จีนยุคบุราณรัฐ : ปัจฉิมกถา (1)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล
AFP PHOTO / STR

จากการศึกษาสังคมจีนจากยุคโบราณจนถึงก่อนที่จีนจะก้าวขึ้นเป็นจักรวรรดินี้ ได้ฉายภาพให้เราได้เห็นถึงพัฒนาการของรัฐจีนพอสมควร

ภาพแรกสุด เป็นวิวัฒนาการที่จีนมีไม่ต่างกับสังคมอารยะอื่น คือเป็นภาพที่ปรากฏผ่านหลักฐานทางโบราณคดีที่พบว่า จีนได้ผ่านสังคมดึกดำบรรพ์นับล้านปีมาได้อย่างไร

ซึ่งจากหลักฐานที่พบทำให้รู้ว่า บรรพชนของชาวจีนในยุคที่ว่าเริ่มใช้ชีวิตด้วยการเรียนรู้ธรรมชาติอย่างค่อยเป็นค่อยไป

รู้จักปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติเพื่อความอยู่รอดด้วยการสร้างเครื่องมือการผลิตอย่างง่ายๆ เช่นเดียวกับที่มีโครงสร้างทางสังคมที่ไม่สลับซับซ้อนจนเข้าสู่สังคมแม่เป็นใหญ่

ที่สำคัญ วิวัฒนาการจากภาพแรกนี้ได้ทำให้รู้ด้วยว่า บรรพชนชาวจีนเริ่มตั้งคำถามกับธรรมชาติที่ตนต้องเผชิญ

และจากคำถามที่ว่าก็ได้ทำให้บรรพชนชาวจีนสร้างพิธีกรรมขึ้นมาเพื่อตอบคำถามดังกล่าว

ภาพต่อมา เป็นความพยายามที่จะอธิบายถึงความเป็นมาของชนชาวจีน

ภาพนี้เกิดขึ้นหลังจากที่บรรพชนชาวจีนได้ก่อรูปอารยธรรมของตนขึ้นมาในระดับหนึ่งแล้ว และก็ด้วยเหตุนั้น จีนจึงได้อธิบายว่า ใครคือผู้สร้างสรรพสิ่งต่างๆ ที่มีคุณูปการต่อชาวจีนในรุ่นหลัง

สรรพสิ่งที่ว่านี้มีตั้งแต่ความรู้ในเรื่องการเกษตร การเภสัช การถักทอ การสร้างที่อยู่อาศัย ฯลฯ

ซึ่งโดยรวมแล้วก็คือสิ่งที่ครอบคลุมในเรื่องปัจจัยสี่ ที่ล้วนแล้วแต่เป็นพื้นฐานของความอยู่รอดของตน

ที่สำคัญ ภาพนี้ถูกอธิบายผ่านในลักษณ์ของปกรณัม บุคคลที่เป็นตัวละครในคำอธิบายนี้จึงไม่มีหลักฐานอื่นใดมารองรับถึงความมีอยู่จริง ทั้งนี้ ยังมินับประเด็นอภินิหารที่แทรกอยู่ในเรื่องเล่าดังกล่าว

แต่กระนั้น ชาวจีนในอดีตต่างก็เชื่อเรื่องเล่านี้สืบต่อกันมา แม้จะเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ไปแล้วก็ตาม

ภาพทั้งสองจึงออกจะขัดกันอยู่ในตัว ด้วยภาพหนึ่งเป็นภาพที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์มารองรับ ส่วนอีกภาพหนึ่งกลับเป็นเรื่องจินตนาการ

แต่เนื่องจากภาพทั้งสองนี้ได้เกิดขึ้นและดำรงอยู่จริงในสังคมจีน ในอีกแง่หนึ่งภาพทั้งสองจึงเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของเรื่องราว และเมื่อสังคมจีนวิวัฒน์ไปอีกก้าวหนึ่ง จีนก็มีหลักฐานมาอธิบายตัวตนของตัวเองผ่านภาพที่หลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น

ดังจะเห็นได้จากที่งานศึกษานี้ได้แสดงให้เห็นรายละเอียดผ่านบทต่างๆ และทำให้เห็นถึงประเด็นที่ครอบคลุมสาระสำคัญได้ตามสมควร

โดยเฉพาะภาพของความคิดหนึ่งที่เห็นว่าแต่ละรัฐพึงดำรงอยู่โดยอิสระไม่ขึ้นต่อใคร กับอีกความคิดหนึ่งที่เห็นว่าจีนควรรวมตัวเองเข้าเป็นแผ่นดินเดียวกันและเป็นรัฐเดียว

ความคิดที่ต่างกันเช่นนี้ได้นำมาซึ่งความขัดแย้งและสงครามระหว่างรัฐต่างๆ และทำให้จากเดิมที่มีรัฐต่างๆ นับร้อยรัฐก็ค่อยๆ งวดลงเหลือเพียงไม่กี่รัฐ สถานการณ์นี้ครอบคลุมสังคมจีนนานนับหลายร้อยปี

ระยะเวลาที่ยาวนานเช่นนี้ได้สะท้อนผ่านกระแสความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในแต่ละช่วง ไม่ว่าจะเป็นการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ การทหาร ปรัชญา และวัฒนธรรม ที่ต่างก็เป็นพัฒนาการที่มีนัยสำคัญยิ่ง จนความคิดในการรวมจีนเป็นแผ่นดินเดียวกันได้กลายเป็นความคิดกระแสหลักที่มีอยู่ในแทบทุกรัฐ และนำจีนไปสู่การเป็นจักรวรรดิในที่สุด

จากภาพรวมที่กล่าวมานี้ ต่อไปจะได้สรุปให้เห็นผ่านเป็นประเด็นๆ ไปในบทนี้

ชาติและชาติพันธุ์จีน

แม้จะมีการค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีที่ชี้ให้เห็นว่า มนุษย์ที่อยู่ในแผ่นดินจีนปัจจุบันมีวิวัฒนาการมาอย่างไร และสิ่งที่เห็นได้ชัดประการหนึ่งคือ จีนได้ผ่านสังคมแบบหาของป่า-ล่าสัตว์มาก่อน จากนั้นจึงเข้าสู่สังคมแม่เป็นใหญ่และสังคมพ่อเป็นใหญ่ตามลำดับ

แต่วิวัฒนาการนี้ก็ดูเหมือนจะขาดความต่อเนื่องจนมองไม่เห็นว่า ถ้าเช่นนั้นแล้วอารยธรรมจีนที่โลกรู้จักกันในทุกวันนี้เริ่มจากช่วงใด

เช่น อักษรจีนที่ใช้กันในทุกวันนี้หากมินับหลักฐานของราชวงศ์ซางแล้ว ก่อนหน้านั้นอักษรจีนวิวัฒน์มาอย่างไร ซึ่งจนถึง ณ ขณะที่งานศึกษานี้กำลังดำเนินการอยู่นี้ก็ยังไม่พบหลักฐานนอกเหนือจากของราชวงศ์ซาง เป็นต้น

จากปัญหาความต่อเนื่องดังกล่าว เรามาพบเห็นร่องรอยอารยธรรมที่ชัดเจนและเป็นชิ้นเป็นอันก็จากราชวงศ์ซางเช่นกัน และที่พบน้อยมากจนมิอาจระบุได้ก็คือ ราชวงศ์เซี่ย ซึ่งถือเป็นราชวงศ์แรกของยุคต้นประวัติศาสตร์จีน

ถึงกระนั้น จีนได้ถมช่องว่างปัญหาความต่อเนื่องที่ว่าผ่านเรื่องเล่าที่เป็นปกรณัมปรัมปรา เรื่องเล่านี้แฝงเอาไว้ทั้งความเหนือจริงและความสมจริงเอาไว้ ที่ว่าเหนือจริงคือ มีประเด็นอภินิหารปรากฏอยู่ในเรื่องเล่าเหล่านี้ ส่วนที่ว่าสมจริงคือ มีประเด็นที่พยายามชี้ให้เห็นว่า ตัวละครต่างๆ ในเรื่องเล่านี้มีชื่อมีสกุลและการสืบสายเลือด และมีเทือกเถาเหล่ากอจนดูเหมือนมีตัวตนอยู่จริง

ทั้งความเหนือจริงและสมจริงของเรื่องเล่าดังกล่าว ทำให้เกิดกลุ่มบุคคลที่ถูกกล่าวขานอยู่ 2 กลุ่มด้วยกัน กลุ่มหนึ่งคือ “สามกษัตริย์ ห้าจักรพรรดิ” อีกกลุ่มหนึ่งคือ บุคคลที่มีบทบาทหรือคุณูปการรองลงมาจากกลุ่มแรก

ทั้งสองกลุ่มนี้นอกจากจะมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันแล้ว ก็ยังปรากฏอีกว่า เฉพาะ “สามกษัตริย์ ห้าจักรพรรดิ” ที่นับได้ 8 คนนั้น จะมีบุคคลอยู่จำนวนหนึ่งที่ปรากฏชื่อเป็น 1 ใน 8 ตลอดมาไม่เปลี่ยนแปลง เช่น ฮว๋างตี้ เป็นต้น ขณะที่อีกจำนวนหนึ่งถูกระบุชื่อเสียงเรียงนามที่แตกต่างกันไป และบุคคลที่มาปรากฏชื่อในลักษณ์นี้ก็คือบุคคลในกลุ่มที่สอง

ซ้ำยังพบอีกว่า มีบางคนในกลุ่มที่หนึ่งกับที่สองถูกระบุซ้อนทับกันเป็นบุคคลเดียวกันอีกด้วย ปัญหาจึงมีว่า แทนที่บุคคลใน “สามกษัตริย์ ห้าจักรพรรดิ” จะนับได้ 8 คนก็กลับนับได้มากกว่านั้น ทั้งนี้สุดแท้แต่ว่าบันทึกหรือปกรณ์เล่มใดจะยกย่องผู้ใดให้อยู่ในกลุ่มนี้

ประเด็นต่อมาคือ สิ่งที่แฝงอยู่ในปฏิสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มบุคคลทั้งสองกลุ่ม ที่เมื่อดูจากชื่อเสียงเรียงนามแล้วจะพบว่า ทั้งหมดต่างเป็นบุคคลต่างเผ่าพันธุ์มาก่อน และเมื่อมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันแล้ว ปฏิสัมพันธ์นี้ก็ยังมีทั้งที่อยู่ร่วมกันและขัดแย้งกัน

ในส่วนที่อยู่ร่วมกันก่อให้เกิดการผสมผสานกันทางชาติพันธุ์ผ่านการแต่งงานกัน สาระสำคัญของการอยู่ร่วมกันทำให้เห็นว่ากลุ่มชนที่เรียกตนว่าชนชาติจีนนั้น เอาเข้าจริงแล้วหาใช่ชนชาติที่มีสายเลือดบริสุทธิ์โดยไร้การเจือปนจากสายเลือดของชนชาติพันธุ์อื่นไม่

ในส่วนที่ขัดแย้งกันก็ก่อให้เกิดการขยายดินแดนของผู้ชนะและการเสียดินแดนของผู้แพ้ สาระของความขัดแย้งจะอยู่ตรงการแย่งชิงทรัพยากรในกันและกัน ที่โดยมากแล้วฝ่ายที่ชนะมักเป็นกลุ่มชนชาติพันธุ์ที่เรียกตนเองว่าฮว๋าเซี่ย ซึ่งต่อมาก็คือชนชาติจีนที่เรารู้จักกันในทุกวันนี้

ในขณะที่ผู้แพ้ก็มิได้สูญสิ้นชาติของตนไปเสียทั้งหมด ที่ยังอยู่รอดก็เฝ้ารอโอกาสที่จะทำสงครามกับพวกฮว๋าเซี่ยต่อไป

อย่างไรก็ตาม การอยู่ร่วมกันหรือขัดแย้งกันที่พวกฮว๋าเซี่ยมีอำนาจเหนือกว่านี้ สิ่งที่พึงย้ำในที่นี้ก็คือว่า นอกจากการอยู่ร่วมกันจะทำให้เกิดการผสมผสานทางชาติพันธุ์แล้ว หลังความขัดแย้งในแต่ละครั้งก็ทำให้เกิดภาวะที่ว่าด้วยเช่นกัน เพราะเมื่อยึดดินแดนได้แล้วพวกฮว๋าเซี่ยก็อยู่ร่วมกับผู้แพ้ จากนั้นก็เกิดการผสมผสานทางชาติพันธุ์กันขึ้นด้วย

ที่สำคัญ การผสมผสานนี้มิได้เกิดขึ้นในหมู่ราษฎรด้วยกันเองเท่านั้น หากเกิดแม้แต่ในหมู่ชนชั้นปกครองด้วยเช่นกัน ที่พบว่ากษัตริย์หลายองค์ที่เป็นฮว๋าเซี่ยได้อภิเษกกับหญิงชนชาติพันธุ์อื่น (ทั้งที่เคยเป็นและไม่เคยเป็นศัตรู) จนมีโอรสด้วยกัน แล้วโอรสนั้นก็ก้าวขึ้นมาเป็นกษัตริย์ในเวลาต่อมา ในแง่นี้จึงเท่ากับว่าแม้แต่ชนชั้นปกครองเองก็มิได้มีสายเลือดฮว๋าเซี่ยที่บริสุทธิ์เช่นกัน

กรณีดังกล่าวมีตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจนที่อาจยกมาให้เห็นได้คือ ในช่วงต้นราชวงศ์โจวได้มีกบฏเกิดขึ้นทางด้านตะวันออก กบฏนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างอดีตวงศานุวงศ์ซางฝ่ายหนึ่ง กับวงศานุวงศ์โจวที่ถูกส่งไปปกครองทางตะวันออกอีกฝ่ายหนึ่ง ชนชั้นนำของโจวจึงกรีธาทัพเข้าปราบกบฏนี้ ส่วนหนึ่งของสงครามนี้จึงเป็นศึกสายเลือด

ผลคือ ราชวงศ์เป็นฝ่ายชนะเหนือกบฏ แต่นัยสำคัญที่เกี่ยวกับประเด็นชาติพันธุ์ก็คือว่า จากการปราบกบฏในครั้งนี้โจวได้ถือโอกาสขยายดินแดนทางตะวันออกให้กว้างไกลออกไปจากเดิมด้วย ซึ่งยังผลให้โจวต้องทำสงครามกับชนชาติพันธุ์ต่างๆ ทางแถบนั้น

แล้วโจวก็เป็นฝ่ายชนะ