอาจสะท้อนให้เห็นการคืบคลานของเว็บและแอพพ์ที่อาจแซงหน้าทีวีขึ้นเป็นแหล่งรับรู้ข่าวสารอีกด้วย

การเติบโตผงาดขึ้นมาของโซเชียลมีเดียในปัจจุบันในฐานะแหล่งรับรู้ข่าวสาร ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจหรือเหนือความคาดหมาย

อย่างไรก็ตาม ก็ก่อให้เกิดความวิตกเกี่ยวกับการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ผิดๆ ด้วยเช่นกัน

 

ความวิตกกังวลกับการล่มสลายที่รวดเร็วของสื่อสิ่งพิมพ์และคุณค่าจรรยาบรรณของสื่อสารมวลชนที่ดีกำลังจะเปลี่ยนไปในอนาคต

หนังสือพิมพ์เป็นธุรกิจที่ประสบปัญหาการชะงักครั้งใหญ่ การตกต่ำของธุรกิจหนังสือพิมพ์จึงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ไม่เพียงแต่หนังสือพิมพ์หลายฉบับต้องปิดกิจการลงไปเท่านั้น สิ่งพิมพ์ประเภทนิตยสารก็ทยอยปิดตัวลงเช่นกัน

สิ่งที่บ่งชี้อนาคตของสื่อสิ่งพิมพ์ได้ดีที่สุดคือสัดส่วนเวลาที่คนปัจจุบันใช้เสพสื่อสิ่งพิมพ์ และรายได้ของสิ่งพิมพ์จากโฆษณา ที่ลดต่ำลงมากเหมือนกับยอดคนอ่านที่ลดลง

การตกต่ำและการเผชิญอนาคต เกิดจากการพุ่งขึ้นมามีบทบาทของสื่อดิจิตอล จากแรงกดดันทางเศรษฐกิจ เพราะรายได้จากโฆษณาหายไป ต้นทุนการผลิตและจำหน่ายเพิ่มสูงขึ้น ส่วนยอดขายก็ตกลงอย่างมาก

ความวิตกกังวลต่อการตกต่ำของหนังสือพิมพ์อยู่ที่ว่า สังคมประชาธิปไตยนั้นต้องอาศัยสื่อมวลชนที่ดี เพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงข่าวสารที่สมบูรณ์และหลากหลาย

ข่าวสารยังมีแหล่งที่มาจากโซเชียลมีเดียต่างๆ เช่น Facebook, YouTube ตามเว็บไซต์ในอินเตอร์เน็ตที่ให้ข้อมูลกับเราในเรื่องที่น่าสนใจ โดยไม่ต้องไปพึ่งพาสื่อมวลชนดั้งเดิมอีกต่อไป

ข่าวสารยังสามารถผลิตขึ้นมาจากบุคคลทั่วไปที่ใช้อุปกรณ์สื่อสารในการเข้าถึงอินเตอร์เน็ต ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นสื่อสารมวลชนทำหน้าที่ให้ข้อมูล ตรวจสอบ อธิบาย วิเคราะห์ ตีความ สร้างความเข้าใจ ทำการสืบสวน และเปิดเผยเรื่องราว ที่สำคัญคือการค้นหาความจริง

สื่อสารมวลชนคือข่าวสารและทัศนะความเห็นที่ถูกประมวลขึ้นมา มีการกลั่นกรองและตรวจสอบ ก่อนที่จะนำเสนอในรูปแบบที่น่าเชื่อถือ ไม่ว่าจะเป็นในรูปของข้อเขียน ภาพถ่าย วิดีโอ หรือกราฟิก สื่อสารมวลชนที่ดีที่สุดจึงเป็นข่าวสารที่มีบริบท เป็นข่าวสารที่เกิดจากการค้นหาข้อเท็จจริง ตรวจสอบข้อเท็จจริง และการวิเคราะห์ สื่อสารมวลชนจึงเป็นข่าวสารที่มีการพินิจพิเคราะห์แล้ว เพื่อประโยชน์สาธารณะ

 

จากการวิจัยของ Pew Research Center หน่วยงานไม่แสวงผลกำไรในสหรัฐ เปิดเผยว่า 2 ใน 3 ของชาวอเมริกันในวัยผู้ใหญ่ ยังคงรับข่าวสารผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์อยู่ โดยสัดส่วนการบริโภคหรือรับรู้ข่าวสารผ่านทางโซเชียลมีเดียของผู้ใหญ่ชาวอเมริกันในปีนี้ เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนสัญญาณชะลอตัวในแง่ของการบริโภคข่าวสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์

สถิติล่าสุดชี้ว่า ผู้คนในสหรัฐซึ่งแม้เป็นประเทศที่สื่อเก่าค่อนข้างแข็งแกร่ง แต่กลับเลือกที่จะเสพข่าวจากโซเชียลมีเดียมากกว่าสิ่งพิมพ์เป็นครั้งแรก พบว่าผู้ใหญ่ 1 ใน 5 คน หรือราว 20% ระบุว่า รับข่าวสารจากโซเชียลมีเดียเป็นประจำ ซึ่งสูงกว่าจำนวนผู้ที่ระบุว่ารับข่าวสารจากหนังสือพิมพ์ ที่มีอยู่ 16%

ถือเป็นครั้งแรกที่ชาวอเมริกันเลือกเสพข่าวโซเชียลมากกว่าสิ่งพิมพ์ เท่าที่ Pew Research Center เคยมีการเก็บข้อมูลมา

โดยที่เมื่อปีที่แล้ว สัดส่วนของทั้งสองกลุ่มยังเท่ากันอยู่

 

สื่อสังคมออนไลน์จะยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง ในร้อยละ 57 ของผู้ที่ทำการสำรวจ แม้มองว่าข่าวสารที่พวกเขาพบเห็นในสื่อสังคมออนไลน์นั้นอาจไม่ถูกต้องแม่นยำ และร้อยละ 31 ของผู้ที่อยู่ในการสำรวจ กังวลถึงความถูกต้องของข่าวสารในโซเชียลมีเดีย และอีกร้อยละ 11 กังวลถึงความเอนเอียงหรืออคติทางการเมืองจากข่าวสารที่พวกเขาได้รับในช่องทางดังกล่าว

ทั้งนี้ เฟซบุ๊กยังเป็นสื่อสังคมออนไลน์ที่มีคนเลือกบริโภคข่าวสารออนไลน์เป็นอันดับแรก ในสัดส่วนร้อยละ 43 รองลงมาคือ YouTube ร้อยละ 21 ทวิตเตอร์ร้อยละ 12 นอกจากนี้ยังมี Instagram และ Reddit ที่อยู่ในช่องทางการรับรู้ข่าวสารของผู้ใหญ่ชาวอเมริกัน

สื่อที่ได้รับความนิยมทั้งหมด จะพบว่ารองจากโทรทัศน์และเว็บไซต์ข่าวแล้ว ชาวอเมริกันยังเลือกเสพข่าวสารจากวิทยุมากเป็นลำดับที่ 3 ตามด้วยโซเชียลมีเดียและสิ่งพิมพ์ ซึ่งหากรวมการรับข่าวสารผ่านทางออนไลน์ทั้งหมดแล้ว จะมีสัดส่วนเกือบเท่ากับการรับชมข่าวจากโทรทัศน์ ที่ 43% ต่อ 49% ด้วย

ชาวอเมริกันที่รับชมช่องข่าวจะพบว่า ส่วนใหญ่เลือกรับชมช่องท้องถิ่น ที่ 37% รองลงมาคือเคเบิลทีวี หรือช่องที่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม 30% และ 25% รับชมข่าวจากรายการข่าวช่วงเย็นของช่องหลัก

ที่น่าสนใจคือ ในปีนี้เริ่มพบผู้ที่สตรีมข่าวจากช่องทางออนไลน์เพื่อรับชมทางโทรทัศน์ด้วย

และผู้ชมกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ยังระบุว่า รับข่าวสารทั้งจากการสตรีม และช่องหลักหรือเคเบิลทีวีไปพร้อมๆ กันด้วย

เท่ากับว่า ผู้ชมที่เข้าถึงหรือเชี่ยวชาญสื่อแบบใหม่ก็ยังสนใจสื่อเก่าด้วยในระดับหนึ่ง

 

ชาวอเมริกันรุ่นใหม่และผู้สูงอายุมีพฤติกรรมการรับข่าวสารแตกต่างกันมาก โดยผู้ที่อายุเกิน 65 ปีขึ้นไป รับข่าวสารทางโทรทัศน์มากกว่าคนในช่วงอายุ 18 ถึง 29 ปี ถึง 5 เท่า

ขณะที่กลับกัน กลุ่ม 18 ถึง 29 ปี รับข่าวสารทางโซเชียลมีเดียมากกว่าคนอายุเกิน 65 ปี ถึง 4 เท่าด้วยกัน ขณะที่สื่อสิ่งพิมพ์เป็นที่นิยมแต่กับผู้สูงอายุเท่านั้น

ยุคดิจิตอลเทคโนโลยีจึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากต่อตัวข่าวสารและสื่อสารมวลชน ทำให้การรายงานข่าวสารรวดเร็วมากขึ้น กว้างขวางมากขึ้น ลึกมากขึ้น และการมีส่วนร่วมมากขึ้น

ข่าวสารเองก็มีการนำเสนอในรูปแบบใหม่ โดยเป็นการบูรณาการเนื้อหา ภาพ วิดีโอ แผนที่ กราฟิก หรือการเชื่อมต่อไปยังแหล่งข้อมูลอื่นๆ เข้ามารวมกันในการนำเสนอ

เพราะเป็นสื่อที่ไม่มีภาระต้นทุนด้านการผลิตและจัดจำหน่ายของสื่อแบบดังเดิม รวมทั้งค่าใช้จ่ายของพนักงานที่เคยทำงานในหน้าที่ ดิจิตอลเทคโนโลยีจึงทำให้ธุรกิจสตาร์ตอัพของเว็บไซต์ข่าวสารสามารถทำงานแบบผู้ประกอบการ และลองผิดลองถูกในการสร้างรูปแบบใหม่ของสื่อสารมวลชน

แต่รูปแบบใหม่นี้ก็ต้องต่อสู้ เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืน

ในยุคที่สื่อหลักเริ่มหันไปจับตลาดออนไลน์กันเยอะขึ้น และสื่อใหม่จำนวนมากก็เกิดขึ้นโดยที่เริ่มจากการเป็นบริษัทเล็ก ที่มีทีมข่าวไม่กี่คน ก็น่าสนใจว่าจำนวนผู้รับข่าวสารทางโซเชียลจะปรับเปลี่ยนไปมากขนาดไหน

และจะมีสื่อเก่ากี่รายที่ยังคงได้รับความนิยมกันต่อไป

 

ที่มา

http://www.pewresearch.org/fact-tank/2018/12/10/social-media-outpaces-print-newspapers-in-the-u-s-as-a-news-source/