วิเคราะห์ : โต๊ะจีน-แจกบัตรคนจน จุดวัดใจ 7 เสือ กกต. คำถามถึงคาถา 5 ข้อ ยังศักดิ์สิทธิ์อยู่หรือไม่?

ยิ่งใกล้เลือกตั้งต้นปี 2562 เข้ามาเท่าไหร่

องค์กรอิสระอย่างคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ 7 เสือ กกต. ยิ่งตกเป็นเป้าสายตาของสังคมมากขึ้นเท่านั้น

ด้วยประชาชนต่างคาดหวัง กกต.จะทำหน้าที่ควบคุมและจัดการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตเที่ยงธรรม ตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญกำหนด

สิ่งที่หลายคนเห็นใจ กกต.ชุดนี้

ไม่ได้อยู่ที่การขาดประสบการณ์จัดการเลือกตั้ง เนื่องจาก กกต. 4 ชุดก่อนหน้านี้ ล้วนต้องผ่านสถานการณ์การจัดการเลือกตั้งครั้งแรกมาด้วยกันทั้งสิ้น

ปัญหาความยากลำบากของ กกต.ปัจจุบัน อยู่ตรงที่ต้องทำหน้าที่ในสถานการณ์ไม่ปกติ

กล่าวคือ อยู่ภายใต้อำนาจรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และเป็น “เนื้อเดียว” กับคณะรัฐประหาร คสช. ที่ยังคงถือดาบมาตรา 44 อยู่ในมือ

มาตรา 44 นี้เคยถูกนำมาใช้ออกคำสั่งปลดนายสมชัย ศรีสุทธิยากร ออกจาก กกต.ชุดก่อนหน้าเมื่อวันที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมา เหตุผลว่ามีพฤติกรรมไม่เหมาะสมกรณีให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน

เกี่ยวกับกระบวนการและกำหนดการเลือกตั้งด้วยถ้อยคำที่ไม่สมควร ก่อให้เกิดความสับสน เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานของ กกต. และการจัดการเลือกตั้งให้สำเร็จลุล่วงด้วยดี

เป็นการใช้อำนาจมาตรา 44 ครั้งแรกออกคำสั่งปลดกรรมการองค์กรอิสระ ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ ตามมามากมาย

การ “เชือดไก่ให้ลิงดู” ครั้งนั้น ส่งผลกระทบยาวไกลมาถึง กกต.ชุดปัจจุบันหรือไม่อย่างไร

สังคมกำลังเฝ้าจับตามอง

สถานการณ์การเมืองรอบ 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา

พรรคการเมืองฟากฝั่ง คสช. ดูเหมือนจะขยันป้อนงานให้ กกต.หนักจนหลังแอ่น

เริ่มตั้งแต่การ “แบ่งเขตเลือกตั้ง” 350 เขต ตามที่ผู้นำรัฐบาล คสช.ใช้อำนาจมาตรา 44 ออกคำสั่งยกเว้นหลักเกณฑ์สำคัญบางอย่างให้ กกต.ในการพิจารณาแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ โดยไม่ต้องกลัวถูกฟ้องร้อง

ผลคือรูปแบบแบ่งเขตที่ออกมามีความพิสดารอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

นำมาสู่เสียงวิพากษ์วิจารณ์พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า อาจเป็นการสมรู้ร่วมคิดกันระหว่าง กกต.กับ คสช. เพื่อเอื้อประโยชน์สร้างความได้เปรียบให้พรรคสนับสนุนการสืบทอดอำนาจหรือไม่

กกต.ยังแสดงท่าทีเห็นด้วยกับการที่ผู้มีอำนาจ ปรารภถึงการกำหนดรูปแบบ “บัตรเลือกตั้ง” ที่ไม่ต้องมีโลโก้และชื่อพรรค หรือที่เรียกว่า “บัตรโหล”

เรียกเสียงค้านระงมจากนักการเมืองและพรรคการเมืองส่วนใหญ่ เรื่องทำท่าจะลุกลาม กกต.ฝืนกระแสต้านไม่ไหว ต้องยอมถอยกลับใช้บัตรเลือกตั้งแบบเดิม ใส่ข้อมูลครบหมด เรียกใหม่ว่า “บัตรไฮบริด”

ส่วน “ป้ายหาเสียง” กกต.ตกลงกับพรรคการเมืองว่า บนป้ายให้ใส่ได้แค่รูปผู้สมัครเลือกตั้ง หัวหน้าพรรค และบุคคลที่พรรคเสนอชิงนายกรัฐมนตรี คนอื่นนอกเหนือจากนั้น ห้ามหมด

แม้เจตนาอยู่ที่การห้ามใช้รูป “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์” แต่พรรคเพื่อไทยก็ไม่ได้แสดงท่าทีคัดง้าง เพราะเชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่รู้ดี ใครเป็นใครในพรรคเพื่อไทย

การไม่ให้ใช้รูป “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์” ยังลดทอนความเสี่ยงถูกฝ่ายตรงข้าม

ยื่นร้อง “ยุบพรรค” อีกด้วย

นับตั้งแต่ “ปลดล็อก” เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2561

พรรคพลังประชารัฐและ กกต.ต่างก็ “งานเข้า” รายวัน

โดยเฉพาะกรณีจัดงานโต๊ะจีนระดมทุน โต๊ะละ 3 ล้านบาท 200 โต๊ะ ยอดเงินทะลุเป้า 650 ล้านบาท เป็นชนวนให้พรรคการเมืองและนักเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ กกต.ตรวจสอบ เนื่องจากพบความไม่ชอบมาพากลในหลายแง่มุม

ทั้งประเด็นข้อสงสัยว่ามีการใช้ตำแหน่งหน้าที่ในการระดมทุนหรือไม่ เนื่องจากมีรัฐมนตรี 4 คนสวมหมวกสองใบ เป็นหัวหน้าพรรค รองหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค และโฆษกพรรค

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ และอดีต กกต. อ้างสำนักข่าวแห่งหนึ่งรายงาน “ผังโต๊ะจีน” ระดมทุนดังกล่าว ระบุเป็นของกระทรวงการคลัง 20 โต๊ะ 60 ล้านบาท ททท. 3 โต๊ะ 9 ล้านบาท

อาจเข้าข่ายมาตรา 76 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง

ห้ามมิให้หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ บริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดให้แก่พรรคการเมือง หรือเข้าร่วมกิจกรรมระดมทุนของพรรค

ยังมีโต๊ะจีนในนามนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ เลขาธิการพรรค 4 โต๊ะ 12 ล้านบาท นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม หัวหน้าพรรค 1 โต๊ะ 3 ล้านบาท

“ด๊อกเตอร์” ที่ปรึกษาพิเศษ รมว.พาณิชย์ ซึ่งบริจาคสูงถึง 24 โต๊ะ 72 ล้านบาท กรรมการบริหารพรรคที่เป็นข้าราชการการเมือง 7 คน 3 โต๊ะ 9 ล้านบาท

ในส่วนนี้ อาจเข้าข่ายมาตรา 73 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง

ห้ามมิให้ข้าราชการการเมืองใช้สถานะหรือตำแหน่งหน้าที่เรี่ยไร หรือชักชวนให้มีการบริจาคให้พรรคการเมือง หรือผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.

ฝ่าฝืนระวางโทษจำคุก 2-10 ปี หรือปรับ 4 หมื่นถึง 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี

เพื่อป้องกันการถูกกล่าวหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร เสนอให้ กกต.เข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีโต๊ะจีนทันทีภายใน 7 วัน โดยไม่จำเป็นต้องมีผู้ร้องหรือรอให้พรรคพลังประชารัฐชี้แจงมาก่อน

ตามที่นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รองหัวหน้าพรรคในฐานะแม่งานจัดระดมทุน ขอเวลาตรวจสอบบัญชีเงินบริจาคเพื่อรายงานต่อ กกต.ตามกรอบเวลา 30 วัน

“ถ้าพบบริษัทหรือบุคคลใดผิดคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนดหรือมีข้อขัดแย้ง เราพร้อมคืนเงินบริจาคทันที” นายณัฏฐพลระบุ

นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย นำร่องยื่นร้องต่อ กกต.ให้ตรวจสอบกรณีดังกล่าวเช่นกัน

ไม่เพียงกรณีโต๊ะจีน ยังมีอีกหลายประเด็นที่ กกต.ยังไม่สามารถสร้างความชัดเจน อาทิ กรณีผู้สมัคร ส.ส.พรรคใกล้ชิดรัฐบาล เก็บบัตรประชาชนใน จ.สุโขทัย โดยสัญญาจะนำไปทำบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

กรณีการเก็บบัตรประชาชน จ.พัทลุง และ จ.นครราชสีมา การนำบัตรสวัสดิการแห่งรัฐหรือบัตรคนจนไปแจกที่ จ.ขอนแก่น โดยมีว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.บางพรรคไปร่วมกับข้าราชการ

รวมถึงล่าสุดการเผยแพร่คลิปแจกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจนให้ชาวบ้าน อ.เลิงนกทา จ.ยโสธร ที่ต้องแลกเปลี่ยนกับการสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรค

แม้แกนนำพรรค ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอจะออกมาชี้แจงปฏิเสธ

รวมถึงเรียกตัวหนุ่มคนถ่ายคลิปไปปรับทัศนคติ แต่ชาวบ้านในพื้นที่ยังยืนยันว่าเนื้อหาในคลิปเป็นเรื่องจริง ไม่ใช่การเข้าใจผิดแต่อย่างใด

ยังมีกรณีนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ แกนนำพรรคไทยรักษาชาติ ยื่นต่อ กกต.ให้ตรวจสอบคุณสมบัตินายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐก่อนสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรค

อาจขัดต่อมาตรา 16 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ที่หัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคต้องเป็นสมาชิกพรรคนั้นๆ มาก่อนหรือไม่

หลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สิ่งที่สังคมเรียกร้องคือ กกต.ควรต้องติดตามตรวจสอบเรื่องเหล่านี้ทันที โดยไม่ต้องรอให้มีพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เลือกตั้ง ส.ส.

เพราะหลายเรื่องเข้าข่ายความผิดสำเร็จแล้ว

ย้อนกลับไปวันที่ 17 สิงหาคม 2561

นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. และ กกต.อีก 4 คนตอนนั้น ร่วมพิธีรับสนองพระราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งประธานและกรรมการการเลือกตั้ง

ภายหลังพิธี นายอิทธิพรกล่าวถึงสิ่งที่ กกต.ชุดนี้ต้องยึดมั่นเป็น “คาถา 5 ข้อ” ในการทำงาน โดยเฉพาะการจัดการเลือกตั้งซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรง ประกอบด้วย ต้องเป็นกลาง กล้าหาญตัดสินใจ ซื่อสัตย์สุจริต ยึดกฎหมายเป็นหลัก

ไม่ถูกครอบงำจากอำนาจใดๆ

สถานการณ์ก่อนเลือกตั้ง ระหว่างเลือกตั้ง และหลังเลือกตั้ง จึงเป็นบทพิสูจน์สำคัญ

คาถา 5 ข้อยังคงความศักดิ์สิทธิ์อยู่จริงหรือไม่