คำ ผกา : ต้องไม่มีอีกแล้ว

คำ ผกา

ป้ายสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (ที่ไม่รู้ว่าใครหวังดีไปทำให้) นั้นมีความสนใจในเชิงวัฒนธรรมอยู่มาก นั่นคือ มันบอกความใฝ่ฝันของคนไทยที่อยากจะ “โกอินเตอร์” (การใช้คำว่าโกอินเตอร์นั้นก็ไม่ผิด หากจะใช้มันในฐานะภาษาไทย ดังนั้น จึงควรเขียนด้วยอักษรไทย เพราะการเขียนด้วยอักษรโรมันจะทำให้ความหมายคลาดเคลื่อน)

และการโกอินเตอร์นั้นแสดงออกผ่านอะไร

ป้ายนั้นบอกเราว่า การได้ไปจับมือกับนายกรัฐมนตรี…แต่เป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศอะไรล่ะ?

ทำไมคนทำป้ายนี้จึงเลือกภาพเทเรซ่า เมย์? เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ได้ไปพบกับผู้นำตั้งหลายประเทศ ซึ่งอาจจะอธิบายได้อีกว่าเป็นการสุ่มๆ มา ไม่คิดอะไร

แต่ก็ไม่น่าเป็นไปได้ ลงทุนทำป้ายขนาดนั้นก็ต้องหวังผล พลังของความหมายอะไรบ้าง

โดยจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม ฉันคิดว่าคนเลือกรูป ไม่เลือกผู้นำในอาเซียน เพราะไม่บอกถึงความเป็น “อินเตอร์”

ความ “อินเตอร์” ในบริบทของสังคมไทย หมายถึงโลกตะวันตก หรือพูดให้หยาบลงไปอีกว่าหมายถึงฝรั่ง และต้องเป็นฝรั่งผิวขาวด้วย (เว้นแต่คนดำนั้นจะเป็นโอบามา) ทีนี้เป็นฝรั่งเฉยๆ ไม่ได้เหรอ ทำไมต้องเป็นนายกฯ ฝรั่ง ที่เป็นผู้หญิงด้วย?

และโดยที่คนเลือกก็คงไม่รู้ตัวอีกนั่นแหละ แต่ในองค์ความรู้แบบไทยๆ นั้นมองว่า ประเทศที่มีนายกฯ หญิงแกร่งๆ นี่มันเท่จริงวุ้ย มันก้าวหน้าจริงวุ้ย – คือคิดจากฐานของการที่ลึกๆ ก็รู้ว่าสังคมที่ตนเองมีชีวิตอยู่นั้นยังไม่ยอมรับพลัง อำนาจ ความแข็งแกร่งของผู้หญิงเท่าไหร่

และนี่คือความ “ไม่อินเตอร์”

ประเทศที่อินเตอร์แล้ว ย่อมมีนายกฯ หญิงที่มีมาดอันดูโหดนิดๆ แบบแม่เมย์นี่แหละ

และบนความไม่รู้ทั้งปวงนี้ก็คือไม่สนใจข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้นว่า นายกฯ เมย์นั้นตอนนี้ก็รากเลือดแทบเอาตัวไม่รอดในเรื่องเบร็กซิท

เป็นนายกฯ ที่ถูกก่นด่า ขนาดคนในพรรคเดียวกันยังแทบไม่เอา

แต่คนเลือกรูปนี้ไม่ได้เลือกจากผลงานหรือการได้รับการยอมรับ แต่เลือกเอาแค่เป็นฝรั่งผิวขาว และเป็นผู้หญิง และเป็นนายกฯ ของประเทศ (เคยเป็น) มหาอำนาจ

สารทั้งหมดในป้ายนี้คือความพยายามจะโฆษณาว่า พล.อ.ประยุทธ์มีคุณสมบัติที่น่ายกย่องมากและเหมาะที่จะเป็นผู้นำประเทศ นอกจากมีความรู้ ความสามารถต่างๆ นานาแล้ว ยัง “โกอินเตอร์” อีกด้วย

ไม่ใช่แค่เก่งในประเทศ ฝรั่งอั้งม้อเขายังยกย่องท่านเลย!

คนทำป้ายนี้ก็คงจะลืมไปอีกว่า “ฝรั่ง” ในรูปนั้นที่เขาจับมือกับ พล.อ.ประยุทธ์นั้นเป็นเพียงการทักทาย ผู้ใหญ่สองคนเจอกัน ทักทาย จับมือกัน ก็เท่านั้น ไม่ได้แปลว่าเขากำลังยกย่องหรือยอมรับอะไรเลย

สิ่งที่น่าเวทนาที่สุดของป้ายนี้จึงไม่ใช่การไม่รู้ว่าโกอินเตอร์ไม่ใช่ภาษาอังกฤษเท่านั้น

แต่คือความพยายามไปโมเมเมกอัพเอารูปการพบปะอย่างสามัญของคนสองคนมาโม้ว่า คนคนนี้โกอินเตอร์แล้ว

ความน่าเวทนาของสังคมไทยยังไม่หยุดอยู่แค่ประเด็นนี้ วิญญูชนชาวไทยทั้งหลายเคยเห็นผู้นำประเทศคนไหนเที่ยวไปป่าวประกาศกับพลเมืองในประเทศของตนเองบ้างว่าตัวเอง “โกอินเตอร์แล้วนะ”? หรือเห็นว่าการได้จับมือกับนายกฯ อังกฤษเป็นผลงานที่ยิ่งใหญ่บ้าง?

ความสง่างามของผู้นำประเทศคือความสามารถในการสร้างพลังในการต่อรองผลประโยชน์ของประเทศกับนานาชาติในระดับศักดิ์ศรีที่เคียงบ่าเคียงไหล่กัน

คือการนำพาประเทศไปในจุดที่ใครๆ ก็ต้องมาง้อเรา ไม่ว่าประเทศเราจะเล็กหรือจะยากจนสักเพียงไหน

แต่ถ้าเรามีผู้นำที่เก่ง เขาย่อมรู้ว่าอำนาจของประเทศเล็กๆ คืออะไร จะเล่นตัวได้แค่ไหน จะวางตัวอย่างไรในระหว่างมหาอำนาจต่างๆ เพื่อให้มีที่อยู่ที่ยืนในโลกใบนี้อย่างมีศักดิ์ศรี

ไม่ใช่ชะเง้อคอคอยว่า เมื่อไหร่จะมีคนมาเห็นหัวชั้นสักทีน้อ?

ดังนั้น สังคมไทยควรจะยอมรับความจริงกันเสียทีว่า ทุกวันนี้ที่ประเทศไทยไม่ได้รับการยอมรับในเวทีโลกเท่าที่ควรและยังไม่สามารถเชิดหน้าชูตาอยู่ในสังคมของนานาอารยประเทศได้อย่างเต็มที่ ยังไม่มีใครวางใจอยากคบค้าสมาคมหรือมาร่วมทุนทำอะไรด้วยอย่างเต็มที่ (เว้นแต่เป็นเรื่องที่คู่ค้าของเราได้เปรียบและได้ผลประโยชน์มากพอ เช่น ประเทศที่เราไปซื้ออาวุธของเขามาใช้) ก็เพราะเหตุว่ารัฐประหารมาแล้วเกิน 4 ปี เรายังไม่มีการเลือกตั้ง อันนำประเทศกลับคืนสู่ประชาธิปไตย

นี่คือเรื่องหลัก

เรื่องรองคือการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศ กระบวนการยุติธรรมหลายมาตรฐาน การใช้อำนาจรัฐและกฎหมายเพื่อกำจัดศัตรูทางการเมือง การลิดรอนสิทธิเสรีภาพของสื่อและพลเมือง ฯลฯ

คนไทยหลายๆ คนอาจจะมองว่าต่างชาติไม่เข้าใจประเทศไทย และประเทศไทยไม่จำเป็นต้องไปนับถือบูชาลัทธิประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนสากล ประเทศไทย สังคมไทยเรามีบุคลิกอันโดดเด่นไม่เหมือนใคร เราไม่เคยเป็นเมืองขึ้นใคร ทำไมต้องคอยไปตามก้นฝรั่งที่เอะอะก็พูดเรื่องสิทธิพลเมือง เสรีภาพสื่อ ประชาธิปไตย

ซึ่งหากจะเชื่อแบบนี้ก็ได้ แต่ถ้าจะเชื่อแบบนี้ก็ต้องไปสุดทางนั่นคือ ต้องไม่แคร์การ “โกอินเตอร์”

ถ้าจะเอาแบบนี้ก็ต้องเก๋ต้องแกร่งต้องรวยต้องไม่ง้อใคร ประเทศเราพึ่งตัวเองได้ในทุกมิติ เราจะเป็นของเราแบบนี้ ไม่อยากคบก็ต้องคบ ไม่อยากค้าขายกับเราก็ไม่ต้องมา และทางเราก็ไม่ต้องกระเหี้ยนกระหืออยากไปเยี่ยมประเทศนั้นเยือนประเทศนี้

ก็ไหนบอกไม่แคร์ เราเก๋ เราแกร่ง เราไม่เหมือนใคร เรามีคุณค่า มาตรฐาน ความดี ความงามแบบไทย ทำไมต้องไปก้มหัวให้เรื่องหลักสิทธิมนุษยชนบ้าๆ บอๆ อะไรก็ไม่รู้

ถ้าเชื่อแบบนี้จริงก็ต้องเลิกคร่ำครวญเรื่อง “โกอินเตอร์” เลิกอยากโกอินเตอร์ และเลิกไปมั่วๆ ซั่วๆ เอาเรื่องรูปจับมือกับฝรั่งมาเป็นจุดขายว่าโกอินเตอร์แล้วเจ้าข้าเอ๊ยยย

แต่ที่เกิดขึ้นกับคนไทยบางจำพวกคืออาการไบโพลาร์ ด้านหนึ่งก็เห่ออินเตอร์ อยากให้ฝรั่งอั้งม้อยอมรับ อยากมีที่อยู่ที่ยืนบนเวทีโลก ด้านหนึ่งก็มีอคติประหลาดๆ ว่า เมืองไทยใหญ่อุดม ไม่จำเป็นต้องเดินตามก้นใคร

สุดท้ายก็ยืนมึนๆ งงๆ ไม่รู้ว่าชีวิตจะเดินไปทางไหนดี

สําหรับฉัน ประเทศไทยจำเป็นต้องโกอินเตอร์หรือเปล่าไม่รู้ รู้แต่ว่าถ้าเราอยากมีที่อยู่ที่ยืนในสังคมโลก เราจำเป็นต้องปฏิสังขรณ์หลักการประชาธิปไตยกลับคืนสู่สังคมให้ได้ เพราะในสากลโลก การเป็นเผด็จการคืออาชญากรรมที่รัฐกระทำกับประชาชน อันเป็นเหตุให้ไม่เป็นที่ยอมรับ

ก้าวแรกของประเทศไทยในการปฏิสังขรณ์หลักการประชาธิปไตยกลับมาคือการเลือกตั้ง แน่นอนว่าเราจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่กำลังจะมาถึง

สิ่งที่ต่างชาติกำลังจับจ้องมายังประเทศไทยคือ การเลือกตั้งนี้จะ Free and Fair หรือไม่ เพราะหากไม่ Free และไม่ Fair ผลการเลือกตั้งจะไม่เป็นที่ยุติ และไม่ได้รับการยอมรับ

สิ่งที่สังคมโลกกำลังจับจ้องมาที่เมืองไทยอีกข้อหนึ่งคือ เมื่อรัฐบาลนี้ไม่วางตัวเป็น “กลาง” ไม่ลดสถานะของตนเองเป็นรัฐบาลรักษาการณ์ จะนำมาซึ่งการใช้อำนาจรัฐที่มีอยู่ในมือมาเป็นข้อได้เปรียบในการเลือกตั้งหรือไม่

ทำไมมีรัฐมนตรีไปเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่มีชื่อคล้ายกับนโยบายหลักของรัฐบาล

สิ่งที่สากลโกลต้องการจากเราตอนนี้คือการยอมให้องค์กรกลางของชาติต่างๆ เข้ามาสังเกตการณ์การเลือกตั้ง และก็น่าแปลกใจมากที่ทางฝ่ายไทยละล้าละลัง แบ่งรับแบ่งสู้กับเรื่องนี้ ทำให้ฉงนใจยิ่งนักว่า – อ้าว อยากโกอินเตอร์ อยากเป็นที่ยอมรับ อยากอวดความดีความงามของประเทศไทยให้ปรากฏต่อสายตาของต่างชาติ ทำไมไม่ยอมให้ต่างชาติมาสังเกตการณ์การเลือกตั้ง?

เหตุผลที่ทางการไทยอธิบายกลับฟังดูแปลกประหลาด เช่น การเอาต่างชาติมาสังเกตการณ์การเลือกตั้งเหมือนเป็นการดูถูกกัน ประเทศไทยมีอธิปไตย เอกราชทำไมต้องให้ต่างชาติมาเฝ้าดูการเลือกตั้งเราด้วย

ซึ่งก็ทำให้เราต้องกลับมาตอบคำถามพื้นๆ นี้กันใหม่ว่า การมีองค์กรต่างชาติมาสังเกตการณ์การเลือกตั้ง มันไม่ได้เกี่ยวกับเอกราช อธิปไตย หรืออะไรทั้งนั้น

แต่มันเกี่ยวกับความไม่ไว้ใจว่า

เมื่อการเลือกตั้งครั้งนี้ ผู้เล่น ผู้เขียนกติกา กรรมการ และผู้ลงแข่งขันในสนามการเลือกตั้งแลดูเป็นคนและเป็นพวกเดียวกัน แถมยังเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกหลังการรัฐประหารและการอยู่ใต้อำนาจของรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจที่ค่อนข้างยาวนาน

จึงจะดีกว่าหากมีองค์กรกลางจากต่างชาติ ที่ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสีย (ยกเว้นอยากช่วยให้ประเทศไทยกลับคืนสู่ประชาธิปไตยและคนไทยมีชีวิตอันเป็นปกติสุขเสียที) มาเป็นผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้ง

ถึงวันนี้ เราก็ยังไม่รู้ว่าจะมีหน่วยงานหรือผู้สังเกตการณ์จากภายนอกมาสังเกตการณ์การเลือกตั้งแค่ไหน ผลการเลือกตั้งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ จะเป็นที่ยอมรับในความ Free and Fair หรือไม่

บันไดขั้นแรกของการกลับสู่ความเป็น “อินเตอร์” ของไทย มีที่อยู่ที่ยืน ไม่อับอายประชาคมโลกจะเป็นไปได้หรือไม่

แต่ฉันยังจะยืนยันซ้ำๆ ว่า มีการเลือกตั้ง ดีกว่าไม่มี

ผลการเลือกตั้งที่ไม่เป็นที่ยอมรับจะแก้ไขได้ด้วยการเลือกตั้ง เลือกตั้ง และเลือกใหม่ ใหม่ไปอีกเรื่อยๆ พร้อมๆ กับการผลักดันการแก้ไขกติกาให้เป็นธรรมมากกว่าเดิม และการกดดันจากสังคมให้การเลือกตั้ง Free and Fair มากกว่าเดิม และสิ่งหนึ่งสิ่งเดียวที่สังคมไทยต้องไม่อนุญาตให้เกิดขึ้นอีกไม่ว่าจะด้วยเงื่อนไขใดก็ตามคือ

ต้องไม่มีการรัฐประหารอีกแล้วในประเทศนี้ เพื่อเราจะโกอินเตอร์แบบไม่วกกลับมาในกะลาอีก